บทที่ 5
การจัดแผนการฝึกวงโยธวาทิต
วงโยธวาทิต ที่จัดการเรียนการสอนอยู่ในปัจจุบันมีจำนวนมากจนกล่าวได้ว่าทุกโรงเรียนได้จัดให้มีขึ้นในแต่ละโรงเรียน แต่ผลที่ตามมาคือเรื่องของผลสัมฤทธิ์ของแต่ละวง วงโยธวาทิตบางโรงเรียนประสบความล้มเหลวในการดำเนินการ และบางโรงเรียนประสบผลสำเร็จสูงสุด ทั้งนี้มีองค์ประกอบที่สำคัญ คือ ระบบการบริหารจัดการวง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าโรงเรียนที่ประความสำเร็จแล้วจะไม่เกิดปัญหาอุปสรรค การทำงานใดๆเมื่อเกิดผลดีย่อมมีผลเสียเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบต่างๆเป็นตัวแปรสำคัญ
จากการที่ผู้เขียนได้ศึกษาวิจัยระบบการบริหารจัดการวงโยธวาทิต จากจำนวนทั้งสิ้น 11 โรงเรียน ซึ่งเป็นโรงเรียนสังกัดกรมสามัญศึกษา และโรงเรียนสังกัดการศึกษาเอกชนในต่างจังหวัดจำนวน 8 โรงเรียน โรงเรียนในกรุงเทพมหานคร จำนวน 3 โรงเรียน คือ โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย โรงเรียนดาราวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย โรงเรียนสุรนารีวิทยา จังหวัดนครราชสีมา โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา จังหวัดชลบุรี โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดจันทบุรี โรงเรียนราชวินิตบางแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ โรงเรียนสารสิทธิ์พิทยาลัย จังหวัดราชบุรี โรงเรียนหอวัง โรงเรียนเซ็นต์ดอมินิก และโรงเรียนวัดสุทธิวราราม จังหวัดกรุงเทพมหานคร ซึ่งประสบความสำเร็จด้านการบริหารจัดการจนสามารถสร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียนในระดับประเทศ และต่างประเทศ จึงได้นำข้อมูลของโรงเรียนต่างๆมานำเสนอเพื่อชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ที่ได้รับจากความสำเร็จดังกล่าว อันจะเป็นแบบอย่างให้กับวงโยธวาทิตของโรงเรียนต่างๆโดยทั่วไปได้ศึกษาโดยเฉพาะด้านการบริหารจัดการ และเนื้อหาอื่นๆเพื่อให้สอดคล้องและดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน อันจะทำให้การเรียนการสอนวงโยธวาทิตมีพื้นฐานการฝึกที่ดี เกิดผลด้านคุณภาพการบรรเลงให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วทั้งประเทศ หรือมีสภาพที่ใกล้เคียงกันมากที่สุด ซึ่งปัจจุบันวงโยธวาทิตหลายๆวงมีปัญหาในเรื่องดังกล่าวอย่างมาก ทำให้การบรรเลงขาดคุณภาพ และขาดการบริหารจัดการที่ดีพอ ทั้งนี้เพราะขาดแหล่งความรู้ที่จะศึกษาเพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาทั้งในด้านของเทคนิควิธีการ และระบบการบริหารจัดการที่จะเป็นแบบอย่างได้ ซึ่งเป็นเหตุของตัวแปรสำคัญที่เป็นผลกระทบให้เกิดข้อแตกต่างอย่างที่ได้พบเห็นอยู่ในปัจจุบัน
การนำเสนอในส่วนนี้ได้นำตัวอย่างการบริหารจัดการจากโรงเรียนที่ศึกษาทั้ง 11 แห่ง เพื่อเป็นข้อมูลในการพิจารณาเลือกปฏิบัติตามที่ท่านต้องการ ดังนี้
5.1 การจัดแผนการฝึก
การจัดแผนการฝึกวงโยธวาทิตที่ผ่านมา มีปัญหาที่ควรได้รับการปรับปรุงแก้ไขในหลายๆด้าน ทั้งนี้เพราะการฝึกวงโยธวาทิตมีองค์ประกอบที่ส่งผลให้ประสบความสำเร็จหลายประการ องค์ประกอบต่างๆจะต้องมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดมีความสำคัญมากไปกว่ากัน งานทุกอย่างต้องมีการวางแผน การวางแผนที่ดีย่อมเกิดผลที่นำไปสู่ความสำเร็จ ในปัจจุบันวงโยธวาทิตจำนวนมากมักประสบกับปัญหา เพราะไม่มีการวางแผนที่ดีพอทั้งนี้เนื่องจากสาเหตุต่างๆ คือ
5.1.1 ขาดการกำหนดกฎเกณฑ์ในการฝึก คือ
1) ไม่มีการประชุมเตรียมการวางแผนการฝึกซ้อม
2) ไม่กำหนดเนื้อหาและให้สัดส่วนความสำคัญ โดยเฉพาะขั้นตอนที่ถูกต้องในการฝึกซ้อมฝึกซ้อม
3) ไม่กำหนดระยะเวลาและวางแผนการฝึกซ้อมที่ชัดเจน เช่นการฝึกซ้อมประจำวัน การฝึกซ้อมประจำสัปดาห์ และการฝึกซ้อมตลอดปี
5.1.2 ครูผู้สอนขาดประสบการณ์ ประสบการณ์ของครูผู้สอนมีส่วนสำคัญ ที่จะทำให้วงโยธวาทิตประสบความสำเร็จ เพราะผู้ที่จะสอนวงโยธวาทิตได้ต้องเป็นผู้ที่รอบรู้ ต้องมีเทคนิควิธี และในบางครั้งต้องเอาตัวรอดได้ในทางจิตวิทยา ไม่มีใครที่จะเก่งในทุกเรื่อง แม้คนที่ไม่เป็นดนตรีเลยก็สามารถนำวงโยธวาทิตไปสู่ความสำเร็จได้ ถ้ามีประสบการณ์ที่มากพอ
5.1.3 ขาดข้อมูลในการปฏิบัติ ข้อมูลเป็นปัจจัยสำคัญซึ่งต้องสั่งสมเพื่อใช้ในการพัฒนาและปรับปรุงวงโยธวาทิต ครูผู้สอนต้องเป็นผู้ใฝ่รู้ใฝ่ทำ จึงจะทำให้งานที่ทำสำเร็จลุล่วง
5.1.4 ไม่มีรูปแบบที่แน่นอน คือไม่สามมารถที่จะวางแผนว่าสิ่งใดควรกระทำก่อนสิ่งใดควรกระทำทีหลัง ไม่มีขั้นตอนที่เด่นชัดในการทำงาน บางครั้งรีบเร่งในการฝึกจนขาดขั้นตอนที่ถูกต้อง ในทางปฏิบัติหลายโรงเรียนมีปัญหาเนื่องจากคนที่ไม่เข้าใจดนตรี มักจะมีอำนาจในการสั่งการ โดยไม่ทราบว่าการฝึกดนตรีต้องผ่านกระบวนการและขั้นตอนมากมาย สิ่งที่เขาเหล่านั้นต้องการก็คือเมื่อมีวงดนตรีแล้วจะต้องบรรเลงได้ ครูดนตรีหลายคนมีขั้นตอนการฝึกที่ดี แต่เมื่อพบปัญหาดังกล่าวจึงจำเป็นต้องสนองตอบความต้องการ เพื่อลบล้างคำปรามาสว่า “ไม่เห็นได้เรื่อง ไม่มีความสามารถ เปิดเทอมหลายอาทิตย์แล้วเพลงชาติยังเป่าไม่ได้ สู้ครูคนเก่าไม่ได้” เพราะเขาเหล่านั้นไม่ทราบว่าดนตรีย่อมเกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวบุคคลตลอด ในทุกๆปีมีนักเรียนที่จบการศึกษาจำนวนมาก จึงต้องสร้างใหม่เพื่อทดแทนนักเรียนที่จบการศึกษาไป แต่ครูผู้สอนก็จำยอมที่ต้องตอบสนอง ดังนั้นจึงทำให้เกิดผลเสียตามมามากมาย
5.1.5 ไม่มีตลาดความรู้ให้ศึกษา ตั้งแต่เริ่มมีวงดนตรีขึ้นในประเทศไทยยังไม่มีใครเขียนตำราที่ชี้ชัดในเรื่องการจัดแผนการฝึกเลยแม้แต่เล่มเดียว ที่ปฏิบัติกันมามักเป็นเรื่องของระบบครูพักลักจำ บรรพบุรุษทำอย่างไรก็สืบสานกันต่อๆมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบพี่สอนน้อง พี่เคยฝึกอย่างไรน้องก็รับอย่างนั้นเป็นเช่นนี้เรื่อยมา
5.1.6 การใช้แนวทางของต่างชาติ บางครั้งไม่ได้ผลโดยเฉพาะสื่อสารทางภาษา มีตำราหลายเล่มที่เขียนไว้ของต่างชาติ เช่น อังกฤษ อเมริกา และญี่ปุ่น เป็นต้น ในแนวทางการเขียนมักเน้นไม่ตรงจุด ทำความเข้าใจยากสำหรับการเรียนรู้ ตำราต่างๆเหล่านั้นมักเขียนในเชิงพรรณนา ไม่ชี้ชัดให้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ทำให้เกิดความล้มเหลวทางการศึกษาตามมา
5.1.7 เวลาในการฝึกซ้อมไม่เพียงพอ ปัจจุบันวงโยธวาทิตอยู่ในรูปของการจัดกิจกรรม โดยหลักสูตรไม่ได้กำหนดให้จัดการเรียนการสอน ครูผู้สอนมีหน้าที่เป็นเพียงที่ปรึกษา ส่วนการจัดกิจกรรมเป็นเรื่องของนักเรียนที่ต้องเป็นผู้ดำเนินการเองทั้งหมด โดยหลักการแล้วจะไม่มีการเรียนการสอน ทำให้ขาดหลักธรรมชาติของวิชาดนตรีอย่างเห็นได้ชัด จึงทำให้กิจกรรมจึงไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ครูผู้สอนต้องเข้าไปมีบทบาทในการชี้นำจึงจะทำให้วงโยธวาทิตประสบความสำเร็จได้ การจัดกิจกรรมในชั้นเรียนกำหนดไว้เพียงสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง ดังนั้นจึงเป็นความจำเป็นที่ครูผู้สอนต้องบริหารเวลานอกเหนือจากเวลาที่หลักสูตรกำหนด โดยการกำหนดการฝึกซ้อมนอกเวลาเรียน ทั้งนี้เพราะดนตรีเป็นเรื่องของการฝึกทางทักษะ ความรู้ความสามารถจะเกิดขึ้นได้ต้องใช้ระยะเวลามาก แต่ที่เป็นปัญหาคือครูผู้สอนไม่เป็นผู้เสียสละ ไม่ให้เวลากับงานที่รับผิดชอบ และไม่มีการวางแผนที่จะให้เกิดการเรียนรู้หลังโรงเรียนเลิก วันหยุดเสาร์ อาทิตย์ หรือในระหว่างปิดภาคเรียน
สิ่งที่กล่าวทั้งหมดข้างต้นคือปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้อง การจัดทำแผนการฝึก เป็นการวางแผนที่ต้องเน้นจุดมุ่งหมายอย่างเด่นชัด เพื่อให้การฝึกซ้อมบรรลุวัตถุประสงค์ และทั้งนี้ยังเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับครูผู้สอนและนักเรียน การได้อยู่ร่วมกันและปฏิบัติงานร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งให้เกิดความเชื่อมั่น ความมั่นใจ การช่วยเหลือซึ่งกันและกันเป็นผลให้เกิดความรักใคร่กลมเกลียวของหมู่คณะอีกด้วย
เบนท์เล และคนอื่นๆ (Bentley Shellahamer, et al., 1986: 60 - 61) กล่าวพอสรุปได้ว่า “ปัจจุบันการวางแผนการกำหนดการฝึกที่ดีที่สุดคือต้องมีกลุ่มคณะทำงาน (Staff) ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสำคัญในการสอน และการที่จะทำให้การซ้อมดนตรีประสบความสำเร็จได้นั้น ต้องมีการวางแผนที่ดีซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการสอนและการฝึกซ้อม”
จากแนวคิดของ ชาร์ล อาร์ ฮอฟเฟอร์ ( Charles R. Hoffer, 1989: 269) จากมหาวิทยาลัยในฟลอริดา กล่าวพอสรุปได้ว่า การฝึกปฏิบัติดนตรีในโรงเรียนให้ประสบความสำเร็จได้นั้น นักเรียนเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญ คือ
1. เป็นสิ่งที่แน่นอนที่นักเรียนจะสามารถดูแลและช่วยเหลือในการแสดงให้สู่จุดหมาย เป็นเรื่องธรรมดาที่คนเราจะต้องฝึกอย่างหนักในบางสิ่งบางอย่าง เพื่อเรียนรู้ในการปฏิบัติ
2. ดนตรีปฏิบัติสามารถที่จะให้การศึกษาต่อผู้ฟังเกี่ยวกับเสียงดนตรี และในหลักสูตรของโรงเรียนดนตรีปฏิบัติ เป็นการแสดงไหวพริบ เป็นการสร้างชื่อเสียงที่เกี่ยวข้องกับดนตรีในชั้นเรียน
3. การอยู่ร่วมกันนั้นในทางจิตศาสตร์แล้ว เด็กจะมีความรักใคร่เพิ่มมากขึ้นจากการร่วมมือกันในการบรรเลงดนตรี คนรุ่นหนุ่มสาวจะได้รับความสำเร็จได้ต้องรู้จักกระทำให้เกิดความสำเร็จในการเป็นผู้ปฏิบัติ และจะทำให้ได้มาซึ่งความเที่ยงตรงและความไว้วางใจจะเกิดมีขึ้นในผู้ฟัง
4. ทุกคนต้องมีสำนึกในการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการปฏิบัติเครื่องดนตรี
5. ดนตรีปฏิบัติเป็นประโยชน์อย่างมากในโรงเรียน การแสดงจะเกิดความเร้าใจต่อเมื่อทุกคนได้ร่วมแรงร่วมใจกัน
จากแนวคิดของ เบนเบนท์เล และคนอื่นๆ (Bentley Shellahamer, et al., 1986: 44) กล่าวพอสรุปได้ว่า สิ่งที่จะช่วยสนับสนุนให้วงโยธวาทิต (Military Band) ประสบผลสำเร็จประกอบด้วยการศึกษาจุดมุ่งหมาย คือ ต้องยอมรับนักเรียนที่มีส่วนร่วมในวงดนตรี การช่วยเหลือให้เด็กเหล่านั้นประสบความสำเร็จ ต้องคอยดูแลทั้งด้านสุขภาพร่างกาย ทักษะในการบรรเลงร่วมกัน และความสามารถเฉพาะตัว นักเรียนส่วนใหญ่จะรักความก้าวหน้ามีความผูกพันกับดนตรี แต่เด็กบางคนมีขอบเขตในการรับรู้ บางคนเรียนไม่ทันเพื่อน การช่วยเหลือซึ่งกันและกันเป็นสิ่งที่ดีที่สุด โดยไม่ปล่อยให้เขาเหล่านั้นเรียนรู้ด้วยตนเอง
เบนท์เล และคนอื่นๆ (Bentley Shellahamer, et al., 1986: 60-61) ได้แบ่งการฝึกซ้อมไว้ดังนี้
ตารางการฝึกซ้อมหลังโรงเรียนเลิก
3.15 นักดนตรีทั้งหมดพร้อมกันที่จุดนัดพบ ผู้นำกลุ่มรายงานความพร้อม
3.17 คลายกล้ามเนื้อ 32 ครั้ง ตามเวลาที่กำหนด กระโดดขึ้นลง 10 ครั้ง งอเข่าข้างหนึ่ง 5 ครั้ง ก้มลงแตะนิ้วเท้า 5 ครั้ง
3.20 1. การฝึกเสียงลมยาว สลับเสียง คือ Bb - C, Bb - D, Bb - E, Bb - F, Bb - G โดยการปฏิบัติดังนี้
1) การควบคุมลมหายใจในการใช้เสียงหนัก (เน้นท่าทางและเทคนิคในการควบคุมลมหายใจอย่างถูกต้อง)
2) เน้นความหนักแน่น “จุดศูนย์รวม” และ “จุดศูนย์กลาง” ของเสียง
3) ผู้เล่นเครื่องประกอบจังหวะต้องบริหารกล้ามเนื้อ เพราะรูปร่างเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
2. การปรับเสียง
3. การร้อง ให้เน้นในสิ่งต่อไปนี้
1) การควบคุมความสูงต่ำของระดับเสียง
2) การเพิ่มกำลังให้เสียงมีคุณภาพดี
3) การพิจารณาแก้ไขให้ถูกต้องในเรื่องของเทคนิคการจบประโยค
3.28 ทบทวนหลังจากจบการฝึกซ้อม และสิ่งจำเป็นคือการอบอุ่นร่างกาย
3.30 ให้ข้อคิดเห็นแก่ผู้นำกลุ่มที่ทำหน้าที่ในการฝึก (หยุดพักการซ้อม 10 นาที)
3.40 รวมวงเพื่อการซ้อมภาคสนาม และแบ่งเป็นกลุ่มเครื่องในการซ้อมเพื่อหาข้อผิดพลาดในแต่ละประโยคเพลงและการฝึกทบทวนของเดิม
4.50 รวมวงฝึกทบทวนตั้งแต่ต้น โดยเน้นในจุดที่มีความบกพร่องในการซ้อม
4.58 แจ้งข้อผิดพลาดในการซ้อม เพื่อความแน่ใจและนำไปปรับปรุงในการซ้อมครั้งต่อไป
เบนท์เล และคนอื่นๆ (Bentley Shellahamer, et al., 1986: 56 - 58) ได้กำหนดแบบการฝึกในวันหยุด หรือการฝึกเพื่อติวเข้ม ซึ่งแบ่งเวลาการฝึกเป็น 2 แบบ คือ
แบบที่ 1
วันจันทร์
8.30 - 9.30 ประชุมนัดหมายการซ้อม (ห้องดนตรี)
9.30 - 10.00 พัก
10.00 - 12.00 ดนตรีสนาม (สนามฝึก)
6.15 - 8.00 ดนตรีสนาม (สนามฝึก)
วันอังคาร
8.00 - 9.30 การประชุมเรื่องทั่วๆไป และการฝึกการบรรเลง (ห้องดนตรี)
9.30 - 10.00 พัก
10.00 - 12.00 ดนตรีสนาม (สนามฝึก)
วันพุธ และวันพฤหัสบดี (เหมือนวันอังคาร)
วันศุกร์
8.00 - 8.45 เปลี่ยนเครื่องแต่งกายเป็นชุดการแสดง
9.00 - 11.15 ประชุมทบทวน (สนามฝึก)
- การรวมวงใหญ่
- กลุ่มรุ่นพี่
- กลุ่มเครื่องประกอบจังหวะ
- กลุ่มเบส
- กลุ่มธง
- การบรรเลงเดี่ยว
แบบที่ 2
วันจันทร์
8.00 - 9.30 ประชุมเรื่องทั่วๆไป ในเรื่องการฝึกการบรรเลง (ห้องดนตรี)
9.30 - 10.00 พัก
10.00 - 12.00 ดนตรีสนาม (สนามฝึก)
6.15 - 7.00 ฝึกการบรรเลง (ห้องดนตรี)
7.00 - 8.30 ดนตรีสนาม (สนามฝึก)
8.30 - 9.00 ฝึกการบรรเลง (ห้องดนตรี)
วันอังคาร วันพุธ วันพฤหัสบดี (เหมือนวันจันทร์)
วันศุกร์
8.00 - 9.30 ฝึกการบรรเลง (ห้องดนตรี)
9.30 - 10.00 พัก
10.00 - 12.00 ดนตรีสนาม (สนามฝึก)
5.30 - 7.45 ดนตรีสนาม (สนามฝึก)
8.00 - ? กิจกรรมนันทนาการ (โดยรุ่นพี่)
ภาสกร สุวรรณพันธ์ (นาวาตรีภาสกร สุวรรณพันธ์, สัมภาษณ์) ได้กำหนดแนวทางในการฝึก และตารางฝึกไว้คือ
แนวทางในการฝึกที่ดี ประกอบด้วย
1. การสอนให้เด็กรู้นิ้ว
2. ให้เป่าเสียงเดียวกัน (Unison) ทั้งวง
3. ในขณะเป่าจะต้องฝึกให้ผู้เรียนฟังด้วยหู
4. การฝึกการหายใจอย่างถูกวิธี
5. การ Warm-up เป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญมากในการฝึกซ้อม ดังนั้นจึงต้องให้เวลาตรงนี้มากพอสมควร โดยเฉลี่ยประมาณ 30 นาที สิ่งที่ควรปฏิบัติ คือ
1) การฝึกเป่า 4 จังหวะ พร้อมกัน
2) เป่าคอร์ดแล้วให้ฟังและแยกเสียงให้ถูกต้อง
3) การเน้นความดัง-เบา ในแต่ละแนวของเครื่องมือ ให้เกิดความเคยชิน ถ้าไม่เน้นในเรื่องดังกล่าวเด็กจะแข่งกันเป่า
การกำหนดตารางฝึก
09.00 - 09.30 น. Warm - up
09.30 - 10.30 น. บรรเลงเพลงง่ายๆที่เน้นการประสานเสียง (Harmony) เพื่อจะ
ให้เกิดทักษะ
10.30 - 10.45 น. พัก
10.45 - 12.00 น. ฝึกเพลงที่ค่อนข้างยาก
13.00 - 16.00 น. ซ้อมเพลงที่ยากขึ้น เพื่อพัฒนาความสามารถ
จากการศึกษากระบวนการของการจัดแผนการฝึกวงโยธวาทิตที่กล่าวข้างต้น จึงสรุปและจัดเป็นแผนการฝึกสำหรับวงโยธวาทิตได้ ดังนี้
การกำหนดตารางฝึก
การกำหนดตารางฝึกประจำวันหลังเวลาโรงเรียนเลิก
1. การประชุมตรวจความพร้อม หัวหน้ากลุ่มเครื่องรายงานความพร้อม ฟังคำชี้แจงจากครูผู้ควบคุมการฝึกซ้อม
2. การอบอุ่นร่างกาย (Warm - up Section)
2.1 คลายกล้ามเนื้อ 32 ครั้งตามเวลาที่กำหนด
2.2 กระโดดขึ้นลง 10 ครั้ง
2.3 งอเข่าข้างใดข้างหนึ่งสลับกัน 5 ครั้ง
2.4 ก้มลงใช้นิ้วแตะนิ้วเท้า 5 ครั้ง
3. การเตรียมความพร้อมทางดนตรี (Music Warm - up)
3.1 เป่าเสียงยาว (Long Tone) ตามแบบฝึกที่กำหนด โดยคำนึงถึงการควบคุมลมหายใจ ในการใช้เสียงหนักและเสียงเบา (แสดงออกถึงท่าทาง และเทคนิคการควบคุมลมหายใจอย่างถูกต้อง) ควรให้เสียงที่หนักแน่นอยู่ที่จุดศูนย์กลางของเสียง
3.2 การปรับเสียง
3.3 การร้อง โดยคำนึงถึงการควบคุมความ สูง ต่ำ ของระดับเสียงที่ร้อง การเพิ่มกำลังให้เสียงที่ออกมามีคุณภาพ และเทคนิคการพิจารณาแก้ไขสิ่งบกพร่อง และการจบประโยคที่สมบูรณ์
3.4 การซ้อม Section คือการแยกกลุ่มฝึกซ้อมย่อย ตามชนิดของเครื่องมือ
3.5 การซ้อม Part คือการแบ่งไปฝึกตามกลุ่มเครื่องในบทเพลงที่กำหนด
3.6 หัวหน้าหรือผู้นำวงเรียกสมาชิกพร้อมเพื่อบรรเลงรวม
3.7 ครูผู้สอนปรุงแก้ไขและให้ข้อเสนอแนะ
การกำหนดเวลาในการฝึกซ้อม (ใช้สำหรับการฝึก 2 ชั่วโมง)
การประชุมตรวจความพร้อม 10 นาที
การอบอุ่นร่างกาย (Warm - up Section) 5 นาที
การเตรียมพร้อมทางดนตรี (Music Warm - up) 20 นาที
การซ้อม Part 35 นาที
หัวหน้าหรือผู้นำวงเรียกสมาชิกพร้อมเพื่อบรรเลงรวม 5 นาที
ครูผู้สอนปรับปรุงแก้ไขและให้ข้อเสนอแนะ 20 นาที
มีช่วงเวลาพัก 10 นาที และทำความสะอาดเครื่อง 15 นาที
การฝึกซ้อมประจำสัปดาห์ กำหนดการฝึกเหมือนกับการฝึกซ้อมประจำวัน และเพิ่มการฝึกซ้อมในวันเสาร์ โดยการกำหนดตารางฝึกซ้อม ดังนี้
ตารางฝึกซ้อมวงโยธวาทิต
วันจันทร์ - วันศุกร์
เวลา 15.50 - 16.00 น. ประชุมตรวจความพร้อม
เวลา 16.00 - 16.05 น. การอบอุ่นร่างกาย (Warm - up Section)
เวลา 16.05 - 16.25 น. การเตรียมพร้อมทางดนตรี (Music Warm - up)
เวลา 16.25 - 16.35 น. พัก
เวลา 16.35 - 17.10 น. การซ้อม Part ยกเว้นวันอังคารซ้อม Marching วันศุกร์รวมวง
เวลา 17.10 - 17.15 น. หัวหน้าหรือผู้นำวงเรียกสมาชิกพร้อมเพื่อบรรเลงรวม
เวลา 17.15 - 17.35 น. ครูผู้สอนปรับปรุงแก้ไขและให้ข้อเสนอแนะ
เวลา 17.35 - 17.50 น. ทำความสะอาดเครื่อง ปิดห้อง ปล่อยกลับบ้าน
วันเสาร์
เวลา 08.50 - 09.00 น. ประชุมตรวจความพร้อม หัวหน้ากลุ่มเครื่องรายงานความพร้อม ฟังคำชี้แจงจากครูผู้สอน
เวลา 09.00 - 09.05 น. การอบอุ่นร่างกาย (Warm - up Section)
เวลา 09.05 - 09.50 น. การเตรียมพร้อมทางดนตรี (Music Warm - up)
เวลา 09.50 - 10.00 น. พัก
เวลา 10.00 - 11.30 น. การซ้อม Part
เวลา 11.30 - 12.00 น. ครูผู้สอนปรับปรุงแก้ไขและให้ข้อเสนอแนะ
เวลา 12.00 - 13.00 น. พักรับประทานอาหาร
เวลา 13.00 - 13.10 น. ประชุมตรวจความพร้อม
เวลา 13.10 - 14.40 น. ซ้อม Marching
เวลา 14.40 - 15.00 น. ครูผู้สอนปรับปรุงแก้ไขและให้ข้อเสนอแนะ
เวลา 15.00 - 16.00 น. ทำความสะอาดเครื่องประจำสัปดาห์ ปิดห้อง ปล่อยกลับบ้าน
แผนการฝึกวงโยธวาทิตตลอดปี มีเกณฑ์ที่ต้องพิจารณาและวางแผนการการฝึกซ้อม เพื่อให้การฝึกซ้อมเกิดประโยชน์สูงสุด จึงควรมีตารางฝึกที่แน่นอนและชัดเจน เพื่อสะดวกต่อการปฏิบัติทั้งครูผู้สอนและนักเรียน ดังนี้
(1) แผนการฝึกระหว่างเปิดภาคเรียน
(2) การงดการฝึกซ้อมก่อนการสอบ
(3) การกำหนดเวลาเริ่มฝึกซ้อมหลังการสอบ
(4) การกำหนดการฝึกซ้อมระหว่างปิดภาคเรียน
(5) การกำหนดเวลาการฝึกซ้อมพิเศษ ในกรณีเร่งด่วน หรือ เพื่อเตรียมการในโอกาสพิเศษต่างๆ
(6) กำหนดเวลาการเข้าค่ายฝึกซ้อมเพื่อติวเข้ม
แผนการฝึกวงโยธวาทิตตลอดปี กำหนดได้ดังนี้
ระหว่างเปิดภาคเรียน
ซ้อมสัปดาห์ละ 6 วัน หยุดวันอาทิตย์
จันทร์ - ศุกร์ ระหว่างเวลา 15.50 - 17.50 น. (วันละ 2 ชั่วโมง)
เสาร์ ระหว่างเวลา 08.50 - 16.00 น. (วันละ 6 ชั่วโมง 10 นาที พักกลางวัน 1 ชั่วโมง)
ระหว่างการสอบ
งดซ้อมก่อนสอบประมาณ 15 วัน เพื่อเตรียมตัวสอบ
งดซ้อมในระหว่างการสอบ
เริ่มซ้อมหลังสอบเสร็จ 1 สัปดาห์
ระหว่างปิดภาคเรียน
ซ้อมสัปดาห์ละ 6 วัน หยุดวันอาทิตย์
จันทร์ - เสาร์ เวลา 08.50 - 16.00 น. (วันละ 6 ชั่วโมง 10 นาที พักกลางวัน 1 ชั่วโมง)
การเข้าค่ายฝึกซ้อมเพื่อเพิ่มทักษะ (ติวเข้ม) โดยนักเรียนต้องมาทำการฝึกซ้อมตามระยะเวลาที่กำหนด อาจจะเป็นครั้งละ 1 สัปดาห์ หรือ 2 สัปดาห์ ตามแต่ทางโรงเรียนจะเห็นเหมาะสม ในการฝึกซ้อมแบบนี้ได้ผลดีในหลายๆด้าน เพราะมีเวลามากพอที่จะเน้นในสิ่งต่างๆที่เห็นว่าเหมาะสมและเป็นประโยชน์ ส่วนในเรื่องของเวลาและตารางฝึกจะเหมือนกับการฝึกแบบอื่นๆ มีเพิ่มมาคือในเวลากลางคืนจะใช้เวลา
นี้ในการฝึกทบทวน และจัดให้มีการเรียนการสอนวิชาสามัญที่นักเรียนยังไม่เข้าใจ โดยกำหนดตารางให้ครู อาจารย์ เป็นผู้รับผิดชอบ และในช่วงเช้าก่อนรับประทานอาหารนักดนตรีทุกคนต้องรับการฝึกพลศึกษาเพื่อฝึกความแข็งแรงทางด้านร่างกายและมีเวลาในการฝึกทบทวนบทเพลงที่ยังไม่แม่นยำ เพราะมีความเชื่อว่าการฝึกในช่วงเวลานี้จะมีความจำได้ดีกว่า
(ธนาคาร แพทย์วงษ์, 2534: 74-75)
จากการศึกษาด้านการเตรียมการจัดแผนการฝึกอันเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการฝึกวงโยธวาทิต ซึ่งถือว่าเป็นการเตรียมความพร้อมในการวางแผนที่ทำให้งานสำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายที่ตั้ไว้ เพื่อทราบทิศทางในการดำเนินการด้านการฝึก ขั้นตอนการฝึกที่นำไปสู่ความสำเร็จได้ โดยโรงเรียนที่ศึกษาทั้ง 11 โรงเรียนมีแนวทางในการจัดแผนการฝึกที่มีทั้งเหมือนกัน คล้ายกัน และแตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการที่ส่งผลให้การทำงานมีข้อแตกต่างเกิดขึ้นดังนี้
5.2 การเตรียมการกำหนดแผนการฝึก
5.2.1 การประชุมเตรียมการ
การประชุมเตรียมการ จากการศึกษาโรงเรียนทั้ง 11 โรงเรียน มีลักษณะการปฏิบัติเกี่ยวกับการประชุมเตรียมการแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ มีการประชุมเตรียมการ และไม่มีการประชุมเตรียมการ
1) โรงเรียนที่มีการประชุมเตรียมการ จะมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ
(1) มีคณะครูผู้สอนจำนวนหลายท่าน เป็นโรงเรียนที่มีความพร้อมอย่างมากโดยมีครูผู้สอนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป จะมีการวางแผนในการปฏิบัติงานก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 แผนการดำเนินงานจะเริ่มฝึกซ้อมประมาณสัปดาห์ที่ 4 ของภาคเรียนที่ 1 และการเตรียมการก่อนปิดภาคเรียนที่ 2 เป็นการวางแผนเตรียมการฝึกซ้อมระหว่างปิดเรียนปลายภาค เพื่อเตรียมความพร้อมล่วงหน้าก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1
(2) มีครูผู้สอนท่านเดียวและมีคณะทำงานเป็นนักเรียนรุ่นพี่ ครูผู้สอนจะร่วมวางแผนกับคณะกรรมการของวง ซึ่งประกอบด้วย หัวหน้าวง รองหัวหน้าวง หัวหน้า Part หัวหน้า Section และหัวหน้าผู้รับผิดชอบในเรื่องต่างๆ และนอกจากนี้ยังมีนักเรียนรุ่นพี่ที่จบการศึกษาไปแล้วเข้าร่วมวางแผน โดยมีการประชุมปรึกษาหารือในการทำงานมีการวางแผนงานที่จะทำในแต่ละปี
2) โรงเรียนที่ไม่มีการประชุมเตรียมการ เป็นการวางแผนของครูผู้สอนเพียงท่านเดียวโดยการวางแผนการฝึกซ้อมและให้นักเรียนปฏิบัติตามที่กำหนดไว้เป็นแผน ซึ่งมีทั้งแผนระยะสั้นเป็นแผนที่วางไว้ 1 เดือน แผนระยะกลางเป็นแผนที่วางไว้ 1 ภาคเรียน และแผนระยะยาวเป็นแผนที่วางไว้ 1 ปี
จากแนวทางในการประชุมเตรียมการทั้ง 11 โรงเรียนได้ปฏิบัติถึงแม้ว่าวิธีการในการทำงานแตกต่างกัน แต่ความสำเร็จนั้นพบว่าการทำงานใดๆ ถ้ามีการเตรียมการแล้วงานนั้นๆย่อมดำเนินไปได้ด้วยดีและประสบความสำเร็จ ครูผู้สอนต้องคำนึงเสมอว่าการทำงานให้ประสบความสำเร็จได้ต้องมีการวางแผน แล้วปฏิบัติตามแผนที่เตรียมไว้ งานนั้นจะบรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ ถ้าไม่มีการวางแผนการทำงานแล้ว จะไม่ทราบทิศทางว่าควรดำเนินการอย่างไร อย่างน้อยควรทำแผนให้เป็นรูปธรรม วางกฎเกณฑ์ให้นักเรียนได้ทราบแนวทาง นักเรียนจะปฏิบัติไปตามแนวทางที่ครูผู้สอนกำหนดไว้ ฉะนั้นการประชุมเตรียมการถือเป็นขั้นต้นก่อนที่จะมีการปฏิบัติจริง โรงเรียนใดที่มีการเตรียมการดี มีเป้าหมายที่แน่นอน และยึดแนวทางปฏิบัติไปตามแผนที่วางเป้าหมายไว้โรงเรียนนั้นก็จะสามารถประสบความสำเร็จได้ แต่ถ้าโรงเรียนใดที่ไม่ได้กำหนดอะไรไว้เลยนึกจะทำจุดไหนก็ทำ โดยไม่มีขั้นตอนการดำเนินงาน หรือมีความสามารถในด้านหนึ่งด้านใดก็จะเน้นแต่ในด้านที่ตนเองมีความถนัดมากกว่าในส่วนอื่นๆ การพัฒนาการของนักเรียนแต่ละคนจะไม่พัฒนาไปพร้อมกัน ซึ่งจะเป็นปัญหาตามมา วงโยธวาทิตจะประสบความสำเร็จได้ต้องพัฒนาไปพร้อมๆกันในทุกๆด้าน
3.2.2 การกำหนดเนื้อหาและให้สัดส่วนความสำคัญ ทั้ง 11 โรงเรียนที่ศึกษามีแนวทางในการดำเนินงานที่มีลักษณะคล้ายกัน บางโรงเรียนมีความแตกต่างกันบ้างขึ้นอยู่กับสภาพความพร้อมของแต่ละโรงเรียน และการวางเป้าหมายที่แตกต่างกันของครูผู้สอน คือ
1) แนวการดำเนินงานที่มีลักษณะคล้ายกัน เป็นลักษณะการจัดได้หลายวิธีตามโอกาสและเวลาที่มีให้ เช่น
(1) การวางเกณฑ์ในการปฏิบัติว่าในแต่ละเดือนจะทำอะไรบ้าง โดยการวางแผนในการกำหนดเนื้อหา 1 เดือน 1 ภาคเรียน และ 1 ปี เน้นการฝึกไปที่นักเรียนใหม่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โดยมีการวางแผนการทำงานล่วงหน้าโดยวางเป้าหมายไว้ว่า ความพร้อมจะเกิดขึ้นเมื่อนักเรียนได้ฝึกไปแล้ว 4 เดือน คือตั้งแต่เดือน
สิงหาคม ถึงเดือนพฤศจิกายน เพราะนักเรียนมีพื้นฐานมาบ้างแล้ว ในการวางแผนมีอุปสรรคบ้างในเรื่องของระยะเวลา บางครั้งเวลาอาจคลาดเคลื่อนไปบ้าง บางครั้งต้องเพิ่มระยะเวลาในการฝึกให้มากขึ้น เช่นวางเป้าหมายในการฝึกซ้อมว่าต้องบรรเลงภาคสนาม (Marching Band) ได้ ต้องเดินในรูปแบบของการแสดง (Display) ได้ บางครั้งต้องเลื่อนเวลาออกไปเพราะเป็นการฝึกซ้อมที่ใช้ระยะเวลาไม่แน่นอน
(2) การวางเนื้อหาจะกำหนดเป็น 2 ขั้นตอน คือ นักเรียนฝึกใหม่จะได้รับการฝึกในเนื้อหาพื้นฐานต่างๆ เช่นการฝึกและควบคุมการหายใจ การฝึกพื้นฐานทางจังหวะ การเรียนรู้ทฤษฎีโน้ตสากล และทักษะด้านต่างๆที่ควรทราบ อีกส่วนหนึ่งคือนักเรียนที่เป็นแล้วจะฝึกทางด้านการพัฒนาความสามารถ ฝึกแบบฝึกหัด ฝึกบทเพลงต่างๆ
(3) การทำแผนการฝึกครั้งละ 4 เดือน เมื่อครบ 4 เดือน จะทำแผนการฝึกใหม่ เป็นอย่างนี้เรื่อยไป ประกอบด้วยพื้นฐานเบื้องต้นใช้ระยะเวลาประมาณ 2 - 3 เดือน หลังจากนั้นจะแบ่ง Section ให้นักเรียนได้ฝึกตามกระบวนการ โดยมีกลุ่มครูผู้สอนร่วมกับนักเรียนรุ่นพี่ที่มีความสามารถฝึกรุ่นน้องได้ แบ่งให้รับผิดชอบในแต่ละ Section มีหัวหน้า Section เป็นผู้ควบคุมการฝึกซ้อมตามเนื้อหาที่ครูผู้สอนกำหนด หลังจากที่ได้ฝึกแยกแต่ละ Section แล้วจะรวมเป็น Part ในส่วนนี้นักเรียนรุ่นพี่จะช่วยได้อย่างมาก ครูผู้สอนต้องเตรียมการวางแผนแล้วเรียกหัวหน้า Part มาสั่งการว่าจะทำอะไร เมื่อใด การทำงานจะไปในทิศทางเดียวกันหมดตามข้อตกลงที่วางไว้นอกจากนั้นยังจัดให้มีหัวหน้าแผนกรับผิดชอบในส่วนต่างๆ การกำหนดแผนการฝึก ได้มีการวาง แผนร่วมกันว่าจะทำจุดไหนอย่างไร โดยมีการปรึกษาหารือกันตลอดเวลา และมีตารางแจ้งให้ทุกคนทราบว่าวันเวลาใดจะทำกิจกรรมอะไร หรือวันใดจะฝึกอะไรบ้าง เพื่อให้นักเรียนได้ปฏิบัติอย่างถูกต้อง
2) แนวดำเนินการที่มีความแตกต่างกัน เป็นแผนการฝึกที่เน้นให้นักเรียนได้ศึกษาเรื่องราวที่ฝึกอย่างละเอียด ตลอดจนแนวการบรรเลงต่างๆ เช่น แนวของการนั่งบรรเลง (Concert Band) หรือแนวของการบรรเลงดนตรีสนาม (Marching Band) นักเรียนต้องศึกษารูปแบบของการฝึกประเภทต่างๆให้เข้าใจ จึงสามารถฝึกซ้อมให้ประสบความสำเร็จได้ แผนการฝึกจะเป็นแบบเฉพาะเรื่อง การสอนจะสอนในเรื่องของเทคนิคการปฏิบัติเครื่องดนตรีเบื้องต้น เริ่มตั้งแต่การฝึกลม การจรดปาก ไปจนถึงเรื่องเทคนิคปฏิบัติชั้นสูง สิ่งที่เน้นคือการฝึกบันไดเสียง ในการฝึกบทเพลงจะต้องศึกษาประวัติของเพลงอย่างจริงจัง ศึกษาประวัติของผู้แต่ง และต้องมีความเข้าใจในจุดมุ่งหมายของผู้แต่งโดยละเอียด และที่สำคัญนักเรียนต้องมีความรู้ในแนวเพลงประเภทต่างๆว่า แนวเพลงที่ฝึกเป็นแนวเพลงประเภทใด ต้องศึกษาแนวเพลงนั้นๆให้เข้าใจอย่างละเอียด เช่น เป็นเพลงแนว Classic, Popular, Jazz, Rock เป็นต้น
การพิจารณาการกำหนดเนื้อหาสาระและให้สัดส่วนความสำคัญ เป็นเรื่องที่ควรดำเนินการ เพราะทั้งครูผู้สอนและนักเรียนจะมีแนวทางในการปฏิบัติที่ไปในทิศทางเดียวกัน การกำหนดเนื้อหาและการกำหนดระยะเวลาบางครั้งเมื่อกำหนดเป็นเกณฑ์การปฏิบัติแล้ว ไม่สามารถปฏิบัติได้ตามที่กำหนดไว้ จึงต้องใช้ลักษณะการยืดหยุ่นระยะเวลาตามสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ เป็นการแก้ปัญหา ทั้งนี้เพราะการเกิดปัญหาเนื่องมาจากสาเหตุที่สำคัญ คือ การมีงานเร่งด่วนเข้ามาแทรก ในฐานะผู้ปฏิบัติเมื่อมีคำสั่งก็ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง จึงทำให้ไม่สามารถกำหนดอะไรเป็นกฎเกณฑ์ตายตัวได้ หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจแล้วก็กลับมาซ้อมต่อจากที่ซ้อมไว้ เมื่อมีงานก็ต้องหยุดการฝึกซ้อมตามแผนอีก เสร็จงานก็กลับมาซ้อมต่อตามแผนเป็นเช่นนี้ตลอด แต่จะต้องมีโครงการระยะยาวรองรับ หรือมีวันที่สามารถเผื่อไว้ล่วงหน้า จะทำให้ปัญหาต่างๆหมดไปหรือมีปัญหาน้อยที่สุด
5.2.3 การจัดทำแผนการฝึก
การจัดทำแผนการฝึก เป็นกระบวนการในการวางแผนในการฝึกซ้อม ซึ่งถือว่าเป็นการเตรียมความพร้อมในการวางแผนที่จะทำให้งานสำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายที่วางไว้ เพื่อให้ทราบทิศทางในการดำเนินงานด้านการฝึกซ้อม ขั้นตอนการฝึกซ้อมที่นำไปสู่ความสำเร็จ เป็นการวางแผนในการกำหนดวันเวลาในการฝึกซ้อม วิธีการฝึกซ้อม ซึ่งการฝึกวงโยธวาทิตในปัจจุบันมีการจัดแผนการฝึกเป็นหลายแนวทาง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ใช้ดำเนินงาน บางโรงเรียนมีเวลาฝึกซ้อมมาก บางโรงเรียนมีเวลาฝึกซ้อมน้อย ทำให้การจัดทำแผนการฝึกมีลักษณะที่แตกต่างกันบ้าง และที่สำคัญคือการให้สวัสดิการต่างๆกับนักเรียน ตลอดจนขวัญและกำลังใจที่จะได้รับ ดังนั้นองค์ประกอบที่ควรมีการพิจารณาการจัดทำแผนการฝึก คือ
1) การแต่งตั้งผู้รับผิดชอบ
2) การกำหนดการฝึกหลังเวลาโรงเรียนเลิก
3) การฝึกตามที่นัดหมายกับครูผู้สอนหรือวิทยากรพิเศษที่โรงเรียนเชิญมา
4) การฝึกในวันหยุดราชการ และระหว่างปิดภาคเรียน
5) การฝึกในวันเวลาที่มีการนัดหมายพิเศษ
6) การฝึกในเวลาที่นักเรียนไม่เสียเวลาเรียน
7) การฝึกที่ทุกคนพร้อมจะฝึก (ไม่ผิดเวลานัด)
8) การเข้าค่ายฝึกติวเข้ม
9) การจัดแผนการฝึกตลอดปี
10) การแผนการฝึกภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ
11) การฝึกระเบียบวินัย
12) การตรวจเยี่ยมการฝึกซ้อม (ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง) เพื่อขวัญและกำลังใจของผู้ปฏิบัติ
13) การย้ายสถานที่ฝึกซ้อมในบางโอกาส
14) การสนับสนุนให้นักเรียนได้หาความรู้และประสบการณ์เพิ่มเติม โดยการเข้าร่วมอบรมสัมมนากับสถาบันอื่น หรือทางโรงเรียนจัดให้
5.3 สรุปผลแนวทางในการจัดแผนการฝึก
จากการศึกษาโรงเรียนที่ศึกษาจำนวน 11 โรงเรียน มีแนวทางในการจัดทำแผนการฝึกสรุปในภาพรวม คือ
5.3.1 โรงเรียนที่มีโอกาสฝึกซ้อมในตอนเช้าก่อนเข้าเรียน ตั้งแต่เวลา 07.00 - 08.00 น. ช่วงนี้เป็นช่วงสั้นเหมาะสำหรับการฝึกซ้อมทางด้านพื้นฐาน เช่น การฝึกเสียงยาว (Long Tone) การใช้ลิ้น (Tunging) การใช้ลม (Slur) และแบบฝึกหัดต่างๆ ในตอนเช้าการฝึกซ้อมจะได้ผลดี แต่ขึ้นอยู่กับว่าครูผู้สอนต้องการให้นักเรียนได้อะไรในช่วงนี้ การประเมินผลว่าได้ผลหรือไม่ได้ผลครูผู้สอนจะให้นักเรียนปฏิบัติในตอนเย็น ว่าสิ่งที่ฝึกซ้อมในตอนเช้าและตอนกลางวัน การฝึกซ้อมดีขึ้นหรือไม่ ใน 1 สัปดาห์ หรือ 2 สัปดาห์ ถ้าไม่ดีขึ้นแสดงว่าในการฝึกซ้อมแต่ละครั้งไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรเลย การแก้ไขทำได้โดยการเปลี่ยนตาราง เพราะนักเรียนยังไม่มีความสนใจในเรื่องนั้นๆพอ หรืออาจเปลี่ยนเป็นการฝึกเทคนิคบ้าง
5.3.2 การฝึกซ้อมตอนพักกลางวัน ระหว่างเวลา 12.15 - 13.00 น. เป็นการซ้อม Section หรือซ้อม Part โดยการฝึกแบบฝึกหัด และบทเพลงที่ได้รับมอบหมาย ในช่วงเวลาดังกล่าวสามารถที่จะพัฒนาให้นักเรียนได้ฝึกฝนความชำนาญ และทบทวนสิ่งที่ยังทำไม่ได้ให้มีความคล่องตัวยิ่งขึ้น
5.3.3 การฝึกตอนเย็นหลังโรงเรียนเลิก ระหว่างเวลา 16.00 - 18.00 น. เป็นการทบทวนการซ้อมในตอนเช้าและตอนกลางวัน เพื่อเป็นการประเมินผล ถ้าตอนเช้าและตอนกลางวันไม่มีการฝึกซ้อมในช่วงเวลาตอนเย็น จะต้องแบ่งเวลาการซ้อมตามขั้นตอน เริ่มตั้งแต่การ Warm - up การแยก Section การรวม Part หรือการรวมวง
5.3.4 การฝึกซ้อมในวันหยุด เป็นวันที่ทั้งครูผู้สอนและนักเรียนมีเวลาให้กับการฝึกซ้อมมากที่สุด เพราะเป็นวันที่ไม่มีการจัดการเรียนการสอน
5.3.5 การฝึกซ้อมเมื่อเชิญวิทยากรพิเศษมาให้ความรู้ ซึ่งการเชิญวิทยากรพิเศษเป็นการเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ให้กับนักเรียนได้อย่างดียิ่ง โดยเฉพาะวิทยากรที่มีความชำนาญในแต่ละเครื่องมือโดยตรง จะสามารถนำความรู้ถ่ายทอดให้กับนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และได้ผลดี
5.3.6 การฝึกติวเข้มโดยเข้าค่ายฝึกซ้อม เป็นช่วงเวลาที่ให้กับดนตรีโดยตรง สามารถฝึกซ้อมได้ตามกระบวนการได้เป็นอย่างดีในช่วงการเข้าค่ายฝึกซ้อม การเข้าค่ายนักเรียนจะได้ฝึกในหลายๆด้าน นอกจากการฝึกซ้อมดนตรีแล้วยังฝึกการอยู่ร่วมกัน การฝึกความเสียสละ การฝึกความอดทน และสิ่งที่จะได้รับอีกมากมาย ถือว่าเป็นช่วงเวลาการฝึกซ้อมที่ดีที่สุด
5.3.7 การฝึกภาคทฤษฎีและการฝึกภาคปฏิบัติ จะแบ่งได้เป็น 2 กรณี คือการฝึกที่เรียนทฤษฎีก่อนแล้วจึงฝึกภาคปฏิบัติ และการเรียนทฤษฎีควบคู่กับการปฏิบัติ โดยการใช้แบบฝึกหัดช่วยในการฝึก ซึ่งประสบความสำเร็จได้ทั้ง 2 กรณี
5.3.8 การฝึกระเบียบวินัยเป็นการฝึกที่กระทำในเบื้องต้น เมื่อนักเรียนเกิดความพร้อมในการที่จะฝึกดนตรีแล้ว โรงเรียนต้องให้นักเรียนได้เรียนรู้ถึงเรื่องของระเบียบวินัย เพราะระเบียบวินัยถือเป็นหัวใจของการฝึกซ้อมวงโยธวาทิต การวางแผนในเรื่องการฝึกระเบียบวินัยจึงเป็นหน้าที่ของครูผู้สอนที่จะต้องเตรียมการฝึกให้นักเรียนมีระเบียบวินัยอย่างแท้จริง
5.3.9 การตรวจเยี่ยมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้มีการกำหนดความรับผิดชอบซึ่งถือว่าเป็นเรื่องของขวัญและกำลังใจที่ผู้ปฏิบัติจะได้รับ ดังนั้นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว
5.3.10 การย้ายสถานที่ฝึกซ้อมในบางโอกาส เพื่อให้นักเรียนได้ตื่นตัวในการฝึกควรมีการวางแผนในการย้ายสถานที่ฝึกซ้อมบ้างเมื่อมีเวลาพอ
5.3.11 การสนับสนุนให้นักเรียนได้หาความรู้และประสบการณ์เพิ่มเติมได้มีการวางแผนในการให้นักเรียนได้เข้าร่วมการสัมมนาหรือจัดหาวิทยากรที่มีความรู้ในเครื่องดนตรีแต่ละชนิดมาให้ความรู้กับนักเรียนในบางโอกาส
จากการศึกษาการจัดทำแผนการฝึกของโรงเรียนที่ศึกษาจำนวน 11 โรงเรียน มีการจัดแผนการฝึกที่มีทั้งความคล้ายกัน และมีความแตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพและการบริหารเวลาของโรงเรียนนั้นๆ คือ
โรงเรียนที่ 1 ความสำคัญในการฝึกซ้อมคือการวางแผน ครูผู้สอนไม่ควรทำงานอะไรที่ข้ามขั้นตอน การฝึกซ้อมในเบื้องต้นที่สำคัญ คือ การใช้ลมอย่างถูกต้องและถูกวิธี การหายใจเข้าหายใจออก การที่เราออกกำลังกายเพียงเล็กน้อยเพื่อให้เกิดความพร้อมทางร่างกาย เพื่อให้ปอดขยายตัว การเก็บลมทดสอบโดยการเป่ากระดาษให้พุ่งออก นักเรียนจะต้องประคับประคองว่าใน 4 จังหวะนั้นกระดาษจะต้องอยู่นิ่ง ถ้าทำไม่ได้แสดงว่าการบังคับลมยังไม่สม่ำเสมอ การฝึกการใช้ลมฝึกประมาณ 2 สัปดาห์ โดยใช้เวลาในครึ่งวันเช้าเท่านั้น ระยะต่อไปคือการใช้กำพวดหรือปากเป่า วิธีการจรดปาก การปฏิบัติคือถ้าเป็นเครื่องดนตรีที่มีลิ้นจะเอาลิ้นออก ในการเป่าจะพบว่า ถ้านักเรียนเป่าธรรมดาโดยไม่มีปากเป่าจะเป่าได้ 4 จังหวะ แต่ถ้าเป่าในปากเป่ามักจะได้เพียง 2 จังหวะเท่านั้น จึงให้นักเรียนได้เปรียบเทียบการใช้ลมและการบังคับลม ขั้นตอนนี้จะใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือน ต่อจากนั้นจะเริ่มสอนโน้ตสากลอย่างง่ายๆ และใช้ปากเป่าเข้ากับเครื่องดนตรี การฝึกซ้อมจะเริ่มในช่วงปิดภาคเรียน เหตุที่ฝึกซ้อมในระยะนี้เพราะจะทำให้เกิดความอยากที่จะเรียนรู้ เพราะการรับสมัครนักเรียนจะเริ่มในราวเดือนมกราคม ถ้าไม่เริ่มต้นฝึกเลยแต่เว้นระยะไปฝึกในเดือนพฤษภาคมจะทำให้นักเรียนเบื่อหน่ายและเป็นผลให้ไม่อยากเรียน ในการฝึกเช่นนี้จะประสบความสำเร็จได้ทุกคนต้องมีความเสียสละให้กับงาน โดยเฉพาะครูผู้สอนต้องเสียสละอย่างมาก เพราะนักเรียนยังเสียสละเวลาในการฝึกซ้อมได้ แต่ถ้าครูผู้สอนไม่เป็นผู้เสียสละหรือเป็นผู้นำ นักเรียนก็จะมาบ้างไม่มาบ้าง ซึ่งจะเป็นผลทำให้เกิดปัญหาตามมาอย่างมาก การดำเนินการเรื่องการจัดแผนการฝึกทำโดยคณะกรรมการบริหารวงโยธวาทิต ซึ่งเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยมีการคัดเลือกประธานซึ่งเป็นนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เมื่ออยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ก็ยังเป็นประธานของวงโยธวาทิตอยู่ ส่วนประธานใหม่ที่ได้รับการคัดเลือกจะรับนโยบายของประธานคนเก่า ครูผู้สอนจะฝึกนักเรียนใหม่เฉพาะเนื้อหาการเรียนเบื้องต้น และนักเรียนรุ่นพี่จะรบช่วงต่อจากครูผู้สอนเพื่อเสริมความสมบูรณ์ของวง และให้นักเรียนใหม่ร่วมหาประสบการณ์กับนักเรียนรุ่นพี่
การกำหนดการฝึกซ้อม กำหนดไว้ คือ
การซ้อมปกติ ฝึกตั้งแต่วันจันทร์ ถึง วันศุกร์ กำหนดการซ้อมวันละ 1 ชั่วโมง 15 นาทีระหว่างเวลา 15.45 - 17.00 น. เป็นการซ้อมบทเพลงตามที่กำหนด โดยแยกฝึก Section รวม Part และรวมวง เพลงที่ฝึกคือเพลงพิธีการต่างๆ เพลงนั่งบรรเลง (Concert) และเพลงเดินบรรเลง (Marching)
การฝึกซ้อมระหว่างพักกลางวัน กำหนดการฝึกซ้อมประมาณวันละ 45 นาที เป็นการฝึกเกี่ยวกับเทคนิคการบรรเลง บันไดเสียง การใช้ลิ้นลม และแบบฝึกหัดต่างๆ การฝึกซ้อมในช่วงพักกลางวันนี้ครูผู้สอนให้โอกาสกับนักเรียนที่จะเลือกฝึกซ้อมในสิ่งที่ตนเองยังไม่คล่อง โดยไม่มีการกำหนดเนื้อหาสาระตายตัว เวลาพักกลางวันครู อาจารย์ ที่สอนวิชาอื่นๆจะไม่มีการนัดนักเรียน
สอบหรือนัดสอนเสริม เพราะครู อาจารย์ ทุกท่านรู้ว่านักเรียนต้องทำกิจกรรมในช่วงนั้น แต่ถ้าจำเป็นจริงๆครู อาจารย์ จะขอความร่วมมือก่อนทุกครั้ง จึงไม่เกิดปัญหาตามมา
การฝึกซ้อมในวันหยุด วันหยุดจะซ้อมเฉพาะวันเสาร์ ช่วงเช้านักเรียนจะเรียนเสริม ความรู้โดยไม่ต้องเสียเงิน ทางโรงเรียนจ้างครู อาจารย์ สอนให้สำหรับนักเรียนที่ทำกิจกรรมให้กับโรงเรียน จัดการสอนให้ 3 วิชา คือวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ เรื่องนี้ครูผู้สอนวิชาดนตรีจะหารือกับฝ่ายวิชาการ ในการที่จะให้สิ่งตอบแทนกับนักเรียนที่ทำกิจกรรมให้โรงเรียน เพราะถือว่าเป็นผู้เสียสละและสร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียนมาโดยตลอด ซึ่งเรื่องนี้นักเรียนเองอาจไม่คิดแต่ผู้ปกครองนักเรียนบางท่านอาจจะคิดในเรื่องนี้ ที่โรงเรียนน่าจะจัดเป็นสวัสดิการให้กับนักเรียน ทางฝ่ายวิชาการเห็นด้วยในเรื่องดังกล่าว ซึ่งเรื่องนี้ทางสมาคมผู้ปกครองและครูเข้ามามีส่วนช่วยเหลือด้านการเงินเป็นค่าจ้างให้กับครูผู้สอน ซึ่งเป็นการแบ่งเบาภาระของโรงเรียนส่วนหนึ่ง ต่อมาภายหลังจึงถือเป็นนโยบายสืบต่อมา ดังนั้นนักเรียนทุกคนต้องมาเรียน ถ้าขาดเรียนต้องชี้แจงให้ครูผู้สอนทราบ ส่วนช่วงบ่ายจะเริ่มฝึกซ้อมดนตรี ตั้งแต่ เวลา 13.00 - 16.00 น.
การฝึกซ้อมระหว่างปิดภาคเรียน จะกำหนด 2 ครั้ง คือ กลางภาค และปลายภาค โดยแบ่งการฝึกซ้อมเป็น 2 ช่วง คือช่วงเช้าฝึกเรื่องการใช้ลม ช่วงบ่ายฝึกเทคนิคการปฏิบัติเครื่องดนตรีเพื่อเพิ่มประสบการณ์ในการเรียนรู้
การเข้าค่ายฝึกซ้อม จะเข้าค่ายเพื่อเตรียมการแข่งขันเท่านั้น แต่ส่วนใหญ่แล้วจะฝึกซ้อมตามปกติ การเข้าค่ายในบางโอกาสต้องดูที่ความจำเป็นว่ามีมากน้อยเพียงใด เพราะอย่างน้อยปัญหาที่ตามมาคือเรื่องอาหารเลี้ยงนักเรียน ถ้ามีความจำเป็นที่จะต้องเข้าค่ายฝึกซ้อมแล้ว ผู้บริหารโรงเรียนจะเป็นฝ่ายดำเนินการทั้งหมดโดยการสั่งการไปยังผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ในขณะที่ครูดนตรีไม่ต้องทำอะไรเลย เพียงแต่เสนอโครงการและชี้แจงนโยบายให้กับทางโรงเรียนทราบ การเข้าค่ายจะต้องเป็นไปตามแผนที่เสนอไว้เท่านั้น
เดือนพฤษภาคมและเดือนมิถุนายนจะไม่มีการรับงาน เพราะช่วงดังกล่าวเป็นการเตรียมความพร้อมของนักเรียน และเป็นช่วงที่เปิดภาคเรียนใหม่ ทางวงมีการปรับเปลี่ยนนักเรียนเพราะมีนักเรียนส่วนหนึ่งที่จบการศึกษา ฉะนั้นในช่วงเวลาดังกล่าวถือว่าเป็นช่วงของการปรับปรุงวงเท่านั้น
ลักษณะเพลงที่ฝึกซ้อมเป็นเพลงที่ใช้ในโอกาสต่างๆ เพลงพิธี เพลงบรรเลงภาคสนาม (Marching) และเพลงสำหรับนั่งบรรเลง (Concert) แต่ถ้ามีงานที่จะต้องไปนั่งบรรเลง (Concert) ตลอดทั้งอาทิตย์ก็จะฝึกซ้อมเพลงนั่งบรรเลงทั้งหมด เมื่อจบจากงานนั่งบรรเลงแล้ว ถ้ามีงานเดินบรรเลง (Marching) ก็จะนำเพลงเดินบรรเลงเพลงเก่าๆที่เคยฝึกซ้อมมาแล้ว นำมาฝึกซ้อมเพื่อทบทวนและนำไปใช้ในการเดินบรรเลง
การออกงานบริการชุมชน เป็นกระบวนการหนึ่งที่เป็นการแสดงออกทางดนตรี ให้ปรากฏต่อสาธารณชน อาจกล่าวได้ว่าการไปบรรเลงในที่ต่างๆคือการฝึกซ้อม แต่เป็นการฝึกซ้อมนอกสถานที่ ดังนั้นควรวางแผนไว้ล่วงหน้าคร่าวๆว่าใน 1 ปี ต้องออกไปบริการชุมชนประมาณกี่ครั้ง เพื่อให้กระทบกระเทือนต่อการจัดทำแผนการฝึกซ้อมน้อยที่สุด การออกไปงานในระหว่างเรียนบางครั้งเป็นสิ่งจำเป็นจึงต้องทำความเข้าใจกับหลายๆฝ่าย ถึงผลได้ผลเสียที่จะตามมา ตราบใดที่โรงเรียนจะต้องช่วยเหลือชุมชนแล้วก็เป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ บางครั้งมีปัญหาบ้างในเพื่อนร่วมงานแต่ถ้าสามารถทำความเข้าใจ หรือหาข้อยุติ สิ่งต่างๆก็จะราบรื่นด้วยดี และผู้ที่มีบทบาทมากที่สุดคือผู้บริหารโรงเรียน ครูผู้สอนควรที่จะเข้าปรึกษากับผู้บริหารเพื่อทำความเข้าใจในเรื่องต่างๆ
การไปงานในเวลาเรียนส่วนใหญ่ไม่ได้แจ้งให้ผู้ปกครองทราบ เพราะเป็นความรับผิดชอบของทางโรงเรียนอยู่แล้ว นอกจากวันเสาร์ อาทิตย์ ทางโรงเรียนต้องแจ้งให้ผู้ปกครองได้ทราบทุกครั้ง ส่วนการสั่งการให้ครู อาจารย์ ปฏิบัติ เป็นหน้าที่ตามสายงานโดยทำตามขั้นตอนลงมาทั้งนี้ครูผู้สอนไม่ต้องแจ้งซ้ำซ้อน ซึ่งเป็นหน้าที่ของหัวหน้างานที่รับผิดชอบในการบอกหรือสั่งการว่านักเรียนไปทำกิจกรรมที่ไหน อย่างไร โดยครู อาจารย์ทุกคนจะต้องไปอ่านบันทึกประจำวันเพื่อรับทราบการสั่งการต่างๆประจำวัน แต่เพื่อมารยาทนักเรียนต้องไปบอกครู อาจารย์ ประจำวิชาด้วยจะเป็นการดี เพื่อย้ำเตือนและกันความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้
โรงเรียนที่ 2 การจัดทำแผนการฝึกเป็นการกำหนดที่มีความยากลำบากมาก เพราะลักษณะการจัดการเรียนการสอน ทำให้การฝึกซ้อมดนตรีมีปัญหามากในการกำหนดการฝึกซ้อม เพราะนักเรียนจะเรียนพิเศษที่โรงเรียนจัดให้กับนักเรียนทุกคน โดยนักเรียนจะเสร็จสิ้นการเรียนในแต่ละวันในเวลา 16.45 น. ดังนั้นจึงหาเวลาในการฝึกซ้อมดนตรีได้ยากมาก แต่มีวิธีการแก้ไขโดยการเข้าค่ายฝึกซ้อมตลอด การวางแผนในการกำหนดการจัดทำแผนการฝึกจะมีการวางแผนร่วมกันในกลุ่มครูผู้สอนว่าจะทำจุดไหนอย่างไร ทั้งนี้ได้มีการปรึกษาหารือตลอดเวลา คือหลังจากนักเรียนเสร็จสิ้นภารกิจทางการเรียนแล้วจะให้นักเรียนได้ทำการบ้านและพักผ่อนรับประทานอาหาร การฝึกซ้อมดนตรีจะเริ่มเวลา 19.00 - 21.30 น. เป็นช่วงการฝึกซ้อมเพื่อแก้ไขในส่วนที่ยังบกพร่องให้ดีขึ้น และปรับความสมดุลในการบรรเลง ซึ่งแผนการจัดแบ่งเป็นการซ้อม Part 3 วัน รวมวง 2 วัน หรือซ้อม Part 2 วัน รวมวง 3 วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม แต่จะให้แยกฝึกซ้อมเป็นกลุ่มเล็กไปก่อน ในช่วงเวลาดังกล่าว นักเรียนเป็นผู้ปฏิบัติโดยครูผู้สอนคอยให้คำแนะนำในส่วนที่ไม่ถูกต้อง การเข้าค่ายฝึกซ้อมอย่างน้อยรวมเวลาแล้วประมาณ 8 เดือน ซึ่งระยะเวลาเวลาในการเข้าค่ายฝึกซ้อมอย่างน้อยประมาณ 15 วัน ต่อครั้ง วันเสาร์และวันอาทิตย์นักเรียนจะเรียนพิเศษจึงต้องให้สิทธิในส่วนนี้กับนักเรียน การเข้าค่ายฝึกซ้อมในเวลากลางวันให้นักเรียนได้เรียนตามปกติ ส่วนช่วงกลางคืนจึงเป็นเวลาของการฝึกซ้อมดนตรี โรงเรียนให้การสนับสนุนในทุกกิจกรรม แต่ใครจะทำกิจกรรมใดก็ตามจะต้องไม่กระทบต่อการเรียนของนักเรียนซึ่งเป็นอุดมคติที่โรงเรียนกำหนดส่วนงานบริการชุมชนนั้น ทางโรงเรียนไม่มีนโยบายในเรื่องนี้ จะมีก็เพียงผู้มีพระคุณกับทางโรงเรียนเท่านั้น
การจัดทำแผนการฝึกทางกลุ่มครูผู้สอนจัดทำแผนการฝึกโดยการแก้ปัญหามาตลอด ในแนวทางปฏิบัติจะนำเอาปัญหาของแต่ละสถาบันมาวิเคราะห์ก่อน ว่าเกิดปัญหาอะไรบ้างแล้วนำเอาปัญหาเหล่านั้นมาแก้ไขแล้วจึงลงมือปฏิบัติ คือ เมื่อไม่มีเวลาในการฝึกซ้อมเพราะปัญหาการจัดระบบการเรียนของโรงเรียน จึงแก้ปัญหาตรงจุดนี้ด้วยการเข้าค่ายฝึกซ้อมถึงจะแก้ปัญหาได้ ด้านค่าใช้จ่ายเรื่องอาหารนั้นทางโรงเรียนจะเลี้ยงมื้อเย็น 1 มื้อ ส่วนเช้าและกลางวันนักเรียนจะเป็นผู้รับผิดชอบเองเพราะเป็นเวลาเรียนปกติ ค่าใช้จ่ายทั้งหมดสมาคมเป็นผู้จ่ายให้
โรงเรียนที่ 3 การวางแผนในการจัดทำแผนการฝึกประจำปีจะต้องวางโครงการว่าใน 1 ปี จะทำอะไรบ้าง แล้วแบ่งเนื้อหา ระยะเวลา และปฏิบัติตามแผนที่วางไว้ ประกอบด้วย พื้นฐานเบื้องต้น ใช้ระยะเวลาประมาณ 2 - 3 เดือน หลังจากนั้นจะแบ่ง Section ให้นักเรียนได้ฝึกซ้อมตามกระบวนการ โดยมีกลุ่มครูผู้สอนร่วมกับนักเรียนรุ่นพี่ที่มีความสามารถที่ฝึกรุ่นน้องได้ แบ่งให้รับผิดชอบในแต่ละ Section และการรวม Section เป็น Part แต่ละ Section แต่ละ Part จะมีหัวหน้ากลุ่มเป็นผู้ดูแลการฝึก และนอกจากนั้นยังจัดให้มีหัวหน้าแผนกรับผิดชอบในส่วนต่างๆ
การกำหนดวันเวลาในการฝึก วันจันทร์ - วันศุกร์ ฝึกซ้อมวันละ 1 ชั่วโมง คือระหว่างเวลาเวลา 17.00 - 18.00 น ทั้งนี้เพราะนโยบายของโรงเรียนวางไว้ว่าช่วงระหว่างเวลา 16.00 - 17.00 น. เป็นเวลาที่นักเรียนทุกคนในโรงเรียนต้องเรียนพิเศษ จึงไม่สามารถฝึกซ้อมในช่วงระยะเวลาดังกล่าว เพราะต้องเปิดโอกาสให้นักเรียนวงโยธวาทิตได้เรียนพิเศษด้วย จึงมีการฝึกซ้อมเพียงวันละ 1 ชั่วโมง ถึงแม้ว่าจะมีเวลาในการฝึกซ้อมจะน้อย แต่การกำหนดเนื้อหาสาระในการซ้อมจะให้วันละไม่เกิน 2 - 3 บรรทัด การฝึกซ้อมจะเน้นในเรื่องของแบบฝึกหัดในระยะที่นักเรียนเริ่มฝึกใหม่ เมื่อฝึกได้ 2 - 3 เดือน จะเริ่มให้ฝึกบทเพลงโดยเริ่มจากเพลงพื้นฐานง่ายๆ ไปสู่เพลงที่ยากขึ้นตามลำดับ
วันเสาร์ 09.00 - 16.00 น. การวางแผนการฝึกค่อนข้างสมบูรณ์เพราะมีเวลามากพอสมควร ช่วงนี้จะฝึกระเบียบแถว ซ้อมบทเพลง การแปรขบวน และอื่นๆ
การเข้าค่ายเพื่อติวเข้มเรื่องนี้ทางโรงเรียนเน้นมากเพราะเห็นความสำคัญว่าการเข้าค่ายจะมีเวลามากเพียงพอกับการฝึกซ้อม นักเรียนจะได้รับความรู้มากกว่าวันธรรมดาที่มีการซ้อมเพียง 1 ชั่วโมง ถือเป็นการทดแทนเวลาที่เสียไป ระยะเวลาที่เข้าค่ายจะเข้าปีละ 2 ครั้ง คือ เดือนตุลาคม และเดือนเมษายน จะฝึกซ้อมรวมกันทั้งหมด ผู้ที่ฝึกใหม่จะได้รับการฝึกซ้อมอย่างต่อเนื่องประมาณ 6 เดือน นักเรียนจะออกงานในพิธีการที่ง่ายๆได้
โรงเรียนที่ 4 การจัดทำแผนการฝึก โดยฝึกซ้อมวัน 1 ชั่วโมงครึ่ง ระหว่างเวลาเวลา 16.30 - 17.40 น. การฝึกซ้อมประจำวันส่วนใหญ่จะซ้อมแบบฝึกหัด โดยกำหนดไว้ก่อนว่าในแต่ละวันจะสอนอะไรให้กับนักเรียน เช่น การเป่าเสียงยาว (Long Tone) การใช้ลิ้น (Tunging) หรือการใช้ลม (Slur) เป็นต้น การสอนจะสอนพร้อมกันบนกระดานดำ เพราะการแยก Section นั้นไม่มีเวลาปฏิบัติมากนัก นอกจากมีกรณีพิเศษอย่างเช่นต้องไปออกงาน หรือมีเพลงใหม่เพิ่มก็จะแจกโน้ตให้นักเรียนได้ดูในช่วงระยะเวลาหนึ่งเพื่อให้ได้ผ่านสายตา แล้วจึงซ้อมรวมวงซึ่งค่อนข้างจะช้ามาก แต่ต้องปฏิบัติแข่งกับเวลาที่มีอยู่ไม่มากนักจึงต้องใช้วิธีการสอนดังกล่าวข้างต้น
การวางแผนการฝึกได้วางโครงการไว้ตลอดปี คือได้คาดไว้ว่าถึง ณ จุดนั้นๆควรจะมีพัฒนาการไปมากน้อยระดับไหน แต่ละปีเป้าหมายของการซ้อมจะอยู่ตรงจุดไหน เพลงที่ต้องฝึกซ้อมเพื่อใช้งานจะได้ประมาณกี่เพลง ต้องกำหนดไว้ก่อนตั้งแต่ก่อนเปิดภาคเรียน ลักษณะที่วางไว้คือการใช้ฝึกกับนักเรียนเก่าที่ฝึกมาแล้ว 1 ปี ส่วนนักเรียนใหม่จะฝึกความรู้เบื้องต้น และจะเข้ารามวงในตอนหลังปีใหม่โดยเข้ามาฝึกร่วมกับรุ่นพี่เริ่มด้วยแบบฝึกหัดง่ายๆ
การวางแผนในการกำหนดการเรียนการสอน ได้กำหนดการสอนทฤษฎีและปฏิบัติให้กระทำไปพร้อมๆกัน การใช้แบบฝึกหัดประกอบการฝึกซ้อมปัจจุบันถือว่าได้ผลดีมาก เพราะไม่เสียเวลามากนัก ความรู้ที่นักเรียนได้รับจะเรียนรู้ไปพร้อมๆกันทั้ง 2 อย่างในเวลาเดียวกัน นักเรียนจะฝึกตามขั้นตอนคือ เริ่มจากแบบฝึกหัดที่ง่ายไปสู่แบบฝึกหัดยากขึ้น คำศัพท์ทางดนตรีและเครื่องหมายต่างๆนักเรียนจะเรียนรู้ได้ในแบบฝึกหัดแต่ละบท ในขณะเดียวกันนักเรียนจะได้ปฏิบัติไปพร้อมกัน ไม่ต้องเสียเวลาในการเรียนทฤษฎีก่อน เมื่อจบแล้วจึงมาเริ่มปฏิบัติ บางครั้งอาจลืมสิ่งต่างๆที่เรียนมาแล้วก็ต้องกลับไปเริ่มต้นทบทวนใหม่ เนื้อหาส่วนใดที่ยากต่อการทำความเข้าใจด้วยตนเอง ครูผู้สอนจะอธิบายเสริมให้นักเรียนได้เข้าใจ เพราะเรื่องบางเรื่องนักเรียนอ่านแล้วจะไม่เข้าใจยิ่งขึ้น ครูผู้สอนจึงมีส่วนในเรื่องดังกล่าว
การจัดทำแผนการฝึก จะดำเนินการในแผน 1 ปี โดยตั้งเป้าไว้ว่าตอนปลายปีจะมีการโชว์ 1 ครั้ง และต้องกำหนดว่าต้องใช้เพลงในการโชว์ทั้งหมดกี่เพลง แนวทางในการแปรขบวนเป็นไปในรูปแบบใด การโชว์จะกำหนดในช่วงเดือนพฤศจิกายน การเริ่มฝึกซ้อมเพลงในช่วงประมาณเดือนสิงหาคม ถึงเดือนตุลาคม หลังจากนั้นจึงดำเนินการฝึกภาคสนาม สิ่งที่กล่าวมาคือการโชว์ปกติที่จะต้องทำทุกปี ไม่ได้ฝึกซ้อมเพื่อการแข่งขัน แต่ทางโรงเรียนได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าใน 1 ปี ต้องจัดทำรูปแบบการแปรขบวนอย่างน้อย 1 ชุด ที่ต้องทำเช่นนี้เนื่องจากนักเรียนจะได้ไม่ขาดประสบการณ์ จากเป้าหมายที่ตั้งไว้จะนำมาแบ่งย่อยเป็นตารางการฝึกซ้อมรายเดือน โดยคาดหวังว่าภายใน 1 เดือน นักเรียนจะเรียนรู้ได้มากน้อยเพียงใด ความสามารถทางการรับรู้ของนักเรียนน่าจะพัฒนาไปในระดับใด สิ่งที่นักเรียนยังขาดในบางเรื่องต้องเสริมให้เข้าใจยิ่งขึ้น และการวางโครงการดังกล่าวต้องประเมินล่วงหน้าว่าจำนวนสมาชิกที่จะใช้ในการโชว์มีทั้งหมดกี่คน เพื่อเตรียมเสริมสมาชิกในปีต่อไปตามเป้าหมายที่จะดำเนินการ ขอบเขตของการโชว์อยู่ในระดับไหน จึงต้องพยายามเสริมให้ได้จำนวนนักเรียนตามความต้องการ ถ้าไม่ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดผลเสียจะเกิดขึ้น ซึ่งจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ และจะมีผลกระทบเป็นลูกโซ่ตลอดไป
การเข้าค่ายฝึกซ้อม จากการจัดทำแผนการฝึกเดิมที่วางไว้การฝึกซ้อมจะกำหนดตอนสอบเสร็จแล้วเริ่มฝึกซ้อม แต่ละครั้งมีการกำหนด 5 วัน หรือ 10 วัน ก่อนให้นักเรียนกลับบ้าน การฝึกซ้อมดังกล่าวไม่ได้ผลเท่าที่ควรจึงใช้วิธีการใหม่ คือ ถ้าเข้าตอนก่อนเปิดภาคเรียนจะได้ผลดีกว่า เพราะเมื่อออกจากค่ายฝึกซ้อมแล้วจะสามารถซ้อมต่อในช่วงวันปกติเพราะเป็นช่วงต่อกับการเปิดเรียนพอดี แต่ถ้าซ้อมตอนเริ่มปิดภาคเรียนเมื่อออกจากค่ายแล้วนักเรียนจะทิ้งไปนาน การฝึกซ้อมจะไม่ต่อเนื่อง ช่วงระยะเวลาการฝึกซ้อมที่เหมาะสมคือ ประมาณต้นเดือนพฤษภาคม การซ้อมในช่วงนี้เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนที่จะฝึกซ้อมตามแผนการฝึก และตามกระบวนการที่วางไว้ต่อไป ครั้งที่ 2 คือ เดือนตุลาคม มี 2 ระบบที่สามารถกระทำได้ คือระบบการซ้อม 6 วัน พัก 1 วัน และอีกระบบหนึ่งคือซ้อม 10 วัน แล้วปล่อยนักเรียนกลับบ้าน จากที่ทดลองใช้ทั้ง 2 ระบบ การซ้อม 6 วัน พัก 1 วัน ทั้งเดือนที่ปิดภาคเรียน และอาทิตย์สุดท้ายจะหยุด 5 วัน จะดีกว่าระบบซ้อม 10 วัน การซ้อมแบบหลังคือฝึกซ้อม 10 วัน ไม่ได้ผลเท่าที่ควร เพราะการจัดกิจกรรมในการฝึกไม่ต่อเนื่อง
การฝึกซ้อมในเวลาเรียนไม่มีอยู่ในแผนการฝึก แต่บางครั้งต้องใช้เวลาเรียนมาฝึกซ้อมดนตรีเป็นครั้งคราว ถ้าเวลาที่ต้องฝึกซ้อมไม่พอจริงๆ ในกรณีที่มีงานเร่งด่วนเข้ามา หรือกิจกรรมที่จะทำนั้นมีความสำคัญมาก
การบริการชุมชน บางครั้งที่มีผู้ขอใช้บริการมามักได้รับคำปฏิเสธ เพราะเป็นเวลาเรียน แต่ถ้าเป็นงานของผู้มีบุญคุณต่อโรงเรียนจริงๆก็ไม่อาจปฏิเสธได้ ส่วนราชการที่ขอใช้บริการมามีน้อยมาก เพราะมีวงรองรับหลายวง นอกจากมีงานรับเสด็จฯ ทางจังหวัดจึงจะใช้บริการวงโยธวาทิตของโรงเรียน
โรงเรียนที่ 5 การจัดทำแผนการฝึกต้องมีการวางแผนที่ดี ทั้งนี้เพื่อให้งานที่ออกมามีคุณภาพ ดังนั้นครูผู้สอนต้องวางแผนและกำหนดเป็นเกณฑ์หรือเป็นแนวทางในการปฏิบัติ โดยกำหนดแผนการฝึกซ้อมไว้ 1 ภาคเรียน โดยมีขั้นตอนการดำเนินงาน คือ
1. การวางแผนระยะยาว จะนับวันถอยหลังโดยทำเป็นตารางว่าวันไหนทำอะไร
2. ในเวลาเรียนปกติ ใช้เวลาฝึกซ้อมวันละ 2 ชั่วโมง คือระหว่างเวลา 15.45 - 17.45 น. เฉพาะวันจันทร์ - พุธ - ศุกร์ ซ้อมนั่งบรรเลง วันอังคาร - วันพฤหัสบดี ซ้อมภาคสนาม ส่วนวันพุธบางครั้งนักเรียนจะประชุมสวดมนต์ วันเสาร์ การฝึกซ้อมจะกำหนดโดยจะสลับกันระหว่างการซ้อมนั่งบรรเลงและการซ้อมเดินบรรเลง
3. วันเสาร์ใช้ช่วงเวลาครึ่งวันบ่ายในการฝึกซ้อม บางครั้งใช้เต็มวัน ถ้ามีงานที่เร่งด่วนจะใช้วันอาทิตย์อีก 1 วัน ในการฝึกซ้อม
โรงเรียนที่ 6 การฝึกซ้อมหลังโรงเรียนเลิก ซ้อมตั้งแต่วันจันทร์ - วันศุกร์ ซ้อมวันละ 1.30 ชั่วโมง คือระหว่างเวลา 15.30 - 17.00 น.
การฝึกซ้อมในวันเสาร์ ซ้อมครึ่งวันเช้า ระหว่างเวลา 09.00 - 12.00 น. วันอาทิตย์ไม่มีการฝึกซ้อม
การเข้าค่ายฝึกซ้อมจัดในเดือนตุลาคม โดยใช้ระยะการฝึกประมาณ 7 วัน และเดือนเมษายน ประมาณ 15 วัน เป้าหมายคือฝึกทักษะในการบรรเลง ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ ไม่มีจุดมุ่งหมายในการฝึก ทุกคนจะทราบดีว่าเดือนเมษายนเป็นการฝึกซ้อมเพื่อเตรียมรับน้องใหม่ เป็นการฝึกหัวหน้า Section หัวหน้า Part ใหม่ ที่ต้องมีการอบรมเพื่อเตรียมความพร้อมในการที่จะฝึกซ้อมนักเรียนในเดือนพฤษภาคม บทบาทที่สำคัญคือนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ส่วนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 - 6 จะเป็นพี่เลี้ยงคอยช่วยเหลือในการฝึกซ้อม เดือนตุลาคมเป็นการฝึกซ้อมที่จะเน้นเรื่องการแปรขบวน (Display) และการนั่งบรรเลง (Concert) หรือการเตรียมพร้อมในช่วงที่มีงานเข้ามามาก คือเดือน
พฤศจิกายน และ เดือนธันวาคม เดือนมกราคมกิจกรรมทุกอย่างจะงด และกุมภาพันธ์จะปิดวง เนื่องจากเป็นช่วงที่นักเรียนต้องเตรียมความพร้อมในการสอบปลายภาคเรียน
โรงเรียนที่ 7 การจัดทำแผนการฝึกมีแผนการฝึกตลอดปี ว่าช่วงไหนจะปฏิบัติในเรื่องใด อย่างไร เป็นการกำหนดคร่าวๆ แต่ในทางปฏิบัติยังไม่มีแผนการฝึกซ้อมที่ตายตัว การปฏิบัติคือเปิดเทอมใหม่จะต้องฝึกนักเรียนใหม่ก่อน เพราะมีปัญหามาโดยตลอด นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่จบการศึกษาจะออกไปศึกษาต่อที่อื่น เมื่อเปิดเทอมใหม่ก็ต้องฝึกนักเรียนใหม่ ส่วนนักเรียนเก่าจะได้พบครูผู้สอนอย่างมากสัปดาห์ละครั้ง เมื่อนักเรียนใหม่เริ่มเข้าวงได้จะเข้าไปรวมวง และฝึกซ้อมร่วมกับนักเรียนเก่าที่จะพัฒนาในด้านทักษะต่อไป
การฝึกหลังโรงเรียนเลิกใช้เวลา 1.ชั่วโมงครึ่ง ระหว่างเวลา 16.00 - 17.30 น. การฝึกในวันเสาร์ฝึกตลอดวัน ส่วนตารางการฝึกซ้อมแล้วแต่ความเหมาะสม เช่น ตอนเช้าอาจซ้อมภาคสนาม ตอนบ่ายซ้อมนั่งบรรเลง ซึ่งแผนจะปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาแต่ตัวโครงสร้างของแผนการฝึกซ้อมมี สิ่งที่เป็นตัวแปรคือมีงานเร่งด่วนเข้ามา จุดนี้จะทำให้ตารางต้องเปลี่ยนแปลงมาตลอด บางครั้งไม่สามารถปฏิบัติตามแผนการฝึกที่กำหนดไว้ได้
การเข้าค่ายฝึกเพื่อติวเข้มไม่ได้ดำเนินการในส่วนนี้ แต่ถ้ามีการส่งวงเข้าประกวดถึงจะมีการเข้าค่าย ส่วนใหญ่จะซ้อมเป็นประจำทุกวันอย่างสม่ำเสมอ จึงไม่มีการเข้าค่าย และไม่ทำการฝึกซ้อมในเวลาเรียนโดยเด็ดขาด ทั้งนี้เพราะไม่ได้มุ่งเน้นการเรียนดนตรีอย่างเดียว ดนตรีเป็นเพียงส่วนหนึ่งในกิจกรรมที่โรงเรียนจัดให้ โดยมุ่งหวังเพื่อความเพลิดเพลินและการใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ การใช้เวลาในชั่วโมงเรียนมาฝึกซ้อมดนตรีมีผลกระทบอย่างมากต่อระบบการเรียนการสอนในปัจจุบัน
โรงเรียนที่ 8 ระเบียบของวงโยธวาทิต นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เป็นนักเรียนที่อยู่ในระบบการบริหารวงโยธวาทิต ระหว่างปิดภาคเรียนจะมีการคัดเลือกหัวหน้าวง และกำหนดให้มีคณะกรรมการแผนกต่างๆ ให้มีหน้าที่ควบคุมดูแล ส่วนนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จะให้พัก เพราะนักเรียนต้องเตรียมตัวในการสอบเพื่อศึกษาต่อ บางครั้งเท่านั้นที่จะเข้ามาช่วยวงบ้างในบางโอกาสถ้ามีเวลา นักเรียนที่รับเข้ามาใหม่จะไม่ให้เข้าประจำเครื่องดนตรี แต่จะฝึกในเรื่องพื้นฐานเบื้องต้น นักเรียนจะเริ่มเข้าประจำเครื่องดนตรีเมื่ออยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 และเริ่มใช้งานได้ประมาณปลายปี การจัดทำแผนการฝึกกำหนดไว้ตลอดปี และบางปีได้จัดโครงการแสดงคอนเสิร์ต 2 ครั้ง การจัดเพลงให้นักเรียนได้ฝึกซ้อม ภาคเรียนแรกจะเป็นประเภทเพลง Popular ส่วนปลายภาคเรียนที่ 2 เป็นเพลงประเภท Classic ส่วนใหญ่ให้ฝึกซ้อมเพลงที่ง่ายไปจนถึงเพลงที่ยากขึ้น
การฝึกการเดินแถวจะฝึกเป็นบางโอกาสที่จะใช้งานเท่านั้น ส่วนใหญ่แล้วจะเน้นในเรื่องของระเบียบวินัย และระเบียบแถว การสอนภาคทฤษฎีใช้เวลาในขณะที่นักเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ตลอดทั้งปี
นักเรียนเลิกเรียนในเวลา 16.00 น. ทางโรงเรียนจัดตารางเรียนพิเศษให้ 1 ชั่วโมง และให้เวลานักเรียนเตรียมความพร้อมและรับประทานอาหาร ดังนั้นจะเริ่มการฝึกซ้อมระหว่างเวลา 17.30 - 19.30 น. ก่อนที่นักเรียนกลับบ้านจะมีการประชุมนัดหมายการซ้อมและจ่ายงานการซ้อมในวันต่อไป กำหนดการซ้อมแถวจะซ้อมสัปดาห์ละ 2 วัน วันที่เหลือเป็นการซ้อมนั่งบรรเลง
การฝึกซ้อมในวันเสาร์ กำหนดซ้อมระหว่างเวลา 13.00 - 17.00 น. รวม 4 ชั่วโมง
การเข้าค่ายฝึกติวเข้ม เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาความสามารถของนักเรียน แต่การฝึกซ้อมในเวลาปกติที่ปฏิบัติอยู่เป็นประจำนั้น นักเรียนจะได้ทักษะที่ดีพอควร ดังนั้นการเข้าค่ายจะกระทำเมื่อมีงานที่เร่งด่วนเข้ามา ที่ไม่สามารถซ้อมในเวลาปกติได้ทัน ซึ่งการเข้าค่ายแต่ละครั้งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร คณะครู อาจารย์ และผู้ปกครองนักเรียน ระยะเวลาในการเข้าค่ายแต่ละครั้งไม่เกิน 2 สัปดาห์
โรงเรียนที่ 9 การจัดแผนการฝึกไม่ได้จัดเป็นแผนอย่างที่โรงเรียนต่างๆทำกันอยู่ในปัจจุบัน แผนการฝึกจะใช้แนวในเรื่องของการนั่งบรรเลง (Concert Band) แผนการฝึกจะเป็นแบบเฉพาะเรื่อง จะสอนในเรื่องเทคนิคการปฏิบัติเครื่อง ด้วยเทคนิคปฏิบัติเบื้องต้นเริ่มตั้งแต่ฝึกลม การจรดปาก เรื่อยไปจนถึงเรื่องเทคนิคปฏิบัติชั้นสูง สิ่งที่เน้นคือการฝึกบันไดเสียง การฝึกเพลงจะต้องศึกษาประวัติของเพลงอย่างจริงจังต้องมีความเข้าใจในจุดมุ่งหมายผู้แต่งโดยละเอียด แนวเพลงที่ฝึกเป็นเพลงแนวใดก็ต้องศึกษาแนวเพลงนั้นๆให้เด่นชัดและมีความเข้าใจ เช่น Classic, Popular, Jazz, Rock เป็นต้น
นักเรียนจะได้รับการสนับสนุนให้สอบมาตรฐานทางดนตรีเป็นประจำทุกปี ซึ่งจะสอบในราวเดือนพฤศจิกายน ดังนั้นในช่วงก่อนเดือนพฤศจิกายน หลังจากที่ซ้อมปกติแล้วนักเรียนจะฝึกซ้อมต่อเพื่อสอบ สิ่งต่างๆเหล่านี้นักเรียนจะต้องเตรียมพร้อมตัวเอง ครูผู้สอนเป็นเพียงผู้ช่วยเหลือหรือให้การสนับสนุนเท่านั้น การพัฒนาความสามารถอยู่ที่ตัวนักเรียนเอง
การกำหนดตารางฝึก วันจันทร์ถึงวันศุกร์ ระหว่างเวลา 16.00 น - 19.00 น.
วันจันทร์ - วันศุกร์ รวมวง 3 วัน ซ้อม Part 2 วัน หรือรวมวง 2 วัน ซ้อม Part 3 วัน โดยไม่กำหนดตายตัว แต่กำหนดว่าในแต่ละช่วงจะเรียนรู้ในเรื่องอะไรเท่านั้น
เริ่มต้นการซ้อมจะเข้ามารวมในห้องดนตรีก่อนทุกครั้งเพื่อตรวจความพร้อม สั่งการกำหนดเนื้อหา เพื่อแยกไปซ้อม Part นัดหมายการรวมวง ถ้าเพลงมีความยาวจะเพิ่มเวลาให้มากขึ้นตามความเหมาะสม
การแบ่งหน้าที่ภายในวง แบ่งให้มีหัวหน้า Part หัวหน้า section ซึ่งหัวหน้าทั้ง 2 กลุ่มจะมีหน้าที่ในการซ้อมบทเพลงให้เกิดความคล่องแคล่วก่อนมาพบครูผู้สอน เพื่อสอบความพร้อมครั้งสุด
ท้าย แก้ไขข้อบกพร่อง และจุดเน้นต่างๆ เช่น ความสมดุลของเสียง การแบ่งวรรคตอน หรือจุดเน้นต่างๆ เป็นต้น
การจะกำหนดตายตัวเป็นปฏิทินงานไม่สามารถทำได้ดังที่นำเสนอมาแล้ว การสอนต้องเลื่อนไหลตามเหตุการณ์ การกำหนดช่วงระยะเวลาในการฝึกซ้อมเป็นเกณฑ์ตายตัวนั้นไม่สามารถทำได้ และอีกอย่างนักเรียนจะเกิดเบื่อหน่ายถ้าทำอะไรที่ซ้ำซาก จำเจ
การเข้าค่ายเพื่อติวเข้ม เรื่องนี้ทางโรงเรียนเน้นมากเพราะเห็นความสำคัญว่าการเข้าค่ายฝึกซ้อมจะมีเวลามากเพียงพอกับการฝึกซ้อม นักเรียนจะได้รับความรู้มากกว่าวันธรรมดาเพราะมีช่วงระยะเวลามากกว่า สามารถกำหนดตารางการฝึกซ้อมได้ค่อนข้างเด่นชัดในการปฏิบัติ ระยะเวลาที่เข้าค่ายจะเข้าปีละ 2 ครั้ง คือ เดือนตุลาคม และเดือนเมษายน การฝึกรวมทั้งนักเรียนใหม่และนักเรียนเก่า นักเรียนใหม่ที่ได้รับการฝึกซ้อมอย่างต่อเนื่องประมาณ 6 เดือน จะใช้งานได้ในพิธีการต่างๆที่ไม่มีขั้นตอนมากนัก และงานที่ใช้เพลงง่ายๆ
การวางแผนในการฝึกประจำปีได้วางโครงการณ์ไว้ว่าใน 1 ปี จะทำอะไรบ้าง แล้วแบ่งเนื้อหา ระยะเวลา และปฏิบัติตามแผนที่วางไว้งานก็จะประสบความสำเร็จได้ แต่คนที่ประสบความล้มเหลวคือคนที่ไม่ทำอะไรจริงจัง
โรงเรียนที่ 10 มีคณะทำงานในการที่จะวางแผนในการจัดแผนการฝึก และมีอาจารย์ที่เชิญมาช่วยในการสอนในบางโอกาส ในการดำเนินการของวงจะมีคณะทำงานในการดำเนินงาน หน้าที่ของคณะทำงานจะช่วยดูแลความเป็นอยู่ การแต่งกาย โดยเป็นทีมงานเฉพาะกิจ ซึ่งจะได้รับการแต่งตั้งเป็นครั้งคราวในการออกไปทำกิจกรรมภายนอกโรงเรียน แต่ระบบการสอนแล้วจะมีครูผู้สอนเพียงคนเดียวจึงต้องวางแผนทุกอย่างทั้งหมด
แนวคิดในการที่มีผู้สอนหลายคน ถ้าไปในทิศทางเดียวกันในด้านความคิด งานที่ทำก็จะบรรลุเป้าหมายได้ด้วยดี แต่ถ้าต่างคนต่างทำไปตามความปรารถนาของแต่ละบุคคล หรือแนวทางของแต่ละคน งานนั้นจะไม่มีทางสำเร็จได้ เพราะนักเรียนไม่สามารถแยกแยะได้ว่าควรจะเชื่อหรือทำตามผู้สอนท่านใด การทำงานจึงต้องแยกแยะหน้าที่ ที่ตรงต่อความถนัดของแต่ละบุคคลเป็นสำคัญ
ทางโรงเรียนมีแผนในการฝึกซ้อมตลอดปี ช่วงที่ได้ผลในการฝึกซ้อม คือ ช่วงปิดภาคเรียน ระหว่างเดือนมีนาคม ถึง ต้นเดือนพฤษภาคม อีกช่วงหนึ่ง คือ ปิดภาคเรียนที่ 1 เดือนตุลาคม เป็นช่วงที่ฝึกซ้อมแล้วได้ผลดีมาก เพราะนักเรียนไม่มีการเรียนในช่วงนี้ และไม่มีงานที่ได้รับมอบหมายจากครู อาจารย์ ประจำวิชาทำให้นักเรียนไม่ต้องห่วงในเรื่องการเรียน จึงเป็นผลให้การฝึกซ้อมกระทำได้อย่างเต็มที่
การซ้อมหลังโรงเรียนเลิกใช้เวลาวันละ 2 ชั่วโมง ระหว่างเวลา 15.00 - 17.00 น. วันเสาร์ ระหว่างเวลา 13.30 - 17.00 น.ช่วงปิดภาคเรียนซ้อมเต็มวัน
ก่อนเปิดภาคเรียนจะมีการเข้าค่ายประมาณครั้งละ 5 - 10 วัน ตามแต่งบประมาณจะเอื้ออำนวย โดยนำนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เข้าค่ายฝึกซ้อมรวมกับรุ่นพี่ ซึ่งจะใช้สถานที่ภายในโรงเรียน และในบางครั้งก็ไปร่วมเข้าค่ายฝึกซ้อมร่วมกับโรงเรียนอื่นๆที่เชิญให้เข้าร่วมฝึกซ้อม ซึ่งจุดนี้จะสร้างความรักความผูกพันระหว่างกันได้เป็นอย่างดี
การแบ่งเวลาในการฝึกซ้อมแบ่งเป็นการซ้อมเดี่ยว เข้า Section รวมวง เวลาส่วนใหญ่ไม่ได้วางไว้ตายตัวจะมีการยืดหยุ่นตลอดเวลา คณะทำงานจะมีหัวหน้า Section ซึ่งเป็นนักเรียนรุ่นพี่เป็นผู้ควบคุมดูแล
โรงเรียนที่ 11 ไม่มีคณะทำงานที่เป็นคณะครูในโรงเรียนแต่จะมีคณะกรรมการของวง คือหัวหน้าวง รองหัวหน้าวง หัวหน้า Part หัวหน้า Section โดยมีการประชุมปรึกษาหารือในการทำงานมีการวางแผนงานที่จะทำในแต่ละปี ในส่วนของการวางแผนหลักได้ปรึกษากับอาจารย์ดนตรีคนเดิมซึ่งปัจจุบันไปรับตำแหน่งใหม่ในโรงเรียน รวมกับคณะศิษย์เก่าที่กำลังศึกษาทางด้านดนตรีอยู่ ได้ประชุมปรึกษาในการวางเป้าหมายเพื่อพัฒนาวงโยธวาทิตของโรงเรียน เมื่อผ่านขั้นตอนนี้แล้วจะนำเข้าที่ประชุมร่วมกับคณะทำงาน ให้ยึดรายละเอียดในการปฏิบัติว่าในแต่ละเดือนจะทำอะไรบ้าง โดยวางแผนเป็นรายเดือน เน้นการฝึกซ้อมไปที่นักเรียนใหม่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โดยมีการวางแผนการทำงานล่วงหน้า ได้วางเป้าหมายไว้ คือ ความพร้อมน่าจะมีเมื่อนักเรียนได้รับการฝึกไปแล้ว 4 เดือน คือตั้งแต่เดือนสิงหาคม ถึงเดือนพฤศจิกายน เพราะนักเรียนมีพื้นฐานมาบ้างแล้ว แต่การวางแผนก็มีอุปสรรคบ้างในเรื่องของระยะเวลา ในบางครั้งอาจคลาดเคลื่อนไปบ้าง บางครั้งต้องเพิ่มระยะเวลาในการฝึกซ้อมให้ยาวออกไป เช่นตั้งเป้าการฝึกว่าต้องเดิน Marching ได้ ต้องเดิน Display ได้ บางครั้งต้องเลื่อนเวลาออกไป เพราะเป็นการฝึกซ้อมที่ใช้เวลาไม่แน่นอน
การวางเนื้อหาจะกำหนดเป็น 2 ขั้นตอน คือนักเรียนที่ฝึกใหม่จะได้รับการฝึกในเนื้อหาพื้นฐานต่างๆ เช่นการฝึกและควบคุมการหายใจ การฝึกพื้นฐานทางจังหวะ การเรียนรู้ทฤษฎีโน้ต และทักษะด้านต่างๆในทุกๆด้านที่นักเรียนควรทราบ อีกส่วนหนึ่งคือนักเรียนที่เป็นแล้วจะฝึกซ้อมทางด้านการพัฒนาความสามารถ ฝึกแบบฝึกหัด ฝึกบทเพลงต่างๆ
การทำแผนการฝึก จะทำครั้งละ 4 เดือน เมื่อครบ 4 เดือนจะทำแผนการฝึกใหม่ เป็นอย่างนี้ตลอด
การกำหนดตารางฝึก ประชุมเดือนละครั้งเพื่อกำหนดทิศทางของวง รูปแบบการซ้อม แต่จะระบุตายตัวลงไปไม่ได้ เพราะบางครั้งฤดูกาลก็เป็นปัญหาต่อการฝึก เช่น หน้าหนาวมืดไว การฝึก
ซ้อมก็ต้องเลิกเร็วกว่าปกติ หน้าร้อนมืดช้าก็ฝึกซ้อมได้มากขึ้น แต่ภายใน 1 เดือน ได้เรียกหัวหน้าวง หัวหน้า Part หัวหน้า Section มาประชุมครั้งหนึ่ง เพื่อกำหนดรูปแบบการฝึกซ้อม จะซ้อมหลังเลิกเรียนใช้เวลา 2 ชั่วโมง ระหว่างเวลา 16.00 - 18.00 น. กลางวันไม่มีการฝึกซ้อม
วันหยุดส่วนใหญ่งดซ้อม เพราะว่าคุณภาพของวงนั้นได้พยายามรักษาไว้อย่างคงที่ และมีเวลามากพอแล้วในการฝึกประจำวัน แต่ในบางครั้งหัวหน้าวงอยากที่จะซ้อมบ้างในวันหยุด ครูผู้สอนต้องชี้แจงทำความเข้าใจกับนักเรียนให้ทราบเหตุผล ว่าทำไมจึงไม่มีนโยบายในการซ้อมในวันหยุด เช่น ไม่มีความจำเป็นในด้านการใช้งาน และเป็นการประหยัด บางทีความตั้งใจของนักเรียนมีมาก แต่ถ้าเกิดเหตุที่เป็นผลมาจากการมาซ้อมดนตรีนักเรียนจะได้ไม่เสียใจภายหลัง ครูผู้สอนต้องปรามไว้บ้าง แต่ถ้ามีงานเร่งด่วนจริงๆจึงจะซ้อมในวันหยุดบ้าง
การเข้าค่ายฝึกซ้อมเพื่อติวเข้มจะทำทุกๆครั้งที่ปิดภาคเรียน โดยใช้ระบบไปกลับ ไม่มีการพักค้างที่โรงเรียน เพราะระยะเวลาในการเข้าค่ายสั้น ตารางการฝึกซ้อมจะเต็มรูปแบบ ที่มีระยะเวลาในการฝึกซ้อมระหว่างเวลา 08.00 น. - 17.00 น.
5.4 การกำหนดตารางฝึก
การกำหนดตารางฝึกของโรงเรียนที่ศึกษา จำนวน 11 โรงเรียน มีการกำหนดไปในทิศทางเดียวกัน มีรูปแบบการฝึกที่คล้ายคลึงกัน ที่แตกต่างกันบ้างคือเรื่องเวลาที่ใช้ฝึกเท่านั้น ซึ่งได้กล่าวมาในเบื้องต้นแล้ว จึงไม่นำมาเสนอในที่นี้
5.5 ปัญหาและอุปสรรค
การทำงานใดๆมีทั้งประสบความสำเร็จและไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตัวแปรที่สำคัญคือปัญหา ปัญหาย่อมเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อที่มีการทำงาน จากการศึกษาในเรื่องของการเตรียมการกำหนดแผนการฝึกได้พบปัญหาทั้งที่สามารถแก้ไขได้และแก้ไขไม่ได้ โดยสรุปเป็นภาพรวมได้คือ
5.5.1 ไม่สามารถปฏิบัติได้ครบถ้วนตามตารางที่กำหนดได้ เช่นนักเรียนแปรขบวนได้
จริงแต่ยังเป่าไม่ค่อยได้หรือนับห้องเพลงยังไม่ถูกต้อง ส่วนนี้คือปัญหาปลีกย่อย ถ้ามองในภาพรวมแล้วอาจใช้ได้ตามเป้าหมาย แต่ถ้ามองในจุดใดจุดหนึ่งจะพบปัญหาทันที
5.5.2 การกำหนดเนื้อหา ไม่เหมาะสมกับเวลาที่มีในการฝึกซ้อม บางครั้งเนื้อหาที่
นักเรียนฝึกซ้อมมีความยาก แต่เวลาที่กำหนดไม่สามารถให้เวลามากๆได้ เพราะมีเวลาจำกัดจึงเกิดปัญหาตามมา คือ การฝึกซ้อมไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้
5.5.3 การกำหนดตายตัวเป็นปฏิทินปฏิบัติงานไม่สามารถทำได้ การสอนต้องเลื่อนไหลตามเหตุการณ์ การกำหนดว่าต้องรวมวงวันนั้นวันนี้ไม่สามารถทำได้ และอีกอย่างนักเรียนจะเกิดความเบื่อหน่ายถ้าทำอะไรซ้ำซาก จำเจ
5.5.4 เวลาที่กำหนดไว้ทำได้ไม่ตรงกับที่กำหนด ต้องยืดหยุ่นตามความเหมาะสม และประเภทของงานที่รับเข้ามา
5.5.5 มีงานเร่งด่วนเข้ามา ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องซ้อมความพร้อม จึงต้องแทรกตารางการฝึกซ้อมที่วางไว้แล้ว ทำให้ตารางการฝึกซ้อมเกิดความคลาดเคลื่อน
5.5.6 ปัญหาจากการที่ไม่สามารถกำหนดตารางการฝึกซ้อมตายตัวได้ เพราะในขณะที่วางแผนการฝึกซ้อมไว้แล้วมักจะมีงานเข้ามาแทรกก็ต้องเอางานไว้ก่อน ทำให้ไม่สามารถกำหนดอะไรเป็นกฎเกณฑ์ตายตัวได้ หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจแล้วก็กลับมาฝึกซ้อมต่อจากที่ฝึกซ้อมไว้ มีงานอีกก็หยุดอีก เสร็จงานก็กลับมาฝึกซ้อมต่อใหม่เป็นเช่นนี้เรื่อยไป แต่ต้องมีโครงการระยะยาวรองรับ การทำงานทำแล้วไม่ควรเครียดกับงาน ถึงแม้ว่าจะมีสิ่งต่างๆมาเป็นตัวแปรให้เป็นอย่างอื่น จึงต้องแก้ไขที่ตัวแปรก่อน แล้วกลับมาทำสิ่งที่กำลังทำอยู่ต่อ ทุกสิ่งทุกอย่างคือปัญหา การทำงานคือการแก้ปัญหา ดังนั้นการช่วยกันทำงานเพื่อแก้ปัญหา ปัญหาต่างๆเกิดขึ้นได้ทุกที่แต่การแก้ปัญหาจะแก้ได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับผู้ปฏิบัติ
5.5.7 ปัญหาที่พบมากคือเวลาที่บันทึกถึงอาจารย์ผู้สอนในการนำนักเรียนไปแสดง ครูอาจารย์ ไม่ให้ความร่วมมือเท่าที่ควร ในบางครั้งไม่ยอมอนุญาตให้นักเรียนเข้าร่วมกิจกรรม สิ่งนี้ถือว่าเป็นผลกระทบอย่างมากต่อการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งที่นักเรียนทำเพื่อชื่อเสียงของส่วนรวม
5.5.8 มีเพลงใหม่ที่ต้องฝึกซ้อมเพื่อไปบรรเลงในงานต่างๆที่รับเข้ามา บางครั้งจำเป็นต้องฝึกซ้อมในเวลาเรียน ปัญหาคือบุคลากรภายในโรงเรียนมักไม่เข้าใจในเหตุผลที่ต้องฝึกซ้อมในระยะเวลาดังกล่าว และไม่ค่อยได้รับความร่วมมือ
5.5.9 ครูผู้สอนไม่ได้ศึกษาปฏิทินการปฏิบัติงานของโรงเรียน เพื่อสร้างเป็นปฏิทินการฝึกซ้อมของวงโยธวาทิต ทำให้การกำหนดเนื้อหาสาระและเวลาคลาดเคลื่อนไป และบางครั้งงานไปซ้ำซ้อนกับปฏิทินการปฏิบัติงานของโรงเรียน
5.5.10 ปัญหาจากการที่นักเรียนไม่สามารถซ้อมได้ตามเวลาที่กำหนด มักอ้างภารกิจต่างๆที่ต้องปฏิบัติ ครูผู้สอนต้องเน้นให้นักเรียนทราบว่าเวลาของดนตรีก็คือเวลาของดนตรี จะไม่มีข้อแม้เพราะเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจแต่เบื้องต้นแล้ว ปัญหาต่างๆจะไม่เกิดขึ้น นักเรียนจะมีความเข้าใจ
ครูผู้สอนก็ไม่ต้องกังวลว่าวันนี้นักเรียนขาดซ้อมมากหรือน้อย ต้องทำความเข้าใจก่อนในเบื้องต้น บางคนที่ถูกผู้ปกครองบังคับ กรณีนี้ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ก็ให้ไปปฏิบัติภารกิจอย่างอื่นก่อนแล้วค่อยกลับมาซ้อมในภายหลัง ครูผู้สอนต้องพยายามแก้ปัญหาให้มีเหตุการณ์เช่นนี้น้อยที่สุด
5.5.11 นักเรียนมักมาสายกว่าที่กำหนดมาก การแก้ปัญหาในจุดนี้คือต้องตักเตือนบ้างเพื่อเป็นการทบทวนสิ่งที่กำหนดไว้ในเบื้องต้นตามข้อตกลงที่มีมาแต่ต้น ถ้าใครมีปัญหาเร่งด่วนก็ไม่ว่าเพราะบางครั้งทุกคนมีปัญหาเฉพาะหน้า ครูผู้สอนต้องโอนอ่อนผ่อนตามในเรื่องนี้บ้าง ไม่ควรตึงหรือตรงเกินไป สิ่งที่ตามมาจะทำให้เกิดผลเสียหายมากขึ้น
5.5.12 นักเรียนที่มาเรียนดนตรีส่วนใหญ่เป็นนักเรียนที่เรียนอ่อน ทำให้สภาพการเรียนรู้เป็นไปอย่างช้าๆ
5.5.13 นักเรียนขาดความอดทนเมื่อมาพบระบบการฝึกที่หนัก บางครั้งนักเรียนลาออกก่อนกำหนดเป็นจำนวนมากในแต่ละปี
5.5.14 ปัญหาผู้ปกครองส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า การเข้ามาเป็นนักดนตรีแล้วการเรียนจะไม่ดีครูผู้สอนต้องให้คำปรึกษา และทำความเข้าใจสภาพของความเป็นจริง นักเรียนที่เรียนเก่งไม่ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จได้อย่างเดียว นักเรียนที่เรียนได้ระดับผลการเรียน 1.8 จะสรุปว่านักเรียนไม่ประสบความสำเร็จไม่ได้ นักเรียนที่เรียนอ่อนอาจประสบความสำเร็จอย่างอื่นก็ได้ นักเรียนวงโยธวาทิตสามารถสอบเข้าเรียนต่อในสาขาวิชาดีๆก็มีมาก ที่สำคัญเราต้องให้สิทธิกับนักเรียนที่เท่าเทียมกัน จะไม่แบ่งว่านักเรียนที่เรียนอ่อนฝึกซ้อมดนตรีไม่ได้ จะรับเฉพาะนักเรียนที่เรียนดีเท่านั้น ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด
5.5.15 นักเรียนมักขาดการฝึกซ้อมบ่อยๆ เพราะนักเรียนบางคนต้องเรียนพิเศษซึ่งตรงกับเวลาที่ฝึกซ้อมดนตรี ในบางครั้งกระทบกระเทือนต่อการฝึกซ้อมบ้าง
5.5.16 มีเวลาในการฝึกซ้อมจำกัด และยังต้องต่อสู้กับสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในโรงเรียน คือในโรงเรียนจะมีกิจกรรมหลายๆกิจกรรม ทุกกิจกรรมก็มีระยะเวลาในการปฏิบัติกิจกรรม บางครั้งมาใช้เวลาของการฝึกซ้อมดนตรีที่มีน้อยอยู่แล้วให้เหลือน้อยเข้าไปอีก ดังนั้นครูผู้สอนจึงต้องพิจารณาเวลาที่จะเสียไป และอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้กิจกรรมวงโยธวาทิตเป็นปึกแผ่นโดยมีระบบที่ดีรองรับ เวลาที่ต้องเสียไปเพื่อกิจกรรมอื่นจะได้ไม่เสีย ถ้าครูผู้สอนมีเหตุผลเพียงพอใช้เป็นเครื่องต่อรอง
5.5.17 การเพิ่มเวลาในการฝึกสามารถกระทำได้ แต่ต้องดูว่าระยะการเดินทางและความคล่องตัวของนักเรียน ในปัจจุบันนี้ถ้าเลิกซ้อมเย็นมากเกิน เช่น 17.30 หรือ 18.00 การเดินทางกลับบ้านจะลำบากมาก ซึ่งเรื่องนี้ครูผู้สอนต้องพิจารณาด้วย แต่ถ้าใช้เวลาด้วยความสม่ำเสมอจะเกิดความคล่องตัวกว่า
5.5.18 การซ้อม Section เสียงรบกวนผู้อื่นอย่างมาก โดยเฉพาะโรงเรียนที่ตั้งอยู่ใกล้ชุมชน การซ้อมต้องซ้อมตามใต้ต้นไม้บ้าง ใต้ถุนตึกบ้าง เพราะไม่มีห้องฝึกซ้อมที่ได้มาตรฐานซึ่งสามารถเก็บเสียงได้
5.5.19 ครู อาจารย์ ในโรงเรียนมักมองนักเรียนที่เป็นนักดนตรีของโรงเรียนว่า เป็นผู้ที่ขาดความรับผิดชอบ ไม่สนใจการเรียน และมักขาดเรียนบ่อย
5.5.20 สถานที่ฝึกไม่เหมาะสมกับการฝึกซ้อม ทำให้การฝึกซ้อมบางครั้งนักเรียนเกิดความเบื่อหน่าย เพราะสภาพไม่เหมาะสมที่จะเป็นที่สำหรับการฝึกซ้อมดนตรี
5.5.21 ปัญหาเกิดขึ้นได้เมื่อเกิดการไม่ยอมรับซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะระบบพี่ระบบน้อง สิ่งดังกล่าวถ้าเกิดขึ้นจะเป็นผลเสียที่ร้ายแรง การแก้ไขปัญหาคือครูผู้สอนต้องทำความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวให้กระจ่างชัด ปัญหาที่จะเกิดก็ไม่เกิดเป็นการป้องกันล่วงหน้า กรณีที่เกิดก็คือรุ่นพี่ที่มีความสามารถด้อยกว่ารุ่นน้อง รุ่นน้องมักไม่ยอมรับเมื่อได้รับการเสนอแนะจากรุ่นพี่ เป็นต้น
5.5.22 การวางกฎเกณฑ์ตายตัวว่าช่วงใดจะทำอะไรบางครั้งกำหนดไม่ได้ ส่วนใหญ่จะมีการยืดหยุ่นตลอด ต้องมีการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ถ้าเราวางแผนไว้แล้วแต่อีก 2 อาทิตย์จะต้องบรรเลงเพลงที่ไม่อยู่ในแผน ถ้าแยก Section แล้วไม่ทันจึงต้องเรียนมาซ้อมรวมวงทั้งหมดโดยการอธิบายรวม
5.5.23 ระยะเวลาการเข้าค่ายถ้าใช้ตอนสอบเสร็จแล้วฝึกซ้อม 5 วันก่อนกลับบ้าน หรือ 10 วัน ซึ่งไม่ได้ผลเท่าที่ควร การเข้าค่ายฝึกซ้อมก่อนเปิดภาคเรียนจะได้ผลกว่า เพราะเมื่อออกจากค่ายก็ซ้อมตามปกติ แต่ถ้าซ้อมก่อนปิดนักเรียนจะทิ้งไปนานการซ้อมจะไม่ต่อเนื่อง ช่วงระยะที่ดีคือต้นเดือนพฤษภาคม และเดือนตุลาคม
5.5.24 การใช้วิทยากรพิเศษในการให้ความรู้ จะมีมาสอนเป็นประจำในแต่ละกลุ่มเครื่องมือ โดยส่วนใหญ่จะมาให้ความรู้ในระหว่างเข้าค่ายฝึกซ้อม ปัญหาที่หลายโรงเรียนพบคือหลังจากที่วิทยากรเหล่านั้นมาให้ความรู้แล้ว ถือเป็นการเสร็จภารกิจและไม่มีการติดตามผลในโรงเรียนเดิม คือ ปล่อยให้โรงเรียนเป็นผู้แก้ไขปัญหากันเอง ส่วนคณะวิทยากรพิเศษก็จะหาโรงเรียนใหม่ที่อยู่ในเป้าสายตาเข้าไปฝึกซ้อม โดยแต่ละครั้งโรงเรียนต้องเสียค่าตอบแทนอย่างสูง เมื่อเสร็จภารกิจก็หาโรงเรียนใหม่ต่อไป เหตุการณ์เช่นนี้ส่วนใหญ่เป็นการฝึกซ้อมเพื่อส่งเข้าประกวด
5.5.25 ปัญหาเกี่ยวการวางแผนการฝึกมีบ้าง เพราะแผนการฝึกวางไว้ประจำปีโดยใช้ตารางการปฏิบัติหน้าที่ของโรงเรียนมาพิจารณาว่าช่วงไหนที่จะต้องทำอะไรบ้างเพื่อเวลาวางแผนในเรื่องของดนตรีแล้วจะได้ไม่ซ้ำซ้อนหรือตรงกับการทำกิจกรรมของโรงเรียน แต่ตัวปัญหาที่แท้จริงหลังจากวางแผนงานแล้วงานพิเศษที่เข้ามา ทำให้มีผลกระทบอย่างมาก เช่นการที่ต้องฝึกเพลงที่นอกเหนือจากที่วางไปแล้วจะทำให้มีผลกระทบต่อแผนงานไปบ้าง อีกปัญหาคือนักเรียนทำไม่ได้ตามจุดประสงค์ที่ตั้งเอาไว้ ซึ่งเป็นปัญหาปกติที่ต้องแก้ไขโดยตลอด
5.5.26 ปัญหาเมื่อมีการซ้อมแล้วครู อาจารย์ นัดสอบหรือนัดเรียนซ่อมเสริม ครูผู้สอนต้องทำความเข้าใจว่าว่าถ้าไปทำกิจกรรมดังกล่าวแล้ว จะต้องตามเพื่อนให้ทันเพื่อเป็นข้อตกลง และไม่ให้เกิดปัญหาตามมา
5.5.27 สภาพนักเรียนขาดซ้อมมีมากพอควร คือเวลาที่ไม่มีกิจกรรมการแสดง นักเรียนเหล่านี้มักไม่สนใจการฝึกซ้อม พอเริ่มมีกิจกรรมเข้ามานักเรียนเหล่านี้จะเข้ามาซ้อมตามปกติ ซึ่งนักเรียนเหล่านี้จะหายไปเฉยๆ ครูผู้สอนจะไม่ลงโทษโดยการเฆี่ยนตี แต่จะให้สังคมลงโทษกันเอง คือหัวหน้าวงจะเป็นคนจัดการ แต่ถ้ากรณีร้ายแรงจึงมีการเฆี่ยนบ้างเพราะนักเรียนเหล่านี้จะผ่านการตักเตือนมาแล้ว การลงโทษอีกวิธีคือการงดที่จะให้สิ่งตอบแทนที่ควรจะให้ เช่นการคัดเลือกเข้าเรียนต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เป็นต้น ถ้าขาดบ่อยจะไม่พิจารณาแต่นักเรียนมักจะรู้ตัวเมื่อถึงเวลานั้น เขาจะสำรวจตนเองว่าเกินเกณฑ์ที่กำหนดในหลักการของวงหรือยัง และจะปรับตัวเข้ามาเพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าว
5.5.28 การฝึกดนตรีในประเทศไทย ส่วนใหญ่แล้วจะกำหนดตายตัวเป็นตารางมาตรฐานนั้นไม่สามารถกระทำได้เพราะมีเงื่อนไขมากระทบหลายอย่าง โดยมีองค์ประกอบหลายๆอย่าง แต่ถ้าเป็นในต่างประเทศเขาจะกำหนดได้ตายตัว เปรียบเสมือนการทำงานของเครื่องจักรถึงเวลาที่จะทำการฝึกซ้อม เขาเริ่มเลยและสามารถสำรวจได้ทันทีว่า ถึงเวลาตามที่กำหนดแล้วนักเรียนจะต้องเกิดผลสัมฤทธิ์ตามที่ได้วางเป้าหมายไว้ แต่หลายโรงเรียนในประเทศไทยทำไม่ได้เพราะปัจจัยหลายอย่างยังไม่ลงตัว
ขอบพระคุณผู้เผยแพร่นะครับ ที่ทำให้มีเส้นทางในการพัฒนาวงฯต่อไป
ตอบลบขอบพระคุณข้อมูลดีที่ค่อนข้างเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะข้อมูลเหล่านี้มักถึงปกปิดหรือไม่นิยมนำมาเผยแพร่ต่อสาธารณชน เพราะส่วนใหญ่เป็นปัญหาที่แต่ละวงประสบ แต่ผู้เผยแพร่ได้จัดเก็บข้อมูลที่มักถูกปกปิดไว้ เปรียบเป็นการเรียนรู้จากปัญหาและนำมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของแต่ละโรงเรียน ขอบพระคุณสำหรับข้อมูลดีๆอีกครั้งครับ
ตอบลบ