บทที่ 5
การแปรขบวน
การแปรขบวนเป็นลักษณะหนึ่งของการแสดงความสามารถ ที่ใช้ระเบียบแถวและการจัดรูปแบบต่างๆให้เข้ากับจังหวะและลีลาของบทเพลงที่บรรเลง โดยเน้นความสวยงามและความสง่างามตลอดจนความไพเราะของเพลงมี่ใช้บรรเลงประกอบ การแปรขบวนเป็นปัจจัยหนึ่งซึ่งในปัจจุบันถือว่ามีความสำคัญควบคู่ไปกับการบรรเลง วงโยธวาทิต เป็นการแสดงออกถึงความสามารถของผู้บรรเลงที่ต้องใช้ทักษะในทุกๆด้านรวมทั้งความรู้พื้นฐานเรื่องระเบียบแถว มาปรับปรุงและประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับรูปขบวน และบทเพลง เพื่อให้เกิดความงดงาม ความแปลกใหม่ ดังนั้นในการแปรขบวนสิ่งที่ต้องคำนึงถึงประกอบด้วยเสียงและรูปขบวน ทั้งสองสิ่งต้องมีความสัมพันธ์กัน ดังนั้นการจัดรูปแบบการเดินจึงต้องคำนึงถึงด้านเสียงด้วยควบคู่กันไป ต้องพยายามจัดรูปแบบที่ไม่ทำให้เสียงกระจัดกระจายเพราะเสียงที่ได้ฟังในบางครั้งอาจขาดหายเพราะแถวที่ปรับเปลี่ยนอาจอยู่ไกลกัน ทำให้ไม่ได้ยินชัดเจนจนทำให้การบรรเลงอาจเกิดข้อผิดพลาดขึ้นได้
ความสำคัญพื้นฐานทางด้านดนตรีสนาม และการแปรขบวน
ความสำคัญพื้นฐานที่จะทำให้เกิดผลสำเร็จของวงโยธวาทิตทางด้านดนตรีสนาม และการแปรขบวน ประกอบด้วย
1. ความพร้อมและความสามารถของวงดนตรีในส่วนบุคคล (Sectionals) และทั้งวง รวมทั้งครูผู้สอนและผู้อำนวยเพลง ที่ต้องสอดคล้องไปด้วยกันโดยเฉพาะในทางปฏิบัติ ตลอดจนความร่วมมือของสถานศึกษาด้วย
การทำวงโยธวาทิตให้เกิดความสำเร็จทั้งในด้านดนตรีสนามและการแปรขบวนนั้น นักเรียนหรือนักดนตรีต้องมีความพร้อมทั้งในด้านบุคคลและความพร้อมของวง จึงจะทำให้การแสดงได้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ได้วางไว้ ในด้านบุคคลทุกคนต้องเตรียมความพร้อมของตนเองในการฝึกบทเพลงต่างๆที่ใช้ประกอบในการบรรเลง ทั้งจะต้องมีความเชื่อมั่นและคำนึงถึงความถูกต้องในการฝึก ใช้ความรู้ความสามารถและความมานะพยายามที่จะทำให้บทเพลงที่ตนเองแต่ละคนต้องรับผิดชอบ โดยเน้นคุณภาพในการบรรเลงให้มาก ต้องมีความขยันหมั่นเพียรในการฝึกซ้อม และแก้ไขข้อบกพร่องในจุดต่างๆ ที่ยังไม่ถูกต้อง
ให้เกิดความถูกต้องสมบูรณ์สูงสุด เพื่อพัฒนาตนเองให้มีความรู้ความสามารถเฉพาะตัวให้มากที่สุด อันจะนำไปสู่การพัฒนารูปแบบของการรวมวงต่อไป
เมื่อแต่ละบุคคลมีความรู้ความสามารถเฉพาะตัวในด้านการพัฒนาความรู้ความสามารถแล้ว การพัฒนารูปแบบของการรวมวงก็ต้องปรับให้เข้ากันได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะการพัฒนาด้านทักษะเทคนิคปฏิบัติเกี่ยวกับการรวมวง ซึ่งในเรื่องดังกล่าวต้องให้เกิดความสอดคล้องกันทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นนักดนตรี ครูผู้สอน และผู้อำนวยเพลง ผลของการบรรเลงจึงจะบังเกิดความสำเร็จด้วยดี ทั้งนี้เป็นเพราะเกิดจากการประสานงานของทุกๆฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งครูผู้สอน และผู้อำนวยเพลงจะมีบทบาทอย่างมาก ที่จะต้องหาจุดบกพร่องต่างๆเพื่อนำมาปรับปรุงและแก้ไขให้ดีขึ้น และพัฒนาสิ่งที่ดีอยู่แล้วให้ดีขึ้นไปอีก ดังนั้นบุคลากรทุกฝ่ายจึงควรมีความสัมพันธ์ควบคู่กันไป ถ้าขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็จะทำให้ผลของการบรรเลงนั้นด้อยลงไปอย่างเห็นได้ชัดเจน
ประการสำคัญที่สุดที่จะขาดไม่ได้ก็คือ ความร่วมมือของสถานศึกษา ซึ่งเรื่องนี้นับเป็นปัญหาอย่างมากในการจัดการวงโยธวาทิตในสถานศึกษา ถ้าขาดความร่วมมือกันในการทำงาน ถึงแม้ว่าจะมีบุคลากรที่มีความสามารถสูง นักเรียนมีทักษะในการปฏิบัติดี แต่ถ้าทุกฝ่ายขาดความร่วมมือกัน ก็จะทำให้วงโยธวาทิตนั้นๆประสบกับความสำเร็จไม่ได้ หรือทำได้ก็ไม่ดีเท่าที่น่าจะเป็นไป
2. ความพร้อมทางด้านบทเพลง และการรู้จักเลือกบทเพลงตามความพร้อมจากข้อ 1 และความถูกต้องเหมาะสมกับจังหวะ ลีลา และอารมณ์ ของการแปรขบวนในรูปแบบต่างๆที่สอดคล้องกลมกลืนกันภายในระยะเวลาที่กำหนด
ปัจจัยในการเลือกบทเพลงสำหรับบรรเลง ประการแรกพิจารณาจากความสามารถของนักเรียนเป็นหลัก ซึ่งมาตรฐานความสามารถจะเป็นตัวแปรในการเลือกบทเพลง คือ ต้องเลือกบทเพลงที่เหมาะสมกับความสามารถของผู้บรรเลงที่มีอยู่ ณ เวลานั้น ไม่ควรยึดตามความต้องการของครูผู้สอนหรือผู้อำนวยเพลงเป็นหลักในการคัดเลือกบทเพลง ในการจัดการเรียนการสอนควรที่คำนึงถึงในเรื่องดังกล่าวอย่างมาก ซึ่งบางโรงเรียนยังไม่คำนึงในหลักวิธีการในข้อนี้มักนิยมความสามารถของบุคคลอื่นหรือโรงเรียนอื่นเป็นเกณฑ์ แล้วนำมายึดถือปฏิบัติในการฝึกวงโยธวาทิตภายในโรงเรียนของตนเอง ปัญหาจึงเกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เป็นผลทำให้การบรรเลงไม่ได้บรรลุจุดประสงค์ที่วางไว้ ทั้งนี้ก็เพราะความสามารถเฉพาะตัวหรือความสามารถในการรวมวงยังไม่ถึงจุดที่จะเลือกปฏิบัติตามอย่างนั้น กล่าวโดยสรุปก็คือเลือกบทเพลงที่ยากเกินความสามารถของนักเรียนทำให้ไม่สามารถปฏิบัติได้ ดังจะเห็นตัวอย่างได้ทั่วๆไปในปัจจุบัน เช่น จากการบรรเลงเพลงเดียวกัน ถ้านักดนตรีมีความสามารถต่างกันหรือมีความสามารถไม่เท่ากัน บทเพลงที่บรรเลงออกมาก็จะแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ฉะนั้นครูผู้สอนจึงควรเลือกบทเพลงที่พอเหมาะกับความสามารถ
ของนักเรียนเป็นประการสำคัญ อย่ายึดเกณฑ์ความสามารถหรือตามความต้องการของครูผู้สอนเป็นเกณฑ์ในการเลือกบทเพลง และควรละเว้นการลอกเลียนแบบคนอื่นโดยไม่คำนึงถึงความสามารถของนักเรียนเป็นหลัก ความล้มเหลวก็จะบังเกิดขึ้นและจะเกิดผลเสียตามมา ซึ่งสิ่งนี้ควรให้ความสำคัญเป็นพิเศษ
ประการที่สองเมื่อเลือกบทเพลงได้แล้ว ขั้นต่อไปก็คือการเลือกเพลงให้เหมาะสมกับจังหวะ ลีลา และอารมณ์ที่สัมพันธ์กับการแปรขบวนในรูปแบบต่างๆ ในข้อนี้มักจะเกิดความผิดพลาดขึ้นบ่อยๆกับวงโยธวาทิตโดยทั่วๆไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเลือกเพลงได้แล้วแต่ไม่ได้ศึกษาในองค์ประกอบของเพลง ไม่ทำความเข้าใจหรือศึกษาสิ่งต่างๆในบทเพลงทำให้บางครั้งรูปขบวนหรือรูปแบบไม่ตรงกับจินตนาการที่มีมาในบทเพลง จึงเป็นความสำคัญที่ต้องสร้างรูปแบบให้ผสมกลมกลืนกับจังหวะ ลีลา และอารมณ์ในบทเพลง เพื่อให้ผู้ชมได้มีอารมณ์คล้อยตามบทเพลงและรูปแบบที่นำเสนอนั้นๆ และควรมีรูปแบบและบทเพลงที่หลากหลาย เพื่อตรึงใจให้ผู้ชมอยากที่จะติดตาม และสร้างจินตนาการร่วมไปกับการแสดงนั้นเพื่อให้ได้อรรถรสในการชม
องค์ประกอบในการแปรขบวน
องค์ประกอบในการแปรขบวนที่จะกล่าวถึง คือ จังหวะการก้าวเดิน ระยะต่อระยะเคียงในรูปขบวน การเลี้ยวทำมุมในองศาต่างๆ การแสดงความเคารพ การวางตัวในการบรรเลง การเลือกเพลงประกอบ และอื่นๆ ดังนี้
1. จังหวะการก้าวเดิน ควรคำนึงถึงความ สูง ต่ำ ของผู้บรรเลงเป็นสำคัญ ผู้ที่มีร่างกายสูงควรลดระยะการก้าวเดินให้สั้นลงกว่าผู้ที่มีความสูงน้อยกว่าคือให้ระยะการเดินมีความพอดี ทั้งนี้เพื่อความสวยงามในการก้าวเดินไปพร้อมๆกัน การก้าวเท้าไม่ควรให้ส่วนหัวเข่าหย่อนมากนักเหมือนกับการก้าวเดินปกติ เพราะจะทำให้ขาดความสง่างาม ควรตบฝ่าเท้าให้เต็มที่ในขณะที่ก้าวเดิน ไม่ควรลงเท้าเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งเท่านั้น (ในการเดินรูปแบบเพลงมาร์ช ยกเว้นการเดินเพื่อการแสดง)
2. การซอยเท้าอยู่กับที่ ต้องยกระดับหัวเข่าให้สูง คือ ต้องให้ระดับหน้าขาตลอดถึงหัวเข่าขนานกับพื้น ลงฝ่าเท้าทุกส่วนพร้อมกัน การซอยเท้าต้องไม่เคลื่อนที่ไปข้างหน้า หรือเอนเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง กล่าวคือต้องรักษาการทรงตัวให้ดี
3. การแกว่งแขน เป็นส่วนสำคัญในการซอยเท้าอยู่กับที่ หรือการก้าวเดินในขณะที่ยังไม่ถึงคิวที่ตนเองต้องบรรเลง มือข้างที่ไม่ได้จับถือเครื่องมือต้องแกว่งและการแกว่งต้องกระทำอย่างทะมัดทะแมง ซึ่งต่างจากการแกว่งแขนในการเดินปกติ คือ ต้องมีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของการแกว่ง กล่าวคือ ควรเริ่มที่ปลายนิ้วอยู่บริเวณระดับหน้าท้องแล้วตีมือออกไปทางด้านข้าง เมื่อถึงระยะสิ้นสุดมือจะเกร็ง ลำแขนตึง หรือจะ
ใช้เทคนิคการแกว่งอย่างอื่นๆที่เห็นเหมาะสมก็สามารถทำได้ เช่น การแกว่งแบบธรรมดาแต่ระยะเริ่มแรกและระยะสิ้นสุดจะต่อเนื่องกันไม่ต้องเกร็งแขนให้ปล่อยตามสบาย จุดเริ่มต้นเริ่มจากบริเวณหน้าท้องและสิ้นสุดที่ด้านข้างลำตัว
4. ระยะต่อระยะเคียง เป็นการกำหนดระยะความห่างระหว่างบุคคลภายในรูปขบวนซึ่งกำหนดโดยประมาณ 3 ก้าวในทุกทิศทาง ส่วนคทากร (Drum Major) อยู่ห่างจากขบวนประมาณ 6 ก้าว ในระหว่างการเดินทุกคนต้องระมัดระวังให้ระยะห่างที่กำหนดเท่ากัน ทั้งแนวหน้ากระดานและแนวขบวน ซึ่งดูแล้วจะเป็นระเบียบสวยงาม กล่าวคือ ถ้าจัดแถวและเดินโดยถูกต้องแล้วมองทิศทางไหนก็สังเกตได้ว่าเป็นแนวตรงตลอด ไม่ว่าจะเป็นแนวหน้ากระดาน ตอนลึก หรือตอนทะแยง ถ้าปฏิบัติได้เช่นที่กล่าวมานี้ ก็จะทำให้แถวมีความเป็นระเบียบเรียบร้อยเกิดความสง่าและสวยงามเพราะเป็นการยากมากในการฝึก แต่ถ้าพยายามฝึกมากๆ แลบ่อยๆจนเกิดความเคยชินแล้ว แถวจะตรงได้ตามที่ต้องการ ไม่ว่าจะมองด้านใดแถวจะดูตรง ไม่คดโค้ง ซึ่งสิ่งนี้จะอยู่ที่ระยะเวลาในการฝึก และความช่างสังเกตของผู้บรรเลงเองที่จะทำให้แถวเป็นระเบียบและมีความสง่างามเพียงใด การจัดแถวปกติควรให้คทากรอยู่ห่างจากแถวแรกประมาณ 6 ก้าว ระยะต่อระยะเคียงภายในแถวประมาณ 3 ก้าว (ก้าวที่เป็นเกณฑ์มาตรฐานประมาณ 50 เซนติเมตร)
ตัวอย่างการจัดแถวปกติ ผู้บรรเลง 16 คน
O
O O O O
O O O O
O O O O
5. การทำความเคารพ ถือเป็นมารยาทของคนไทยที่ต้องมีการทักทายกันตามโอกาส ถ้าไม่กล่าวในเรื่องนี้ก็จะขาดองค์ประกอบซึ่งต้องปฏิบัติในการบรรเลงวงโยธวาทิต เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของคทากรที่ต้องเป็นผู้ปฏิบัติ เมื่อเดินผ่านผู้ที่ควรเคารพ เช่น การเดินผ่านประธานในพิธีขณะเดินสวนสนาม หลักการปฏิบัติที่ถือเป็นประเพณีนิยม คือ การทำวันทยาหัตถ์ (เพราะคทากรส่วนใหญ่สวมหมวก) จะใช้ 3 นิ้ว หรือ 5 นิ้วขึ้นอยู่กับเครื่องแต่งตัว คือ การเคารพตามสิทธิแต่ต้องกระทำให้เกิดความสง่างาม ตามหลักการทำความเคารพในรูปแบบทางราชการ หรือจะใช้เทคนิคเพิ่มเติมก็ย่อมทำได้ แต่อย่าถึงกับมองดูแล้วน่าเกลียด การลดมือลงก็เช่นเดียวกัน คือ ต้องปฏิบัติให้ถูกวิธี
6. การเลี้ยวทำมุมในองศาต่างๆ ได้กล่าวไว้แล้วในเรื่องการเลี้ยว การหัน การหยุด จะเห็นได้ว่าเป็นสิ่งที่ต้องยึดถืออยู่ตลอดเวลา เพราะการก้าวเดินไปข้างหน้าผู้เดินไม่สามารถล่วงรู้ว่าจะมีอุปสรรคใดขวางกั้น คทากรต้องใช้ดุลยพินิจในการตัดสินใจเพื่อเดินนำแถวให้สู่จุดหมาย ในเรื่องการเลี้ยวทำมุมในองศาต่างๆมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการแปรขบวน เพื่อปรับตำแหน่งการเดินให้ไปในทิศทางต่างๆตามที่ต้องการ ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากในการบรรเลงภาคสนาม โดยเฉพาะการบรรเลงเพื่อจุดประสงค์ให้ผู้สนใจได้ชมการเคลื่อนที่ของผู้บรรเลงจะไปในทิศทางที่ต่างกันตามที่ผู้ฝึกกำหนด แต่หลักสำคัญคือต้องให้กลุ่มเครื่องดนตรีที่บรรเลงแนวทำนองเดียวกันต้องเดินไปในทิศทางเดียวกัน อย่าแยกกันโดยเด็ดขาดเพราะจะทำให้มีผลต่อการฟังของนักดนตรีและจะเกิดผลเสียต่อการบรรเลงตามมา การเดินในทิศทางองศาต่างๆ ครูผู้สอนจะเป็นผู้กำหนด เช่น กลุ่ม Trumpet เคลื่อนที่ 45 องศาทางขวา กลุ่ม Saxophone เคลื่อนที่ 45 องศาทางซ้าย เป็นต้น ผู้ฝึกต้องรู้ว่าตอนใดหรือเครื่องดนตรีชนิดใดเคลื่อนที่ไปในทิศทางใด ในการปฏิบัติอาจใช้ประโยคเพลงเป็นตัวกำหนด หรือใช้ท่อนเพลงกำหนดก็ได้แล้วแต่ความเหมาะสม เช่น
2 วรรคเพลง แถว ก. ทำมุม 45 องศา ทางขวาเดินหน้า 20 ก้าวเดินปกติ
8 หมู่กลอง แถว ข. ทำมุม 60 องศา ทางซ้ายเดินหน้า 40 ครึ่งก้าวเดินปกติ
16 หมู่กลอง แถว ค. ทำมุม 90 องศา ทางขวาเดินหน้า 20 ก้าวเดินปกติ
4 วรรคเพลง แถว ง. ทำมุม 60 องศา ทางซ้ายเดินหน้า 20 ก้าวเดินปกติ
4 วรรคเพลง แถว จ. ทำมุม 90 องศา ทางซ้ายเดินหน้า 20 ก้าวเดินปกติ
เมื่อเป็นเช่นนี้จะทำให้ผู้ปฏิบัติในแถว ก ข ค ง และจ ทราบว่าจะปฏิบัติอย่างไรดังนี้เป็นต้น
7. การวางตัวในการบรรเลง ในขณะบรรเลงผู้บรรเลงต้องมีสมาธิในการบรรเลง ไม่วอกแวกในขณะที่กำลังบรรเลงเพราะจะทำให้บทเพลงที่บรรเลงขาดความสมบูรณ์ในอรรถรสและอารมณ์เพลงเท่าที่ควร อาจทำให้บทเพลงขาดความไพเราะลงไปได้ต้องนึกอยู่เสมอว่าเรากำลังปฏิบัติหน้าที่ ส่วนใหญ่แล้วเมื่อมีการบรรเลงที่มีผู้ชม ผู้บรรเลงมักให้ความสนใจในสิ่งที่พบเห็นมากกว่าเนื้อหาในบทเพลง ทำ
ให้ขาดสมาธิในการบรรเลง ซึ่งเป็นสิ่งที่นำมาซึ่งความเสียหายอย่างยิ่ง และในขณะที่พักการบรรเลงชั่วครู่ ในขณะที่ยังไม่ถึงเวลาที่ตนต้องบรรเลงก็ควรอยู่ในท่าพักโดยการจับถือเครื่องดนตรีในลักษณะท่าพักให้ถูกต้อง แกว่งแขนตามรูปแบบที่กำหนด อยู่ในระเบียบวินัยของรูปขบวนอย่างเคร่งครัด ในขณะที่เดินบรรเลงต้องให้ระมัดระวังเป็นพิเศษในเรื่องการจรดปากและการผ่อนลมเข้าไปในเครื่องดนตรี เพราะร่างกายส่วนใหญ่จะเคลื่อนที่ ทำให้ยากต่อการบังคับ จึงต้องทำในส่วนนี้ให้ได้โดยอย่าให้ขาดคุณสมบัติในด้านเสียง ลีลา จังหวะ และอารมณ์เพลง กล่าวคือ เทคนิคต่างๆก็คงเป็นไปตามที่บทเพลงกำหนด ความสมดุลของเสียงก็ต้องรักษาระดับไว้ให้ดี จึงเห็นได้ว่าการบรรเลงภาคสนามนั้นต้องใช้ความพยายามอย่างมากกว่าการนั่งบรรเลงหลายเท่า ในเรื่องของการบรรเลง การบังคับและการควบคุมการบรรเลง ให้เป็นไปตามฉันทลักษณ์ทางดนตรีอย่างแท้จริง
8. มารยาทของผู้บรรเลง นอกจากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว เรื่องของมารยาทของผู้บรรเลงก็เป็นสิ่งสำคัญ นักดนตรีต้องคำนึงถึงอยู่เสมอว่าผู้ชมคือผู้มีเกียรติที่เราต้องให้ความเคารพ ฉะนั้นเราจึงจำเป็นต้องรักษามารยาทในการบรรเลง ควรเป็นนักดนตรีที่คนดูชื่นชอบในกิริยามารยาทที่ปฏิบัติ ในขณะที่บรรเลงควรเป็นผู้สุภาพเรียบร้อยทั้งก่อนบรรเลง ขณะบรรเลง และหลังการบรรเลง ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้นักดนตรีมักมองข้ามความสำคัญไป โดยอาจกล่าวได้ว่าเก่งแล้วลืมตัวนั่นเอง
9. ความสามัคคีในหมู่คณะ อีกสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญ ที่ใดถ้าขาดซึ่งความสามัคคีงานที่ทำก็จะไม่ประสบความสำเร็จ หรือสำเร็จก็ได้ดีไม่เท่าที่ควร นักดนตรีจึงต้องรักษาในสิ่งเหล่านี้ไว้เพราะวงโยธวาทิตเป็นวงดนตรีที่บรรเลงเพียงคนเดียวไม่ได้ต้องใช้ความพร้อมและความสมบูรณ์ของผู้บรรเลง ถ้าขาดคนใดคนหนึ่งการบรรเลงก็จะไม่สมบูรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการตรงต่อเวลา วงโยธวาทิตส่วนใหญ่จะมีปัญหาในเรื่องนี้อย่างมาก คือสมาชิกมักมาปฏิบัติหน้าที่ไม่ตรงเวลาที่นัดหมาย สิ่งเหล่านี้เป็นผลเสียหายอย่างยิ่งที่นักดนตรีทุกคนควรให้ความสนใจ เราต้องคิดอยู่เสมอว่าการรักษาเวลาเป็นหัวใจของการบรรเลง อย่าเพียงแต่คิดว่าถ้าขาดเราคนอื่นก็คงบรรเลงได้ ถ้าทุกคนมีความคิดเช่นนี้เหมือนกันหมดอะไรจะเกิดขึ้นกับวงโยธวาทิตวงนั้น คำตอบก็คือการสูญสลายของวงในที่สุด ซึ่งมีให้เห็นมาแล้วมากมาย
10 เทคนิคการแปรขบวน การแปรขบวนเป็นเทคนิควิธีของครูผู้สอน ที่จะกำหนดรูปแบบของแถวในการเคลื่อนที่ตามที่กำหนดซึ่งไม่สามารถกำหนดเป็นแบบมาตรฐานตายตัวได้ จึงเสนอแนะเพื่อเป็นแนวทางในการนำไปพัฒนารูปแบบต่างๆเท่านั้น
เทคนิคปฏิบัติ
1. หมวดหมู่ของเครื่องดนตรีที่บรรเลงในทางทำนองเดียวกัน ควรให้เคลื่อนที่ไปในทิศทางเดียวกัน
2. การแปรขบวนไม่ควรใช้พื้นที่ในการแปรขบวนกว้างเกินไป เพราะจะทำให้นักดนตรีไม่ได้ยินเสียงซึ่งกันและกัน แต่ถ้านักดนตรีทีมีความสามารถสูงก็ย่อมทำได้
3. รูปแบบควรให้สัมพันธ์กับบทเพลงที่บรรเลง เพราะจะทำให้ผู้ชมมีอารมณ์คล้อยตาม และมองภาพด้วยความสุนทรี
4. ควรใช้เพลงช้าบ้างเร็วบ้างสลับกัน เพื่อสร้างอารมณ์และความรู้สึกต่อผู้ฟัง
5. เพลงที่ใช้บรรเลงไม่ควรเกินความสามารถของผู้บรรเลง
การสร้างรูปแบบแปรขบวน
1. สร้างด้วยการใช้ตุ๊กตาสมมติเป็นตัวแทนของผู้บรรเลง กำหนดจุดหรือทิศทางในการเคลื่อนที่ สร้างแบบลงบนกระดาษ แล้วคำนวณหาระยะทางของการเดิน
2. ใช้ตารางคำนวณทิศทางการเดิน ตามมุมและองศาต่างๆ
3. คำนวณทิศทางการเคลื่อนที่ด้วยตัวของนักดนตรีเองในสนามฝึกจริง
4. ใช้เทคโนโลยีประกอบการจัดรูปแบบแปรขบวน
รูปแบบการดำเนินการที่ไม่ใช้เทคโนโลยี
1. เขียนรูปแบบการเคลื่อนที่ลงบนแผ่นใส ทั้งที่ตั้งปกติและตำแหน่งการเคลื่อนที่ไปทีละรูป เหมือนกับการเคลื่อนที่ของตัวการ์ตูนในภาพยนต์ ตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งจบขบวน โดยบันทึกความเปลี่ยนแปลงของรูปขบวนทีละขั้นตอนในเรื่องของทิศทาง และจำนวนก้าว
2. กำหนดประโยคเพลงหรือจำนวนท่อนเพลงแล้วสร้างรูปสมมติ ให้เดินไปตามแนวจนถึงที่ตั้งตามที่กำหนด โดยใช้เพลงเป็นหลักในการก้าวเท้า สั้น ยาว ตามระยะทางในการเดิน
3. การนับหมู่กลองเดินไปในทิศทางและองศาที่กำหนด ใช้ระยะการก้าวเท้าที่เท่ากัน และระยะทางการเดินเท่ากัน
4. กำหนดเพลงก่อน แล้วกำหนดทิศทางการเคลื่อนที่และองศาการเดินภายหลัง
วิธีการฝึกและการจัดรูปขบวน
ต้องคำนึงถึงความพร้อมของวงว่าใช้จำนวนผู้บรรเลงเท่าใด โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 แบบ คือ การจัดขบวนแถวตับ 4 และการจัดขบวนแถวตับ 5 ส่วนจะให้แถวตอนเป็นเท่าใดนั้นจะขึ้นอยู่กับจำนวนผู้บรรเลงในที่นี้จะให้ข้อเสนอแนะเฉพาะแถวตับ 5 แถวตอน 9 ซึ่งใช้ผู้บรรเลงจำนวน 45 คน คทากร 1 คน โดยใช้วิธีการจัดรูปแถวได้ดังนี้ คือ
1. กำหนดให้แถวริมขวาสุดเป็นแถว ก. เรียงทางซ้ายเป็นแถว ข. ค. ง. จ. ตามลำดับหรือจะใช้อักษร A, B, C, D, E ก็ได้ แล้วแต่ที่เห็นสมควร
2. การเรียงหน้าตับให้ถือเกณฑ์แถวหน้าสุดเป็นหน้าตับที่ 1 เรียงลงมาเป็น 2, 3, 4, 5, 6, 7, 8, 9 ตามลำดับ
3. ให้รหัสประจำตัวกับผู้บรรเลงทุกคนในขบวนตามที่กำหนด และให้ทุกคนจำรหัสของตนเองไว้ เพื่อไม่ให้เกิดการผิดพลาดในเวลาแปรขบวน
4. การกำหนดตำแหน่งของเครื่องดนตรีขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในการแปรรูปขบวน บางครั้งอาจไม่ใช้หลักเกณฑ์ที่เสนอแนะมาให้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการหรือความเหมาะสมที่ครูผู้สอนจะเลือกใช้ว่าให้รูปขบวนออกมาในลักษณะใด จึงไม่สามารถกำหนดตายตัวลงไปได้ แต่ขอเสนอแนะการจัดที่เป็นรูปขบวนตัวอย่างพอสังเขป เพื่อเป็นแนวทางในการจัดให้สอดคล้องกับความคิดสร้างสรรค์ในการแปรรูปขบวนที่ครูผู้สอนมีอยู่ให้สอดคล้องกันกับหลักเกณฑ์และวิธีการที่นำเสนอมา เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติ และนำไปใช้สร้างรูปแบบการแปรรูปขบวนต่อไป
ตัวอย่างการกำหนดเครื่องดนตรีในรูปแถวปกติ
แถวที่ 1 Trombone
แถวที่ 2 Euphonium
แถวที่ 3 Saxophone
แถวที่ 4 Cornet or Trumpet
แถวที่ 5 Drum & Cymbal
แถวที่ 6 Horn & Trio Drum
แถวที่ 7 Clarinet
แถวที่ 8 Clarinet & Flute
แถวที่ 9 Piccolo & Bass
แถวเครื่องดนตรีที่กำหนดอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความสมดุลของเสียงด้วยว่าควรกำหนดไว้ ณ จุดใดของขบวน เช่น บางครั้งถ้าจัด Trumpet อยู่หลังหมู่กลองเสียงจะอับ เพราะเสียงของกลองจะกลบเสียงของ Trumpet จึงทำให้ขาดความชัดเจนของเสียงไป เพราะเพลงส่วนใหญ่ Trumpet มีหน้าที่บรรเลงทำนองหลัก ถ้ามีสิ่งใดมาขวางกั้นจะทำให้เสียงทึบ ความกังวานไปได้ไม่ไกล ส่วนเครื่องอื่นๆนั้นสามารถปรับตำแหน่งให้เหมาะสมได้อีก เช่น ให้เครื่องที่มีเสียงสูงอยู่ส่วนหน้าของวง และเครื่องที่มีเสียง ต่ำ ทุ้ม อยู่หลัง แต่ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความสง่างามของวง และความสวยงามในการจัดรูปขบวนเป็นประการสำคัญ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น