วันอังคารที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ประวัติวงโยธวาทิต

บทที่ 2

วงโยธวาทิต (Marching Band)

2.1 ประวัติวงโยธวาทิต
2.1.1 ความหมายของวงโยธวาทิต
ดุริยางค์ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง องค์ของเครื่องดีด สี ตี เป่า มาจาก ตุริย + องค และมักจะใช้คำว่า “วงดุริยางค์” เรียกวงดนตรีประเภทหนึ่งซึ่งชาวตะวันตกเรียกว่า Orchestra
โยธวาทิต ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง “วงดนตรีที่บรรเลงโดยทหาร ซึ่งมาจากคำว่า โยธ แปลว่า ทหาร รวมกับคำว่า วาทิต แปลว่า ดนตรี หรือผู้บรรเลงดนตรี” (สยามกลการ, 2535: ไม่ปรากฏเลขหน้า) โยธวาทิต “เป็นคำศัพท์ที่บัญญัติขึ้นโดยอาจารย์มนตรี ตราโมท ซึ่งใช้มาจนถึงปัจจุบัน” (สุกรี เจริญสุข, 2539: 45) ส่วนในรากศัพท์ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Military Band โดยคำว่า Military นั้นหมายถึงกองทัพ ส่วนคำว่า Band มาจากคำว่า Banda (ในภาษาอิตาเลียน) ใช้เรียกวงดนตรีประเภทหนึ่ง ในประเทศสหรัฐอเมริกาใช้คำว่า Marching Band ซึ่งไม่ว่ารากศัพท์จากภาษาต่างประเทศจะกล่าวอย่างไรแต่ในประเทศไทยเรียกว่าวงโยธวาทิต ที่ผสมวงโดยมีเครื่องดนตรีหลัก 3 กลุ่ม คือ
1. กลุ่มเครื่องลมไม้ (Woodwind Instruments
2. กลุ่มเครื่องทองเหลือง (Brass Instruments)
3. กลุ่มเครื่องกระทบ (Percussion Instruments)
แต่เดิมนั้น คำว่า Band จะใช้เรียกวงดนตรีที่มีลักษณะเฉพาะของ พระเจ้าชาร์ลที่ 2 ซึ่งในสมัยนั้นจะหมายถึงวงดนตรีที่มีขนาดใหญ่ ในปัจจุบันเราใช้คำว่า Band ต่อท้าย วงดนตรีที่มีลักษณะการผสมเครื่องดนตรีในรูปแบบต่างๆกัน เช่น Wind Band, Military Band, Concert Band, Symphonic Band, หรือ Jazz Band เป็นต้น ตามรากศัพท์เดิม Banda นั้น หมายถึง วงดนตรีที่ประกอบด้วย กลุ่มเครื่องทองเหลือง และเครื่องกระทบ (สยามกลการ, 2535: ไม่ปรากฏเลขหน้า)
วงโยธวาทิต เป็นวงดนตรีสำหรับทหาร มีจุดประสงค์ในการใช้งาน คือ การร้องเพลงซอยเท้าเข้าสู่สนามรบของทหาร บทบรรเลงส่วนใหญ่จะเป็นเพลงมาร์ช (March) หรือใช้ประกอบการสวนสนามของทหาร เพื่อปลุกใจในยามสงคราม หรือประกอบพิธีต่างๆของทหาร โดยเฉพาะ มีผู้บรรเลงจำนวนมาก


มีเครื่องดนตรีจำพวกแตรทรัมเป็ต (Trumpet) เป็นเครื่องนำ (สยามกลการ, 2535: ไม่ปรากฏเลขหน้า) “แตรทรัมเป็ต” ที่เป็นเครื่องดนตรีนำขบวนนั้นมีชื่อเรียกแตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนกลุ่มใดเรียก เช่นแตรงอน, Alphorn, Buisine, Lituus, Slide Trumpet หรือทรัมเป็ตที่ใช้ในรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์เรียกว่า “แตรวิลันดา”(สุกรี เจริญสุข, 2539: 25) กล่าวถึงแตรวิลันดาว่า “ซึ่งเชื่อว่าเป็นแตรฝรั่งที่ชาวฮอลันดานำเข้ามาเป็นชาติแรกในกรุงสยามจึงเรียกว่าแตรวิลันดา คำว่าวิลันดานั้นน่าน่าจะหมายถึง ฮอลันดา” เสียงแตรที่เป่าจะเป็นสัญญาณที่ใช้ต่างกันตามโอกาสเช่น สัญญาณที่ให้ทหารบุกโจมตี สัญญาณ รวมพล สัญญาณแจ้งเหตุ หรือใช้ในกิจกรรมต่างๆ เช่น เพลงเดิน เพลงรุก เพลงรบ เพลงถอย เป็นต้น
2.1.2 ลักษณะองค์ประกอบของเครื่องดนตรีในวงโยธวาทิตและมาตรฐานในปัจจุบัน
ลักษณะองค์ประกอบของเครื่องดนตรีในวงโยธวาทิต
วงโยธวาทิต ประกอบด้วยเครื่องดนตรี 3 ตระกูล คือ
1. เครื่องลมไม้ (Woodwind Instruments)
2. เครื่องทองเหลือง (Brass Instruments)
3. เครื่องกระทบ (Percussions Instruments)
เครื่องลมไม้ (Woodwind Instruments)
แบ่งออกอย่างกว้างๆได้ 2 ประเภท คือ พวกขลุ่ย และพวกปี่ เครื่องดนตรีเหล่านี้ทำให้เกิดเสียงได้ โดยการเป่าลมผ่านช่องแคบๆเข้าไปในท่อ (pipe) ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวขยายเสียง ส่วนระดับเสียง สูง - ต่ำ จะขึ้นอยู่กับความยาวและขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของตัวขยายเสียงหรือตัวท่อ และความแรงของลมที่เป่าเข้าไปในท่อ พวกขลุ่ยมีลักษณะเหมือนท่อออร์แกนชนิดรู (flue pipe) ส่วนพวกปี่ มีลักษณะเหมือนท่อออร์แกนชนิดลิ้น (reed pipe) รอบๆ ลำตัวของขลุ่ยและปี่จะมีรู เปิด ปิด ด้วยกระเดื่องนิ้ว (Key) รูเหล่านี้ทำหน้าที่เปลี่ยนความยาวของตัวท่ออากาศ (air column) ทำให้เกิดระดับเสียงต่างๆ การที่เรียกเครื่องดนตรีประเภทนี้ว่าเครื่องลมไม้ก็เพราะตัวท่อทำด้วยไม้แต่ในปัจจุบัน แม้ว่าเครื่องดนตรีบางชนิดเปลี่ยนไปทำด้วยโลหะ แต่ก็ยังจัดอยู่ในประเภทเครื่องลมไม้ คือ
1. เครื่องดนตรีประเภทขลุ่ย (Flute Instruments) ขลุ่ยเป็นเครื่องดนตรีเก่าแก่ที่สุดชนิดหนึ่งที่พัฒนาการมาพร้อมกับอารยธรรมของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ในสมัยยุคหิน โดยนำกระดูกสัตว์และเขากวางที่เป็นท่อนกลวงหรือไม่ก็ปล้องไม้ไผ่มาเจาะรูแล้วเป่าให้เกิดเสียงต่างๆ ซึ่งต่อมาก็กลายเป็นต้นกำเนิดของเครื่องดนตรีประเภทขลุ่ย ขลุ่ยแบ่งอย่างกว้างๆ ได้ 2 ประเภท ตามลักษณะของการเป่า ประเภทแรก คือ ขลุ่ยที่เป่าตรงปลาย (end-blown flute) ได้แก่ขลุ่ยไทย ฟลาโจเลท (Keyed flageolet) รีคอร์ดเดอร์ (Recorder) และขลุ่ยญี่ปุ่น (Shakuhachi) ประเภทที่สอง คือขลุ่ยที่เป่าด้านข้าง (Side-blown flute or transverse flute) ได้แก่ ขลุ่ยอินเดีย ฟลู้ต (Flute) พิคโคโล (Piccolo) และ ไฟฟ์ (fife) เป็นต้น
1.1 ฟลู้ต (Flute) ซึ่งเริ่มนำเข้ามาใช้ในวงดนตรีในคริสต์ศตวรรษที่ 16 เป็นขลุ่ยที่มีแต่รูเปล่าๆ (คล้ายขลุ่ยไทย) เมื่อเล่นขลุ่ยชนิดนี้ผู้เล่นจะใช้นิ้วมืออุดรู ถ้ารูใดห่างหน่อยก็ต้องพยายามเหยียดนิ้วไปอุดให้สนิท ฟลู้ตโบราณนี้จึงมีเสียงไม่มาก ในราว พ.ศ. 2213 (ค.ศ. 1670) ได้มีนักประดิษฐ์ขลุ่ยผู้
หนึ่งต้องการให้ฟลู้ตเล่นเสียงได้มากขึ้น จึงติดคีย์อันหนึ่งเพื่อปิดรูที่นิ้วถ่างไปได้ยาก ในระยะเวลาเดียวกันนี้ ลุลลี (พ.ศ. 2175 - 2230 หรือ ค.ศ. 1632 - 1687) ก็นำฟลู้ตเข้ามาในการแสดงอุปรากร ต่อมา พ.ศ. 2220 (ค.ศ. 1677) ควานทุข์ (พ.ศ. 2240 - 2316 หรือ ค.ศ. 1697 - 1773) นักดนตรีประจำราชสำนักของพระเจ้าเฟรดเดริคมหาราชแห่งปรัชเซีย (พ.ศ. 2255 - 2329 หรือ ค.ศ. 1712 - 1786) ได้ติดกระเดื่องนิ้วเพิ่มขึ้นอีก 2 อันที่ขลุ่ย ในสมัยนั้นดูเหมือนว่าควานทุข์ จะเป็นผู้เดียวที่เชี่ยวชาญการเป่าฟลู้ตมากกว่าผู้ใด เขาได้แต่งคอนแชร์โต สำหรับฟลู้ตไว้ประมาณ 300 ชิ้น และยังเป็นพระอาจารย์ถวายการสอนฟลู้ตแด่พระเจ้าเฟรดเดริคมหาราชจนพระองค์มีความชำนาญในการบรรเลง จากนั้น เธโอบัลด์โบม (Theobald Bohm พ.ศ. 2337 - 2424 หรือ ค.ศ. 1794 - 1881) นักเล่นฟลู้ตของวงดนตรีแห่งราชสำนักบาวาเรีย ได้ปรับฟลู้ตจนเป็นเครื่องดนตรีสำคัญ เขาได้เจาะรูและติดคีย์เพิ่มขึ้นอีก ปลายกระเดื่องตรงที่ปิดรูซึ่งเป็นฝากลมเล็กๆ เขาได้บุนวมเพื่อปิดรูให้สนิทยิ่งขึ้น โบมได้แก้ไขกลไกเสียใหม่จนรัดกุม สามารถเล่นเสียงต่างๆได้อย่างสะดวก ขลุ่ยของเขาจึงได้ชื่อว่า “ขลุ่ยโบม” (Bohm flute) และเป็นขลุ่ยที่ยังนิยมใช้กันมาจนทุกวันนี้ โบม ยังนับว่าเป็นคนแรกที่ประดิษฐ์ด้วยโลหะ ชนิดที่มีราคาแพงก็ทำด้วยเงิน ทองคำ ฟลู้ตที่ทำด้วยโลหะจะมีคุณภาพของเสียงเช่นเดียวกับฟลู้ตที่ทำด้วยไม้ หรืออีโบไนท์ ฟลู้ตมีความยาว 26.5 นิ้ว มีช่วงเสียงตั้งแต่ C กลางถึง C ที่สูงขึ้นไปอีก 3 คู่แปด (3 Octave) เสียงของฟลู้ตคล้ายเสียงของขลุ่ยทั่วๆไป คือเสียงต่ำจะนุ่มนวลเสียงสูงจะพราวพริ้วบริสุทธิ์แจ่มใส ฟลู้ตจึงเป็นดนตรีเล่นท่วงทำนอง (Melodic Instrument) และเหมาะใช้บรรเลงเดี่ยว (Solo) เสียงของฟลู้ตใช้เลียนเสียงนก ลมพัด ได้เป็นอย่างดี
1.2 พิคโคโล (Piccolo) เรียกชื่อเต็มว่า “พิคโคโลฟลู้ต” ขลุ่ยชนิดนี้มีลักษณะคล้ายคลึงฟลู้ตแต่มีขนาดเล็กกว่า มีแค่ 2 ท่อน คือ ท่อนส่วนบนและส่วนกลางเท่านั้น ความยาวเพียง 12 นิ้ว เสียงของพิคโคโลสูงกว่าฟลู้ตหนึ่งคู่แปด (an octave) และเป็นเสียงที่แหลมคม ให้ความรู้สึก
ร่าเริงกว่าฟลู้ต การบันทึกสกอร์เพลง (Score) แนวบรรเลงของพิคโคโลจะอยู่บนสุดของสกอร์
2 เครื่องดนตรีประเภทลิ้นคู่ (Double-read Instruments)
2.1 โอโบ (Oboe) โอโบที่ใช้ในปัจจุบันนี้มีต้นกำเนิดมาจากปี่ Heutboy เริ่มแรกโอโบมีลักษณะคล้ายปี่ในของไทย คือลำตัวมีรูเปล่าๆ ต่อมาได้รับการแก้ไขดัดแปลงติดกระเดื่องเช่นเดียวกับฟลู้ตโบม (Bohm flute) ทำให้สะดวกในการเล่นและมีเสียงเพิ่มมากขึ้น รูปร่างโอโบมองเผินๆจะคล้ายปี่คลาริเน็ตมาก ถ้าสังเกตให้ดีจะมีความแตกต่างกันตรงที่ปากเป่า (mouth piece) ปากลำโพง (bell) และตัวโอโบจะมีขนาดสั้นกว่า โอโบมีลำตัวและลิ้นยาวทั้งสิ้น 25.5 นิ้ว (เฉพาะส่วนที่เป็นลิ้นยื่นออกมาจากตัวปี่ 2.5 นิ้ว) ลำตัวประกอบด้วยท่อลม 3 ท่อน ท่อนแรกซึ่งต่อจากที่เป่า เรียกว่า “top joint” ท่อกลาง
เรียกว่า “lower joint” หรือ “bottom joint” และท่อนล่างที่เป็นลำโพงเรียกว่า “bell” ลำตัวโอโบทำด้วยไม้อีบอนี โรสวู้ด เกรนาดิลลา (Ebony Rosewood Grenadilla) หรือวัตถุสังเคราะห์ประเภทอีโบไนท์ ส่วนลิ้นคู่นั้นทำมาจากไม้ที่ลำต้นมีข้อและปล้องจำพวก กก (Arundo donax or sativa) ไม้ชนิดนี้มีขึ้นในเขตเมดิเตอร์เรเนียน และที่ดีที่สุดมีเฉพาะทางตอนใต้ของฝรั่งเศส ช่วงเสียงของโอโบกว้างประมาณ 2.5 คู่แปด คือเริ่มตั้งแต่ Bb ที่ต่ำถัดจาก C กลาง โอโบเป็นเครื่องดนตรีที่ใช้เล่นท่วงทำนองและเดี่ยวเช่นเดียวกับฟลู้ต เสียงของปี่ชนิดนี้ดังคล้ายเสียงที่ออกจากจมูก (nasal tone) หรือคล้ายเสียงของปี่ที่พวกแขกเลี้ยงงูเป่าคือมีลักษณะบีบๆ เศร้า โหยหวน และแหลมคม แต่ไม่ถึงกับแหลมบาดหูอย่างขลุ่ยพิคโคโล เมื่อเป็นเช่นนี้โอโบจึงเหมาะที่จะใช้พรรณาถึงบรรยากาศของท้องทุ่ง เสียงไก่ขัน และเพลงที่เกี่ยวกับแขกหรือดินแดนทางตะวันออก หน้าที่สำคัญของโอโบ คือ เป็น “เครื่องเทียบเสียงของวงดุริยางค์” (a tuning fork for the orchestra) ก่อนการบรรเลงเครื่องดนตรีต่างๆจะต้องเทียบเสียง ลา (A) จากโอโบในสกอร์ เพลง แนวบรรเลงของโอโบอยู่ถัดลงมาจากแนวฟลู้ต ดูเหมือนว่าโอโบได้กำเนิดขึ้นกลางศตวรรษที่ 17 กังแบรต์ (Cambert : พ.ศ. 2171- 2220 หรือ ค.ศ. 1628 - 1677) เพื่อนของลุลลี (Lully) ได้นำโอโบมาใช้ครั้งแรกในการแสดงอุปรากรฝรั่งเศสเรื่อง “Pomone” เมื่อปี พ.ศ. 2214 (ค.ศ. 1671) แฮนเดล (Handel) ชอบโอโบมาก ได้แต่งคอนแชร์โตสำหรับโอโบไว้หลายบท โดยปกติในวงดุริยางค์ใช้โอโบเพียง 2 เลา แต่นักแต่งเพลงหลายคนในศตวรรษนี้ได้ใช้โอโบมากกว่า 2 เลา เมื่อปี พ.ศ. 2458 (ค.ศ. 1915) โฮลล์ท (Holst) ได้แต่ง Suite โดยใช้โอโบถึง 3 เลา ในเพลง “The Planet” ซึ่งเป็นผลงานเพลงชิ้นที่ 32 ของเขา สตราวินสกี้ (Stravinsky พ.ศ. 2425 - 2514 หรือ ค.ศ. 1882 - 1971) ได้ใช้โอโบถึง 4 เลา ดนตรีบัลเล่ห์เรื่อง “Petrouchka” (แต่งที่นครปารีสเมื่อ ปี พ.ศ. 2454 หรือ ค.ศ. 1911)
2.2 บาสซูน (Bassoon) บาสซูนได้รับฉายาว่าเป็น “ตัวตลกของวงดุริยางค์” ได้ดัดแปลงมาจากปี่บอมบาร์ด (Bombard) โดยพระนิกายโรมันคาธอลิคชื่อ พระอัลฟรานิโอ แห่งแฟร์ราราได้ดัดแปลงปี่โบราณดังกล่าวเป็นบาสซูนขึ้นในปี พ.ศ. 2082 (ค.ศ. 1539) ท่อลมทั้งหมดของปี่บาสซูนมีความยาวถึง 109 นิ้ว แต่เพื่อไม่ให้ยาวเกินไป จึงได้ประดิษฐ์ให้ท่อลมหรือลำตัวงอทับกัน จึงเหลือความยาวประมาณ 4 ฟุต ลำตัวของบาสซูนมี 4 ท่อน คือ bell joint, long joint, (บางครั้งเรียกว่า Bass joint) butt และ wing joint (บางครั้งเรียกว่า Tenor joint) ทั้ง 4 ท่อนทำด้วยไม้เมเพิล (Maple) ระบบการใช้นิ้วของบาสซูน ในปัจจุบันนี้มีอยู่ 2 ระบบ คือ ระบบเฮ็คเคล (Heckel System) ซึ่งเป็นระบบของเยอรมัน และระบบบัฟเฟท์ (Buffet System) ซึ่งเป็นระบบของฝรั่งเศส ความแตกต่างระหว่างสองระบบนี้ สังเกตได้ง่ายมาก ถ้าบาสซูนเลาใดที่ปลายของ bell joint อันเป็นส่วนอยู่บนสุด ขณะถือเป่ามีวงแหวนงาช้างสวมอยู่บาสซูนเลานั้นจะเป็นระบบเฮ็คเคล บาสซูนเป็นปี่ที่มีเสียงต่ำ ค่อนข้างแหบโหย กร้าวและไม่สู้จะแจ่มใสนัก นอกจากจะเล่นเป็นเสียงตลก เหมาะที่จะแสดงบรรยากาศอันน่ากลัว มืดมน หรือเคร่งขรึม หม่นหมองได้เป็นอย่างดี
3. เครื่องดนตรีประเภทลิ้นเดี่ยว (Single-reed Instruments)
3.1 คลาริเน็ต (Clarinet) คลาริเน็ต เป็นปี่ลิ้นเดี่ยว ที่ได้รับการดัดแปลงจากปี่โบราณชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “ชาลือโม” (Chalumeau) ซึ่งเป็นปี่แบบลิ้นเดี่ยวเช่นเดียวกัน นอกจากนี้แบบลิ้นคู่ก็มีด้วย โดยฝีมือของเด็นเนอร์ และลูกชายของเขา (Johnn C. Denner and his son Johnn Denner พ.ศ. 2198 - 2250 หรือ ค.ศ. 1655 - 1707) ราว พ.ศ. 2233 (ค.ศ. 1690) คลาริเน็ตเลาแรกที่ประดิษฐ์ขึ้นนั้นมีแต่รูเปล่าๆ ปี่ชนิดนี้ได้รับการปรับปรุงครั้งสำคัญเมื่อปี พ.ศ. 2386 (ค.ศ. 1834) โดยโคลเซ (พ.ศ. 2351 - 2343 หรือ ค.ศ. 1808 - 1880) ครูสอนคลาริเน็ตในวิทยาลัยการดนตรีแห่งกรุงปารีสได้นำเอากระเดื่องระบบ “โบม” เช่นเดียวกับฟลู้ตมาใช้ นักแต่งเพลงชาวเบลเยี่ยมผู้หนึ่งได้นำคลาริเน็ตมาใช้ในวงดุริยางค์เป็นครั้งแรกในการบรรเลงเพลงศาสนาประเภทแมส (Mass) ประมาณ พ.ศ. 2263 (ค.ศ. 1720) จากนั้นก็ไม่มีผู้สนใจปี่ชนิดนี้เท่าใดนัก จนกระทั่งกลุ๊ค (Gluck) พ.ศ. 2257 - 2261 หรือ ค.ศ. 1714 - 1787) นำมาใช้ในการแสดงอุปรากรเรื่อง “โอฟีโอ”(Orfeo) เมื่อปี พ.ศ. 2305 (ค.ศ. 1762) โมสาร์ท นับได้ว่าเป็นผู้ที่นำคลาริเน็ตมาใช้ในวงดุริยางค์อย่างจริงจังท่านผู้นี้นอกจากจะใช้บรรเลงในซิมโฟนีแล้วยังได้แต่งคอนแชร์โตและควินเต็ท ให้ปี่ชนิดนี้แสดงถึงความงดงามของสุ้มเสียงได้อย่างเยี่ยมยอด ส่วนเบโธเฟนก็สนใจคลาริเน็ตอยู่ไม่ใช่น้อย เขาได้เริ่มให้คลาริเน็ตเล่นเดี่ยวในบทเพลง “Eroica Symphony” ต่อมาเขาได้แต่ง “Pastoral Symphony” อันเป็นการบรรยายถึงความงดงามของธรรมชาติ ได้ให้คลาริเน็ตเลียนเสียงนกคู้กคูร่วมกับฟลู้ตและโอโบ ซึ่งเลียนเสียงนกไนติงเกล และนกเควลในตอนท้ายของท่อนที่สองของซิมโฟนีชิ้นนี้ ปี่คลาริเน็ตทำด้วยไม้ชนิดเดียวกับโอโบ คือทำด้วยอีโบไนท์ มีลำตัวคล้ายโอโบ กลไกของคีย์นิยมใช้ระบบโบม ลำตัวของปี่มี 5 ท่อน คือ mouthpiece, barrel, top joint, bottom joint, และ bell ท่อน bell นั้น ลำโพงจะบานกว่าของโอโบเพียงเล็กน้อย ท่อน barrel ที่ต่อจากท่อน mouth piece จะมีลักษณะป่องออกมาเพียงเล็กน้อย เมื่อถอดออกมาจะมีรูปร่างคล้ายถังเบียร์ ท่อนที่น่าสังเกตมากที่สุดคือท่อน mouthpiece ท่อนนี้มักทำด้วยอีโบไนท์หรือพลาสติก (มีลักษณะคล้าย “ปากเป็ด”) ลิ้นของปี่ชนิดนี้มีเพียงลิ้นเดียว ลิ้นจะแนบกับที่เป่า ด้านที่เปิดเป็นช่องลมและประกบติดกันด้วยปลอกรัด (Ligature) เวลาเป่าผู้เป่าจะเม้มริมฝีปาก ให้ลิ้นของปี่แตะอยู่บนริมฝีปากล่าง ส่วนริมฝีปากบนจะพักอยู่บนที่เป่าด้านบน
3.2 แซกโซโฟน (Saxophone) แซกโซโฟนเป็นเครื่องดนตรีพันธ์ผสมระหว่างเครื่องเครื่องลมไม้กับเครื่องทองเหลือง ซึ่งประดิษฐ์ขึ้น พ.ศ. 2383 (ค.ศ. 1840) ณ เมืองบรูซเซลส์ นครปารีส โดยนายอดอล์ฟ แซกซ์ (Adolphe Sax พ.ศ. 2357 - 2437) นักประดิษฐ์ชาวเบลเยี่ยม แซกโซโฟนเป็นเครื่องดนตรีลิ้นเดี่ยวเช่นเดียวกับปี่คลาริเน็ต ลำตัวเป็นท่อกลวง การจัดคีย์ก็คล้ายคลึงกับโอโบ แต่ Mouthpiece มีลักษณะคล้ายกับปี่คลาริเน็ต แม้ว่าลำตัวทำด้วยโลหะทองเหลือง แต่สุ้มเสียงจะกระเดียดมาทางเครื่องลมไม้มาก เมื่อแซกโซโฟนประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ๆ ก็นำไปใช้ในวงโยธวาทิตของฝรั่งเศส ต่อมาเมื่อดนตรีแจ๊ส (Jazz) ซึ่งแต่เดิมมี

คลาริเน็ตคอร์เน็ต และทรอมโบนเป็นเครื่องดนตรี ได้มีพัฒนาการขึ้นก็นำเอาแซกโซโฟนเข้าไปใช้ จนในที่สุดเครื่องดนตรีชนิดนี้ก็ขาดไม่ได้ในวงดนตรีแจ๊ส ตระกูลแซกโซโฟนเป็นตระกูลใหญ่เช่นเดียวกับตระกูลคลาริเน็ต ซึ่งมีขนาดต่างๆถึง 8 ขนาดด้วยกัน คือ
1. Soprano in E flat
2. Soprano in B flat
3. Alto in E flat
4. Tenor in B flat
5. Baritone in E flat
6. Bass in B flat
7. Contrabass in E flat
8. Subcontrabass in B flat
4. เครื่องลมทองเหลือง (Brass Instruments)
เครื่องดนตรีกลุ่มนี้ ประกอบด้วยเครื่องดนตรีที่ทำด้วยโลหะทองเหลือง เช่น ทรัมเป็ต ฮอร์น ยูโฟเนียม ทรอมโบน และทูบา เป็นต้น ส่วนใหญ่จะคล้ายคลึงกับเครื่องลมไม้ คือ มีท่อทำหน้าที่เป็นตัวขยายเสียง จะต่างกันที่เนื้อวัสดุเท่านั้น mouthpiece หรือกำพวดของแตรเป็นประเภท lip-reed (ของปี่เป็นประเภท Cane-reed) ดังนั้นการเม้มริมฝีปากบนและล่างจรดปากกำพวดจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะริมฝีปากจะทำหน้าที่เป็นตัวสั่นสะเทือน การสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นตรงกำพวดนี้จะถูกส่งเข้าไปในท่อหรือลำตัวของแตร ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวขยายเสียงดังกล่าวแล้ว กำพวดของแตรมีอยู่ด้วยกัน 2 ลักษณะ แต่ละลักษณะให้คุณสมบัติของเสียงแตกต่างกัน คือ
1) กำพวดตื้น มีรูปร่างคล้ายถ้วยหรือระฆัง (Cup-shaped or bell shaped mouthpiece) ให้เสียงที่สดใสแสดงถึงความห้าวหาญและมีอำนาจ แตรที่มีลักษณะกำพวดเช่นนี้ คือ ทรัมเป็ต ทรอมโบน ยูโฟเนียม และทูบา
2) กำพวดขอบลึก มีรูปร่างคล้ายกรวย (Cane shaped mouth piece) ให้เสียงที่นุ่มนวลรื่นหู แตรที่มีกำพวดลักษณะนี้ ได้แก่ เฟรนซ์ฮอร์น ส่วนแตรในปัจจุบันนี้จะมีกลไกในการบังคับเสียงโดยทำได้ด้วยการบังคับลิ้น (valves) ของลูกสูบ สามารถเปลี่ยนความยาวของท่อลมให้ลิ้นสั้นเข้าหรือยาวออก แต่ละลูกสูบยังมีขดท่อลมย่อย (coil) หรือท่อลมพิเศษ (Extrall loop of tubing) ช่วยให้ท่อลมมีความยาวมากขึ้น การคิดค้นระบบลิ้นบังคับสำหรับแตร ได้เริ่มขึ้นตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 แต่กว่าจะนำมาใช้จนได้รับความ

นิยมประมาณ พ.ศ. 2393 (ค.ศ. 1850) เป็นต้นมา ระบบกลไกที่ลิ้นบังคับ (Valve mechanism) มี 2 ระบบ คือ
(1) ระบบลิ้นปิด เปิด ด้วยการบังคับลูกสูบขึ้นหรือลง (piston valve)
(2) ระบบลิ้นปิด เปิด ด้วยการบังคับลิ้นหมุน (rotary valve) “ระบบลิ้นหมุน” เป็นที่นิยมมากในเยอรมัน ออสเตรีย และประเทศใยยุโรปกลาง ส่วนประเทศอื่นๆนิยม “ระบบลิ้นลูกสูบ” มากกว่า แตรอีกชนิดหนึ่ง
คือ “สไลด์ ทรอมโบน” (Slide Trombone) ใช้การเลื่อนท่อลมให้สั้นเข้า หรือยาวออก ในการเปลี่ยนระดับเสียงแทนระบบการใช้ลิ้นบังคับ
เครื่องดนตรีประเภทเครื่องทองเหลือง คือ
4.1 เฟรนซ์ฮอร์น (French Horn) ปัจจุบันเรียกว่า “ฮอร์น” (เป็นคำนิยามที่กำหนดโดย ว่าที่ร้อยตรีอวบ เหมรัชตะ ในการตรวจผลงานทางวิชาการ พ.ศ. 2535) ต้นกำเนิดของฮอร์นคือเขาสัตว์ ฮอร์นที่เก่าแก่ที่สุดคือ โชฟาร์ (Shofar) ของชาวฮิบรู ทำด้วยเขาแกะ ในสมัยโบราณฮอร์นที่ทำจากเขาสัตว์ ใช้เป็นเครื่องให้สัญญาณของชาวประมงที่ออกไปจับปลากลางทะเล และคนเลี้ยงสัตว์ในทุ่งหญ้า ฮอร์นที่ใช้ในวงดุริยางค์ปัจจุบันนี้เรียกชื่อเต็มว่า “เฟรนซ์ฮอร์น” (French Horn) ซึ่งชาวฝรั่งเศสไม่ได้เป็นผู้ตั้งชื่อนี้ หากเป็นชาวอังกฤษตั้งชื่อเพื่อเรียกแตรฮอร์นสำหรับใช้ในการล่าสัตว์ในราชสำนักฝรั่งเศส แตรชนิดนี้ได้นำเข้ามาใช้ในอังกฤษ เมื่อกลางคริสต์ศตวรรษที่ 17 และจุดประสงค์อีกอย่างหนึ่งเพื่อให้แตกต่างจาก “ฮอร์นเยอรมัน” (German Horn) ซึ่งใช้กันในเยอรมัน และยุโรปกลาง แตรฮอร์นโบราณสองชนิดนี้แตกต่างกันตรงที่ฮอร์นฝรั่งเศสมีเสียงโปร่งเบา กังวานแจ่มใส ส่วนฮอร์นเยอรมันมีเสียงห้าวหนักแน่นและค่อนข้างจะทึบ ปัจจุบันเฟรนซ์ฮอร์นที่ใช้ในวงดุริยางค์เป็นแตรระบบ “Horn in F” มีเสียงกว้าง 3.5คู่แปด (Octave) เสียงจริงที่ดังออกมาจะต่ำกว่าโน้ตที่บันทึกไว้คู่ 5 เพอเฟ็กท์ (perfect) แนวการบรรเลงของฮอร์นบันทึกด้วยกุญแจซอล (Treble Clef) ในสกอร์จะอยู่ต่ำกว่าเครื่องลมไม้แต่อยู่เหนือทรัมเป็ต รูปร่างของเฟรนซ์ฮอร์นเป็นท่อลมทองเหลืองขดเป็นวง ท่อลมนี้ปลายข้างหนึ่งที่ติดกำพวดรูปกรวยจะมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1/4 นิ้ว และจะค่อยๆโตขึ้นจนมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 นิ้ว ตรงส่วนที่จะผายออกเป็นปากลำโพงนั้นกว้างมากมีเส้นผ่าศูนย์กลางถึง 12 นิ้ว ท่อลมใหญ่นี้เมื่อวัดรวมกับท่อลมย่อยของลิ้นบังคับจะมีความยาวทั้งสิ้นถึง 17 ฟุต เฟรนซ์ฮอร์นนั้นเหมาะที่จะเล่นระดับเสียงต่ำและกลาง ส่วนระดับเสียงสูงๆนั้นทำได้ยาก สมัยก่อนผู้เป่าในวงดุริยางค์จึงต้องมี “ฮอร์น บีแฟล็ต” อีกตัวหนึ่งไว้เล่นเสียงสูงๆ หรือมีผู้เป่าอีกคนหนึ่งมาช่วยเล่น ฮอร์น บีแฟล็ต ครูชเป นักประดิษฐ์แตรแห่งแอร์ฟอร์ท เห็นความยุ่งยากในเรื่องนี้จึงได้พยายามนำเอาชุดท่อลมย่อยที่ต่อจากลิ้นบังคับของ ฮอร์น บีแฟล็ต มาติดเข้ากับฮอร์น เอฟ ลิ้นบังคับแต่เดิมมี 3 ลิ้น ได้เพิ่มลิ้นที่ 4 กดด้วยนิ้วหัวแม่มืออีกลิ้นหนึ่ง เพื่อเปลี่ยนแนวทางของลมที่เป่าเข้าสู่ชุดท่อลมย่อย เอฟ ที่มีอยู่เดิม หรือเข้าสู่ชุดท่อลมย่อย บีแฟล็ต ที่นำมาติดใหม่ เมื่อ

เป็นเช่นนี้ก็เหมือนมีฮอร์นสองชนิดอยู่ในตัวเดียว เฟรนซ์ฮอร์นชนิดนี้จึงเรียกว่า “Double horn in F & B flat”เป็นที่นิยมมากในบรรดานักเป่าฮอร์นทั้งหลาย ส่วนเฟรนซ์ฮอร์นที่มีชุดท่อลมย่อย เอฟ หรือ บีแฟล็ต อย่างใดอย่างหนึ่งแต่เพียงชุดเดียวเรียกว่า “Single horn in F” หรือ “Single horn in B-flat” เสียงของเฟรนซ์ฮอร์นเหมือนเสียงเป่าเขาสัตว์ คือมีลักษณะโปร่งเบา นุ่มนวล กังวาน เป็นเสียงที่ให้ความรู้สึกสง่าผ่าเผย และมีความงดงามที่สุดในบรรดาเครื่องเป่าทั้งหลาย ผู้เป่าจะเล่นให้แผดก้องแสดงอำนาจก็ได้ หรือจะเล่นให้อ่อนหวานละมุนละไมก็ได้ นักแต่งเพลงหลายคนใช้ฮอร์นบรรยายความงามของธรรมชาติ เช่น ท้องทะเลครามอันไพศาล และหุบเขาที่มีเสียงสะท้อนก้องกลับไปกลับมา เป็นต้น
4.2 ทรัมเป็ต (Trumpet) ในสมัยโบราณชาวยุโรปถือว่าแตรทรัมเป็ต เป็นของคนชั้นสูงผู้ที่จะมีสิทธิเป็นเจ้าของแตรชนิดนี้ได้ต้องเป็นพระเจ้าแผ่นดิน หรือเจ้านายชั้นสูง หรือไม่ก็นักรบชั้นแม่ทัพ สามัญชนไม่มีสิทธิที่จะเป็นเจ้าของแตรชนิดนี้ ทรัมเป็ตที่ใช้กันในสมัยก่อนเป็นแบบ Natural Trumpet คือ เป็นแตรที่มีแต่ท่อลมและกำพวดเท่านั้น ต่อมาเมื่อได้นำ “crook” (ท่อส่วนโค้ง) มาติดเหมือนฮอร์นจึงเรียกว่า “Natural Trumpet with crooks” แตรชนิดนี้ใช้ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17 จนมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ในสมัยของไฮเดิน โมสาร์ท และเบโธเฟน ได้มีผู้ติดท่อลมเลื่อนเข้าออกได้เพิ่มขึ้น ทำให้แตรมีเสียงมากขึ้นกว่าเดิม แตรชนิดนี้จึงมีชื่อเรียกชื่อใหม่ว่า “ทรัมเป็ตคลาสสิก” (Classic Trumpet) ในปี พ.ศ. 2331 (ค.ศ. 1788) นักประดิษฐ์แตรผู้หนึ่งชื่อ ชาล์ลส์ แคล้กเก็ทท์ ได้คิดทำลูกสูบติดขวางท่อลมขึงทรัมเป็ตเนเจอรัล เมื่อใช้นิ้วกดลูกสูบๆจะระบายลมออกมาบังคับเสียง สูง ต่ำ ทีละครึ่งเสียง ต่อมา ชดือเชล และ บลือเมล แห่งเมืองเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนีได้คิดระบบ “ลิ้นลูกสูบ” สำเร็จเมื่อ พ.ศ. 2358 (ค.ศ. 1815) จึงได้นำมาติดเข้ากับทรัมเป็ตทำให้มีสภาพรัดกุมขึ้น แตรนี้จึงเรียกว่า “ทรัมเป็ตติดลิ้นบังคับ” (Valve Trumpet) และใช้มาจนถึงทุกวันนี้ ทรัมเป็ตในปัจจุบันมีท่อลมรูปทรงกระบอกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3/8 นิ้ว แต่จะค่อยๆบานออกในระยะประมาณ 1.5 ฟุต จนเป็นปากลำโพงมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 นิ้ว เฉพาะท่อลมใหญ่วัดตั้งแต่กำพวดถึงปากลำโพงของ “ทรัมเป็ต C” จะมีความยาว 4 ฟุต ของ “ทรัมเป็ต บีแฟล็ต” 4 ฟุต 6.5 นิ้ว ท่อลมขดงอทบกัน 3 ทบ ตรงกลางลำตัวของแตรเป็นที่ติดลิ้นบังคับ “ระบบลิ้นลูกสูบ” 3 ลิ้น (3 valve) ผู้เป่าจะใช้นิ้วบังคับลูกสูบทั้งสามโดยการกดลงหรือผ่อนให้ขึ้นแนวตั้ง
กำพวดของทรัมเป็ตเป็นกำพวดรูปถ้วยหรือระฆัง ซึ่งทำให้แตรมีสุ้มเสียงที่สดใส บางครั้งผู้เป่าต้องการลดเสียงของแตรให้เบาลง และทำให้เกิดเสียงที่แปลกหูก็สามารถใช้ “มิวท์” (Mute) สวมเข้าไปในปากลำโพงของแตร ในการบรรเลงถ้ากำหนดให้แตรใช้มิวท์จะบันทึกว่า “Con Sordino” ซึ่งหมายความว่า “With mute” (ใช้มิวท์)
4.3 แตรคอร์เน็ต (Cornet) คอร์เน็ต หรือเรียกชื่อเต็มว่า “Cornet a pistons” กำเนิดขึ้นที่ประเทศฝรั่งเศสเมื่อปี พ.ศ. 2370 (ค.ศ. 1827) นักดนตรีมักเรียกชื่อแตรนี้ว่า “แตรลูกผสม” เพราะต้นกำเนิดของแตรนี้คือ แตรฮอร์นชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “ฮอร์นไปรษณีย์” (Post Horn) ซึ่งได้รับการแก้ไขดัด

แปลงจนมีรูปร่างคล้ายทรัมเป็ต แต่ลำตัวสั้นกว่า 1/3 ของทรัมเป็ต แต่ถ้าวัดความยาวของท่อลม คอร์เน็ตจะมีความยาวมากกว่าทรัมเป็ต สุ้มเสียงของคอร์เน็ตไม่แจ่มใสเร้าใจเหมือนแตรทรัมเป็ต และก็ไม่นุ่มนวลโปร่งเบาเหมือนแตรฮอร์น หรือกล่าวได้ว่าเป็นกึ่งระหว่างทรัมเป็ตกับฮอร์น แตรนี้เคยได้รับความนิยมมากตอนกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 แต่พอล่วงเลยมาถึงประมาณ พ.ศ. 2433 (ค.ศ. 1890) ก็ค่อยๆหมดความสำคัญลง เมื่อทรัมเป็ตติดลิ้นบังคับปรับปรุงจนดี จึงได้เข้ามามีบทบาทแทนที่ ข้อดีของแตรนี้ คือเป็นแตรที่เล่นง่าย ในปัจจุบันจึงเป็นเครื่องดนตรีที่สำคัญในวงโยธวาทิต แตรวง รอสซินี (Rossini) เป็นคนแรกที่นำคอร์เน็ตมาใช้ในอุปรากรเรื่อง “William Tell” ฯลฯ
4.4 ทรอมโบน (Trombone) ทรอมโบน เป็นแตรที่มีท่อลมสวมซ้อนเลื่อนเข้า ออกได้ (telescopic slide) ซึ่งใช้มาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 15 ในพิธีศาสนาและพิธียุรยาตรร่วมกับแตรโบราณชนิดหนึ่งมีชื่อว่า “คอร์เนทท์”(cornett แตรนี้ไม่ใช่ Cornet ที่กล่าวมาแล้ว) ซึ่งมีเสียงสูงกว่า เมื่อทรอมโบนได้รับการแก้ไขปรับปรุงดีขึ้นก็ได้นำมาใช้ในการแสดงอุปรากรตอนปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 โมสาร์ท (Mozart) ใช้แตรนี้ในอุปรากรเรื่อง “Don Giovanni” เบโธเฟนใช้ทรอมโบนครั้งแรกในท่อนที่ 4 ของเพลง “ซิมโฟนี หมายเลข 5” เมนเดลโชห์น (Mendelssohn) ถือว่าแตรนี้เป็นเครื่องดนตรีแสดงความศักดิ์สิทธิ์และได้นำมาใช้ในเพลงศาสนา เป็นที่น่าสังเกตว่านักแต่งเพลงส่วนมากในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ไม่ค่อยใช้ทรอมโบนเล่นเดี่ยว และบรรเลงในวงแชมเบอร์มิวสิค (Chamber Music) ในปัจจุบันทรอมโบนยังเป็นเครื่องดนตรีในวงโยธวาทิตและวงแจ๊ส รูปร่างของทรอมโบนประกอบด้วยท่อลมโลหะขนาดยาวงอโค้ง 2 ครั้ง สองในสามของความยาวของท่อลมนี้ คือตั้งแต่กำพวดจะเป็นท่อทรงกระบอกส่วนความยาวที่เหลือนั้นจะค่อยๆบานออกเป็นปากลำโพง กำพวดเป็นกำพวดรูปถ้วยหรือระฆังเช่นเดียวกับทรัมเป็ต ตรงส่วนที่ใกล้กำพวดจะมีท่อลมรูปตัว “U” ซึ่งเลื่อน เข้า ออก ได้ มาสอดเข้ากับท่อลมใหญ่ เมื่อท่อลมนี้เลื่อนออกให้ยาวที่สุด แตรจะมีความยาวประมาณ 9 ฟุต แต่ถ้าเลื่อนท่อลมเข้ามาให้สั้นที่สุดตัวแตรจะมีความยาวประมาณ 45 นิ้ว การเลื่อนท่อลมให้สั้นเข้าหรือยาวออกไปจะเป็นไปตามกฎของ “อุโฆษวิทยา” (Acoustic) ในหัวข้อที่ว่า ระดับของเสียงต่างๆจะขึ้นอยู่กับความยาวของท่อลม ที่มีอากาศภายในสั่นสะเทือน ถ้าท่อลมยาวก็จะได้ระดับเสียงต่ำ ถ้าท่อลมสั้นก็จะได้ระดับเสียงสูง
4.5 เบสทรอมโบน (Bass Trombone) เบสทรอมโบน เป็นแตรที่มีเสียงต่ำกว่าเทเนอร์ทรอมโบน โดยปกติในวงดุริยางค์ใช้ “Bass Trombone in F” ซึ่งระดับเสียงต่ำกว่า “Tenor Trombone B-flat” คู่ 4 เพอเฟ็คท์ ในอังกฤษนิยมใช้ “Bass Trombone in G” แต่ในเยอรมันนิยมใช้ “Bass Trombone in E-flat” รูปร่างของเบสทรอมโบนคล้ายกับเทเนอร์ทรอมโบน แต่มีความแตกต่างกันเล็กน้อยตรงที่เบสทรอมโบนมีท่อลมยาวกว่า และมีด้ามพิเศษสำหรับมือขวาเพื่อใช้เลื่อนท่อลมเข้าออกช่วยให้ผู้เป่าสะดวก ไม่ต้องเหยียดแขนเกินไปในการเลื่อนท่อลมที่ยาวมาก ปัจจุบันในวงดุริยางค์นิยมใช้ทรอมโบนอีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “เทเนอร์ เบสทรอมโบน” (Tenor Bass Trombone) แทนเบสทรอมโบน แตรชนิดใหม่นี้ก็คือ “เทเนอร์ทรอมโบน บี
แฟล็ต” ที่นำเอา “F attachment” ซึ่งเป็นท่อลมย่อยพิเศษมาติด เพื่อช่วยเพิ่มความยาวของท่อลมใหญ่ทำให้เป่าเสียงต่ำลงไปอีกคู่ 4 และยังติดลิ้นบังคับ “ระบบลิ้นหมุน” สำหรับนิ้วหัวแม่มือซ้ายไว้คอยเปลี่ยนแนวทางของลม ที่เป่าให้เข้าสู่ท่อลมย่อยเหมือนกับแตรเฟรนซ์ฮอร์น หลังจากอดอล์ฟ แซกซ์ ได้ประดิษฐ์แซกโซโฟนสำเร็จ เมื่อปี พ.ศ. 2383 (ค.ศ. 1840) อีกประมาณ 5 ปี คือ พ.ศ. 2388 (ค.ศ. 1845) เขาก็ได้ประดิษฐ์อีกตระกูลหนึ่งที่เรียกว่า “แซ็กฮอร์น” (saxhorn) ขึ้น แตรตระกูลนี้มีหลายชนิดหลายขนาด เช่น
บาริโทน (Baritone in B-flat หรือ C)
ยูโฟเนียม (Euphonium in B-flat หรือ C)
บอมบาร์ดอน (Bombardon in E-flat หรือ EE-flat)
ฟลูเกลฮอร์น (Flugelhorn in B-flat)
และทูบา (Tuba)
4.6 ทูบา (Tuba) ทูบา หรือบางครั้งเรียกเบสทูบา (Bass tuba) เป็นแตรขนาดใหญ่ เวลาเป่าผู้เป่าจะต้องอุ้มแตรนี้และให้ลำโพงหงายขึ้นข้างบน ทูบาที่ใช้มีขนาดต่างๆ กัน แต่ละขนาดมีชื่อตามความยาวของท่อลมและบันไดเสียงประจำ เช่น “ทูบาขนาด 9 ฟุต เป็นแบบ B-flat” “ทูบา 12 ฟุต เป็นแบบ F” “ทูบา 14 ฟุต เป็นแบบ E flat” “ทูบา 16 ฟุต เป็นแบบ C” “ทูบา 18 ฟุต เป็นแบบ B flat” แต่ที่นิยมใช้กันมากที่สุดคือ “ทูบา 12 ฟุต F” ซึ่งมีช่วงเสียงกว้าง 3 คู่แปดเสียงเศษ ท่อลมของทูบามีสัณฐานทรงกรวยเหมือนแตรเฟรนซ์ฮอร์น ตรงกลางลำตัวติดลิ้นบังคับเป็น“ระบบลิ้นลูกสูบ” 4 ลิ้น ส่วนกำพวดนั้นใช้ชนิดรูปถ้วยหรือระฆัง เช่นเดียวกับทรัมเป็ตและทรอมโบน เสียงของทูบาทุ้มลึก นุ่มนวล ไม่ค่อยแตกพร่า เสียงต่ำมากที่เรียกว่า “pedal tones” นั้นมีคุณสมบัติเฉพาะตัว ปกติแตรทูบาทำหน้าที่ประสานเสียงให้กับกลุ่มแตรด้วยกัน โดยเล่นโน้ตตัวต่ำสุดของคอร์ดเหมือนดับเบิลเบส ทำหน้าที่ให้แก่เครื่องสายที่มีเสียงสูงกว่า
5. เครื่องกระทบหรือเครื่องประกอบจังหวะ (Percussion Instruments)
เครื่องดนตรีกลุ่มนี้ให้เสียงได้ด้วยการทำให้แผ่นหนัง (membrane) ที่ขึงตึง หรือพวกวัตถุที่เป็นของแข็ง (Soild metarials) เช่น โลหะ หรือไม้ เกิดการสั่นสะเทือนด้วยการ ตี เคาะ เขย่า หรือกระทบกัน เครื่องดนตรีเหล่านี้บางชนิดมีตัวขยายเสียง (Resonator) แต่บางชนิดก็ไม่มี เครื่องดนตรีกลุ่มนี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
5.1 เครื่องดนตรีที่ทำทำนองได้ (Meiodic Percussion) หรือมีระดับเสียงแน่นอน (Instruments of Definite Pitches) ได้แก่ กลองทิมปานี (Timpani) กลอคเคิ้ลสปีล (Glockenspiel) เซเลสต้า (Celesta) ไซโลโฟน (Xylophone) เป็นต้น
5.2 เครื่องดนตรีที่มีระดับเสียงไม่แน่นอน (Instruments of indefinite Pitches) ได้แก่ กลองเล็ก กลองเทเนอร์ กลองใหญ่ ฉาบ ฆ้อง เหล็กสามเหลี่ยม ในที่นี้จะนำมากล่าวแต่เฉพาะที่ใช้ในวงโยธวาทิต เท่านั้น คือ
1) กลองเล็ก (Snare Drum or Side Drum) กลองชนิดนี้เป็นที่รู้จักคุ้นเคยกันดี จะเห็นบ่อยๆในการเดินแถวของทหาร ลูกเสือ และนักเรียน กลองชนิดนี้มีหน้ากลองสองหน้าขนาดมาตรฐานมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 14 -15 นิ้ว และสูง 10 - 12 นิ้ว ผู้เล่นจะใช้ไม้ตีกลอง 2 อันตีหน้ากลองด้านบน ส่วนหน้ากลองด้านล่างนั้นจะมี “Snare” ที่ทำด้วยลวดขึงตึงพาดทาบกับหน้ากลอง ขณะที่หน้ากลองด้านบนถูกตี ความสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นจะทำให้ “Snare” กับหนังกลองกระทบกันเกิดเสียงซ่า หรือ แทร้กๆ (rattling effect) ผู้เล่นกลองชนิดนี้มักจะตีให้เกิดเสียงรัวที่เรียกว่า “Daddy - mammy” โดยใช้ไม้ทั้งสองตีสลับกันอย่างรวดเร็ว แฮนเดลได้นำกลองชนิดนี้มาใช้เป็นครั้งแรกใน “Royal Fireworks Music เมื่อปี พ.ศ. 2292 (ค.ศ. 1749)”
2) กลองเทเนอร์ (Tenor Drum) กลองเทเนอร์มีขนาดใหญ่กว่าและสูงกว่ากลองเล็ก กลองนี้ไม่ติด Snare กลุ้ค (Gluck)เป็นผู้นำมาใช้เป็นครั้งแรกในอุปรากรเรื่อง “Iphigenie en Tauride” เมื่อปี พ.ศ. 2322 (ค.ศ. 1779) กลองชนิดนี้และขลุ่ยไฟฟ์ เมื่อนำมาใช้ร่วมกันบรรเลงนำแถวทหาร ชาวอังกฤษเรียกว่า “Drum and fifes”
3) กลองใหญ่ (Bass drum) กลองใหญ่มีเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 24 - 36 นิ้ว กลองชนิดที่ใช้ในวงดุริยางค์ส่วนมากจะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 30 นิ้ว เป็นเกณฑ์ และหน้ากลองทั้งสองห่างกันประมาณ 16 นิ้ว กลองชนิดนี้ไม่ติด Snare เช่นกัน หน้ากลองทั้งสองขึงรั้งให้ตึง ด้วยการขันสกรูที่อยู่รอบๆขอบกลอง เวลาจะเล่นให้ตั้งกลองบนขาหยั่ง หรือใช้สะพายให้หน้ากลองทั้งสองอยู่ในแนวดิ่ง ลักษณะของไม้ตีมีด้ามเป็นไม้ ตอนปลายจะเป็นปุ่มขนาดใหญ่ที่ทำด้วยวัสดุนุ่มๆ เช่น สักหลาด แต่บางครั้งเมื่อต้องการสุ้มเสียงพิเศษต่างออกไปจะใช้ไม้ตีกลองเล็ก หรือไม้อีกชนิดหนึ่งที่ปลายเป็นแปรงลวดหรือไม่ก็แขนงไม้เบิช (birch) ขนาดไม้เรียวเล็กๆ มัดเป็นกำเรียกว่า “Rulhe” (ในภาษาเยอรมัน) โมสาร์ท เป็นผู้นำกลองนี้มาใช้เป็นครั้งแรกในอุปรากรเรื่อง “Entfuhrung aus dem Serail”
4) ฉาบ (Cymbals) ฉาบเป็นเครื่องดนตรีดั้งเดิมของพวกตุรกี รูปร่างเป็นจานทองเหลืองบางๆขนาดเท่ากัน 2 อัน มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 10 - 24 นิ้ว ปกติวงโยธวาทิตใช้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 14 - 16 นิ้ว ตรงกลางจานด้านนอกมีที่จับทำด้วยสายหนัง ฉาบเป็นเครื่องดนตรีที่ส่งเสียงดังอึกทึกที่สุดในวงโยธวาทิต เวลาเล่นใช้ตีกระทบเข้า
หากัน หรือถ้าใช้เพียงข้างเดียว ก็จะใช้ไม้กลองตีหรือเคาะ กลุ๊ค (Gluck) เป็นผู้นำมาใช้เป็นครั้งแรกในอุปรากรเรื่อง“Iphigenie en Tauride” เมื่อ พ.ศ. 2322 (ค.ศ. 1779)
เครื่องดนตรีที่นำมากล่าวข้างต้นแล้วนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นเครื่องดนตรีที่นิยมใช้กันในวงโยธวาทิต ในปัจจุบันวงโยธวาทิตกำลังเป็นที่แพร่หลายอย่างมาก ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ การพัฒนาได้เพิ่มมากขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถบรรเลงได้ในหลายรูปแบบ มีทั้งการเดินแถว แปรแถว การนั่งบรรเลง ในบางครั้งก็จะนำเครื่องดนตรีแปลกๆมาบรรเลงร่วม เพื่อให้บทเพลงมีความแปลกใหม่ และเพื่อความเหมาะสมกับบทเพลงที่ใช้บรรเลง
มาตรฐานของวงโยธวาทิตจากอดีตสู่ปัจจุบัน
จากอดีตวงโยธวาทิตได้มีการพัฒนาเรื่อยมาจนถึงเมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 ตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 จึงได้เริ่มมีลักษณะเฉพาะตัว และเริ่มเป็นมาตรฐานขึ้นในสมัยของพระเจ้าหลุยส์ ที่ 14 ระหว่างคริสตศักราช 1673 - 1715 โดยพระองค์เองทรงเป็นทั้งนักรบ และนักเพลง ทรงจัดตั้งวงดนตรีและทรงประพันธ์บทเพลงด้วยพระองค์เอง ด้านวงดนตรีประกอบด้วย
- โอบัว (Huatbois) รวม 4 ขนาด
- กลอง
อีกพระองค์หนึ่งคือ พระเจ้าเฟรเดอริคมหาราช ระหว่างคริสต์ศักราช 1740 - 1786 โดยเมื่อ ค.ศ. 1763 ได้ทรงปรับปรุงวงดนตรี โดยประกอบด้วย
- โอบัว 2 คัน
- คลาริเน็ต 2 คัน
- ฮอร์น 2 คัน
- บาสซูน 2 คัน
- กลอง
โอโบ ในสมัยศตวรรษที่ 17 และ 18 มีเสียงต่ำกว่าโอโบ ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้มาก ในยุคเดียวกันนี้ วงดนตรีทหารปืนใหญ่ของอังกฤษ “Royal Regiment of Artillery” เมื่อ ค.ศ.1762 มีการจัดการวงดนตรี ดังนี้
- ทรัมเป็ต 2 คัน
- ฮอร์น 2 คัน
- คลาริเน็ต 2 คัน
- บาสซูน 2 คัน
นักดนตรีผู้ปฏิบัติหน้าที่บรรเลงเครื่องดนตรีเหล่านี้จะต้องมีความสามารถปฏิบัติการบรรเลงเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสาย (Stringed Instruments) ได้อีกอย่างน้อย 1 ชนิด ด้วยเงื่อนไขนี้ปรากฏใช้กับวงดนตรีอื่นๆในประเทศอังกฤษมาจนถึงปัจจุบันนี้ แต่ก็คลายความเข้มงวดไปจากเดิม
ความคลั่งไคล้ในเครื่องดนตรีประเภทเครื่องกระทบและอึกทึกครึกโครม เช่น กลองขนาดต่างๆ เครื่องดนตรีที่มีเสียงเล็กแหลมบาดหู เช่น ไฟฟ์ ได้เป็นที่นิยมและระบาดแพร่หลายออกไปอย่างรวดเร็วทั่วทวีปยุโรป เมื่อปลายศตวรรษที่ 18 ทั้งตื่นเต้นที่จะได้เห็นทาสนิโกรแต่งกายด้วยสีสันฉูดฉาด ตามลักษณะเผ่าเดิมทำหน้าที่กลองในวงดนตรี แม้ปัจจุบันนี้คนตีกลองในวงดุริยางค์ของกองทัพบก อังกฤษบางวง แม้ผู้บรรเลงจะเป็นผิวขาว ก็ยังคลุมหนังเสือดาวทับบนเครื่องแบบพิเศษกว่านักดนตรีคนอื่นๆ ในประเทศฝรั่งเศสในยุคของนโปเลียน เมื่อ ค.ศ. 1789 เป็นต้นมา เมื่อมีงานเทศกาลเฉลิมฉลองที่สำคัญของชาติ วงโยธวาทิตจะมีบทบาทหน้าที่สำคัญของงาน บทเพลงต่างๆของวงโยธวาทิตจึงเพิ่มพูนมากยิ่งขึ้นตามลำดับ โดยฝีมือของนักประพันธ์เพลงที่มีชื่อเสียงหลายๆท่าน
วงโยธวาทิตประจำกองพันทหารราบของนโปเลียน ประกอบด้วย
- 1 Piccolo - 1 Clarinet เสียงสูง
- 16 Clarinets ธรรมดา - 4 Bassoons
- 2 Serpents - 2 Trumpets
- Bass Trumpet - 4 Horns
- 3 Trombones - 2 Snares
- Bass Drum - Triangle
- 2 pair Cymbals - 2 Turkish crescents
มีจำนวนผู้บรรเลงทั้งสิ้น 42 คน
วงโยธวาทิตสมัยของนโปเลียน ได้รับการยอมรับในสมัยนั้นว่าเป็นวงที่ทันสมัยที่สุดทั้งเป็นแบบฉบับที่ได้รับการถ่ายทอดออกไปอย่างกว้างขวาง กลางศตวรรษที่ 19 เครื่องดนตรีประเภทเครื่องลมไม้ ได้รับการปรับปรุงทางเทคนิค โดย Adolf Sax และนักประดิษฐ์อื่นๆอีกหลายท่าน จนมีคุณภาพสูงขึ้นเป็นอันมาก เป็นที่ยอมรับและนำเข้าบรรจุในวงโยธวาทิต
การจัดเครื่องดนตรีชนิดต่างๆของวงโยธวาทิตนั้นไม่มีข้อยุติที่แน่นอน แต่ละประเทศ แต่ละท้องถิ่นล้วนมีเหตุผลในการจัดเป็นของตนเอง ในด้านจำนวนของเครื่องดนตรีชนิดเครื่องลมไม้ คลาริเน็ต ดูจะเป็นส่วนที่เกิดความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเครื่องดนตรีชนิดนี้มีความจำเป็นและสำคัญต่อวงโยธวาทิต เช่นเดียวกันกับไวโอลินที่มีความสำคัญต่อวงออร์เครสตราฉันนั้น
วงโยธวาทิตของกองทัพบกอังกฤษ
มีหลักนิยมในการจัด ดังนี้
ประเภทเครื่องลมไม้
- Piccolo, Flute - 12 - 14 Bb Clarinets
- Eb Clarinet - 2 Bass Clarinets
- Alto Saxophone - Tenor Saxophone
- 2 Bassoons

ประเภทเครื่องทองเหลือง
- 4 Horns - 2 Baritones
- 2 Euphoniums - 4 Bombardons
- 4 Cornets - 2 Trumpets
- 3 Trombones
ประเภทเครื่องกระทบ
- Drums ผู้ปฏิบัติ 2 นาย ประกอบด้วยเครื่องกระทบชนิดต่างๆ ยิ่งกว่านี้ยังเพิ่ม ซอเบส 2 คัน
ปัจจุบันนี้มีผู้กล่าวว่า การจัดการวงโยธวาทิตของกองทัพบกอังกฤษ ถือเป็นพื้นฐานในการจัดรูปแบบของวงโยธวาทิตในปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นการเริ่มยุคใหม่แห่งวงการวงโยธวาทิต แต่การจัดการต่างๆก็ยังไม่เป็นที่สิ้นสุด ตราบใดที่คนในโลกยังหาเทคโนโลยีใหม่ๆมาพัฒนาด้านต่างๆ การดนตรีก็ยังคงพัฒนาไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
วงโยธวาทิตของสหรัฐอเมริกา
แบ่งการจัดวงออกเป็น 2 ขนาด คือ
Full Band ประกอบด้วยเครื่องดนตรีดังนี้ คือ
- Db Piccolo - C Flute (2)
- Eb Clarinet - 1st. Bb Clarinet (2)
- 2nd. Bb Clarinet (2) - 3rd. Bb Clarinet (2)
- Alto Clarinet - Bass Clarinet
- Oboe - 1st. Alto Saxophone
- 2nd. Alto Saxophone - Tenor Saxophone
- Baritone Saxophone - Bb Cornet 2/2/2
- Eb Horn. 1st & 2nd. (2) - Eb Horn. 3rd & 4th. (2)
- F Horn. 1st & 2nd. (2) - F horn. 3rd & 4th. (2)
- Trombone. 1st ,2nd, 3rd. - Baritone (Treble clef)
- Baritone (Euphonium) - Basses (3)
- Drums (2) - Timpani
Symphonic Band ประกอบด้วยเครื่องดนตรีดังนี้ คือ
- Db Piccolo - 1st. C Flute (2)
- 2nd C Flute - Eb Clarinet
- Bb Clarinet. 4/4/4 - Alto Clarinet (2)
- Bass Clarinet (2) - 1st. & 2nd. Oboe (2)
- Bassoon (2) - Alto Saxophone 1/1
- Baritone Saxophone - Bb Cornet 3/3/3
- Eb Horn 1/1/1/1 - F Horn 1/1/1/1
- Trombone 1/1/1 - Baritone
- Euphonium - Basses (6)
- Drums (3) - Timpani
วงโยธวาทิตของกองทัพอากาศอเมริกันได้เพิ่มเติมเชลโล 6 คัน และซอเบส 4 คัน
การใช้เครื่องดนตรีทดแทนเมื่อนำเพลงของวงดุริยางค์มาบรรเลงในวงโยธวาทิต
วงโยธวาทิต ใช้เครื่องดนตรีต่างๆดังที่ได้กล่าวมาแล้วในเบื้องต้น ยกเว้นแต่เครื่องดนตรีประเภทเครื่องสาย ที่ไม่มีร่วมบรรเลงในวงโยธวาทิต มีแต่เฉพาะเครื่องเป่าล้วนๆ โดยเหตุที่วงโยธวาทิตต้องขาดกำลังสำคัญๆของเครื่องดนตรีในวงดุริยางค์ และในบางครั้งวงโยธวาทิตต้องการนำเอาบทเพลงของวงดุริยางค์มาบรรเลง จึงต้องใช้เครื่องดนตรีทดแทน ในการนำเพลงที่มีเครื่องสายเป็นหลักมาบรรเลง ทำให้วงโยธวาทิตต้องทบทวีคูณเครื่องดนตรีประเภทเครื่องเป่าลมไม้เป็นจำนวนมาก เช่น Bb Clarinet เป็นต้น ทั้งยังต้องมีปี่พิเศษที่สร้างขึ้นมาเพื่อบรรเลงในวงโยธวาทิตโดยเฉพาะ คือ Eb Clarinet เพื่อช่วยปฏิบัติบทเพลงในหน้าที่ของซอไวโอลินแนวที่ 1 ที่ใช้เสียงในระดับสูงๆ ซึ่ง Eb Clarinet ไม่สามารถจะเป่าเสียงได้ถึง นอกจากนั้นแล้วยังต้องมีการจัดสร้างแตรเบสในระดับต่ำ เช่น เบส EEb และ BBb เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพื่อทดแทนเสียงในระดับต่ำๆของซอเบส
การใช้เครื่องดนตรีทดแทน ประกอบด้วย
1. ปี่ Eb และ Bb Clarinet แนวที่ 1 ใช้แทนซอไวโอลินแนวที่ 1
2. ปี่ Bb แนวที่ 2 และแนวที่ 3 ใช้แทนซอไวโอลินแนวที่ 2 และซอวิโอลา
3. แตร Euphonium พร้อมด้วย Alto Saxophone และ Tenor Saxophone ใช้แทนซอเชลโล
4. แตรเบสทูบา EEb และ BBb ใช้แทนซอเบส
ความเปลี่ยนแปลงของเครื่องดนตรีในวงโยธวาทิต
เครื่องดนตรีประเภทเครื่องทองเหลืองที่มีความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญคือ Bb Baritone เมื่อปี พ.ศ. 2464 ได้มีการสัมมนาอย่างเป็นทางการระดับ Director of Music จากวงดุริยางค์กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศของประเทศอังกฤษ ได้มีมติว่าให้เลิกใช้ Bb Baritone ในวงโยธวาทิต โดยที่เครื่องดนตรีชนิดนี้มีคุณสมบัติทางเสียงสู้ Euphonium ไม่ได้ ซ้ำยังมีคุณภาพเสียงต่ำกว่าอีกด้วย และที่ประชุมตกลงให้ใช้ Tenor Saxophone เพิ่มขึ้นเพื่อทดแทน แต่วงดนตรีประเภท Brass Band นั้นยังคงใช้อยู่เป็นประจำ การนำเหตุผลและหลักฐานเกี่ยวกับเครื่องดนตรีชนิดนี้มาบรรจุไว้ เพื่อให้ได้ทราบและพิจารณาในการวางแผนเกี่ยวกับการจัดการวงโยธวาทิตต่อไปในอนาคต
มาตรฐานของวงโยธวาทิตในปัจจุบันนับว่าเป็นสิ่งที่กล่าวได้ยากในเรื่องของการบริหารจัดการ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความพร้อมของสถานศึกษานั้นๆ ที่จะสร้างมาตรฐานได้ดีเพียงใด ปัญหาสำคัญที่สุดคือด้านเงินทุนที่จะใช้ในการดำเนินงาน และความพร้อมของบุคลากรทั้งในด้านจำนวน และความรอบรู้ในการบริหารเรื่องของวงโยธวาทิต แต่ทั้งนี้จะไม่ขอกล่าวรายละเอียดในเรื่องดังกล่าว แต่จะเสนอแนะในเรื่องที่ผู้รับผิดชอบจะสามารถเลือกวิธีใดวิธีหนึ่ง เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการจัดกิจกรรมวงโยธวาทิตในสถานศึกษาต่อไป
กิจกรรมวงโยธวาทิตในปัจจุบันได้มีพัฒนาเรื่อยมา ซึ่งเริ่มมีความรุ่งเรืองและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากตั้งแต่สมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน ซึ่งในแต่ละยุคจะมีเอกลักษณ์ประจำของแต่ละยุค โดยเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ซึ่งได้กล่าวมาแล้วในเบื้องต้น
วงโยธวาทิตที่ถือได้ว่าเป็นต้นแบบของวงโยธวาทิตในปัจจุบันน่า ได้แก่วงโยธวาทิตของประเทศอังกฤษ ซึ่งมีความสมบูรณ์ในองค์ประกอบอย่างครบถ้วน ทั้งในด้านเครื่องดนตรีและจำนวนผู้บรรเลง โดยใช้จำนวนเครื่องดนตรี 56 ชิ้น มีการกำหนดจำนวนผู้บรรเลง และเครื่องดนตรีดังนี้ คือ
วงโยธวาทิตของประเทศอังกฤษ

เครื่องดนตรี จำนวนผู้บรรเลง
Piccolo 1
Flut
2
Oboe 2
Eb Clarinet 2
Solo Bb Clarinet
1st. Bb Clarinet
2nd. Bb Clarinet 16
3rd. Bb Clarinet
Bassoon 2
Alto Saxophone 1
Tenor Saxophone 1
1st. F Horn or Eb Horn 1
2nd. F Horn or Eb Horn 1
3rd. F Horn or Eb Horn 1
4th. F Horn or Eb Horn 1
1st. Bb Cornet 2
2nd. Bb Cornet 2
1st. Bb Trumpet 1
2nd. Bb Trumpet 1
1st. Tenor Trombone 1
2nd. Tenor Trombone 1
Euphonium 2
Eb Bass 2
Bb Bass 2
Percussion 10

มาตรฐานวงโยธวาทิตของประเทศไทย
จากข้อมูลของกองดุริยางค์ทหารเรือ

อัตรากำลัง เครื่องดนตรี
100 80 60 40 30 15
1st. & 2nd. Flute 4 4 2 1 1 1
Piccolo 1 1 1 1 - -
Oboe (Cor Anglais) 4 3 2 1 1 -
1st. & 2nd. Eb Clarinet 4 2 2 1 1 1
Solo Bb Clarinet 10 6 6 4 2 1
1st. Bb Clarinet 6 4 4 2 2 -
2nd. Bb Clarinet 4 4 3 2 2 1
3rd. Bb Clarinet 4 4 3 1 21 -
4th. or Bb Bass Clarinet 2 2 2 2 - -
Bassoon 4 2 4 2 1 1
Alto Saxophone 2 2 1 1 1 -
Tenor Saxophone 2 2 1 1 1 -
Baritone Saxophone 2 2 1 - - -
Bass Saxophone 2 1 1 - - -
Tenor Cor 1st. & 2nd. 2 2 2 2 2 -
Tenor Cor 3rd. & 4th. 2 2 2 2 - -
French Horn 1st. & 2nd. 2 2 - - - -
French Horn 3rd & 4th. 2 2 - - - -
Solo Bb Cornet 2 2 2 1 1 -
1st. Bb Cornet 2 2 1 1 1 1
2nd. Bb Cornet 2 2 1 1 1 1
1st. Bb Trumpet 2 1 1 1 - -
2nd. B Trumpet 2 1 1 1 - -



อัตรากำลัง เครื่องดนตรี
100 80 60 40 30 15
1st. Tenor Trombone 2 2 1 1 1 -
2nd. Tenor Trombone 2 2 1 1 1 -
Bass Trombone 2 2 1 1 1 -
Euphonium 6 4 3 2 2 1
Basses 10 6 5 4 3 2
String Bass 2 1 - - - -
Drums & Timpani 4 4 4 3 2 1
Harp 1 1 - - - -





จากข้อมูลของกองดุริยางค์ทหารบก

เครื่องดนตรี อัตรากำลัง
20 25 30 35 40 45 50
Piccolo 1 1 1 1 1 1 1
Flute - - - - - - -
Eb Clarinet 1 1 1 1 1 3 2
Oboe 1 1 1 1 1 2 2
Solo Bb Clarinet 2 2 3 4 4 4 6
1st. Bb Clarinet 1 1 2 2 2 3 3
2nd. Bb Clarinet 1 2 2 2 3 3 4
3rd. Bb Clarinet 1 2 2 2 3 3 4
Bb Soprano Saxophone - - - - - - -
Alto Saxophone 1 1 1 1 1 1 1
Tenor Saxophone - 1 1 1 1 1 1
Baritone Saxophone - - - - - - -



เครื่องดนตรี อัตรากำลัง
20 25 30 35 40 45 50
Bassoon 1 1 2 2 2 2 2
Horn 1st. & 2nd. 2 2 2 2 2 2 2
Horn 3rd. & 4th. - - - 2 2 2 2
1st. Bb Cornet 2 2 2 3 4 4 4
2nd. Bb Cornet 1 1 1 2 2 2 2
Bb Trumpet - - - - - 2 2
1st. Tenor Trombone 1 1 1 1 1 1 1
2nd. Tenor Trombone 1 1 1 1 1 1 1
Bass 1 1 1 1 1 1 1
Euphonium 1 1 1 1 1 1 1
Eb Bombardon 1 1 2 2 2 2 3
Bb Bombardon 1 1 1 1 2 2 2
Side Drum and Effect - 1 1 1 1 1 1
Bass Drum Timpani 1 1 1 1 1 1 1
Cymbals 1 1 1 1 1 1 1

ส่วนการจัดวงโยธวาทิตแบบนำแถวหรือกองเกียรติยศ จัดกันได้หลายแบบ ถ้าเป็นแบบของอเมริกันจะเอาเครื่องทรัมเป็ตนำหน้า และมีแตรเบสอยู่ท้าย ผู้ควบคุมวงจะเดินนำแถวต่อจากคทากร (Drum Major) เวลาเดินจะมีการโยกตัวจากซ้ายมาขวาและจากขวามาซ้าย แต่การจัดวงโยธวาทิตของอังกฤษ จะใช้เครื่องทรอมโบนเป็นแถวหน้าและแตรเบสจะอยู่แถวที่สองหรือแถวที่สาม (อเมริกัน แตรเบสจะใช้เป็นแตรซูซาโฟน ซึ่งใช้พาดบ่า ส่วนอังกฤษจะใช้แตรเบสแบบอุ้ม คือแตร Tuba EEb และ BBb เครื่องจังหวะจะอยู่กลาง เพื่อให้ได้ยินจังหวะทั่วกัน ส่วนเครื่องลมไม้จะอยู่หลัง ทั้งนี้มีเทคนิคว่าที่ให้ทรอมโบนอยู่หน้าเพราะเป็นเครื่องที่ต้องใช้ระยะต่อมาก ถ้าให้อยู่แถวอื่นๆจะปฏิบัติเครื่องไม่ได้ถนัด ส่วนเครื่องลมไม้ที่จัดอยู่แถวหลังๆก็เพราะว่าเครื่องลมไม้เป็นเครื่องที่มีเสียงเล็กแหลม ซึ่งเสียงสามารถได้ยินไปได้ไกลกว่าเครื่องดนตรีที่มีเสียงใหญ่ทุ้ม และการเดินแถวแบบอังกฤษจะไม่มีการส่ายตัว ร่างกายท่อนบนนิ่ง เคลื่อนไหวเฉพาะช่วงเท้าเท่านั้น
2.1.3 ประวัติวงโยธวาทิตโลก
ตามหลักฐานที่ปรากฏ ชาวโรมันและชาวยิว ใช้แตรทรัมเป็ตเป็นเครื่องดนตรีประกอบกิจกรรมการทหาร ในช่วงศตวรรษที่ 11 ประมาณ พ.ศ. 1150 - 1650 (ค.ศ. 1007 - 1107) แตรที่ทำด้วยเขาสัตว์ แตรทรัมเปท ขลุ่ย (Pipe) กลอง ฉาบ ใช้ในสงครามระหว่างแขกมุสลิมแซราเซน (Saracen) ซึ่งอาศัยอยู่ในแถบตะวันออกกลาง กับกลุ่มที่นับถือศาสนาคริสต์ (Crusade) ซึ่งอาศัยอยู่แถบยุโรป ในประเทศสก็อตแลนด์ (Scotland) ขลุ่ยประเภทเดียวกันนี้ใช้เป่าปลุกใจทหาร ในระหว่าง พ.ศ. 1950 - 2050 (ค.ศ. 1407 - 1507) รูปแบบการจัดวงเริ่มมีแนวนิยม คือ มีทรัมเป็ต และ กลอง (Kettle Drums) ลักษณะการจัดวงแบบนี้จึงเป็นสัญญาณเฉพาะของทหาร สำหรับในซีกโลกตะวันออกมีประวัติกล่าวไว้ว่า ขงเบ้งได้ใช้กลยุทธเอาชนะเบ็งฮกได้ โดยเอา “กลองโลหะ” ไปตั้งรับกระแสน้ำ ที่ตกลงมาจากหุบเขา น้ำที่ตกลงมาปะทะกับหน้ากลองทำให้เสียงดังกึกก้อง เป็นการขู่ขวัญข้าศึกเพื่อให้เข้าใจว่า กองทัพที่ยกมานั้นมีมากมายนัก ซึ่งกลองดังกล่าวเรียกว่า “กลองมโหระทึก”(ดุริยางค์ทหารบก, 2531: ไม่ปรากฏเลขหน้า)
ในยุโรปสมัยกลาง ใช้ปี่ชอว์ม (Shawms) และทรัมเป็ตร่วมไปกับกลอง ในการเดินทัพออกสมรภูมิ ซึ่งนับว่าเอามาจากพวกแขกแซราเซน ต่อมาเกิดแบ่งออกเป็นสองพวก ทหารราบใช้ขลุ่ย ส่วนทหารม้าใช้ทรัมเป็ตกับกลองหนัง จนกระทั่งเมื่อเกิดสงคราม 30 ปี ในยุโรป (ค.ศ. 1618 - 1648) เจ้านายเยอรมันแห่งแบรนเดนเบิร์ก ให้จัดตั้งวงโยธวาทิตทหารขึ้น มีปี่ชอร์ม 3 เลา แตรทรัมเป็ต แตรฝรั่งเศส และเครื่องตี กลายเป็นวงโยธวาทิตที่ใช้ได้ทั้งการเดินทัพ และการตั้งบรรเลงกับที่ ต่อมาฝรั่งเศสและอังกฤษตามอย่าง แล้วดัดแปลงให้ครึกครื้นมากขึ้น โดยมีการแต่งเพลงสำหรับการบรรเลงด้วยวงโยธวาทิตโดยเฉพาะ เครื่องดนตรีที่เกิดขึ้นใหม่หลังศตวรรษที่ 18 โดย เฉพาะเครื่องเป่า เช่น โอโบ บาสซูน คลาริเน็ต เข้ามามีบทบาทมากขึ้น และเพลงที่วงโยธวาทิตใช้บรรเลงก็ไม่จำกัดแต่เฉพาะเพลงเดินหรือเพลงมาร์ช เสียงของเครื่องลมไม้และเครื่องทองเหลืองสามารถเอาไปเปรียบเทียบกับเสียงของเครื่องสายเสียงสูง เช่น ไวโอลิน วิโอลา และเชลโล โดยการเอาบทเพลงของวงดุริยางค์มาดัดแปลงให้เล่นได้ด้วยวงโยธวาทิต ให้ผู้บรรเลงนั่งเล่นกับที่กลายเป็นที่นิยมโดยเฉพาะในหมู่ทหาร ซึ่งหัดง่ายใครก็อยากได้เป็นทหารแตร เพราะจะมีโอกาสได้แต่งตัวสวย และใกล้ชิดเจ้านายเมื่อไปบรรเลงถวายในพระราชพิธีต่างๆ (สยามกลการ, 2536: ไม่ปรากฏเลขหน้า)
กลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 เครื่องเป่าลมทองเหลือง ได้รับการพัฒนาให้มีกระเดื่องบังคับเสียงทำให้สามารถสร้างเสียงดนตรีที่ยากที่จะบังคับด้วยริมฝีปาก โดยลำพังแตรทุกชนิดสามารถที่จะบังคับให้เกิดเสียงต่างๆได้เกือบจะครบ การนำเอาแตรต่างๆที่มีทั้งเสียงสูงเสียงกลางและเสียง ต่ำมาเล่นรวมกัน จึงสามารถ
ทำเสียงต่างๆได้มาก ฝ่ายทหารเอาดนตรีพวกแตรและขลุ่ยไปใช้ในการเดินทัพ และการทำศึกสงคราม โดยใช้ร่วมไปกับกลองเป็นการเร่งเร้าความรู้สึก ว่ากันว่าเสียงของกลองแทร้ก กลองสองหน้าและเสียงของขลุ่ยพิคโคโลที่ทหารเล่นนำหน้ากองทหารที่เดินอยู่นั้น เมื่อเข้าจังหวะกันกับก้าวที่เดินทุกก้าว จะช่วยให้ทหารเดินได้ไกลโดยไม่รู้สึกเหนื่อยง่าย (สยามกลการ, 2536: ไม่ปรากฏเลขหน้า)
ในสหรัฐอเมริกานั้นเริ่มมีวงโยธวาทิตราว พ.ศ. 2318 (ค.ศ. 1775) ที่เมือง ฟอร์ท ทิคอนเดอโรกา (Fort Ticonderoga) โดยใช้กลองและหลิว (Fife) บรรเลงเป็นสัญญาณเรียกแถว การพัฒนาวงโยธวาทิตเจริญสูงสุดในสมัยของ แพทตริก ชารส์ฟิลด์ กิลโมร์ (Payrick Sarsfield Gilmore) ผู้บังคับการวงโยธวาทิตทหารอเมริกัน (พ.ศ. 2372 - 2435 หรือ ค.ศ. 1829 - 1892) ได้นำวงโยธวาทิตไปแสดงในยุโรปซึ่งมีสมาชิกผู้บรรเลงในวงถึง 66 คน และที่สำคัญอีกท่านคือ จอห์น ฟิลิป ซูซา (John Philip Sousa พ.ศ. 2397 - 2475 หรือ ค.ศ. 1854 - 1932) นายวงโยธวาทิตของนาวิกโยธินอเมริกัน เขาเริ่มจัดวงในรูปแบบใหม่ และได้ออกแบบแตรซูซาโฟนซึ่งให้เสียงเบสที่ต่ำมาก เรียกว่า “ซูซาโฟน” และได้ประพันธ์เพลงมาร์ช สำหรับวงโยธวาทิตอย่างมากมายจนได้รับการสดุดีว่าเป็น “ราชาเพลงมาร์ช” (สยามกลการ, 2536: ไม่ปรากฏเลขหน้า)
วงโยธวาทิตนั้นได้แตกสาขาออกไปเพื่อให้เหมาะกับความต้องการของการใช้วง เฟร็ดเดอริค เฟนเนลล์ ผู้อำนวยการวงดนตรีได้ดัดแปลงรูปแบบการจัดวงและการบรรเลงวงโยธวาทิต โดยนั่งบรรเลง เน้นความงาม ความไพเราะของเสียง เรียกชื่อใหม่ว่า วงคอนเสิร์ต (Concert Band, Symphonic Band)
วิวัฒนาการจากวงโยธวาทิต (Military Band) สู่การนั่งบรรเลง โดยมีเครื่องดนตรีประเภทเครื่องลมเป็นหลัก (Wind Ensemble) วงดนตรีดังกล่าวประกอบด้วย เครื่องลมไม้ เครื่องลมทองเหลือง และเครื่องประกอบจังหวะ หรือเป็นวงดนตรีที่ประกอบด้วยกลุ่มเครื่องทองเหลือง (Brass) หรือ เครื่องลมไม้ (Woodwind) เพียงอย่างเดียว และมีชื่อเรียกอีกหลายอย่าง ขึ้นอยู่กับส่วนประกอบของวง ประเภทของการใช้งาน เป็นต้น ถ้าเป็นวงขนาดใหญ่อาจมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Wind - Orchestra ก็ได้ สำหรับในประเทศอเมริกานั้น เรียกว่า Concert Band หรือ Symphonic Band ด้วย ซึ่งแยกตามลักษณะของเพลงที่บรรเลง แต่โดยทั่วไปแล้ว Wind Ensemble หมายถึง วงดนตรีที่ประกอบด้วยเครื่องลมเป็นหลักในการบรรเลง
จึงกล่าวได้ว่าความเป็นมาของวงโยธวาทิตนั้นมีพัฒนาการมาเป็นลำดับ ตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 11 ต่อมาได้มีการผสมเครื่องดนตรี มีการจัดรูปแบบวงขึ้นมา ต่อมาหลังจากสมัยโรมันและสงครามคูเสดแล้ว วงดนตรีประเภทนี้ได้ซบเซาลงไป มาเริ่มกระเตื้องขึ้นราวปลายศตวรรษที่ 17 ในสมัยของพระเจ้าเฟรดเดอร์ริก ที่ 2 โดยได้พัฒนารูปแบบของวงดนตรีนี้อย่างมาก จนปลายศตวรรษที่ 18 ถึงต้นศตวรรษที่ 19 นักดนตรียุโรปได้มีโอกาสเรียนรู้ดนตรีของชาวตุรกี ซึ่งมีเครื่องกระทบเป็นหลัก (Percussion) และหลังจากนั้นเครื่องดนตรีประเภทนี้จึงเริ่มเข้ามามีบทบาทในวงโยธวาทิต และได้พัฒนาเพิ่มขึ้น ปี ค.ศ. 1838 ได้มีการรวมตัวของวงดนตรีประเภทนี้ในปรัสเซีย (Prussian) บรรเลงต้อนรับจักรพรรดิของรัสเซียที่กรุงเบอร์ลิน โดยมีวงดนตรีที่ผสมด้วยเครื่องเป่าประเภทต่างๆ 1,000 คน รวมกับกลุ่มกลองอีก 200 คน และในปี ค.ศ. 1847 ได้มีนักประดิษฐ์เครื่องดนตรีชาวเบลเยียม ชื่อ อดอล์ฟ แซ้ก (Adolphe Sax) ได้ประดิษฐ์เครื่องดนตรีตระกูล แซ็กซ์ฮอร์น (Saxhorn) ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อวงโยธวาทิตในเวลาต่อมา (สยามกลการ, 2535: ไม่ปรากฏเลขหน้า)
จากยุโรป วงโยธวาทิตถูกถ่ายทอดไปยังประเทศอเมริกา และวงโยธวาทิตของประเทศอังกฤษเป็นแม่แบบของวงโยธวาทิตในสมัยนั้น ทั้งนี้เนื่องมาจากวัฒนธรรมของประเทศอเมริกานั้นถูกถ่ายทอดจากประเทศอังกฤษ ทำให้การรับวัฒนธรรมประเพณีใดๆ ก็ตามจากประเทศอังกฤษเป็นเรื่องง่ายกว่าการรับวัฒนธรรมประเพณีจากประเทศอื่นๆในยุโรป และในประเทศอังกฤษยังมีเพลงที่แต่งสำหรับบรรเลงวงโยธวาทิตอยู่มากอีกด้วย ปี ค.ศ. 1917 ประเทศอเมริกาเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้วงดนตรีเน้นหนักไปทางบรรเลงเพลงมาร์ช ซึ่งนักประพันธ์เพลงมาร์ชที่เป็นที่รู้จักกันดีของประเทศอเมริกาคือ จอห์น ฟิลิป ซูซา (John Philip Sousa ค.ศ. 1854 - 1932) ซึ่งได้ประพันธ์เพลงมาร์ชไว้เป็นจำนวนมาก เป็นเพลงสำหรับเดินสวนสนามของทหาร และบรรเลงสนุกๆในสวนสนุก ต่อมาไม่นานความนิยมเริ่มเสื่อมลง และในประเทศอเมริกามีกีฬาใหม่เกิดขึ้น คือ อเมริกันฟุตบอล ทำให้บทบาทของวงโยธวาทิตเปลี่ยนไป พร้อมกับการประกวดวง ดนตรี (Band) ระดับนักเรียนได้มีขึ้น ทำให้วงเครื่องเป่าหันมาพัฒนาคุณภาพ และเน้นการให้การศึกษาดนตรีอย่างจริงจังขึ้น พร้อมกับวงดนตรีอีกประเภทหนึ่งใช้เล่นระหว่างพักครึ่งเกมการแข่งขันอเมริกันฟุตบอล คือวง Marching Band ซึ่งเป็นวงดนตรีสำหรับแสดงกลางแจ้งเพื่อความบันเทิง (สยามกลการ, 2535: ไม่ปรากฏเลขหน้า)
ปี ค.ศ. 1918 ได้จัดตั้งสถาบันดนตรีขึ้น คือ Eastman School of Music สังกัดอยู่ในมหาวิทยาลัย Rochester และได้เป็นต้นกำเนิดของวง Wind Ensemble ในปัจจุบัน Eastman School of Music เป็นสถานศึกษาดนตรีด้านต่างๆ เช่น การประพันธ์เพลง การศึกษาดนตรี และการแสดงดนตรี จนกระทั่งเดือนกันยายน ค.ศ. 1952 Frederick Fennell ซึ่งเป็นศิษย์เก่าและอาจารย์ผู้สอน ได้ก่อตั้งวงดนตรีประเภทใหม่ขึ้นเพื่อพัฒนาและส่งเสริมดนตรีสำหรับเครื่องเป่าโดยเฉพาะ คือ Eastman Wind Ensemble ประกอบด้วยสมาชิก 45 คน
2.1.4 ประวัติวงโยธวาทิตในประเทศไทย
สังคมดนตรีในประเทศไทยเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง เมื่ออิทธิพลดนตรีตะวันตกเข้ามาสู่สังคมไทย แต่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่ได้กระทบกระเทือนสภาพขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมของไทย ดนตรีตะวันตกแทรกเข้ามาในรูปลักษณ์ต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้รับมาโดยตรง แต่แฝงเข้ามาในรูปของพิธีกรรมต่างๆ และปะปนกับศิลปะการแสดง
สุกรี เจริญสุข (2538: 213) กล่าวพอสรุปได้ว่า “ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. 1991 - 2031) จากหลักฐานที่พบในกฎมณเฑียรบาล ได้นำเอาเสภาดนตรีเข้ามาในพระราชจริยวัตรประจำวันของพระองค์ ความว่า . . . หกทุ่มเบิกเสภาดนตรี เจ็ดทุ่มเบิกมิวาย แปดทุ่มเข้าพระบรรทม. . .”
ซึ่งเห็นได้ว่าจะปรากฏคำว่า “ดนตรี” แต่ไม่ได้ระบุว่าเป็นดนตรีของชาติใด มาเด่นชัดเมื่อแตรเป็นสัญลักษณ์แรกที่พบในความเป็นตะวันตกของดนตรีในสยาม ทั้งจิตรกรรมบนฝาผนัง และที่กล่าวไว้ในวรรณคดี ซึ่งแตรจะเกี่ยวข้องกับพระราชพิธี และยังใช้มาจนถึงปัจจุบัน แต่ที่สำคัญ คือ แตรฝรั่งเข้ามาในเมืองสยามสมัยใดยังไม่มีข้อยุติ แต่ก็ตั้งข้อสังเกตว่าน่าจะเข้ามาในสมัยพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ. 2173 - 2198)
สุกรี เจริญสุข (2536: 214) กล่าวพอสรุปได้ว่า ความเป็นมาของวงโยธวาทิตในประเทศไทยนั้นสันนิษฐานว่าเริ่มเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 4 ในราวปี พ.ศ. 2395 แต่ลักษณะของวงไม่เหมือนกับในปัจจุบัน วงโยธวาทิตยุคแรกมีลักษณะเป็นแตรวง หรือแกรวง (Brass Band) ความหมายตามข้อสันนิษฐานว่า “จะเรียกชื่อตามเสียงที่ได้ยิน เหมือนกับเครื่องดนตรีอื่นๆที่คนไทยนิยมเรียกกัน เช่น ได้ยินเสียงว่า “ฉิ่ง” ก็เรียกชื่อว่า “ฉิ่ง” ได้ยินว่า “กรับ” ก็เรียกชื่อว่า “กรับ” เป็นต้น ส่วนแตรนั้นบางทีก็เรียกว่า “แกร” บางทีก็เรียกว่า “แตร” น่าจะได้ยินเสียงเป่ากำพวดดัง “แพร แพร” ก่อน เพราะอาการที่ลิ้นสะบัดระรัวเสียงออกมาดัง “แพร แพร” แล้วกลายมาเป็น “แกร” หรือ “แตร” ในภายหลัง
“ในสมัยรัชกาลที่ 4 การทหารของไทยได้รับการฝึกอย่างต่างชาติ และได้ให้จัดตั้งกองทหารเกณฑ์หัดอย่างฝรั่ง ผู้ที่ได้รับการฝึกส่วนมากเป็นชายฉกรรจ์ที่มีเชื้อสายของชาติเพื่อนบ้าน” (กองดุริยางค์ทหารบก, 2529: ไม่ปรากฏเลขหน้า) จากจุดนี้เองทำให้เกิดแตรวงสมัยแรกๆขึ้นในเมืองไทย เป็นดนตรีสำหรับบรรเลงประกอบกิจกรรมของทหาร “ครูฝึกทหารที่เข้ามาช่วยฝึกให้นั้นเป็นนักเป่าแตรที่เคยประจำอยู่ในกองทัพอังกฤษ ณ ประเทศอินเดีย (เป็นรัชสมัยที่สมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย พระบรมราชินีนาถแห่งอังกฤษครองราช) คือ ร้อยเอกอิมเปย์ (Impay) และร้อยเอกน๊อกซ์ (Thomas G Knox) เขาได้นำแตรเดี่ยวเข้ามาและสอนให้กับทหารไทย (สยามกลการ, 2536: ไม่ปรากฏเลขหน้า)
ยุคแรกคนไทยไม่ได้อยู่ในกลุ่มทหารเกณฑ์หัดอย่างฝรั่ง เพราะผู้ที่เข้าฝึกมักนับถือคริสต์ศาสนา สามารถพูดภาษาอังกฤษหรือฝรั่งเศสได้ เพราะมีความใกล้ชิดกับฝรั่งมาก่อน ทหารเกณฑ์หัดอย่างฝรั่งเมื่อฝึกเดินแถวหรือเมื่อจะเคารพธงตลอดจนแสดงความเคารพนายทหารผู้มียศใหญ่ มักใช้แตรสัญญาณอย่างฝรั่ง ประกอบกับในสมัยรัชกาลที่ 4 มีเรือรบของต่างชาติเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศไทยหลายครั้ง ทุกครั้งที่เรือรบเข้ามาคนไทยก็ได้เห็นทหารเรือของชาติเหล่านั้นบรรเลงแตรวงประจำ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ประเทศไทยมีทหารแตรนำขบวนเสด็จ คือ “กรมทหารหน้า” เกิดขึ้น แต่เนื่องจากสมัยนั้นประเทศไทยยังไม่มีเพลงสำหรับบรรเลงคำนับประกอบพระเกียรติยศ เมื่อทหารอังกฤษเข้ามาสอนคนไทยให้เป่าแตร จึงต่อเพลง “สรรเสริญพระบารมีอังกฤษ” คือเพลง God Save The Queen เป็นเพลงบรรเลงถวายพระเกียรติยศ เพลง God Save The Queen จึงเป็นเพลงสรรเสริญพระบารมีเพลงแรกของประเทศไทย มีการประพันธ์เนื้อร้องเป็นภาษาไทย ใช้ชื่อเพลงว่า “จอมราชจงเจริญ” โดยพระศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) การประพันธ์เป็นรูปแบบโครงสี่สุภาพ ดังนี้
ความ สุขสมบัติทั้ง บริวาร
เจริญ พละปฏิภาณ ผ่องแผ้ว
จง ยืนพระชนมาน นับรอบ ร้อยแฮ
มี พระเกียรติเพริศแพร้ว เล่ห์เพี้ยงจันทร
(ประพันธ์ นิชโรจน์, 2537: 17)
เพลงจอมราชจงเจริญ


เพลงจอมราชจงเจริญ ใช้มาจนเกิดความเคยชินจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเสด็จครองราชย์สมบัติ (พ.ศ. 2411) ปี พ.ศ. 2413 พระองค์เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคประพาสเกาะสิงคโปร์ และเมืองปัตตาเวีย (ปัจจุบันคือเมืองจาร์การ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย) เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงเกาะสิงคโปร์ทหารกองเกียรติยศก็ทำเพลง God Save The Queen ถวายเป็นเพลงต้อนรับ คนไทยที่ฟังไม่รู้สึกแปลกเพราะเคยชินมานาน แต่ครั้นถึงเมืองปัตตาเวีย ทหารกองเกียรติยศของฮอลันดาได้มาขอเพลงคำนับของไทยเพื่อรับเสด็จ จึงเป็นเหตุให้คนไทยเห็นความสำคัญของเพลงคำนับ คือ เพลงสรรเสริญพระบารมี เป็นเพลงที่แสดงถึงความเป็นเอกราชและชาติภูมิของไทยเราโดยแท้ (กองดุริยางค์ทหารบก, 2529: ไม่ปรากฏเลขหน้า)
ในปี พ.ศ. 2414 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้เปลี่ยนมาเป็นเพลงบุหลันลอยเลื่อนทางฝรั่งมาระยะหนึ่ง แล้วจึงเปลี่ยนมาเป็นเพลงสรรเสริญพระบารมี ซึ่งประพันธ์ทำนองโดย Huvitzen เนื้อร้องโดย สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ภายหลังพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแก้ไขเนื้อร้องบางคำ และเพลงบุหลันลอยเลื่อนได้เปลี่ยนชื่อเป็นเพลงสรรเสริญเสือป่า ในเวลาต่อมา (ประพันธ์ นิชโรจน์, 2537: 17)
จากผู้ใช้นามปากกาดนตรี สีแสด (2537: 13) กล่าวพอสรุปได้ว่า แตรวง เดิมมีแตรวงทหารเรือ กับแตรวงทหารบกเท่านั้น ส่วนของเอกชนไม่มี มีแต่วงปี่พาทย์กับวงมโหรี แตรวงทหารเรือเพลงฝรั่งเก่งเป็นที่หนึ่ง เพราะครูเป็นฝรั่ง ส่วนแตรของทหารบก เพลงไทยเก่งเป็นที่หนึ่ง เพราะครูเป็นคนไทย โดยมีคำกล่าวตอนหนึ่งว่า “เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสพักแรมที่พระราชวังบางประอิน วงแตรวงทหารบกและแตรวงทหารเรือก็ต้องตามเสด็จไปด้วย และวันหนึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสำราญพระทัย และได้มีคำสั่งให้แตรวงทหารบกกับทหารเรือบรรเลงเพลงไทยแข่งกัน ถ้าใครชนะจะให้รางวัล . . . พอถึงเพลงชิงรางวัลก็ให้ทหารบกเป่าก่อนซึ่งการบรรเลงเพลงไทยวงแตรวงทหารบกนับว่าเป็นหนึ่งเพราะว่ามีครูเป็นคนไทย ถ้าการบรรเลงเพลงฝรั่งวงทหารเรือก็จะบรรเลงได้ดีเยี่ยมเพราะมีครูเป็นฝรั่ง”
ทหารเรือนั้นก็มีทหารแตรประจำเรือรบมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เหมือนกัน แต่ยังไม่พบหลักฐานปีที่เริ่มต้น ก่อนที่จะตั้งเป็นกรมทหารเรือสมัยนั้นเรียกว่า “กรมทหารแตรมะรีน” โดยมีร้อยเอก ฟุสโก (Captain M. Fusco, Band Master Royal Siamese Nave) เป็นครูและผู้บังคับบัญชา กรมทหารแตรมะรีนมีหน้าที่สำหรับบรรเลงในงานเกียรติยศ และสำหรับลงประจำเรือพระที่นั่ง เวลาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ประพาสทางทะเล ทั้งในอ่าวไทย และในต่างประเทศ เช่น เมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ประพาสยุโรปเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2440 ทางราชการได้จัดหน่วยดุริยางค์ภายใต้บังคับบัญชาของ ร้อยเอก ฟุสโก ลงประจำเรือพระที่นั่งมหาจักรีเดินทางไปยุโรปด้วย (พูนพิศ อมาตยกุล, 2537: 76)
กองดุริยางค์ทหารเรือ มีในอัตรากำลังกองทัพเรือเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2448 มีชื่อว่า “กองแตร” ซึ่งขึ้นกับกรมทหารเรือฝ่ายบก มีนายเรือโทผู้ช่วย (เรือเอก) หลวงพิมลเสนี (หลำ) เป็นผู้บังคับกอง ขณะนั้น จอมพลเรือสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต เป็นผู้บัญชาการกรมทหารเรือ นอกจากเป็นนักปกครองที่ดีเลิศแล้ว ยังทรงนำความเจริญมาให้แก่กองทัพเรืออีกมากมาย เนื่องจากได้ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาการทหารจากประเทศเยอรมัน จึงได้ทรงปรับปรุงกองทัพเรือไทยให้เหมาะสม กับกาลสมัย ทั้งนี้รวมทั้งกองดุริยางค์ด้วย
“กองแตร”ได้รับการสนับสนุนและเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดจาก จอมพลเรือสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต พระองค์ทรงโปรดการดนตรีมาก ดนตรีไทยทรงเล่นเครื่องมือได้แทบทุกชนิด ส่วน
ดนตรีสากลทรงเล่นเปียโนได้ และทรงเข้าพระทัยวิธีเคาะจังหวะเพลง ตั้งแต่ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือก็ทรงสนพระทัยในแตรวงทหารเรือมากขึ้น พยายามทุกวิถีทางที่จะให้กองแตรเจริญขึ้นในปี พ.ศ. 2453 ขณะตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปเมืองเพชรบุรีนั้น ได้ทรงนำทหารแตรรุ่นหนุ่มไปด้วย 4 คน เพื่อฝึกเป่าแตรให้ชำนาญ คนหนึ่งได้แก่ว่าที่เรือตรี สุทธิ์ ศรีชญา (ได้ย้ายไปเป็นครูแตรทหารบก ได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็นพันตรีหลวงประสานดุริยางค์) จอมพลเรือสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงหาแผ่นเสียงจากต่างประเทศมาให้ฟังเป็นแบบอย่าง และได้ทรงแต่งเพลงไทยเขียนลงเป็นโน้ตสากลประทานให้ทหารแตรเป่าหลายเพลง เช่น เพลงแขกมอญบางขุนพรหม ทรงนิพนธ์ขึ้นเมื่อตามเสด็จประพาสเมืองเพชรบุรี โดยมีว่าที่เรือตรีสุทธิ์ ศรีชญา เป็นคนเป่าคอร์เน็ตในเวลาทรงพระนิพนธ์ เพื่อตรวจสอบเพลงให้ถูกต้อง นอกจากนั้นยังมีเพลงเขมรพวง 3 ชั้น เพลงเขมรชมจันทร์ ซึ่งทรงดัดแปลงจากเพลงไทยเดิม คือ เพลงบุหลันชกมวย 2 ชั้น เป็นทำนองเพลงเขมร เพื่อประทานให้แก่แตรวงทหารเรือเป่านำแถวทหาร ในการปฏิบัติราชการต่างๆ เพลงสารถี 3 ชั้น ทรงนิพนธ์ขึ้นเป็นทางเดี่ยวสำหรับคอร์เน็ต นอกจากนี้ยังมีอีกหลายเพลง เช่น เพลงสะบัดสะบิ้ง เพลงถอนสมอ เพลงทยอยเขมร เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่ทรงดัดแปลงให้เป็นการบรรเลงของแตรวงโดยเฉพาะ คราวใดที่ทรงตรากตรำงานหนักหรือมีอุปสรรคในพระดำริที่ยังลุล่วงไปไม่ได้แล้ว ก็ทรงมีวิธีแก้พระอารมณ์ขุ่นมัวโดยการเสด็จฯไปที่กองแตร เพื่อทรงฟังการฝึกซ้อมดนตรีในเวลาบ่าย และบางคราวก็ทรงฝึกด้วยตนเอง ครั้งหนึ่งมีครูดนตรีชาวต่างชาติจากชวามาเที่ยวเมืองไทยก็ทรงไปช่วยแนะนำและเคาะจังหวะเพลง คุมทหารแตรเวลาเป่าให้ชำนาญยิ่งขึ้น ทำให้แตรวงในสมัยนั้นมีชื่อเสียงมาก นอกจากนี้ยังทรงนิพนธ์เพลงให้แตรวงทหารเรือหลายเพลงด้วยกัน เช่น เพลงวอลท์ประชุมพล ทรงนิพนธ์สำหรับแตรวงทหารเรือบรรเลง และตั้งพระทัยให้เป็นเพลงประจำกรมทหารเรือ ซึ่งทรงนิพนธ์เป็นโน้ตสากล (กองดุริยางค์ทหารเรือ, มปป.: ไม่ปรากฏเลขหน้า)
2.2 วงโยธวาทิตในโรงเรียนมัธยมศึกษา
วงโยธวาทิต เข้ามามีบทบาทในโรงเรียนมัธยมศึกษาเป็นเวลานาน โดยมีหลักฐานว่า “พ.ศ. 2461 กองแตรวงกรมเสือป่าพรานหลวงและม้าหลวงได้จัดตั้งขึ้นเป็นกองแตรวง 2 หน่วยต่างกัน เพื่อประกอบกิจกรรมของเสือป่า” (วัฒน์ เกิดสว่าง และคนอื่นๆ, 2536: 30) )
เมื่อมีการแข่งขันกีฬานักเรียน ส่วนใหญ่ใช้วงโยธวาทิตเดินแถวนำขบวนนักกีฬา เพื่อความครึกครื้น เร้าใจ แรงกระตุ้นเพื่อให้เกิดการรวมพลัง ในระยะแรกมักเรียกทับศัพท์ว่าวง “พาเหรด” ปี พ.ศ. 2524 กรมพลศึกษาร่วมกับธนาคารทหารไทยจัดให้มีการประกวดวงดุริยางค์ลูกเสือขึ้นเป็นครั้งแรก (7-8 มกราคม 2524 ณ สนามศุภชลาศัย) โดยความเห็นชอบของท่าน ศาสตราจารย์นายแพทย์บุญสม มาติน อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และปีต่อมากรมพลศึกษาจึงเปลี่ยนชื่อเป็น “การประกวดวงโยธวาทิต” ตามคำแนะนำของผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านดนตรีจากหลายสถาบัน คำว่า “โยธวาทิต” จึงเป็นที่แพร่หลายอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่ได้ใช้ศัพท์ดนตรีประเภทนี้อย่างผิดๆมาเป็นเวลาช้านาน จนกล่าวได้ว่าใช้คำเรียกชื่อตามความเคยชิน เช่น แตรวง หรือวงดุริยางค์ ซึ่งถ้าจะศึกษาด้านองค์ประกอบของเครื่องดนตรีจะพบว่าแตรวงนั้นมีเครื่องดนตรี 2 ตระกูล คือ เครื่องทองเหลืองและเครื่องประกอบจังหวะ ส่วนวงดุริยางค์ มีเครื่องดนตรีครบทั้ง 4 ตระกูล คือเครื่องสาย เครื่องลมไม้ เครื่องทองเหลือง และเครื่องประกอบจังหวะ ดังนั้นตามประวัติความเป็นมาของวงโยธวาทิต ที่กล่าวจึงเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า “วงโยธวาทิต” เป็นศัพท์เฉพาะที่มีองค์ประกอบของเครื่องดนตรี 3 ตระกูล คือ เครื่องลมไม้ เครื่องทองเหลือง และเครื่องประกอบจังหวะ ส่วนประโยชน์ที่ได้รับนอกเหนือจากการใช้งานในกิจกรรมต่างๆแล้ว วงโยธวาทิตยังช่วยพัฒนาเด็กและเยาวชนของชาติทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ทั้งยังส่งเสริมการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ สร้างความมีระเบียบวินัย ความสามัคคีพร้อมเพรียงของหมู่คณะ เป็นการแสดงออกซึ่งศิลปวัฒนธรรมอันดีงาม และเป็นการสร้างค่าของเยาวชนให้เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ และสามารถนำความรู้ความสามารถไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ในอนาคต] (กรมพลศึกษา, 2534: ไม่ปรากฏเลขหน้า)
กิจกรรมวงโยธวาทิตได้เจริญก้าวหน้ามาโดยตลอด ทั้งนี้เพราะการจัดการประกวดซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนามาตรฐานการบรรเลงของวงโยธวาทิตให้มีขีดความสามารถสูงขึ้นวงดุริยางค์ลูกเสือวงแรกของประเทศไทยคือ วงดุริยางค์ลูกเสือโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ระหว่างปี พ.ศ. 2460 - 2470 ภายหลังจากการตั้งกองเสือป่าในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6
ต่อมาในปี พ.ศ. 2500 ซึ่งเป็นปีที่รัฐบาลในยุคของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เตรียมการการจัดงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ จึงได้จัดงบประมาณส่วนหนึ่งมอบให้กระทรวงศึกษาธิการจัดหาเครื่องดนตรี โดยมอบหมายให้อาจารย์พระเจนดุริยางค์ ซึ่งขณะนั้นท่านอยู่ประจำที่แผนกดุริยางค์กรมตำรวจ เป็นผู้จัดการวางรูปแบบของวง และจัดซื้อเครื่องดนตรีมอบให้โรงเรียนของรัฐบาล จำนวน 10 แห่ง ทั่วประเทศ โดยมีโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จากส่วนกลาง โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย จังหวัดลพบุรี โรงเรียนประจำจังหวัดนครสวรรค์ โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย จังหวัดนครราชสีมา โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดนครศรีธรรมราช โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดจันทบุรี โรงเรียนประจำจังหวัดขอนแก่น และโรงเรียนประจำจังหวัดภูเก็ต
เครื่องดนตรีที่ทางพระเจนดุริยางค์จัดซื้อ เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องลมโลหะ หรือเครื่องบราส (Brass ) และเครื่องระกอบจังหวะ ประกอบด้วยกลองเล็ก (Snare Drums) 5 ใบ กลองเทเนอร์ (Tenor Drum) 2 ใบ ฉาบ 1 คู่ กลองใหญ่ 2 ใบ แตรเดี่ยวไม่มีนิ้ว 5 คัน เบลล์ไลเร็อะ 1 ตัว ส่วนเครื่องดนตรีที่ใช้เป่าประกอบด้วย คอร์เน็ตอีแฟลต 2 คัน คอร์เน็ตบีแฟลต 5 คัน ทรัมเป็ตบีแฟลต 5 คัน อัลโตฮอร์น 5 คัน บาริโทน 3 คัน ยูโฟเนียม 2 คัน ทรอมโบน 4 คัน เบสทรอมโบน 1 คัน ซูซ่าโฟน 2 คัน รวมแล้วเป็นวงบราสแบนด์ขนาด 35 - 45 คน พร้อมทั้งโน้ตเพลงมาร์ชระดับสากลอีกหลายสิบเพลง นอกจากนั้นพระเจนดุริยางค์ให้ทางโรงเรียนส่งครูไปอบรมเพื่อจะกลับมาสอนตามโรงเรียนที่ได้รับเครื่องดนตรีเหล่านั้นด้วยเพื่อจะให้ใช้ทันการเฉลิมฉลอง 25 พุทธศตวรรษ (สวัสดิ์ เงินแย้ม และ สุกรี จรกรรณ, 2539: 12)
การประกวดวงดุริยางค์ลูกเสือครั้งแรกในประเทศไทย
ยุคแรก (พ.ศ. 2501 - 2508)
ปี พ.ศ. 2501 ดร.บุญสม มาร์ติน ผู้อำนวยการกองลูกเสือสมัยนั้น ได้ไปเห็นการประกวดวงดุริยางค์ลูกเสือในงานชุมนุมลูกเสือที่ประเทศอังกฤษ จึงได้ริเริ่มขึ้นบ้าง โดยจัดให้เป็นกิจกรรมหนึ่งในงานแสดงศิลปกรรมนักเรียน ที่สนามโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ในปีแรกมีวงดุริยางค์ลูกเสือจากเขตการศึกษาต่างๆ ส่งเข้าประกวดคือ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย โรงเรียนเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช ผลการประกวดครั้งแรก โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย จังหวัดลพบุรี ชนะเลิศภาคสนาม และโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ได้รางวัลนั่งบรรเลง การประกวดวงดุริยางค์ลูกเสือในยุคต้นนี้ดำเนินการต่อเนื่องตลอดมาจนถึงปี พ.ศ. 2509 จึงได้หยุดลงเพราะเปลี่ยนผู้บริหารในกองลูกเสือ ในยุคต้นมีโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย ผลัดกันชนะเพียงสองโรงเรียน ในปี พ.ศ. 2509 จึงไม่มีวงอื่นส่งแข่งขันด้วย การจัดประกวดจึงงดไป
ยุคที่สอง (พ.ศ. 2512 - 2518)
ยุคนี้อธิบดีกรมตำรวจได้จัดซื้อเครื่องให้โรงเรียนสันติราษฎร์บำรุง(โรงเรียนในความอุปถัมภ์ กรมตำรวจ) มีอาจารย์เพทาย อมาตยกุล ได้ก่อตั้งสโมสรลูกเสือกรุงเทพขึ้น และได้รับมอบหมายจากกองลูกเสือให้จัดแข่งขันวงดุริยางค์ลูกเสือขึ้นอีก ในยุคนี้มีโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนวัดสุทธิวราราม โรงเรียนสันติราษฎร์บำรุง เป็นวงหลักที่ขับเคี่ยวกันมา ส่วนใหญ่ผลัดกันชนะตามสภาพของวงแต่ละปี ต่อมาคณะกรรมการจึงได้จัดให้ทำแถวกองเกียรติยศ (กองร้อยพิเศษปัจจุบัน) เดินตามแถว รวมคะแนน
กับการแปรขบวนของวงดุริยางค์ด้วย จึงทำให้โรงเรียนสันติราษฎร์บำรุง มีโอกาสชนะมากครั้งขึ้น เพราะกองเกียรติยศเดินตามแถวดีกว่า ด้วยเหตุที่นำกองเกียรติยศมาเดินตามขบวนและเอาคะแนนมารวมกันทำให้วงดุริยางค์วงอื่นไม่เห็นด้วยจึงค่อยๆ ถอนวงออก และหยุดแข่งขันในปี พ.ศ. 2518 ในการแข่งขันยุคที่สองนี้ที่ทำให้วงดุริยางค์โรงเรียนวัดสุทธิวราราม ได้เริ่มส่งวงไปทดสอบฝีมือที่ประเทศฮอลแลนด์ ในปี พ.ศ. 2516 และได้รับรางวัลรองชนะเลิศภาคสนามกลับมา นับเป็นวงดุริยางค์ลูกเสือวงแรกที่ได้สร้างชื่อเสียงในต่างประเทศ และชุดที่เข้าแข่งขันก็เป็นชุดลูกเสือด้วย สังเกตได้ว่าการแข่งขันในยุคนี้ได้มีการนำเครื่องดนตรีประเภทเครื่องลมไม้ (Wood Wind) เข้าไปผสมด้วย เช่น ปี่คลาริเน็ต แซกโซโฟน พิคโคโล ทำให้วงกลายเป็นวงลักษณะโยธวาทิตมากขึ้น ในยุคแรกของการแข่งขันจึงมีวงดุริยางค์ลูกเสือที่แข่งขันกันเพียงวงบราสแบนด์เท่านั้น เครื่องดนตรีในยุคนั้นมีกลองใหญ่ 1 - 2 ใบ กลองเล็กหรือกลองสแนร์ แถว 5 หรือ 10 ใบ มีแตรเดี่ยว (Bugle) ไม่มีระดับเสียง 5 คอร์เน็ตอีแฟลต 2 คอร์เน็ตบีแฟลต 5 อัลโตฮอร์น 4 บาริโทน 4 ยูโฟเนียม 2 ซูซ่าโฟน 2 ทรอมโบน 5 นอกจากนั้นยังนำทรอมโนนัว และฟลูเกิลฮอร์นผสมเข้าไปด้วย ลักษณะนั้นเป็นลักษณะบราสแบนด์ที่แท้จริง (สวัสดิ์ เงินแย้ม และ สุกรี จรกรรณ, 2539: 13 - 14)
การแปรขบวนของวงดุริยางค์ในยุคก่อน
ยุคแรก (พ.ศ. 2501 - 2508)
การแปรขบวนยุคนี้ได้จัดแถวกลองเล็กไว้ด้านหน้า มีกลองใหญ่ ฉาบ ไว้แถวที่สอง ส่วนแถวที่สาม จะเป็นแตรเดี่ยวยกธงอย่างสวยงาม ส่วนแถวที่สี่และแถวอื่นไปจนถึงแถวเบสเป็นแถวเครื่องเป่าทั้งสิ้น
การใช้เครื่องดนตรีในการแปรขบวน
1. จะเดินไปทั้งหมด ไปกลับ 1 เที่ยว
2. แบ่ง 3 แถวแรก (Percussion + Bugle) คนละฝั่งกับแถวเครื่องเป่า จะสลับกันเดินและบรรเลงสลับกันคนละเที่ยวเท่านั้น ไม่มีรูปแบบการแปรขบวนเป็นอย่างอื่น พิจารณากันเพียงระเบียบแถว ความสวยงาม คุณภาพของเสียงดนตรีด้วย ซึ่งเป็นการแปรขบวนแบบทหารอังกฤษดั้งเดิม
ยุคสอง (พ.ศ. 2512 - 2518)
การแปรขบวนในยุคนี้มีการแปรแถวแยกเป็น 2 กลุ่ม เครื่องลมโลหะหรือเครื่องบราสมีการแปรเป็นรูปเด่นชัด และหยุดให้เห็นรูปแบบที่แน่นอน เช่น รูปอักษรไทย รูปต่างๆ แต่ไม่มีการลื่นไหล แปรรูปเสร็จก็ต้องตั้งหลักใหม่แปรไปแล้วตั้งแถวใหม่ จบแล้วก็กลับมาตั้งแถวเดิม แต่ยังดีกว่ายุคแรกนั่นเอง


ยุคปัจจุบัน (พ.ศ. 2524 - ปัจจุบัน)
ยุคเริ่มต้นเราจะเห็นรูปแบบแปรขบวนเช่นเดียวกับยุคสอง จนถึงปี พ.ศ. 2526 เริ่มมีการนำวีดีโอเทปจากอเมริกาเข้ามาและเริ่มพัฒนาก่อนวงใดคือ วงโยธวาทิตโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ หลังจากนั้นการแปรขบวนได้พัฒนาก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง และมีวงโยธวาทิตที่ผ่านการประกวดเดินทางไปทดสอบความสามารถ ประกวดดนตรีระดับโลก ณ ประเทศฮอลแลนด์ ประเทศแคนาดา จนได้รับชัยชนะกลับมาหลายวง ตลอดจนไปร่วมแสดงในงานมหกรรมนานาชาติจำนวนหลายครั้งและหลายวง นับว่าวงโยธวาทิตเยาวชนของประเทศไทยได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติอย่างต่อเนื่องติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน และนักดนตรีเยาวชนของเรามีความรู้ความสามารถทัดเทียมนานาประเทศ สามารถพัฒนานำไปสู่การศึกษาต่อและการประกอบอาชีพอิสระต่อไปอย่างแท้จริง (สวัสดิ์ เงินแย้ม และ สุกรี จรกรรณ, 2539: 15)
ยุคปัจจุบันเริ่มมีการประกวดในปี พ.ศ. 2524 เรียกชื่อการประกวดว่า “การประกวดวงดุริยางค์ลูกเสือ” เหมือนในอดีตที่ผ่านมา เป็นการประกวดเนื่องในงานฉลองวันเด็กแห่งชาติ และต่อมาในปี พ.ศ. 2525 จึงได้เปลี่ยนชื่อการประกวดใหม่เพื่อให้เหมาะสม โดยศาสตราจารย์ ดร.บุญสม มาร์ติน ได้ให้ผู้ทรงคุณวุฒิทางดนตรีจากทุกเหล่าทัพ และผู้ทรงคุณวุฒิทางดนตรีจากหลายสถาบันมาประชุมเพื่อหาชื่อการประกวดที่เหมาะสม ในที่ประชุมจึงได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ใช้ชื่อการประกวดว่า การประกวดวงโยธวาทิต นักเรียน นิสิต นักศึกษา ชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2527 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานถ้วยรางวัลให้กับวงโยธวาทิตที่ชนะการประกวด ในปี พ.ศ. 2532 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศแก่วงโยธวาทิตหญิง และในปี พ.ศ. 2534 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้พระราชทานถ้วยรางวัลแก่วงโยธวาทิตที่ชนะเลิศการประกวดอีกประเภทหนึ่ง (กรมพลศึกษา, 2538: 15)
ปัจจุบันมีวงโยธวาทิตจำนวนมากที่อยู่ในโรงเรียนมัธยมศึกษาทั่วประเทศ ทุกโรงเรียนพยายามที่จะจัดตั้งวงโยธวาทิตในโรงเรียน ดังนั้นจึงเกิดปัญหาต่างๆมากมายตามมา ทั้งนี้เพราะบางครั้งในการจัดวงย่อมมีอุปสรรค และที่สำคัญอย่างยิ่งคือ ปัญหาในด้านการจัดการวงซึ่งเป็นตัวแปรที่สำคัญอย่างยิ่ง บางวงประสบความสำเร็จสูงเพราะมีระบบการจัดการวงที่ดี แต่ก็มีอีกหลายโรงเรียนที่ยังขาดในเรื่องดังกล่าว ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่น่าจะต้องศึกษา เพื่อให้ผลที่ออกมาได้มาตรฐานที่ใกล้เคียงกัน

5 ความคิดเห็น:

  1. ไม่มีต้นกำเหลิดที่ประเทศอะไรอ่ะ

    ตอบลบ
  2. อยากได้ที่มาครับ พอทราบแหล่งข้อมูลมั้ยครับ

    ตอบลบ
  3. ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ

    ตอบลบ
  4. วงโยธวาทิตสมัยโรมันใช้บรรเลงเพลงเดินแถวเพื่อปลุกใจใคร ? *

    ตอบลบ