วันอังคารที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2554

การหายใจ

บทที่ 3

การหายใจ

วิธีการหายใจในการเริ่มฝึกเครื่องดนตรี
กล้ามเนื้อที่เกี่ยวกับการหายใจหรือกล้ามเนื้อริมฝีปากต้องได้รับการฝึกฝนพัฒนา และยังต้องรักษามันไว้ในสภาพที่พร้อมใช้งาน การพัฒนากล้ามเนื้อเหล่านี้ก็เช่นเดียวกับกล้ามเนื้ออื่นๆของร่างกายนั่นเอง ถ้าเราไม่ใช้ก็จะอ่อนล้าและอ่อนแอลง
วิธีการหายใจสำหรับนักเล่นเครื่องเป่า ค่อนข้างแตกต่างจากการหายใจสำหรับการดำรงชีวิตของคนโดยทั่วไป การหายใจเพื่อเป่าเครื่องดนตรีต้องหายใจอย่างเต็มที่ คือ ต้องนึกถึงอยู่ตลอดเวลาในขณะเล่นเครื่องเป่า คือ “สูดลมให้เต็มที่”
การหายใจแบ่งเป็น 2 วิธี คือ
1. การหายใจโดยทรวงอก (Chest Breathing) คือ การหายใจโดยยกหน้าอกขึ้นอากาศภายนอกจะเข้าไปในปอดแต่ไม่ลงลึกไปในปอดมันเพียงเข้าไปในส่วนบนของปอดเท่านั้น การหายใจเช่นนี้พบได้ในคนปกติทั่วไปแต่ไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องสำหรับการเล่นเครื่องเป่า
2. การหายใจโดยกระบังลม (Diaphramatic Breathing) คือ การหารใจที่ลงลึกมากที่สุดการหายใจวิธีนี้เป็นการฝึกที่ยากพอควร โดยการสูดลมให้เข้าไปในกล้ามเนื้อระหว่างบริเวณใต้ปอดกังช่วงท้อง เรียกว่า “กล้ามเนื้อกระบังลม” ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อที่แบ่งครึ่ง ระหว่างปอดกับอวัยวะภายในช่องท้องเป็นส่วนที่อยู่ใต้ปอด เมื่อหายใจกล้ามเนื้อจะดึงตัวลง และอากาศจะถูกดึงเข้ามาอยู่ทั้งในส่วนของปอดและกล้ามเนื้อกระบังลม สำหรับการหายใจเพื่อการเป่าเครื่องดนตรีนั้นกล่าวว่า ต้องเป็นการหายใจที่ใช้ทั้งสองส่วนไปด้วยกัน จึงจะสามารถเป่าได้เสียงลมยาวตามความต้องการ
ความแตกต่างของการหายใจ 2 วิธีนี้ ถ้าเป็นวิธีแรกเราจะรู้สึกเพียงว่าลมที่หายใจเข้านั้นมาอยู่ตรงหน้าอกหรือส่วนบนของร่างกายเท่านั้น สำหรับวิธีหลังจะรู้สึกเหมือนกำลังสูดลมลงไปที่ท้อง ถ้าสังเกตจะรู้สึกว่าทุกส่วนในท้องเกิดการขยายตัว ซึ่งความเป็นจริงนั้นขณะที่หายใจลมได้ผ่านปอดเข้าไปในกล้ามเนื้อกระบังลมจึงเกิดการขยายตัวทำให้ไปกดส่วนต่างๆให้ลดต่ำลง


วิธีการหายใจ
การหายใจครั้งหนึ่ง ๆ แบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน คือ
1. การหายใจเข้าสู่จุดลึกสุด (Bottom) บริเวณกระบังลม
2. การหายใจไปยังส่วนกลาง (ปอด)

3. การหายใจไปยังส่วนบน (ทรวงอก)
การหายใจทั้ง 3 ขั้นตอนต้องปฏิบัติให้ต่อเนื่องกันอย่างรวดเร็ว ดังภาพ
ปกติ ลมเข้าสู่จุดลึกสุด ส่วนกลาง ส่วนบน
ในการเล่นเครื่องเป่าเราต้องการลมที่อัดแน่นเพียงพอให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ทั้งนี้มิใช่เพียงเพื่อเป่าตัวโน้ตที่ต้องเล่นเท่านั้น แต่ลมต้องนำไปใช้ในระบบทางร่างกายด้วย
ข้อสังเกตในการหายใจว่าปฏิบัติได้ถูกต้องแล้วหรือไม่ ตรวจสอบได้โดยการวางมือไว้บริเวณเอวส่วนหลัง ถ้าไม่รู้สึกขยายตัวในขณะที่หายใจเข้าหมายความว่าเรายังหายใจไม่ลึกพอ หรือได้ลมยังไม่พอกับความต้องการและความถูกต้อง ข้อควรระวังก็คือในขณะเป่าเครื่องดนตรีต้องรักษาแผ่นหลังให้ตั้งตรงเสมอ ไม่พิงพนักเก้าอี้ ทำลำตัวให้ตั้งตรงอยู่ตลอดเวลา ร่างกายส่วนบนต้องอยู่ในลักษณะเดียวกันทั้งท่ายืนและท่านั่ง ที่ต้องปฏิบัติเช่นนี้เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการส่งกระแสลมขึ้นจากปอด ถ้ามีสิ่งใดมาขวางทางอยู่ระหว่างทางจากปอดถึงริมฝีปาก แสดงว่าเราได้สร้างสิ่งกรีดขวางขึ้นในระหว่างทางเดินของกระแสลมก่อนที่จะถึงริมฝีปาก ซึ่งจะทำให้เกิดอุปสรรคในการฝึกปฏิบัติเครื่องดนตรี โดยเฉพาะบริเวณคอหอย (Glottis) ซึ่งเป็นที่สั่นสะเทือนเพื่อการสร้างเสียง ในลักษณะเดียวกับการใช้ริมฝีปากกับเครื่องดนตรี แต่คอหอยมักเป็นจุดที่สร้างความยุ่งยากให้กับผู้เล่นเครื่องดนตรีถ้าไม่รู้จักการควบคุมลมที่ถูกต้อง โดยต้องให้ส่วนของลำคอเปิดอยู่ตลอดเวลา เพื่อความสะดวกในการเดินทางของลม ถ้าไม่เช่นนั้นในขณะที่เป่าในเสียง


ช่วงสูงเราต้องเกร็งตามร่างกายของเราเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งเกร็งที่รูปปากเพิ่มมากขึ้น และนอกจากนั้นก็จะเพิ่มการเกร็งตัวที่คอตลอดจนกล้ามเนื้อรอบนอกลำคอมากขึ้นเช่นเดียวกันซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้องมากนัก ดังนั้นจึงต้องฝึกบ่อยๆเพื่อควบคุมลำคอให้เปิดได้ และสามารถฝึกดนตรีได้อย่างถูกต้อง อีกทั้งไม่เสียสุขภาพอนามัยตามมา ควรฝึกการหายใจบ่อยๆวันละ 5 ถึง 10 นาที ติดต่อกันทุกวัน หลังจาก 2 เดือนก็จะสามารถควบคุมลำคอให้เปิดได้ และจะสามารถเริ่มใช้วิธีที่ถูกต้องนี้ ขณะที่เล่นเครื่องดนตรีได้ และสามารถรักษาสภาพให้คอเปิดอยู่ได้เสมอ
การหายใจในการปฏิบัติเครื่องเป่า
การหายใจที่ถูกต้องจะช่วยให้การเป่าดีขึ้น นอกจากนั้นส่วนที่มีความสำคัญซึ่งต้องคำนึงถึงคือการวางปากที่ถูกต้องจึงจะสามารถควบคุมสำเนียงทางเสียงและประโยคเพลงได้อย่างสมบูรณ์ องค์ประกอบที่สำคัญ คือ อวัยวะที่ใช้ในการหายใจ ซึ่งขึ้นอยู่กับกระบวนการหายใจเข้าและหายใจออกที่ต้องเป็นธรรมชาติที่สุด กล่าวคือ
1. การหายใจเข้า การหายใจที่ถูกต้องไม่ว่านั่งหรือยืนควรอยู่ในลักษณะอกผายแต่ไม่ยกไหล่ ให้เป็นไปอย่างธรรมชาติ ไม่เกร็ง วิธีการคืออ้าปากดึงขากรรไกรล่างลงแล้วเปิดหลอดลมให้กว้างเหมือนการหาว แล้วสูดลมข้าทางปากจนเต็มท้องน้อย กระบังลม ปอด และหน้าอก การหายใจเข้าแบ่งได้เป็น 3 ระยะ คือ
1.1 ระยะที่ 1 การหายใจโดยการเพิ่มลมบริเวณกระบังลมส่วนล่าง ให้ใช้มือข้างใดข้างหนึ่งแตะบริเวณหน้าท้อง โดยให้นิ้วก้อยอยู่บริเวณสะดือ หรือบริเวณซี่โครงซี่สุดท้าย เมื่อหายใจเข้าจะรู้สึกว่าท้องป่องออกเล็กน้อย
1.2 ระยะที่ 2 ให้เพิ่มลมจากระยะที่ 1 ลมจะเพิ่มขึ้นในกระบังลมส่วนบน ตรวจสอบได้โดยเอามือจับบริเวณซี่โครงใต้รักแร้ จะรู้สึกว่าบริเวณนั้นกล้ามเนื้อขยายออกเล็กน้อย
1.3 ระยะที่ 3 เพิ่มลมให้เต็มปอด จะรู้สึกว่าหน้าอกยกขึ้นเล็กน้อย
2. การเป่าลมออก ต้องควบคุมให้ลมออกอย่างสม่ำเสมอตามความต้องการ โดยมีหลัก 4 ประการ ดังนี้
2.1 การเป่าเสียงต่ำและดัง ใช้ปริมาณลมมาก ความเร็วของกระแสลมเคลื่อนที่ช้า
2.2 การเป่าเสียงต่ำและเบา ใช้ปริมาณลมน้อย ความเร็วของกระแสลมเคลื่อนที่ช้า



2.3 การเป่าเสียงสูงและดัง ใช้ปริมาณกระแสลมมาก ความเร็วของกระแสลมเคลื่อนที่เร็ว
2.4 การเป่าเสียงสูงและเบา ใช้ปริมาณกระแสลมน้อย ความเร็วของกระแสลมเคลื่อนที่เร็ว
ส่วนเทคนิคที่พึงสังเกตคือในการเล่นโน้ตช่วงเสียงต่ำๆจะต้องให้กล้ามเนื้อส่วนล่างของช่องท้องตึงอยู่เสมอ ไม่ปล่อยให้หย่อน ในขณะเดียวกันในส่วนที่อยู่บนขึ้นไปจะหย่อนกว่า เมื่อเริ่มที่จะเคลื่อนที่ไปยังช่วงเสียงที่สูงขึ้น การดึงของกล้ามเนื้อจะต้องมีเพิ่มขึ้น และเพิ่มขึ้นแม้กระทั่งส่วนบนของร่างกายเพื่อสร้างกระแสลมที่หนาแน่นมาก ซึ่งจะต้องเคลื่อนที่ออกไปด้วยแรงดันที่แรงมาก และแรงดันนี้เกิดจากร่างกายทั้งร่าง และจิตใจต้องนึกว่า กำลังควบคุมให้กระบังลมยกสูงขึ้น
ข้อสังเกต อย่าลืมว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดในการเล่นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องลมนั้น การควบคุมลมหายใจต้องให้ปริมาณลมที่ถูกต้องและคงที่จึงจะสามารถทำให้ผู้ฝึกผลิตเสียงที่ไพเราะได้ ดังนั้นการฝึกการหายใจที่ถูกต้องจึงเป็นบทเรียนที่สำคัญอันดับแรกของผู้ฝึกเครื่องลมทุกคน ในชีวิตประจำวันน้อยคนนักที่จะหายใจเข้าอย่างเต็มปอด แต่เมื่อได้เริ่มฝึกเครื่องลมแล้วจึงจะรู้ว่าทำอย่างไรในการหายใจเอาอากาศเข้าไปให้เต็มปอดมากที่สุด โดยการปฏิบัติ ดังนี้
1) หายใจเข้าโดยให้รู้สึกว่าส่วนล่างของปอดทำงาน หรือส่วนที่เรียกว่ากระบังลม โดยต้องรู้สึกว่าเวลาหายใจเข้าบริเวณช่องท้องและกล้ามเนื้อด้านหลังเหนือเอวขยาย ความรู้สึกต่อช่องท้องและกล้ามเนื้อเหนือเอวนี้ทำให้กระบังลมขยายตัวอย่างถูกต้อง
ข้อแนะนำ ตอนต้นบทเพลง วาทยากร จะทำสัญญาณให้ทุกคนพร้อม และปฏิบัติ ดังนี้
1. เมื่อวาทยากรให้สัญญาณ จังหวะยก (ก่อนเป่า 1 จังหวะ) ให้ผู้เล่นหายใจเข้า
2. ไม่หายใจก่อนหน้านั้น และกลั้นหายใจ เพราะการกลั้นหายใจคอจะปิด
3. ในขณะเล่นใช้เฉพาะลมที่เคลื่อนไหวเท่านั้น
4. เมื่อหายใจจะต้องให้ลมออกทันทีที่ลมเต็มที่
5. ให้หายใจอย่างรวดเร็วจนเป็นธรรมชาติ
6. พยายามเขียนเครื่องหมายหายใจ (/) ด้วยดินสอ เพื่อการหายใจในจุดที่ควรหายใจในบทเพลง
2) หายใจเข้าโดยให้รู้สึกว่าส่วนกลางของปอดทำงาน และให้รู้สึกว่ากล้ามเนื้อระหว่างซี่โครงขยายตัว
3) หายใจเข้าโดยรู้สึกว่าส่วนบนของปอดทำงาน ไหล่และกล้ามเนื้อที่หน้าท้องขยายตัว

ความรู้สึกทั้ง 3 ส่วนนี้จะเริ่มจากส่วนล่างขึ้นมาหาส่วนบนเสมอ คล้ายกับการเติมน้ำลงไปในลูกโป่ง
ระยะเริ่มต้นของการฝึก
ในการฝึกที่สำคัญของผู้เล่นเครื่องลมนั้น คือการฝึกลมและการหายใจ เรื่องนี้นับเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจของผู้เล่นเครื่องลม เพราะการใช้ลมที่ดีนั้น จะช่วยพัฒนาเทคนิคต่าง ๆ ได้ดีแบบฝึกหัดแรกของการฝึกจึงเป็นเรื่องของการหายใจ และการใช้ลม ในด้านการหายใจนั้นได้กล่าวในรายละเอียดมาแล้ว แต่จะต้องคำนึงว่าต้องให้เป็นไปตามธรรมชาติ โดยไม่มีอาการเกร็ง จากนั้นให้จินตนาการถึงเทียน แล้วเป่าลมออกไปตรงๆที่ปลายนิ้ว
พยายามเป่าลมให้คงที่ โดยสังเกตลมที่เป่าออกมากระทบปลายนิ้ว จากนั้นก็ค่อยๆเพิ่ม ระยะให้ห่างออกไป ลมก็ต้องเพิ่มขึ้นตามสัดส่วน แบบฝึกนี้เป็นการฝึกควบคุมการใช้ลม ดังนั้นผู้ฝึกควรเอาใจใส่และคอยสังเกตการควบคุมกำลังของลมให้คงที่อย่างสม่ำเสมอ
จากนั้นก็จะเป็นเรื่องของการฝึกเครื่องดนตรี ซึ่งทุก ๆ เครื่องควรจะเริ่มจากการวาง รูปปากที่ดี เพื่อประโยชน์ของการพัฒนาในการเล่นต่อไป โดยเริ่มจากการเป่าปาก (Mouth Piece) ของเครื่อง และวางตำแหน่งให้เหมาะสมกับปากของผู้เล่น
การใช้ลมสำหรับเครื่องลมไม้
การหายใจสำหรับการเป่าเครื่องลมไม้มีลักษณะที่พิเศษกว่าการหายใจในเครื่องดนตรีประเภทอื่น ดังนั้นผู้ฝึกควรต้องศึกษาในเรื่องดังกล่าวซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนจึงไม่ควรมองข้ามในสิ่งนี้ ลมที่ใช้ในการเป่าเครื่งลมไม้มีความสำคัญที่จะทำให้เสียงที่ออกมามีคุณภาพที่แตกต่างกัน แบ่งเป็น2 ลักษณะ คือ
1. ลมอุ่น เป็นลมที่เป่าออกมามีความอุ่น ลักษณะคล้ายกับการหาวนอนหรือลักษณะการหายใจโดยอ้าปากให้กว้าง ลมอุ่นเกิดจากการเปิดหลอดลมให้กว้าง ลิ้นส่วนหลังอยู่ในลักษณะสูง ช่องปากขยายกว้าง กระแสลมที่เป่าจะไหลเอื่อย หรือการเป่าจู่โจมอย่างแรงและเร็วลมที่ออกมาจะอุ่น เหมาะกับการเป่าที่ต้องการจู่โจมแรงและเร็ว เช่น เสียงที่ใช้นิ้วแทน (นิ้วผี) เป็นต้น


2. ลมเย็น เป็นลมที่เป่าออกมามีความเย็น เช่น การผิวปาก กระแสลมจะมีความเร็วแต่ง่ายต่อการควบคุม การที่จะเป่าเครื่องลมไม้ให้มีเสียงนุ่ม ราบรื่น ควรใช้ลมเย็นในการเป่า อย่างไรก็ตามผู้ฝึกเครื่องลมต้องใช้ลมทั้งสองลักษณะในการเป่า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเสียงที่ต้องการ (มนัส วัฒนไชยยศ, 2539: 30)
สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงในการเป่าก็คือไม่หายใจทางจมูกหรือหายใจบ่อยครั้งและมีเสียงดัง การสูดลมไม่เพียงพอกับความต้องการ การสร้างบุคลิกที่ไม่ดีในการเป่า เช่น การยกอก ยกไหล่ หรือเกร็งกล้ามเนื้อบริเวณต้นคอขณะหายใจเข้า และที่สำคัญ คือ ไม่สามรถควบคุมเสียงได้ในระดับเดียวกัน
ความถูกต้องของการหายใจในขณะเป่า คือ ต้องเปิดหลอดลมและหายใจทางปาก ลมต้องมีมากพอที่ต้องเป่าให้ได้ประโยคเพลง หายใจด้วยความรวดเร็วมีปริมาณเพียงพอ และให้เต็มปอดทุกครั้งที่หายใจ ไม่เคลื่อนไหวอวัยวะส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการหายใจ และสามารถควบคุมลมให้ออกมาอย่างสม่ำเสมอ
การจัดรูปปาก (Embouchure)
การจัดรูปปากนั้นต้องดันกล้ามเนื้อริมฝีปากเข้าโดยรอบในลักษณะดึงที่บริเวณมุมปากทั้งสองข้างและควรพยายามรักษาจุดที่แน่นอนบนมุมปากทั้ง 2 ข้างและจุดนี้จะเป็นจุดที่สำคัญที่สุด ให้เกร็งมุมปากและดึงรั้งให้ต่ำลง ต้องใช้กล้ามเนื้อรอบปากโดยดึงให้คางต่ำลง ถ้าดันคางขึ้นเราจะสูญเสียการควบคุมต่อริมฝีปากด้านล่างทันที ถ้าทำสิ่งเหล่านี้ได้จะสามารถเป่าด้วยริมฝีปากได้โดยไม่ต้องกดแรงดันที่ปาก และมีสิ่งหนึ่งที่จะเสนอแนะ คือ ก่อนที่จะเล่นดนตรีในแต่ละวันให้เป่าปาก (Buzz) ให้ริมฝีปากสั่นเสียก่อน จะออกเป็นเสียงอะไรก็ได้ เพียงให้การใช้อวัยวะต่างๆของเราเป็นไปอย่างอิสระ
การวางปากในการเป่าเครื่องลมไม้
การเป่าเครื่องลมไม้ที่ดีควรเริ่มต้นในการฝึกการวางรูปปากให้ถูกต้องเสียก่อนในเบื้องต้น ก่อนที่จะพัฒนาการฝึกในด้านต่างๆ กล่าวคือ ในการฝึกเครื่องดนตรีประเภทเครื่องไม้ทุกชนิดสิ่งที่ต้องทำความคุ้นเคยเป็นอันดับแรกคือเรื่องของปากเป่า การวางปากเป่าที่ดีและถูกต้องนั่นหมายถึงความสำเร็จในขั้นแรกของการฝึก ส่วนเรื่องอื่นๆจะตามมาในภายหลังด้วยเทคนิควิธีในแต่ละส่วน
การวางปากเป่า อวัยวะที่มีส่วนสำคัญในการเป่า คือ กล้ามเนื้อบริเวณริมฝีปาก คาง และกล้ามเนื้อบริเวณรอบปาก ซึ่งมีหน้าที่ในการรัดรอบปากและส่วนที่เป็นลิ้นของเครื่องเป่านั้นๆ การวางปากจึงเป็นสิ่งสำคัญในการเป่าที่ผู้ฝึกต้องศึกษาให้เกิดความเข้าใจและปฏิบัติให้ถูกต้อง
องค์ประกอบที่สำคัญในการวางปากเป่า
1. โครงสร้างของรูปใบหน้า

2. กล้ามเนื้อบริเวณปาก
3. ตำแหน่งของปากเป่า
โครงสร้างของรูปใบหน้า
โครงสร้างของรูปใบหน้ามีส่วนให้การเป่าง่ายขึ้น และสามารถที่จะกำหนดว่าใบหน้าลักษณะใดเหมาะสมกับเครื่องเป่าชนิดใด ขอยกตัวอย่างแซกโซโฟนเป็นตัวอย่างพอสังเขป ดังนี้
1. คางรูปสี่เหลี่ยมจะมีความยาวของกระดูกหน้ามากกว่าปกติ เหมาะสำหรับแซกโซโฟนประเภทที่มีปากเป่าขนาดใหญ่ คือ เทเนอร์แซกโซโฟน บาริโทนแซกโซโฟน และเบสแซกโซโฟน
2. คางรูปแหลม เหมาะสำหรับเป่าแซกโซโฟนขนาดเล็ก คือ โซปราโนแซกโซโฟน และอัลโตแซกโซโฟน
3. ฟันบนยื่น โดยทั่วไปลักษณะเช่นนี้จะง่ายต่อการปรับในการวางปาก ยกเว้นผู้ที่มีฟันยื่นมากๆจะเป็นปัญหาที่ไม่สามารถปรับได้
4. ฟันล่างยื่น เหมาะสำหรับการปรับให้เข้ากับปากขนาดใหญ่ เช่น เทเนอร์แซกโซโฟน และบาริโทนแซกโซโฟน เพราะไม่ต้องอ้าปากกว้างมากในขณะเป่า แต่ไม่เหมาะกับเครื่องดนตรีที่มีขนาดเล็ก เช่น โซปราโนแซกโซโฟน และอัลโตแซกโซโฟน
ลักษณะของปากและฟันที่เหมาะสมกับการเลือกเป่าแซกโซโฟน

ลักษณะโครงสร้างของรูปฟันแบบต่างๆ

ฟันล่างยื่น ฟันบนยื่น ฟันปกติ
(Teal, 1963: 40)

ท่าวางปากกับรูปหน้าปกติ


ลักษณะของคางในรูปต่างๆ


(Teal, 1963: 37)

กล้ามเนื้อบริเวณปาก ริมฝีปากมีความสำคัญในการเป่า ต้องทำให้ริมฝีปากเป็นธรรมชาติมากที่สุดโดยไม่ต้องเกร็ง หน้าที่สำคัญของอวัยวะส่วนนี้มีหน้าที่ในการรัดปากเป่าและลิ้นไม่ให้ลมรั่ว การทำงานของริมฝีปากทั้งบนและล่างจะทำงานเป็นคู่ ถ้าด้านใดด้านหนึ่งเกร็งอีกด้านหนึ่งก็จะเกร็งตามไปด้วย ฟันบนและริมฝีปากบนทำงานเป็นคู่ มีหน้าที่ตั้งรับและโต้ตอบปากเป่า ส่วนฟันล่างและริมฝีปากล่างมีหน้าที่สนับสนุนปากเป่า



กล้ามเนื้อบริเวณริมฝีปาก (ด้านหน้า) ทำหน้าที่รวบปากเป่า


(Larry Teal, 1963: 38-39)

ข้อควรระวัง การเป่าต้องใช้แรงกดดันของขากรรไกรหรือการรัดตัวของกล้ามเนื้อบริเวณริมฝีปาก ไม่ใช่การใช้ฟันกัดซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด และระยะแรกของการฝึกควรมีการพัฒนากล้ามเนื้อบริเวณปากทุกๆวัน อย่างน้อยวันละประมาณ 5 นาที โดยใช้เวลาประมาณ 1 เดือน เพื่อให้กล้ามเนื้อมีความคุ้นเคย โดยเฉพาะริมฝีปากล่าง ฟันล่าง และบริเวณมุมปาก
การเตรียมความพร้อมของกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อมุมปาก การหาจุดศูนย์กลางของปาก โดยการวัดจากมุมปากทั้งสองข้างเข้ามาหาจุดศูนย์กลาง กล้ามเนื้อที่มุมปากมีความสำคัญมากจึงต้องได้รับการพัฒนาให้แข็งแรงพอสมควร ดังนี้
1) ให้ฝึกการยิ้มในลักษณะริมฝีปากปิด
2) ดึงมุมปากไปข้างหลังให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ในขณะที่เรายิ้ม


3) ปล่อยกล้ามเนื้อให้อยู่ในสภาพปกติ
4) ผิวปากให้มีเสียงต่ำเท่าที่จะทำได้ โดยอาจฝึกจากเสียงปกติก่อนแล้วค่อยๆปรับเสียงให้ต่ำลงเพื่อเปิดหลอดลมให้กว้าง
การฝึกการยิ้มโดยการปิดปากและผิวปากเสียงต่ำสลับกันประมาณ 50 ครั้งแล้วหยุดพักเมื่อรู้สึกเมื่อยริมฝีปาก ในขณะฝึกควรมีกระจกเงาเพื่อส่องดูความถูกต้องหรือไม่ในขณะฝึก เพื่อหาทางแก้ไขข้อบกพร่องเมื่อเราพบเห็น และถือว่ากระจกเป็นครูที่ดีที่สุดในการฝึกตนเอง
กล้ามเนื้อที่คาง คือการดึงกล้ามเนื้อริมฝีปากล่างให้แนบกับคาง ในขณะเดียวกันควรรักษาเส้นรอบปากให้อยู่ในลักษณะเส้นตรง พยายามให้กล้ามเนื้อริมฝีปากและกล้ามเนื้อบริเวณคางแนบติดกับกระดูกคางให้แน่นมากที่สุดเท่าที่จะแน่นได้ ให้ดึงไว้ประมาณ 25 ครั้ง ครั้งละประมาณ 10 วินาที (มนัส วัฒนไชยยศ, 2539: 35)
นำเอาลักษณะที่กล่าวมาแล้วในเบื้องต้นรวมกัน เริ่มต้นด้วยการผิวปากเสียงต่ำแล้วค่อยๆดึงมุมปากทั้งสองข้างไปอยู่ลักษณะยิ้ม ให้ลักษณะการผิวปากยังคงรูปอยู่ แล้วดึงกล้ามเนื้อของริมฝีปากล่างให้แนบติดกับคาง ดึงขากรรไกรล่างลงเล็กน้อย เมื่อรวมลักษณะดังกล่าวเข้าด้วยกันก็จะได้ลักษณะของปากในการเป่าเครื่องลมไม้ ความสัมพันธ์ระหว่างปากเป่ากับปาก แรงรัดปากเป่าทาใช้ในการเป่ามี 2 ลักษณะ คือ แรงรัดที่เกิดจากริมฝีปาก และแรงรัดที่คาง ลักษณะการใช้ที่ดีคือให้ใช้แรงรัดที่เกิดจากคาง เพราะว่าคางมีความเที่ยงมากกว่าที่ริมฝีปาก และสามารถควบคุมแรงรัดได้มากกว่า
การวางปากและการใช้ลมเป็นสาเหตุเบื้องต้นที่ทำให้เกิดปัญหาในการเป่า เพราะทำให้เสียงที่ออกมาไม่ชัดเจน อีกประการหนึ่งคือแรงรัดในการเป่าต้องอยู่ในลักษณะที่คงที่ไม่หย่อนหรือแน่นเกินไป การแก้ปัญหาโดยการใช้ลิ้นในการเป่าให้แรงขึ้นไม่เป็นสิ่งที่ถูกต้องนัก
การวางตำแหน่งปากเป่า ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น ขนาดของปากเป่า หรือโครงสร้างของรูปใบหน้าก็ตาม ทุกอย่างวางอยู่บนพื้นฐานเดียวกันเพียงแต่ปรับเพื่อให้เหมาะสมกับปากเป่าที่มีขนาดต่างกัน แต่ที่ต้องคำนึงถึงคือปากเป่าต้องวางอยู่ในตำแหน่งกึ่งกลาง เพื่อกระแสลมที่เป่าเข้าสู่ปากเป่าอยู่ในตำแหน่งตรงกลางปาก ไม่ควรวางปากเป่าให้เยื้องไปทางมุมปากด้านใดด้านหนึ่ง เพราะกระแสลมจะเดินทางไม่สะดวก และที่สำคัญเป็นการเสียบุคลิกในการเป่า บางคนเริ่มฝึกใหม่ๆปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง แต่เมื่อฝึกไปเกิดความเมื่อยล้าหรือเกิดการเสียดสีจนปากเป็นแผลอาจกำหนดตำแหน่งการวางปากใหม่จนในที่สุดเกิดความเคยชินและไม่สามารถให้ปากกลับสู่ตำแหน่งเดิมได้ ข้อเสนอแนะในการปฏิบัติเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดคือต้องทนเท่านั้นอย่าเปลี่ยนตำแหน่งเด็ดขาด และในไม่ช้าปากจะอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องและตลอดไปโดยอัตโนมัติหรือที่เราเรียกว่า “ปากอยู่ตัว” นั่นเอง

ข้อสังเกตในการวางปาก
1. ริมฝีปากตั้งอยู่บนฟันล่าง ประมาณจุดกึ่งกลางของริมฝีปากอ่อน โดยอาศัยแรงสนับสนุนจากขากรรไกรในการคาบปากเป่า
2. กล้ามเนื้อริมฝีปากล่าง และกล้ามเนื้อบริเวณคาง แนบกับกระดูกคางและต้องแน่ใจว่ากล้ามเนื้อไม่โป่งออกมา
3. มุมปากทั้งสองข้างแนบแน่นอย่างเป็นธรรมชาติที่สุด
4. กล้ามเนื้อริมฝีปากบนและล่างทำงานเป็นคู่ รัดรอบปากเป่าอย่างเป็นธรรมชาติ
5. ฟันบนแตะปากเป่าเท่านั้นไม่ต้องกัด
6. การวางปากอยู่ในตำแหน่งเดียวกันไม่ว่าเป่าเสียงสูงหรือเสียงต่ำก็ตาม ไม่ลดขากรรไกรเมื่อเป่าเสียงต่ำ และไม่รัดกล้ามเนื้อริมฝีปากแน่นเมื่อเป่าเสียงสูง
7. ถ้ามีเสียงออกมาจากริมฝีปากข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง แสดงว่ากล้ามเนื้อริมฝีปากรวบไม่สนิท
8. ถ้าเสียงที่เป่าออกมาเหมือนกับเสียงห่านร้องและยากแก่การควบคุม แสดงว่าอมปากเป่าทากเกินไป
9. ถ้าเสียงที่เป่าออกมาพร่าและมีเสียงลมออกมาก่อน แสดงว่าแรงสนับสนุนจากขากรรไกรน้อยเกินไป
10. ถ้าเสียงที่เป่าออกมามีความบาง แหบ ค่อย แสดงว่าอมปากเป่าน้อยเกินไป
11. ถ้าเสียงที่เป่าออกมาเพี้ยนสูงกว่าปกติ โดยเฉพาะเสียงต่ำยากต่อการเป่า คุณภาพเสียงบางเหมือนออกเสียงไม่เต็ม อาจเป็นเพราะใช้ฟันกัดปากเป่า หรือกล้ามเนื้อริมฝีปากรัดปากเป่าแน่นเกินไป
12. ถ้ามีเสียงแหลมเหมือนเสียงหนูร้อง แสดงว่าส่วนบนและส่วนล่างของปากเป่าอยู่ในปากไม่เท่ากัน

13. น้ำหนักของเครื่องดนตรีโดยเฉพาะแซกโซโฟนต้องอยู่ในส่วนของสายคล้องคอ ไม่ใช่อยู่บนริมฝีปากล่างหรือบนนิ้วหัวแม่มือขวา ถ้าเป็นพวกปี่ควรถ่ายน้ำหนักให้อยู่ในทุกส่วนที่บริเวณทั้งสองมือสัมผัส ไม่ควรให้ริมฝีปากล่างรับน้ำหนักเพียงส่วนเดียว
14. ต้องแน่ใจว่าขณะที่เป่าไม่เก็บลมไว้ที่แก้มจนป่อง ถ้าไม่แน่ใจควรใช้กระจกส่องดู
15. ไม่ลดขากรรไกรลงเมื่อเป่าเสียงต่ำ
16. หลอดลมอยู่ในลักษณะเปิดตลอดเวลาที่เป่า ให้ออกเสียง “ออ” ซึ่งเป็นลักษณะที่หลอดลมเปิด เวลาเป่าหลอดลมจะอยู่ในลักษณะเหมือนเวลาออกเสียง “ออ”



การวางปากเป่าที่ถูกต้อง แสดงกล้ามเนื้อริมฝีปาก การเป่าให้ริมฝีปากล่างวางอยู่บนฟันล่างเล็กน้อย แล้วดึงกล้ามเนื้อที่คางให้เรียบ









การวางปากที่ไม่ถูกต้อง คือ ใช้ฟันกัดลงมายังริมฝีปากล่าง
(Teal, 1963: 42-43)

การวางรูปปากเครื่องลมไม้


การวางปากในการเป่าเครื่องลมทองเหลือง
การวางปากนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญในการเล่นเครื่องดนตรีโดยเฉพาะผู้ที่เริ่มต้นเล่น เพราะถ้าวางปากผิดตำแหน่งแล้วจะทำให้ผู้ฝึกเคยชินกับตำแหน่งที่วาง ซึ่งเป็นการยากต่อการแก้ไขและการพัฒนาเทคนิคต่างๆในโอกาสต่อไป ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของครูผู้สอนที่ต้องเป็นผู้ชี้แนะและให้ความรู้ที่ถูกต้อง โดยอย่ามองข้ามความสำคัญในข้อนี้ไป และประการสำคัญคือเมื่อเริ่มต้นวางตำแหน่งของปากถูกต้องแล้วแต่ภายหลังเกิดอาการเจ็บปากบ้างหรือเคลื่อนที่โดยไม่รู้ตัวบ้างจะทำให้ตำแหน่งปากที่ดีอยู่แล้วกลับไปอยู่ในตำแหน่งที่ผิด ซึ่งเป็นผลเสียตามมา
ตำแหน่งของปากเมื่อจรดกับกำพวด (Mouth Piece) แตรที่มีขนาดเล็ก เช่น ทรัมเป็ต คอร์เน็ต ควรวางปากให้อยู่ระดับกึ่งกลางปาก หรือ 1 ใน 3 สำหรับริมฝีปากบน และ 2 ใน 3 สำหรับริมฝีปากล่าง เครื่องดนตรีประเภททรอมโบน ฮอร์น การวางปากควรเป็น 2 ใน 3 สำหรับริมฝีปากบน และ 1 ใน 3 สำหรับริมฝีปากล่าง ส่วนทูบา เป็นเครื่องดนตรีที่ใช้กำพวดใหญ่จึงต้องให้ตำแน่งริมฝีปากบนอยู่ในกำพวดมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยให้ขอบบนของกำพวดเกือบจรดกับจมูก (ธนาคาร แพทย์วงษ์, 2533: 465)

องค์ประกอบต่างๆและการใช้ลมเป่าเครื่องดนตรีประเภทเครื่องทองเหลือง
หน้าที่และตำแหน่งของลิ้น
ปลายลิ้น มีหน้าที่สำหรับการออกเสียงสั้น ยาว ได้อย่างถูกต้อง (Articulation) ส่วนกลางลิ้นมีหน้าที่ปรับระดับเสียงให้ได้ระดับที่ถูกต้อง (Intonation) ตำแหน่งของลิ้นสามารถเปลี่ยนเสียงให้ผิดเพี้ยนไปได้ในทุกตัวโน้ตที่เล่นดังนั้น ถ้ารู้สึกว่าเสียงที่เป่าอยู่กำลังเพี้ยนสูง ให้ทำลิ้นให้ต่ำลงเล็กน้อย หรือถ้ารู้สึกว่าเสียงที่เป่าอยู่กำลังเพี้ยนต่ำ ให้ยกลิ้นให้สูงขึ้นเล็กน้อย จะช่วยให้เสียงที่เพี้ยนกลับขึ้นมา และในช่วงเสียงต่างๆของเครื่องสามารถใช้ลิ้นส่วนกลางช่วยให้ง่ายขึ้นโดยนึกดังนี้
1. ช่วงเสียงสูง ให้คิดว่ากำลังออกเสียง ที---------
2. ช่วงเสียงกลาง ให้คิดว่ากำลังออกเสียง เท---------
3. ช่วงเสียงต่ำ ให้คิดว่ากำลังออกเสียง ทา---------
โคนลิ้น ควรวางราบอยู่ตลอดเวลาเนื่องจากมันมีส่วนต่อกับคอหอยและเราจะต้องให้คอเปิดอยู่ตลอดเวลาขณะเป่า เราจะตรวจสอบได้โดยลองเล่นเสียงสูงด้วยการจับแตรเพียงมือเดียว อีกมือหนึ่งนำมาแตะที่คอ ถ้าลูกกระเดือกยกขึ้น แสดงว่าโคนลิ้นถูกยกขึ้นเช่นกัน และแสดงว่าผู้เป่ากำลังปิดคอตัวเอง ลูกกระเดือกควรอยู่ระดับต่ำตลอดเวลาในขณะที่เรากำลังเล่น

คำแนะนำ
ต้องไม่ลืมว่า เมื่อใดก็ตามที่วางกำพวดลงบนริมฝีปากแล้ว เราต้องมีความเชื่อมั่นในตนเอง และข้อสำคัญคือต้องจัดรูปปากก่อนที่จะวางกำพวดลงบนปาก
การเลือกกำพวด (Mouth Piece)
สิ่งที่แน่นอนอย่างหนึ่งและเป็นสิ่งที่สำคัญมากอย่างยิ่ง คือ นักดนตรีทุกคนต้องมีกำพวดที่ดีมากอยู่ 1 อัน ถึงแม้เครื่องดนตรีที่ฝึกจะมีคุณภาพต่ำ ระดับ 2 หรือ 3 แต่ถ้าใช้กำพวดชนิดที่ดี กำพวดเป็นตัวเสริมให้การบรรเลงดีขึ้น และสามารถปรับปรุงตนเองได้ดียิ่งขึ้น ในทางตรงข้ามถ้าเครื่องดนตรีที่ฝึกมีคุณภาพดีเยี่ยมแต่กำพวดไม่ดีพอก็จะทำให้การบรรเลงนั้นด้อยลงไปอย่างมาก เปรียบเทียบได้กับการใช้เครื่องเสียงถ้าใช้ลำโพงดี แอมป์ดี แต่ไมโครโฟนไม่ดี จะมีส่วนทำให้เสียงเกิดปัญหาอย่างแน่นอนในการใช้ร่วมกัน สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญที่สุดฉะนั้นถ้าเรามีกำพวดที่ถูกใจแล้วก็ควรใช้มันตลอดไปอย่าได้เปลี่ยนอีก เพราะจะทำให้เกิดปัญหาตามมา อย่างน้อยๆคือความไม่เคยชิน
ความแตกต่างระหว่างกำพวดที่ใหญ่และเล็กเป็นสิ่งแตกต่างที่น้อยมาก น้อยเกินกว่าที่จะมองดูด้วยตาเปล่าแม้แต่ความรู้สึกบนริมฝีปาก แต่เราจะรู้สึกได้จากคุณภาพของเสียงที่ออกมาเท่านั้นทั้งนี้เพราะความต่างของขนาด ถ้าเป็นกำพวดของทรอมโบนที่เล็กที่สุดและใหญ่ที่สุดมีความต่างกันเพียง 1 ม.ม เท่านั้น แต่ถ้าเป็นทรัมเป็ตแล้วเป็นการยากที่จะสามารถวัดความต่างได้ (สยามกลการ, 2534: ไม่ปรากฏเลขหน้า)

3 ความคิดเห็น:

  1. มีประโยชน์ มากๆ เลยคับ ขอบพระคุณอย่างยิ่ง

    ตอบลบ
  2. มีรูปภาพประกอบมั๊ยครับ...อาจารย์

    ตอบลบ
  3. ขอบคุณมากครับ ผมเป่าไม่ค่อยได้ พื้นฐานไม่ดี

    ตอบลบ