วันอังคารที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2554

บทสรุป 1

บทที่ 7

บทสรุป


จากการนำเสนอหลักการบริหารจัดการวงโยธวาทิตที่กล่าวมา ได้นำส่วนหนึ่งของการวิจัยเรื่อง “การศึกษาแผนการฝึกและการคัดเลือกนักดนตรี สำหรับวงโยธวาทิตในโรงเรียนมัธยมศึกษา” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการศึกษาหลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาดนตรี แขนงดนตรีศึกษา ที่ผู้เขียนได้ศึกษาและสำเร็จการศึกษา ณ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปีการศึกษา 2541 ข้อมูลต่างที่กล่าวอ้างเป็นข้อมูลที่ได้ศึกษาจากภาคสนาม ซึ่งสามารถสรุปเพื่อเป็นแนวทางในการเลือกปฏิบัติของผู้สนใจในเรื่องการบริหารจัดการวงโยธวาทิตได้ดังนี้ คือ
7.1 การจัดแผนการฝึก
จากการศึกษาพบว่า การประชุมเตรียมการ โรงเรียนที่มีครูผู้สอนหลายท่านจะมีการเตรียมการที่สมบูรณ์กว่าโรงเรียนที่มีครูผู้สอนท่านเดียว
เป็นที่น่าสังเกตว่า ทุกโรงเรียนจะมีคณะทำงานที่เป็นนักเรียนเข้ามาบริหารในการฝึกซ้อม โดยแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบในการฝึกซ้อม และการปฏิบัติงานในหน้าที่ต่างๆ จากการที่โรงเรียนต่างๆได้ปฏิบัติ ถึงแม้ว่าวิธีการในการทำงานจะแตกต่างกัน แต่ความสำเร็จนั้นพบว่าการทำงานใดๆถ้ามีการเตรียมการแล้ว งานนั้นๆย่อมดำเนินไปได้ด้วยดี และประสบความสำเร็จ ครูผู้สอนต้องคำนึงเสมอว่าการทำงานให้ประสบความสำเร็จได้จะต้องมีการวางแผน แล้วปฏิบัติตามแผนที่เตรียมไว้
จากการศึกษาพบว่า การกำหนดเนื้อหาและให้สัดส่วนความสำคัญ และการจัดการทำแผนการฝึก โดยระบุวัน เวลา และสถานที่ฝึก โรงเรียนที่ศึกษา มีแนวทางในการดำเนินงานที่มีลักษณะคล้ายกัน และบางโรงเรียนมีความแตกต่างไปบ้าง ขึ้นอยู่กับสภาพความพร้อมของแต่ละโรงเรียน และการวางเป้าหมายที่แตกต่างกันของครูผู้สอน
เป็นที่น่าสังเกตว่าการแก้ปัญหามีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการบริหารเวลา ทุกโรงเรียนที่ศึกษา มีปัญหามากในเรื่องของระยะเวลาในการฝึกซ้อม
จากการศึกษาพบว่า การกำหนดตารางฝึก โรงเรียนที่ศึกษามีการจัดตารางฝึกซ้อมที่ไปในทิศทางเดียวกัน จะต่างกันที่การแบ่งช่วงระยะเวลาในการฝึกซ้อมเท่านั้น


เป็นที่น่าสังเกตว่า การกำหนดตารางฝึกซ้อม เป็นการวางแผนโดยเน้นจุดมุ่งหมายที่เด่นชัด เพื่อให้การฝึกซ้อมบรรลุวัตถุประสงค์ และทั้งนี้ยังเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับครูผู้สอนและนักเรียน การได้อยู่ร่วมกันและปฏิบัตงานร่วมกัน เป็นส่วนหนึ่งให้เกิดความเชื่อมั่น ความมั่นใจ การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เป็นผลให้เกิดความรักใคร่กลมเกลียวของหมู่คณะอีกด้วย
จากการศึกษาพบว่า การกำหนดตารางฝึก มีการกำหนดไปในทิศทางเดียวกัน มีรูปแบบการฝึกที่คล้ายคลึงกันที่แตกต่างกัน คือ ระยะเวลาที่ฝึกซ้อม โรงเรียนที่มีเวลาในการฝึกซ้อมมากจะกำหนดระยะเวลาการฝึกซ้อมในแต่ละช่วงมาก ส่วนโรงเรียนที่มีเวลาในการฝึกซ้อมน้อยจะกำหนดระยะเวลาในการฝึกซ้อมในแต่ละช่วงน้อย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการบริหารเวลาของโรงเรียนนั้นๆ
เป็นที่น่าสังเกตว่า การกำหนดตารางฝึกของโรงเรียนต่างๆขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในเรื่องของระยะเวลาที่มี จึงเป็นการกำหนดตารางฝึกซ้อมที่มีรูปแบบหลากหลาย แต่มีแนวทางในการดำเนินการที่เหมืนกัน คือ
1. ตารางฝึกซ้อมหลังโรงเรียนเลิก
รูปแบบที่ 1
16.00 - 16.15 น. เตรียมเครื่อง เตรียมความพร้อม
16.15 - 17.15 น. ฝึกซ้อมแยกประเภทเครื่องดนตรี
17.15 - 18.00 น. ฝึกซ้อมรวมวง ปรับเพลงสรุปเนื้อหาต่างๆ
รูปแบบที่ 2
15.00 - 15.30 น. เตรียมความพร้อม
15.30 - 16.00 น. ฝึกซ้อมเดี่ยว
16.00 - 16.20 น. ฝึกซ้อมแยกประเภทเครื่องดนตรี
16.20 - 17.00 น. ฝึกซ้อมรวมวง
รูปแบบที่ 3
17.30 - 18.00 น. การประชุมนัดหมายการฝึกซ้อมและจ่ายงานการฝึกซ้อม
18.00 - 18.30 น. ฝึกซ้อมแยกประเภทเครื่องดนตรี
18.30 - 19.30 น. ฝึกซ้อมรวมกลุ่มเครื่องดนตรี หรือฝึกซ้อมรวมวงนั่ง
บรรเลง หรือ รวมวงฝึกซ้อมแถว (สับเปลี่ยนกันตามโอกาสการใช้งาน

รูปแบบที่ 4
16.00 - 16.20 น. เตรียมความพร้อม
16.20 - 16.40 น. ฝึกซ้อมแยกประเภทเครื่องดนตรี
16.40 - 17.00 น. ฝึกซ้อมรวมกลุ่มเครื่องดนตรี
17.00 - 17.30 น. ฝึกซ้อมรวมวง
รูปแบบที่ 5
15.30 - 16.00 น. เตรียมความพร้อม
16.00 - 16.30 น. ฝึกซ้อมแยกประเภทเครื่องดนตรี บางวันฝึกซ้อมรวมกลุ่มเครื่องดนตรี
16.30 - 17.30 น. ฝึกซ้อมรวมวง (วันศุกร์ฝึกซ้อมภาคสนาม)
รูปแบบที่ 6
15.30 - 16.00 น. เตรียมเครื่อง เตรียมความพร้อม
16.00 - 16.30 น. ฝึกซ้อมแยกประเภทเครื่องดนตรี ฝึกบันไดเสียง เป่าลมยาว เป็นการเตรียมความพร้อมของประเภทเครื่องดนตรี ทบทวนบทเพลง หรือแบบฝึกหัด
16.30 - 17.30 น. ฝึกซ้อมรวมวง
รูปแบบที่ 7
17.00 - 17.20 น. เตรียมความพร้อม
17.20 - 18.00 น. ฝึกซ้อมแยกประเภทเครื่องดนตรีฝึกซ้อมรวมกลุ่มเครื่อง ดนตรี และฝึกรวมวงแก้ไขข้อบกพร่องในแต่ละคนในแต่ละประเภทเครื่องดนตรี และในแต่ละกลุ่มเครื่องดนตรี (สลับกันในแต่ละวันตามความเหมาะสม)
รูปแบบที่ 8
15.45 - 16.15 น. เตรียมความพร้อม
16.15 - 17.00 น. ฝึกซ้อมรวมวง (บางวันฝึกซ้อมแยกประเภทเครื่องดนตรี หรือฝึกซ้อมรวมกลุ่มเครื่องดนตรี)
2. ตารางฝึกซ้อม วันเสาร์
รูปแบบที่ 1
13.30 - 14.00 น. เตรียมความพร้อม
14.00 - 15.00 น. ฝึกซ้อมแยกประเภทเครื่องดนตรี
15.00 - 16.00 น. ฝึกซ้อมรวมกลุ่มเครื่องดนตรี
16.00 - 17.00 น. ฝึกซ้อมรวมวง (บางวันนั่งบรรเลงและบางวันฝึกซ้อมเดินบรรเลง)
รูปแบบที่ 2
09.00 - 12.00 น. เตรียมพร้อมและในช่วงนี้จะซ้อมอะไรก็ได้
13.00 - 14.30 น. ฝึกซ้อมแยกประเภทเครื่องดนตรีและฝึกซ้อมรวมกลุ่ม
เครื่องดนตรี
14.30 - 16.00 น. ฝึกซ้อมรวมวง
รูปแบบที่ 3
13.00 - 13.30 น. เตรียมความพร้อม
13.30 - 15.00 น. ฝึกซ้อมแยกประเภทเครื่องดนตรี หรือฝึกซ้อมรวมกลุ่มเครื่องดนตรี
15.00 - 17.00 น. ฝึกซ้อมรวมวง (บางครั้งมีเวลาเหลือจะฝึกซ้อมแถวเพิ่มเติม
รูปแบบที่ 4
13.00 - 13.30 น. เตรียมความพร้อม

13.30 - 14.00 น. ฝึกบันไดเสียง ทบทวนบทเพลง หรือการอ่านโน้ตแบบฉับพลัน (Side Reading) เพลงใหม่
14.00 - 14.05 น. พัก
14.05 - 15.00 น. ฝึกซ้อมรวมวง เริ่มโดยการเตรียมความพร้อมทั้งวง และปรับเพลง
15.00 - 15.05 น. พัก
15.05 - 16.00 น. ฝึกซ้อมภาคสนาม
รูปแบบที่ 5
13.00 - 13.30 น. ตรวจความพร้อม เตรียมความพร้อม
13.30 - 14.00 น. ฝึกซ้อมแยกประเภทเครื่องดนตรี
14.00 - 14.30 น. ฝึกซ้อมรวมกลุ่มเครื่องดนตรี
14.30 - 15.30 น. ฝึกซ้อมนั่งบรรเลง
15.30 - 16.45 น. ฝึกซ้อมเดินบรรเลง
16.45 - 17.00 น. ประชุมสรุปผลการฝึกซ้อม
รูปแบบที่ 6
13.00 - 13.30 น. เตรียมความพร้อม
13.30 - 14.00 น. ฝึกซ้อมแยกประเภทเครื่องดนตรี โดยกำหนดเพลงให้
14.00 - 15.30 น. ฝึกซ้อมรวมวง แก้ไขส่วนต่างๆ
15.30 - 16.00 น. ทำความสะอาดเครื่องดนตรี
3. ตารางการเข้าค่ายฝึกซ้อมเพื่อติวเข้ม
รูปแบบที่ 1
08.00 - 08.30 น. เตรียมความพร้อม
08.30 - 10.30 น. ฝึกซ้อมแยกประเภทเครื่องดนตรี
10.30 - 12.00 น. ฝึกซ้อมรวมวงนั่งบรรเลง
12.00 - 13.00 น. รับประทานอาหาร
13.00 - 13.30 น. พัก
13.30 - 14.30 น. ฝึกซ้อมรวมวงนั่งบรรเลง
14.30 - 16.00 น. ฝึกซ้อมการเดินบรรเลงเบื้องต้น
16.00 - 17.00 น. ฝึกซ้อมการเดินแปรขบวน
รูปแบบที่ 2
09.00 - 09.30 น. เตรียมความพร้อม
09.30 - 10.00 น. ฝึกซ้อมแยกประเภทเครื่องดนตรี
10.00 - 10.30 น. ฝึกซ้อมรวมกลุ่มเครื่องดนตรี
10.30 - 12.00 น. ฝึกซ้อมรวมวงนั่งบรรเลง
12.00 - 13.00 น. รับประทานอาหาร
13.00 - 13.30 น. พักผ่อน
13.30 - 14.00 น. ฝึกซ้อมแยกประเภทเครื่องดนตรี
14.00 - 15.00 น. ฝึกซ้อมรวมกลุ่มเครื่องดนตรี
15.00 - 17.00 น. ฝึกซ้อมรวมวงเดิบรรเลง
รูปแบบที่ 3
09.00 - 09.30 น. ตรวจความพร้อม มอบหมายงาน
09.30 - 10.00 น. เตรียมความพร้อม
10.00 - 11.00 น. ฝึกซ้อมแยกประเภทเครื่องดนตรี
11.00 - 12.00 น. ฝึกซ้อมรวมกลุ่มเครื่องดนตรี
12.00 - 13.00 น. พัก
13.00 - 15.00 น. ฝึกซ้อมรวมวงนั่งบรรเลง
15.00 - 16.30 น. ฝึกซ้อมรวมวงเดินบรรเลง
16.30 - 17.00 น. ประชุมสรุปผล ให้ข้อเสนอแนะ ทำความสะอาดเครื่องประจำสัปดาห์
รูปแบบที่ 4
19.00 - 19.30 น. เตรียมความพร้อม
19.30 - 20.00 น. ฝึกซ้อมแยกประเภทเครื่องดนตรี
20.00 - 21.00 น. ฝึกซ้อมรวมกลุ่มเครื่องดนตรี
21.00 - 21.30 น ฝึกซ้อมรวมวง
7.2 การคัดเลือกนักดนตรี
7.2.1 การเตรียมการคัดเลือกนักดนตรี
1) แนวดำเนินงานการเตรียมการในการคัดเลือกการนักดนตรี
2) การกำหนดหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้สมัคร
3) การจัดทำแบบฟอร์มใบสมัคร
4) การกำหนดการรับสมัคร
5) การแจกแบบฟอร์มใบสมัคร
6) การประกาศและกำหนดเวลาในการรับสมัคร
7) การรับสมัคร
7.2.2 กระบวนการคัดเลือกนักดนตรี
1) การทดสอบความถนัดและความสามารถทางดนตรี
2) การทดสอบโสตประสาท
3) การสัมภาษณ์ท่วงทีวาจา
(1) การตรวจสอบสายตา
(2) นิ้วมือและช่วงแขน
(3) รูปปาก
(4) ความเรียบของฟัน
(5) สุขภาพอนามัย
(6) พื้นฐานความรู้ทางดนตรี
(7) เจตคติต่อดนตรี
(8) ระยะเวลาที่ศึกษาในโรงเรียน
(9) ความสามารถพิเศษอื่นๆ
(10) พื้นฐานทางครอบครัว
(11) สถานที่พักอาศัย
(12) โรคประจำตัว
(13) ผลการเรียน
จากการศึกษาพบว่า โรงเรียนที่ศึกษา จำนวน 11 โรงเรียน มีการเตรียมการในการคัดเลือกนักดนตรี คือ ทุกโรงเรียนมีแนวดำเนินงานการเตรียมการในการคัดเลือกนักดนตรี มีการกำหนดหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้สมัคร และเกณฑ์ดำเนินการในการรับสมัคร
เป็นที่น่าสังเกตว่า การเตรียมการในการคัดเลือกนักดนตรีของโรงเรียนที่ศึกษา จำนวน 11 โรงเรียน มีแนวดำเนินงานที่ไปในทิศทางเดียวกัน
จากการศึกษาพบว่า โรงเรียนที่ศึกษา จำนวน 11 โรงเรียน มีกระบวนการคัดเลือกนักดนตรี คือ การทดสอบความถนัดและความสามารถทางดนตรี การทดสอบโสตประสาท การสัมภาษณ์ท่วงทีวาจา และการตรวจสอบคุณสมบัติทางด้านร่างกายก่อนการรับสมัครและในระหว่างการฝึกซ้อม
เป็นที่น่าสังเกตว่า โรงเรียนที่ศึกษา จำนวน 11 โรงเรียน มีแนวทางในการปฏิบัติ แบ่งเป็น 2 แนวทาง คือ
1. การให้ความสำคัญในกระบวนการคัดเลือก โรงเรียนส่วนน้อยมีความเห็นว่า ถ้านักเรียนมีคุณสมบัติครบถ้วนการฝึกซ้อมจะมีประสิทธืภาพมากกว่านักเรียนที่ขาดคุณสมบัติ
2. การไม่ให้ความสำคัญในการคัดเลือก โรงเรียนส่วนใหญ่มีความเห็นว่านักเรียนจะได้รับการฝึกฝนจนเกิดความพร้อมทางทักษะทุกๆด้านเมื่อเข้ามาสู่กระบวนการฝึกซ้อมวงโยธวาทิตแล้ว ครูผู้สอน คือ บุคคลสำคัญที่จะทำให้สิ่งต่างๆเกิดขึ้นในตัวนักเรียน จนสามารถพัฒนาไปสู่เป้าหมายความสำเร็จได้


7.3 ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการจัดการวงโยธวาทิต
จากการศึกษาพบว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการจัดการวงโยธวาทิต มีปัจจัยที่ส่งผล 3 ด้าน คือด้านบุคลรากร ด้านงบประมาณ และด้านอื่นๆ ซึ่งในแต่ละโรงเรียนมีปัจจัยที่ส่งผลคล้ายกัน ที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการจัดการวงโยธวาทิต คือ
7.3.1 ด้านบุคลากรที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายประกอบด้วย
1) ผู้บริหาร
2) สมาคมทั้งสองสมาคม คือ สมาคมศิษย์เก่า และสมาคมผู้ปกครองและครู
3) องค์กรภายนอกโรงเรียน
4) ผู้ปกครองนักเรียน
5) ครูผู้สอน
6) บุคลากรในโรงเรียน
7) คณะทำงานที่เป็นศิษย์เก่า
8) นักเรียน
7.3.2 ด้านงบประมาณ
1) จากเงินบำรุงการศึกษา
2) จากการรับบริจาค
7.3.3 อื่นๆ
1) งานวิชาการ
2) อารมณ์ที่มีต่อการบรรเลง
3) ห้องฝึกซ้อม
4) โครงการจัดคอนเสิร์ต
5) อุปกรณ์
6) การพัฒนาเทคโนโลยี
เป็นที่น่าสังเกตว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการจัดการวงโยธวาทิต ในโรงเรียนที่ศึกษาทุกโรงเรียนได้รับความร่วมมือจากคณะบุคคลต่างๆ ในการที่จะได้มาซึ่งงบประมาณเพื่อนำมาพัฒนาและปรับปรุงวงโยธวาทิตให้มีความสมบูรณ์ในทุกๆด้าน
จากการศึกษากระบวนการต่างๆในการฝึกวงโยธวาทิต พบว่ามีสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาอย่างมาก สิ่งสำคัญเบื้องต้นที่จะทำให้วงโยธวาทิตประสบความสำเร็จได้ ประกอบด้วยนักดนตรี ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการสื่อความหมายของนักประพันธ์ออกมาสู่ผู้ฟัง จึงจำเป็นที่จะต้องสั่งสมประสบการณ์ ให้เกิดการเรียนรู้ให้มากที่สุด ดังนั้นผู้ที่จะเป็นนักดนตรีต้องมีคุณสมบัติที่ครบถ้วนสมบูรณ์เป็นองค์ประกอบ เพื่อสร้างผลงานทางดนตรีให้เป็นผลอันน่าพึงพอใจ กระบวนการคัดเลือกจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะสนองตอบเหตุผลในเบื้องต้น ดังนั้นจึงต้องคำนึงถึงองค์ประกอบต่างๆ ที่จะมีผลต่อการเรียนดนตรี คือ
1. องค์ประกอบและความสมบูรณ์ทางด้านร่างกาย
2. ประสาทสัมผัส
3. ทักษะพื้นฐานทางดนตรี
4. พื้นฐานความรู้และเชาวน์ปัญญา
5. เจตคติที่มีต่อการเรียนดนตรี
6. พื้นฐานทางครอบครัว และการสนับสนุนส่งเสริม
7. การเสียสละเพื่อส่วนรวม
จากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นครูผู้สอนต้องทำความเข้าใจ และชี้แจงจุดมุ่งหมายอย่างชัดเจน เพราะนักเรียนทุกคนควรได้รับการส่งเสริมสนับสนุนเท่าเทียมกันตามความต้องการของเขาเหล่านั้น แต่ต้องอยู่ในกฎเกณฑ์ที่ไม่ฝืนต่อธรรมชาติ และองค์ประกอบที่สำคัญ
7.4 ข้อเสนอแนะ
7.4.1 ข้อเสนอแนะสำหรับการบริหารจัดการวงโยธวาาทิต
การฝึกวงโยธวาทิต เป็นกระบวนการฝึกซ้อมที่มีองค์ประกอบหลายอย่าง มีปัจจัยหลายด้านที่ต้องมีการศึกษาและให้ความสำคัญ การประสานความร่วมมือเป็นสิ่งที่จะได้มาซึ่งความสำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารบุคคล และการบริหารงบประมาณ จะต้องดำเนินงานไปในทิศทางที่ถูกต้อง การฝึกซ้อมวงโยธวาทิตของหลายโรงเรียนในปัจจุบันมักไม่ประสบความสำเร็จทั้งนี้เป็นเพราะไม่เข้าใจระบบการจัดการ วิธีการดำเนินงาน และเรื่องอื่นๆ ที่เป็นองค์ประกอบที่จะทำให้วงโยธวาทิตประสบความสำเร็จได้ คือ
1) ผู้บริหารโรงเรียน เป็นบุคคลที่มีความสำคัญในการกำหนดนโยบายของโรงเรียนวงโยธวาทิตเป็นกิจกรรมหนึ่งของโรงเรียนเหมือนกับกิจกรรมทั่วไป ที่จัดให้มีขึ้นในโรงเรียน เมื่อมองในภาพรวมแล้วกิจกรรมวงโยธวาทิตเป็นกิจกรรมที่เติบโตมากกว่ากิจกรรมอื่นๆทั้งนี้เพราะวงโยธวาทิตต้องมีระบบการบริหารบุคคลที่ต้องจัดให้เป็นระบบ มีระเบียบที่เด่นชัดและมีการบริหารงบประมาณที่ต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก กิจกรรมวงโยธวาทิตจึงน่าที่จะเป็นหน่วยงานเอกเทศที่ไม่ได้แฝงอยู่ในหมวดศิลปศึกษา ดังนั้นน่าจะเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้บริหารโรงเรียนที่ควรจะแยกกิจกรรมวงโยธวาทิตให้เป็นหน่วยงานเอกเทศ ที่มีงบประมาณรองรับโดยเฉพาะ การพัฒนาวงโยธวาทิตให้ประสบความสำเร็จได้จะใช้เวลาไม่นานนัก แต่ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันผู้บริหารโรงเรียนในหลายๆโรงเรียนยังไม่ได้ให้การสนับสนุนที่แท้จริง ทั้งที่วงโยธวาทิตเป็นกิจกรรมหนึ่งที่สามารถสร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียนได้เป็นอย่างดี
2) สมาคมทั้งสองสมาคม คือ สมาคมศิษย์เก่า และสมาคมผู้ปกครองและครูเป็นองค์กรหนึ่งที่เป็นของโรงเรียน มีบทบาทในการจัดสรรงบประมาณช่วยเหลือจุนเจือในกิจกรรมต่างๆของโรงเรียน ดังนั้นสมาคมทั้ง 2 สมาคมน่าจะมีการวางแผนในการจัดสรรงบช่วยเหลือ เพื่อส่งเสริมให้กิจกรรมของโรงเรียนประสบความสำเร็จ โดยการสนับสนุนตามความจำเป็นเร่งด่วนของกิจกรรมนั้นๆ ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันสมาคมได้ให้การสนับสนุนจริง แต่เป็นการสนับสนุนในทุกกิจกรรมพร้อมๆกัน งานจึงไม่ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ เพราะงบประมาณที่ให้ต่อกิจกรรมนั้นเป็นการเฉลี่ยตามความเหมาะสม สมาคมควรจะสนับสนุนกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งครั้งละกิจกรรม แล้วกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนในการพัฒนา เมื่อประสบความสำเร็จในกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งแล้ว จึงเปลี่ยนไปวางโครงการในกิจกรรมอื่นๆต่อไป ซึ่งจะใช้ระยะเวลาไม่นานนักโครงการต่างๆของโรงเรียนก็จะมีความพร้อม มีประสิทธิภาพ มีความเป็นเลิศ และเป็นโรงเรียนที่มีความพร้อมในทุกๆด้าน
3) องค์กรภายนอกโรงเรียน มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนส่งเสริมให้วงโยธวาทิตประสบความสำเร็จได้ โรงเรียนควรมีการวางแผนและประสานงานให้องค์กรต่างๆ เข้ามาช่วยเหลือวงโยธวาทิตของโรงเรียน ด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง เช่น การของบสนับสนุนโดยมีข้อตกลงแลกเปลี่ยน หรือการขอรับบริจาคเครื่องดนตรี เป็นต้น
4) ผู้ปกครองนักเรียน เป็นบุคคลที่จะส่งผลให้บุตรหลานประสบความสำเร็จในการเล่นดนตรีได้ ผู้ปกครองต้องทำความเข้าใจว่าการที่บุตรหลานของตนมาอยู่ในวงโยธวาทิตแล้ว จะเป็นผลดีมากกว่าผลเสีย นักเรียนจะได้รับการฝึกในทุกๆด้าน การสนับสนุนส่งเสริมของผู้ปกครองจะเป็นแรงบันดาลใจให้นักเรียนได้ทำกิจกรรมอย่างมีความสุข และส่งผลให้เขาประสบความสำเร็จของชีวิตในอนาคต
5) ครูผู้สอน เป็นบุคคลที่จะทำให้วงโยธวาทิตประสบความสำเร็จหรือไม่เพราะครูผู้สอนต้องฝึกฝนนักเรียนให้ได้รับความรู้ ต้องแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น ต้องมีความเสียสละในทุกๆเรื่อง ไม่หาผลประโยชน์ให้กับตนเอง ครูผู้สอนต้องมองถึงสภาพความเป็นจริงที่มีอยู่ในปัจจุบันว่าเป็นอย่างไร แล้วแก้ปัญหาจากสภาพที่เป็นอยู่ให้ดีขึ้น การทำงานบางครั้งต้องคล้อยตามสังคมรอบข้างในบางโอกาส และสิ่งสำคัญที่ทำให้วงโยธวาทิตของโรงเรียนไม่พัฒนาเท่าที่ควรคือ ครูผู้สอนและผู้บริหารโรงเรียน มีความเข้าใจในเป้าหมายของความสำเร็จที่ต่างกัน
6) บุคลากรในโรงเรียน เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีความเกี่ยวข้องกับวงโยธวาทิต ทั้งทางตรงและทางอ้อม การที่วงโยธวาทิตจะมีระบบการบริหารการจัดการที่ดีได้นั้น บุคลากรในโรงเรียนมีส่วนช่วยเหลืออย่างมาก การให้ความเมตตาเอ็นดู การเป็นผู้เสียสละให้กับนักเรียนบ้างจะส่งผลให้นักเรียนอยากที่จะซ้อมอยากที่จะบรรเลง อยากที่จะทำประโยชน์ให้กับโรงเรียน แต่ถ้าบุคลากรในโรงเรียนขาดในเรื่องดังกล่าว ความท้อแท้ก็จะตามมา และความสำเร็จจะล่มสลาย
7) คณะทำงานและศิษย์เก่า เป็นปัจจัยส่งผลในเรื่องของการฝึกซ้อมได้เป็นอย่างดี โดยลำพังครูผู้สอนท่านเดียวไม่สามารถทำงานเกี่ยวกับวงโยธวาทิตให้สำเร็จได้ การที่มีคณะทำงานที่เป็นนักเรียนปัจจุบัน และศิษย์เก่าที่มาช่วย จะเป็นวงจรตลอดไปในกระบวนการฝึกซ้อมวงโยธวาทิต คณะทำงานที่เข้ามาทำในจุดนี้นอกจากจะเป็นผู้เสียสละแล้ว สิ่งที่เขาเหล่านั้นจะได้รับ คือ ประสบการณ์ในการทำงาน ดังนั้นการจัดการวงโยธวาทิตในด้านการฝึกซ้อมควรมีคณะทำงาน ในงานที่เกี่ยวข้องทุกๆด้าน การทำงานก็จะประสบความสำเร็จได้
8) นักเรียน คือบุคคลสำคัญในการที่จะทำให้วงโยธวาทิตประสบความสำเร็จหรือไม่อย่างไรนั้นอยู่ที่ตัวนักเรียน การคัดเลือกนักเรียนเพื่อมาเป็นนักดนตรีจึงควรผ่านขั้นตอนในการคัดเลือกที่เด่นชัด ด้วยวิธีการที่คิดว่าดีที่สุด เพื่อกลั่นกรองให้ได้นักดนตรีที่มีคุณภาพ นักเรียนทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ แต่นักเรียนไม่สามารถที่จะเรียนรู้ได้ดีทุกคน แต่ถึงอย่างไรก็อยู่ที่ทั้งผู้ให้และผู้รับที่จะต้องมีความสัมพันธ์กัน การเรียนรู้จึงจะประสบความสำเร็จได้
9) ด้านงบประมาณ มีความสำคัญเพราะการทำงานใดๆ ต้องมีงบประมาณรองรับ ส่วนจะมากหรือน้อยนั้นอยู่ที่ลักษณะของงานที่ทำ งบประมาณที่มีส่วนในการสนับสนุนวงโยธวาทิตมาจาก 3 แหล่ง คือ
(1) จากเงินบำรุงการศึกษา การจำกัดวงเงินที่จะดำเนินการจัดซื้อเครื่องดนตรีนั้นควรได้รับการแก้ไขตามสภาพเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพราะตามระเบียบที่ใช้ในปัจจุบันนั้นไม่สามารถดำเนินการ

ตามที่กำหนดไว้ได้ ราคาเครื่องดนตรีในปัจจุบันมีราคาแพงแต่งบประมาณที่อนุมัติเป็นวงเงินที่จำกัด จึงไม่สามารถจัดซื้อเครื่องดนตรีตามที่โรงเรียนต้องการได้ ถึงซื้อได้ก็ได้เครื่องดนตรีที่ขาดคุณภาพ ไม่มีความคงทนถาวร
(2) จากระบบการเงินภายในโรงเรียน ควรจัดสรรให้กับงานที่มีความต้องการเร่งด่วนเพื่อสามารถที่จะพัฒนาในแต่ละจุดให้เห็นผลอันรวดเร็ว เท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันส่วนมากจะส่งเสริมงานในหลายๆด้านไปพร้อมๆกัน ทำให้งานแต่ละอย่างไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร โดยเฉพาะการจัดซื้อเครื่องดนตรีครั้งละชิ้นสองชิ้น กว่าจะได้งบประมาณใหม่เครื่องดนตรีที่ซื้อมาก่อนจะไม่สามารถเข้ากับเครื่องใหม่ได้ด้วยเหตุผลหลายๆประการ หรือในบางครั้งเกิดชำรุดหรือเสียหายไปหมดแล้ว
(3) จากการรับบริจาค ถ้าเป็นเงินของห้างร้านเอกชนไม่ค่อยมีปัญหาในการจัดซื้อมากนัก แต่ถ้าเป็นงบจัดสรรของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้วมีปัญหามาก น่าที่จะมีการปรับปรุงในส่วนของสำนักงบประมาณที่มีอำนาจในการอนุมัติเงินจำนวนดังกล่าว ลักษณะการทำงานที่เป็นอยู่ในปัจจุบันทางสำนักงบประมาณจะอนุมัติวงเงินงบจัดสรรโดยกำหนดให้ทางโรงเรียนจัดซื้อเครื่องดนตรีโดยระบุเครื่องดนตรีและจำนวนที่อนุมัติให้จัดซื้อ แนวทางในการปฏิบัติโรงเรียนจะไม่ได้เครื่องดนตรีที่มีคุณภาพ เพราะต้องซื้อให้ครบตามจำนวนที่ระบุ ถ้าไม่จัดซื้อจะต้องทำเรื่องส่งงบจัดสรรคืน แนวทางในการดำเนินงานถ้ามีงบจัดสรรไม่เพียงพอกับความต้องการ ควรจะผลักดันงบจัดสรรดังกล่าวไปรวมกับงบจัดสรรในปีต่อไปในลักษณะงบต่อเนื่องน่าจะเป็นผลดีกว่า และจากการระบุเครื่องดนตรีที่ให้จัดซื้อ การดำเนินงานน่าจะอนุมัติเฉพาะงบจัดสรรเท่านั้น ส่วนทางโรงเรียนมีความต้องการจัดซื้อเครื่องดนตรีชิ้นใดนั้นให้เป็นดุลยพินิจของโรงเรียน โรงเรียนจะได้เครื่องดนตรีตามที่ต้องการ
(4) อื่นๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น