วันอังคารที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2554

การบริหารจัดการวงโยธวาทิต

บทที่ 3

การบริหารจัดการวงโยธวาทิต

3.1 ความหมาย การบริหารจัดการวงโยธวาทิต
ความหมายของ “การจัดการ” นักการศึกษาหลายท่านได้ให้ความหมายของการจัดการ กล่าวคือ
“การจัดการ (Management) หมายถึง ภารกิจของบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือหลายคน (ที่เรียกว่าผู้บริหาร) ที่เข้ามาทำหน้าที่ประสานให้การทำงานของบุคคลที่ต่างฝ่ายต่างทำ และไม่อาจประสบความสำเร็จจากการแยกกันทำ ให้สามารถบรรลุผลสำเร็จได้ด้วยดี” (ธงชัย สันติวงศ์, 2531: 1)
“การจัดการเป็นกระบวนการออกแบบ และรักษาซึ่งสภาวะแวดล้อมซึ่งบุคคลทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม ให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพ (Weihrich and Koentz, 1993: 4) หรือหมายถึง “กระบวนการเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายขององค์การโดยการวางแผน (Planning) การจัดองค์การ (Organizing) การชักนำ (Leading) และการควบคุม (Contrelling) มนุษย์ สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ การเงิน ทรัพยากร ข้อมูลขององค์การ ได้อย่างมีประสิทธิผล และประสิทธิภาพ” (Bovce and others, 1993: 5)
การจัดการแบ่งได้เป็น 3 ประเด็น คือ
1. การจัดการเป็นศิลปะของการใช้บุคคลอื่นทำงานให้แก่องค์การ (Management is an art of getting things done through others) เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย โดยสมาชิกจะต้องปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ มีความมุ่งหวังในความเจริญก้าวหน้าในการทำงาน
2. การจัดการเป็นกระบวนการ (Management as a process) คือการทำให้การดำเนินงานกิจกรรมต่างๆขององค์การ ไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยผ่านกระบวนการที่เป็นระบบ (systematic) มีการประสานงาน (co-ordinated) และความร่วมมือร่วมใจจากทรัพยากรมนุษย์ (co-operative human efforts)
3. การจัดการคือกลุ่มของผู้จัดการ (Management as a group of managers) องค์การเป็นบุคคลที่กำหนดหน้าที่บริหาร หรือการจัดการต่างๆในองค์การ เป็นผู้ดำเนินการตัดสินใจกำหนดเป้าหมายขององค์การและประสานงานให้สมาชิกในองค์การดำเนินไปในทิศทางที่เป็นเป้าหมายร่วมกัน (พยอม วงศ์สารศรี, 2534: 30-33)
การจัดการ คือ กระบวนการกิจกรรม หรือการศึกษาเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ ในอันที่จะเชื่อมั่นได้ว่ากิจกรรมต่างๆ ดำเนินไปในแนวทางที่จะบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะ


อย่างยิ่งหน้าที่ในอันที่จะสร้างและจัดมาไว้ซึ่งสภาวะที่จะเอื้ออำนวยต่อการบรรลุวัตถุประสงค์ด้วยความพยายามร่วมของกลุ่มบุคคล (มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2537: 214)
“การจัดการคือศิลปะของการทำงานร่วมกับผู้อื่นให้บรรลุถึงวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ โดยนำทรัพยากรทางการบริหารมาช่วย” (บรรจง อภิรติกุล, 2529: 5)
ความหมายของการจัดการ (Organizing) การจัดการองค์กรเป็นการนำเอาทักษะที่มีไปใช้ประโยชน์ในการสร้างสรรค์งานดนตรี การจัดการองค์กรสามารถนำความรู้และความสามารถทางดนตรีในการตั้งวงดนตรี การบริหารวงดนตรี การดำเนินกิจการของวงดนตรี การให้ความร่วมมือกับชุมชน ผู้ปกครอง การแสดงผลงานของนักเรียน กระทั่งการเล่นดนตรีของนักเรียนด้วย การจัดการองค์กรสามารถดำเนินความคิด และวิธีการทางดนตรีมาใช้ในลักษณะของการแต่งหรือเรียบเรียงออกมาเป็นเพลงได้ การจัดการวงดนตรีของเด็กที่รวมตัวกันเป็นวง เกี่ยวข้องกับการจัดการองค์กร เปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้หรือมีส่วนในการจัดการ การฝึกหัดดนตรีกับเด็กรุ่นน้องโดยมีรุ่นพี่เป็นผู้ช่วยดูแลการจัดแถววงโยธวาทิต การฝึกซ้อม ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ในวงดนตรี เป็นต้น (สุกรี เจริญสุข, 2540: 82)
จากความหมายของการจัดการที่กล่าวมาจึงสรุปในความหมายของการบริหารจัดการ คือ การรวมตัวกันทำงานในรูปของขององค์การ มีกลไกการทำงานที่มุ่งในความสำเร็จสูงสุดร่วมกัน มีผู้บริหารองค์การและผู้ปฏิบัติ ในการที่จะสร้างสรรงานให้ออกมาอย่างมีประสิทธิภาพตรงตามวัตถุประสงค์ฃองงาน ในการบริหารจัดการวงโยธวาทิตก็เช่นเดียวกัน คือ ต้องมีส่วนต่างๆเป็นองค์ประกอบที่จะทำให้ผลงานที่ปรากฏออกมาอย่างมีคุณภาพตรงตามความต้องการของสังคม การจัดการวงดนตรีจึงมีส่วนต่างๆ ที่จะต้องดำเนินการให้สอดคล้องและเกิดความสัมพันธ์ร่วมกันเพื่อให้เกิดประสิทธิผลของการทำงาน ดังนี้
3.2 แนวการบริหารจัดการวงโยธวาทิต
การบริหารจัดการวงโยธวาทิตนั้น หน่วยงานหรือสถานศึกษาหรือผู้เกี่ยวข้องในสถานศึกษาควรมีการวางแผนในการดำเนินงาน ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ ดังนั้นในทางปฏิบัติจึงควรดำเนินการในการบริหารจัดการวงโยธวาทิต ดังต่อไปนี้
3.2.1 วัตถุประสงค์ของการบริหารจัดการวงโยธวาทิต การดำเนินงานใดๆถ้าจะให้งานนั้นสำเร็จลุล่วง และประสบความสำเร็จสูงสุด ควรมีการวางจุดมุ่งหมายของงานที่จะทำ เพื่อให้งานที่ดำเนินการนั้นๆมีจุดยืนที่แน่นอน บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ และสามารถส่งเสริมให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ ดังนี้
1) เพื่อส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมอันดีงาม และทรงคุณค่า ให้แก่เยาวชนของชาติ ซึ่งเป็นกำลังของชาติในอนาคต
2) เพื่อส่งเสริมการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ จากการศึกษาเล่าเรียน
3) เพื่อเป็นกิจกรรมเสริมในด้านนันทนาการ เพื่อพัฒนานักเรียนให้เกิดประโยชน์ทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา และจิตใจ
4) เพื่อเสริมสร้างระเบียบวินัย ความรักความสามัคคีต่อหมู่คณะ ความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม การฝึกความเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน และการอยู่ร่วมในสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ
5) เพื่อเป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้นักเรียน ที่มีความสามารถได้แสดงที่ตรงกับกับความสนใจ และพัฒนาความสามารถให้ดียิ่งขึ้น
6) เพื่อส่งเสริมให้ผู้มีความรู้ความสามารถในทางดนตรีอยู่แล้ว ได้มีความสามารถมากขึ้น เพื่อเป็นพื้นฐานในการประกอบอาชีพในอนาคต
7) เพื่อส่งเสริมและพัฒนาวงโยธวาทิต ให้มีคุณภาพในการบรรเลง เพื่อการประชาสัมพันธ์โรงเรียน ให้เป็นที่ภาคภูมิใจของผู้ปกครองนักเรียน และประชาชนทั่วไป ตลอดถึงการให้ บริการแก่สังคมทั่วไป
8) เพื่อสร้างความรักความสามัคคีของเยาวชนโดยใช้ดนตรีเป็นสื่อกลาง
9) เพื่อสนองนโยบายของชาติ ในด้านการพัฒนาเด็ก และเยาวชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีในทุกๆด้าน เพื่อเป็นเยาวชนที่ดีของชาติ และเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพในอนาคต
3.2.2 วิธีดำเนินการ การกำหนดแนวทางในการปฏิบัติ เป็นการวางแผนงานว่าต้องมีการเตรียมการอะไรก่อนหลัง เพื่อให้วงโยธวาทิตที่จัดให้มีขึ้นเกิดระบบ และการดำเนินการเป็นไปตามขั้นตอน เพื่อให้บังเกิดประสิทธิภาพทั้งในการบริหารงานและเกิดมาตรฐานที่สากลยอมรับ และเพื่อให้กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่ต่อเนื่องทุกปีจึงต้องมีการจัดระบบการบริหารจัดการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อเนื่อง ด้วยเหตุที่นักเรียนในแต่ละรุ่นจะจบการศึกษาจึงต้องมีการเตรียมการไม่ให้เกิดปัญหาอุปสรรคในการบริหารจัดการ ทั้งนี้เพื่อให้กิจกรรมเป็นไปอย่างต่อเนื่องจึงมีแนวในการบริหารจัดการ ประกอบด้วย
1) บุคคล มีความสำคัญอันดับแรก เพราะบุคคลที่จะมาดำเนินงานในด้านนี้จะต้องเป็นผู้เสียสละ มีความอดทน อดกลั้น มีมนุษย์สัมพันธ์ มีการประสานงานที่ดี ตลอดจนความมีน้ำใจไม่เห็นแก่ตัว ไม่เห็นแก่ได้ และเป็นผู้กว้างขวางที่สามารถขอความร่วมมือบุคลากรจากภายนอกสถาบัน ให้มาร่วมงานได้บ้างในบางโอกาส ดังนั้นบุคคลดังกล่าวจึงประกอบไปด้วย
(1) ผู้ควบคุมวงและผู้ช่วยผู้ควบคุมวง โดยส่วนใหญ่มาจากผู้มีใจรัก
(2) ครูผู้สอนและครูผู้ช่วย ต้องเป็นผู้ที่มีความรอบรู้ในเรื่องวงโยธวาทิตในทุกๆด้าน
(3) ผู้ประสานงาน เป็นบุคลากรในโรงเรียนมีหน้าที่ในการประสานงานในด้านต่างๆ และการอำนวยความสะดวกในทุกๆด้าน
(4) หัวหน้าคณะทำงาน เป็นผู้บริหารสถานศึกษาหรือผู้ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินงาน
แนวดำเนินการจัดระบบการบริหารบุคคล ประกอบด้วย
1) จัดระบบ การจัดระบบการฝึกซ้อมวงโยธวาทิต ที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพ และเป็นการแบ่งเบาภาระของครูผู้สอนได้บ้างในบางโอกาส หรือในกรณีที่โรงเรียนนั้นมีครูผู้สอนน้อย สามารถจัดได้เป็น 3 ระบบ คือ
(1) ระบบรุ่นพี่ รุ่นน้อง เป็นระบบที่สำคัญอย่างมาก ทำให้กิจกรรมดำเนินไปได้อย่างมีคุณภาพและต่อเนื่อง คำว่า “รุ่นพี่ รุ่นน้อง” หมายถึงการอยู่ร่วมกันอย่างพี่น้องเคารพในอาวุโสระดับชั้นหรืออายุ ซึ่งให้ความเกรงใจให้ความเชื่อถือร่วมมือร่วมแรง แสดงน้ำใจซึ่งกันและกัน ใครเป็นพี่ก็ย่อมภูมิใจในความเป็นพี่ เพราะมีน้องให้ความเชื่อถือ พี่จะดูแลรุ่นน้องถ่ายทอดวิชาความรู้ที่ได้รับจากครูผู้สอนมาก่อนให้รุ่นน้อง ซึ่งพี่คิดเสมอว่าน้องก็คือตัวแทนของพี่ในวันข้างหน้าเมื่อพี่จบการศึกษาไป และก็ใช้ระบบนี้เรื่อยไปอย่างต่อเนื่องทุกปี รุ่นน้องจะเกิดความอบอุ่นเพราะมีคนที่มีความสามารถคอยชี้แนะ และอยู่ร่วมเป็นที่ปรึกษาด้วยความอบอุ่น การจัดระบบแบบนี้ทำให้วงโยธวาทิตมีความเป็นปึกแผ่น มีความรักความสามัคคีกลมเกลียวไม่เกิดการกระทบกระทั่งกัน แต่ครูผู้สอนต้องคอยดูแลให้คำแนะนำด้วยในบางโอกาส
(2) ระบบสร้างคนรุ่นใหม่ทดแทน ต้องยอมรับว่าในทุกปีมีรุ่นพี่ที่จบการศึกษา ดังนั้นต้องมีการสร้างนักเรียนรุ่นใหม่ขึ้นมาทดแทน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งและถือว่าเป็นงานที่หนักมาก จึงต้องมีระบบมารองรับ คือ เปิดรับสมัครนักเรียนเมื่อเริ่มปีการศึกษาใหม่แล้วเริ่มฝึกตามกระบวนการที่กำหนดไว้ตามขั้นตอน ซึ่งกว่าที่นักเรียนจะได้ฝึกเครื่องดนตรีนั้นต้องผ่านขั้นตอนอย่างมากมายและนักเรียนทุกคนต้องเริ่มต้นด้วยเครื่องดนตรีชิ้นแรกเหมือนกันคือ “กลอง” ก่อนจะเล่นเครื่องดนตรีประเภทอื่นๆ ครูผู้สอนต้องวัดความฉลาดของนักเรียนเป็นสำคัญ นอกจากนั้นก็ดูสิ่งอื่นๆประกอบ เช่น ความตั้งใจ ความอดทน ความสามารถในการปรับตัวเข้ากับระบบของวง ความพร้อมเพรียง ความขยันหมั่นเพียร ขนาดของร่างกาย ความสั้นยาวของช่วงแขน ลักษณะของนิ้วมือ ความหนาบางของริมฝีปาก ความแข็งแรงของฟัน ลักษณะรูปฟัน และลักษณะคาง เป็นต้น
การพิจารณาองค์ประกอบข้างต้น ต้องอาศัยหลักวิชาการประสบการณ์และความชำนาญของครูผู้สอนอย่างมาก เพื่อป้องกันความผิดพลาดอันเป็นอุปสรรคต่อตัวนักเรียน ในการพัฒนาการเล่นเครื่องดนตรีชนิดต่างๆ อย่างไรก็ตามสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือ ความสนใจและความสมัครใจของนักเรียน ว่าชอบเครื่องดนตรีชนิดที่ได้รับการเลือกให้หรือไม่ ในการประกอบการพิจารณาด้วย ทั้งนี้เพราะมีผลหลายประการที่จะตามมา
ในระยะเวลา 1 ปีแรก นักเรียนฝึกใหม่ยังไม่ได้ร่วมการฝึกในวงจะเข้าวงก็ต่อเมื่อปีที่ 2 และนักเรียนรุ่นพี่ปีสุดท้ายได้รับการอนุญาตให้พักเพื่อเตรียมการในเรื่องการศึกษาต่อ แต่ก็ยังเข้าร่วมบรรเลงบ้างในบางโอกาส
ดังนั้นเมื่อสรุปการจัดระบบดังกล่าว จะแบ่งนักเรียนในวงโยธวาทิตออกเป็น 3 กลุ่มคือ
1. กลุ่มรุ่นใหม่ คือนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
2. กลุ่มรุ่นปัจจุบัน คือนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ถึง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5
3. กลุ่มเตรียมตัวจบการศึกษา คือนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
บางครั้งมีปัญหาอยู่บ้างในหลายๆโรงเรียน คือ นักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ออกไปศึกษาต่อในสถาบันอื่นๆ สิ่งนี้ควรเป็นหน้าที่ของครูผู้สอนที่ต้องใช้วิธีการของตนเองในการโน้มน้าวจิตใจนักเรียน แต่ถ้าไม่ได้ผลก็ควรสนับสนุนเพราะอนาคตของนักเรียนคงไม่ได้ยึดมั่นกับการเป็นนักดนตรีอย่างเดียว ครูผู้สอนต้องให้นักเรียนได้เลือกเรียนในสิ่งที่ต้องการและมีความถนัด
(3) ระบบบริหารวงในระดับนักเรียนในกลุ่มของรุ่นปัจจุบัน คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จะเป็นคณะกรรมการในการบริหารงานของวงโยธวาทิต ซึ่งให้นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เป็นแกนนำในการบริหารและอาจมีนักเรียนในระดับอื่นๆ เป็นคณะกรรมการร่วม แบ่งหน้าที่ความ
รับผิดชอบแยกเป็นแผนก โดยให้นักเรียนใช้วิธีการในระบอบประชาธิปไตย เลือกตั้งคณะกรรมการขึ้นมาบริหารงาน 1 ชุด ให้สมาชิกภายในวงเป็นผู้คัดเลือก และคณะกรรมการบริหารคัดเลือกผู้ทำงานในหน้าที่ต่างๆ ดังนี้ คือ
- ประธาน ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการบริหารวง เพื่อทำหน้าที่ควบคุมการดำเนินงานของวงโดยอยู่ในความควบคุมดูแลของครูผู้ฝึกซึ่งจะมอบหมายงานต่างๆ ให้ดำเนินงานช่วยดูแลความเป็นอยู่ ความพร้อมเพรียงของสมาชิกในวง ตลอดจนดูแลคณะกรรมการแผนกอื่นๆ ให้ดำเนินงานไปด้วยความเรียบร้อยราบรื่น และเกิดประสิทธิภาพของงาน
- รองประธาน ทำหน้าที่แทนประธานเมื่อประธานไม่อยู่หรือได้รับมอบหมายหน้าที่เป็นกรณีไป และจะทำงานร่วมกับประธานในการบริหารวง
- หัวหน้าวง มีหน้าที่ควบคุมสมาชิกในวงในด้านการฝึกซ้อม เพื่อดูแลและควบคุมสมาชิกในวง ตลอดจนการจัดการต่างๆเกี่ยวกับการฝึกซ้อมทั้งหมด ให้ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยและเกิดประสิทธิภาพในการบรรเลง
- รองหัวหน้าวง ทำหน้าที่แทนหัวหน้าวงเมื่อหัวหน้าวงไม่อยู่ หรือร่วมกับหัวหน้าวงในการควบคุมดูแล
- หัวหน้ากลุ่มเครื่อง จะแบ่งตามกลุ่มใหญ่และกลุ่มย่อยในแต่ละประเภทของเครื่องดนตรี ดังนี้
(1) กลุ่มเครื่องลมไม้ มีหัวหน้ากลุ่ม 1 คน ทำหน้าที่ดูแลเครื่องลมไม้ทั้งหมด โดยแบ่งกลุ่มย่อยเป็นกลุ่มเครื่องดนตรีชนิดต่างๆซึ่งมี ผู้รับผิดชอบอีกกลุ่มละ 1 คน เช่น กลุ่มคลาริเน็ต กลุ่มแซกโซโฟน เป็นต้น
(2) กลุ่มเครื่องทองเหลือง (แบ่งความรับผิดชอบเช่นเดียวกับกลุ่มเครื่องลมไม้)
(3) กลุ่มเครื่องประกอบจังหวะ มีหัวหน้ากลุ่ม 1 คน โดยไม่ต้องแบ่งเป็นกลุ่มย่อย เนื่องจากมีจำนวนสมาชิกที่จะต้องดูแลรับผิดชอบน้อย ทุกกลุ่มจะทำหน้าที่ดูแลความพร้อมเพรียงควบคุมการฝึกซ้อมในกลุ่ม ตามที่ได้รับมอบหมายจากครูผู้สอน หรือหัวหน้าวง ตลอดจนดูแลสภาพของเครื่องดนตรีและอุปกรณ์ต่างๆ ให้อยู่ในสภาพที่ใช้การได้ หากมีปัญหาเกิดขึ้นในส่วนใดที่รับผิดชอบ ต้องรายงานให้หัวหน้าวงทราบ และปฏิบัติตามลำดับขั้นตอนต่อไป
(4) หัวหน้าแผนกต่างๆ ประกอบด้วย
- กลุ่มเครื่องประกอบจังหวะ มีหัวหน้ากลุ่ม 1 คน โดยไม่ต้องแบ่งเป็นกลุ่มย่อย เนื่องจากมีจำนวนสมาชิกที่จะต้องดูแลรับผิดชอบน้อย ทุกกลุ่มจะทำหน้าที่ดูแลความพร้อมเพรียง
- หัวหน้าแผนกเอกสารและโน้ตเพลงมีหน้าที่ในการดูแลจัดเก็บตรวจสอบทำบัญชีต้นฉบับ ถ่ายเอกสารโน้ตเพลงและอื่นๆที่เกี่ยวกับเอกสารทั้งหมดของวง
- หัวหน้าแผนกหนังสือ มีหน้าที่ในการดูแลจัดเก็บบริการยืม ทำบัญชีและตรวจสอบ
- หัวหน้าแผนกโสตทัศนูปกรณ์ มีหน้าที่จัดระบบการใช้เครื่องเสียงม้วนเทป ม้วนเทปวีดีทัศน์ แผ่นเสียง และสื่ออื่นๆ ตลอดจนการให้บริการยืม
- หัวหน้าแผนกเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย มีหน้าที่ดูแลจัดเก็บตรวจสภาพ เตรียมความพร้อมในการนำไปใช้ และเก็บเข้าคลังหลังจากซักรีดเรียบร้อยแล้ว
- หัวหน้าแผนกพัสดุ มีหน้าที่ดูแลอุปกรณ์ต่างๆ ตรวจสภาพทำบัญชีซ่อมแซม และบันทึกเสนอเพื่อส่งร้านซ่อม
- หัวหน้าแผนกบริการ มีหน้าที่จัดเตรียมการเพื่ออำนวยความสะดวกเช่น น้ำดื่ม หรือแสงสว่างในการฝึกซ้อม จัดของขึ้นรถ และการบริการที่เป็นประโยชน์ที่วงจะได้รับ
ในระบบการบริหารงานนี้ ครูผู้สอนทำหน้าที่เป็นเพียงที่ปรึกษาให้คำแนะนำกลุ่มนักเรียนที่เป็นคณะกรรมการจะเป็นผู้ปฏิบัติ เป็นการฝึกนักเรียนให้รู้จักการทำงานร่วมกันภายในกลุ่มสังคมเบื้องต้น เพื่อฝึกความรับผิดชอบในหน้าที่ รู้จักการแก้ปัญหาต่างๆด้วยตนเอง โดยการดำเนินงานของคณะกรรมการจะอยู่ในวาระเพียง 1 ปี เพื่อฝึกให้นักเรียนได้ทำงานเป็นทั่วถึงกัน หรือกล่าวโดยทั่วไปก็คือ “ไม่ควรทำการบริหารวงให้เป็นเผด็จการ”
2) เคารพระเบียบ เป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เกิดระบบที่ดี เกิดความเรียบร้อยในการทำงานร่วมกัน ซึ่งระเบียบที่จะทำให้บังเกิดผลดีได้แก่
(1) ระเบียบในการฝึกซ้อมและออกแสดง นักเรียนต้องฝึกซ้อมเป็นปกติและสม่ำเสมอ ตามวันเวลาที่วางแผนการฝึกซ้อมไว้อย่างเคร่งครัด หากมีความจำเป็นต้องลาต้องดำเนินการตามระเบียบการลา โดยส่งใบลาที่หัวหน้ากลุ่มทุกครั้ง
(2) ระเบียบในการใช้เครื่องดนตรี ต้องมีความละเอียดรอบคอบในการใช้และการรักษาเครื่องดนตรีประจำตัวให้สะอาด และมีประสิทธิภาพในการใช้งานได้ดีอยู่เสมอ รู้จักวิธีป้องกันสิ่งที่จะทำให้เกิดการชำรุดเสียหายต่อเครื่องดนตรีของตนที่ครอบครองอยู่อย่างรอบคอบ
(3) ระเบียบอื่นๆที่สำคัญ เช่น ระเบียบการฝึกซ้อม ระเบียบการดูแล และเก็บรักษาเครื่องดนตรี ระเบียบการใช้โน้ตเพลง ระเบียบการใช้อุปกรณ์ต่างๆ และระเบียบอื่นๆ ที่ไม่ขัดต่อระเบียบของโรงเรียน
ระบบรุ่นพี่ รุ่นน้อง จะเป็นตัวใช้ระเบียบต่างๆได้เป็นอย่างดี ทำให้ทุกคนต้องปฏิบัติตามระเบียบอย่างเคร่งครัด เพราะทุกคนทราบและเข้าใจถึงจุดประสงค์ของระเบียบนั้นๆ และเคารพในกฎระเบียบ จะทำให้การบริหารวงโยธวาทิตดำเนินไปด้วยดี มีความรักความสามัคคีในหมู่คณะ ซึ่งจะทำให้บังเกิดผลดีต่อสถานศึกษา
3) เพรียบพร้อมวิชาการ ครูผู้สอนวงโยธวาทิตต้องกำหนดเนื้อหาต่างๆ โดยศึกษาแนวทางการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนวงโยธวาทิต ต้องเตรียมการวางแผนการฝึกซ้อม โดยทั่วไปการฝึกซ้อมในแต่ละวันต้องมุ่งในการสร้างพื้นฐานที่ดีเป็นหลัก เช่น การฝึกการใช้เครื่องดนตรีอย่างถูกต้อง การควบคุมคุณภาพของเสียงในขณะบรรเลง การควบคุมการหายใจ การสร้างคุณภาพเสียงที่ดี การบังคับเสียง สูง ต่ำ สั้น ยาว เบา ดัง เหล่านี้เป็นพื้นฐานสำคัญซึ่งต้องใช้เวลาฝึกฝนตามขั้นตอน (แต่มักไม่เป็นไปตามหลักปฏิบัติที่น่าจะเป็นจริง เพราะส่วนใหญ่มุ่งการฝึกซ้อมเพื่อการใช้งานมากกว่า ด้วยเหตุผลหลายๆอย่าง จึงทำให้นักเรียนขาดทักษะในการฝึกซ้อม เมืองไทยจึงหานักดนตรีที่มีทักษะได้ยาก)
ถ้าทุกคนมีพื้นฐานที่ดีทำให้การรวมวงบรรเลงมีคุณภาพตามไปด้วย ครูผู้สอนเป็นเพียงผู้ปรุงแต่งเพลงต่างๆให้ดีขึ้น มีคุณภาพมากขึ้น เพราะทุกคนมีพื้นฐานที่ดีเพื่อรองรับการปรับเพลงของครูผู้สอนนั่นเอง
3) ประสานบุคลากร นอกเหนือจากนักเรียนแล้ว ครูผู้สอนนับเป็นบุคคลที่มีความสำคัญที่ต้องสามารถประสานประโยชน์เข้ากันได้ ทำงานร่วมกันได้ เข้าใจวัตถุประสงค์ของการดำเนินกิจกรรมอย่างแท้จริง และที่สำคัญคือต้องมีใจรักดนตรีรักและเข้าใจเด็ก บุคคลที่เรียกว่าครูที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องในกิจกรรมวงโยธวาทิต ประกอบด้วย
(1) ผู้ควบคุมวง ทำหน้าที่เสมือนผู้จัดการวงดุริยางค์ (Band Manager) เป็นผู้ติดต่อประสานงานกับหน่วยงานหรือบุคคลที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับกิจกรรมของวง ต้องดูแลความเป็นอยู่ของทุกๆคน จัดสวัสดิการและผลประโยชน์ต่างๆ วางแนวทางในการปรับปรุงเครื่องดนตรี อุปกรณ์ต่างๆ โน้ตเพลง ตลอดจนห้องซ้อมให้มีคุณภาพที่จะรองรับการฝึกซ้อมได้ จัดหาทุน หาผู้อุปการะมาเสริมงบประมาณ ในการพัฒนาวงให้ดีขึ้น
(2) ครูผู้สอน และครูผู้ช่วย เป็นผู้วางแผนทางวิชาการทั้งหมด จัดวางระบบระเบียบต่างๆภายในวง กำหนดตารางการฝึกซ้อมควบคุมการฝึกซ้อม ถ่ายทอดวิชาการทุกด้านกับนักเรียน ประเมินผลการปฏิบัติงาน รวมทั้งการเตรียมการในการออกไปบริการชุมชนในโอกาสต่างๆ
ข้อสรุปลักษณะสำคัญในตัวครูผู้สอน และครูผู้ช่วย
1) มีประสบการณ์ในการสอนวงโยธวาทิต
2) มีวิชาความรู้ดี
3) มีความสัมพันธ์และมีความผูกพันกับสถาบันที่สอน
4) มีอุดมการณ์ที่จะพัฒนาดนตรีของชาติอย่างชัดเจน
5) มีความรักและเข้าใจนักเรียนเป็นอย่างดี
6) มีความสัมพันธ์กับบุคคลและสถาบันอื่นๆ ในวงการดนตรี
5) ย้อนมองผลงาน การที่นักเรียนได้แสดงผลงานทางดนตรีสู่สาธารณชน เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นักเรียนพัฒนาบุคลิกภาพของตนและกล้าแสดงออก ทำให้มีความรับผิดชอบต่อกิจกรรม มีความภาคภูมิใจในตัวเอง มีประสบการณ์ในหลายๆด้าน เช่น ได้เดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ได้พบปะผู้คนในสาขาอาชีพต่างๆ ได้ทราบสภาพที่เป็นจริงรอบๆตัว และได้รับใช้สังคมที่ตนเองมีส่วนร่วมทั้งงานจากภาครัฐและเอกชน เช่น งานรับเสด็จฯ งานพระราชพิธีและงานพิธีต่างๆ งานเปิดห้างร้าน หรือการเข้าร่วมในงานเทศกาลต่างๆ เป็นต้น
2) งบประมาณ วงโยธวาทิต มีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก หากจะทำวงโยธวาทิตให้สมบูรณ์และได้มาตรฐานจะต้องมีการบริหารงบประมาณที่ดี และวางแผนในการจัดงบประมาณด้านต่างๆ ประกอบด้วย
(1) การจัดหางบประมาณ (ได้มาจากแหล่งการเงินต่างๆ)
(2) งบประมาณที่ใช้ในการดำเนินการได้แก่
- การจัดซื้อเครื่องดนตรี
- ค่าตอบแทนผู้ฝึกสอน (ถ้ามี)
- ค่าเครื่องแบบเครื่องแต่งกาย
- ค่าอุปกรณ์การเก็บการบำรุงรักษาเครื่องดนตรี
- การนำดนตรีไปบริการชุมชน
- การรับบริจาคเป็นเครื่องดนตรี
ฯลฯ
3) อุปกรณ์ดนตรี เครื่องดนตรีในวงโยธวาทิตมีหลายชนิด ชนิดละหลายจำนวน แต่ละชนิดมีคุณภาพและราคาต่างกัน ดังนั้นก่อนจะจัดตั้งวงโยธวาทิตจึงต้องมีการเตรียมการเกี่ยวกับเรื่องนี้ คือ
- สำรวจเครื่องดนตรีที่มีอยู่เดิม
- จัดซ่อมแซมเครื่องดนตรีที่มีอยู่
- วางแผนการจัดหาเครื่องดนตรีเพิ่มเติม
- ดำเนินการจัดซื้อ (ควรที่จะต้องมีการศึกษา จากผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านดนตรีสากลเพื่อป้องกันความผิดหวังในเรื่องของคุณภาพและความคงทนถาวร)
- จัดเก็บ บำรุงรักษาเครื่องดนตรีให้สะอาดและปลอดภัย
4) การฝึกซ้อม การฝึกซ้อมวงโยธวาทิต เป็นการฝึกซ้อมที่มีขั้นตอนและระยะเวลาในการฝึกซ้อมมาก (แต่มักไม่ได้คำนึงถึงเรื่องนี้มากนัก ส่วนใหญ่จะมุ่งฝึกเพื่อรีบการใช้งานในระยะเวลาอันสั้น จึงไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนอย่างจริงจัง) ดังนั้นจึงต้องมีการเตรียมการฝึกที่ดี และควรมีแนวการฝึกคือ
(1) แต่งตั้งผู้รับผิดชอบ
(2) มีแผนการฝึกตลอดปี
(3) ฝึกทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ
(4) ฝึกระเบียบวินัยให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง
(5) มีการตรวจเยี่ยมการฝึกซ้อมอยู่เสมอ (ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง) เพื่อขวัญและกำลังใจของผู้ปฏิบัติ
(6) ย้ายสถานที่ฝึกซ้อมบ้างในบางโอกาส เพื่อความตื่นตัวมากขึ้น
(7) สนับสนุนให้นักเรียนได้หาความรู้และประสบการณ์เพิ่มเติม โดยการเข้าร่วมอบรมสัมมนากับสถาบันอื่น หรือทางโรงเรียนจัดให้
3.2.3 แนวการดำเนินงาน เป็นขั้นตอนจะทำให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพและทำให้วงโยธวาทิตดำเนินการได้ตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ ดังนี้
1) ชี้แจงนโยบายและจุดประสงค์ ในการก่อตั้งวงโยธวาทิตในสถานศึกษามีความจำเป็นที่ต้องแจ้งให้ทุกฝ่ายทราบ เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน และมีผลต่อการขอความร่วมมือเป็นอย่างยิ่ง จึงจำเป็นที่จะต้องชี้ให้เห็นผลดีของวงโยธวาทิต ที่มีต่อชื่อเสียงของสถานศึกษา ต่อนักเรียนตลอดจนบุคคลอื่นๆ ให้เห็นว่าวงโยธวาทิตให้คุณประโยชน์ในลักษณะใดบ้าง เพื่อเป็นการกระตุ้นนักเรียนให้เห็นความสำคัญ และเกิดความตั้งใจที่จะฝึกฝนตนเองให้เป็นเลิศทางดนตรี นำความรู้ที่ได้รับไปสร้างสรรค์สังคม และดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข ดังนั้นโรงเรียนต้องวางจุดประสงค์และนโยบายให้ชัดเจน คือ
2) การเตรียมการฝึก การฝึกวงโยธวาทิต มีความแตกต่างกับการฝึกกีฬาซึ่งครูผู้สอนและนักเรียนต้องใช้ความสามารถเฉพาะตัวและฝึกเป็นกลุ่มน้อย หากว่าใครเอาจริงเอาจังในการฝึกก็จะทำให้ผู้นั้นมีความสามารถสูง แต่การฝึกวงโยธวาทิตจะต้องฝึกร่วมกันประมาณ 10 - 60 คน โดยประมาณ ให้มีความพร้อมในเชิงดนตรีและ มีระเบียบวินัย จึงต้องมีการเตรียมการฝึก คือ
กำหนดเวลาการฝึก การกำหนดเวลาฝึกเป็นสิ่งสำคัญมาก จึงต้องวางแผนการดำเนินงานโดยคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้ คือ
(1) จัดทำแผนการฝึก วัน เวลาที่ชัดเจน
(2) การฝึกหลังเวลาโรงเรียนเลิก
(3) การนัดหมายกับครูผู้ฝึกที่โรงเรียนเชิญมา
(4) การฝึกในวันหยุดราชการ และระหว่างปิดภาคเรียน
(5) การฝึกในวันเวลาที่มีการนัดเป็นพิเศษ
(6) การฝึกในวันที่นักเรียนไม่เสียเวลาเรียน
(7) การฝึกที่ทุกคนพร้อมจะฝึก (ไม่ผิดเวลานัด)
วิธีการสอน การฝึกสอนวงโยธวาทิตให้เกิดความพร้อม และมีระเบียบ
จะต้องใช้ระยะเวลาพอควร เพื่อฝึกให้มีความเก่งกล้าสามารถในการบรรเลง และเกิดความชำนาญสูง ดังนั้นการฝึกให้เกิดผลดีจะต้องฝึกอย่างต่อเนื่องและจริงจังทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ คือ
(1) การสอนภาคทฤษฎี โดยการให้ความรู้ด้านต่างๆ เพื่อนำไปใช้ฝึกปฏิบัติ เช่น
- การสอนโน้ตเพลง
- การฝึกให้รู้จักจังหวะ สั้น ยาว เบา แรง เป็นต้น
- การเทียบเสียง
- เครื่องหมาย และศัพท์เทคนิคทางดนตรีต่างๆ
- ความเหมาะสมสม่ำเสมอ ช้า-เร็ว ของจังหวะ
- แนวเสียงประสาน และความสมดุลของเสียง
(2) การสอนภาคปฏิบัติ เพื่อให้นักเรียนมีความสามารถ มีคุณภาพ มีความชำนาญ และมีการแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ จะใช้การฝึกซ้อมในเบื้องต้น คือ
- การฝึกตีไม้กลองกับแผ่นไม้
- การฝึกตีกลองจริง
- การฝึกการเดินให้เข้าจังหวะที่ตี
- การเลือกนักเรียนตามสรีระ และดูความสามารถการเรียนรู้ที่ผ่านการฝึกในเบื้องต้น
- การฝึกการหายใจที่ถูกต้องเมื่อต้องปฏิบัติเครื่องดนตรี
- การฝึกเป่าลมเข้าไปในปากเป่า (กำพวด, ปากปี่)
- การฝึกเป่าลมเข้าไปในเครื่องดนตรี
- การฝึกไล่เสียงลมยาว
- การฝึกการเป่าโดยเน้นความดัง-เบา สลับกัน

- การฝึกไล่บันไดเสียงจากง่ายไปหายาก
- การฝึกบทเพลงจากเพลงง่ายไปจนถึงเพลงที่ยากขึ้น
- การฝึกเพลงที่เน้นเครื่องหมายต่างๆในบทเพลง
3.2.4 เทคนิคในการฝึก การฝึกดนตรีแต่ละกลุ่ม แต่ละคณะย่อมแตกต่างกัน ตัวโน้ตดนตรีเป็นทฤษฎี ผู้เรียนย่อมเรียนรู้จากทฤษฎีเดียวกันทุกคน แต่เทคนิคการนำไปใช้ไม่เหมือนกัน ตัวอย่าง เช่น การเรียนวิชาครู เรียนจากตำราและครูผู้สอนคนเดียวกัน แต่เมื่อลงมือสอนนักเรียน ย่อมพบปัญหาและสิ่งแวดล้อมต่างๆที่ไม่เหมือนกัน จึงต้องใช้เทคนิคในการสอนให้เหมาะสม และปรับให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม การฝึกซ้อมดนตรีก็เช่นเดียวกัน ครูผู้สอนต้องใช้เทคนิคพิเศษในการฝึกซ้อมที่แตกต่างกันออกไป คือ
1) การแยกฝึกตามชนิดและความถนัดของเครื่องมือ
2) แบ่งคนสอนออกเป็นกลุ่มตามเครื่องมือ
3) ถ้าคนสอนมีน้อย จะต้องใช้รุ่นพี่ช่วยฝึก
4) การจัดหาและเลือกเพลงที่เหมาะสม
5) การจัดเครื่องดนตรีตามรูปวง
6) การลงสนามฝึกแยก
7) การลงสนามฝึกรวม
8) มีการพักผ่อนที่ดีพอควร
9) มีการสรุปผลการฝึกทุกครั้ง
3.2.5 การศึกษาค้นคว้าในการฝึก การฝึกซ้อมดนตรีเป็นศาสตร์อย่างหนึ่ง ที่มีความก้าวหน้า และพัฒนาไปตามยุคสมัย เพลงต่างๆอุปกรณ์และเครื่องดนตรีชนิดต่างๆ ย่อมต้องมีการปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา ตราบใดที่ขาดการค้นคว้าขาดการพัฒนาจะมีค่าถอยหลังทันที ปัจจุบันวิทยาการก้าวหน้าไปมาก จึงทำให้การพัฒนาด้านดนตรีต้องคล้อยตามให้ทันเหตุการณ์เช่นเดียวกัน การศึกษาค้นคว้า การศึกษาเพิ่มเติม การศึกษาแก่นแท้ที่ถูกต้องของลักษณะและรูปแบบ การศึกษาและดูงานจากหน่วยงานหรือสถาบันมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น ในการสอนดนตรีต้องมีการศึกษาและค้นคว้าในสิ่งต่างๆ คือ
1) จัดเก็บ รวบรวมเพลงที่ใช้ในการบรรเลงให้เป็นหมวดหมู่
2) ค้นคว้าเพลงใหม่
3) ค้นคว้าลีลาและจังหวะใหม่
4) ทันสมัยนิยมตามเหตุการณ์
5) การเลือกเพลงที่จะใช้บรรเลง จะต้องมีความรอบรู้
6) ด้านทฤษฎีต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ
7) ต้องหาเวลาว่างศึกษาทฤษฎี และการปฏิบัติ ทำกำหนดเวลาตามแผนที่วางไว้
8) ศึกษาจากการประกวดและแข่งขันของสถาบันต่างๆ
9) ศึกษาความก้าวหน้าของวงโยธวาทิตในระดับต่างๆ
3.2.6 การกำหนดจุดประสงค์การฝึก การฝึกวงโยธวาทิตครูผู้สอนหรือผู้ควบคุม
วง ต้องแจ้งจุดประสงค์การฝึกให้นักเรียนทราบ เพราะเพลงที่นำไปบรรเลงในพิธีการมีความแตกต่างกัน การแจ้งจุดประสงค์การฝึกแต่ละครั้งมีผลต่อการฝึกซ้อมให้บรรลุตามเป้าหมาย การนำดนตรีไปบรรเลงจะมีลักษณะต่างๆกัน ดังนี้
1) การฝึกเพื่อบรรเลงในงานพระราชพิธี
2) การฝึกเพื่อใช้ในกิจกรรมของโรงเรียน
3) การฝึกเพื่อเข้าร่วมบรรเลงในงานสำคัญ
4) การฝึกเพื่อบรรเลงในงานพิเศษที่ได้รับการติดต่อแต่ละประเภท
5) การฝึกเพื่อเข้าร่วมประกวด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น