วันอังคารที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการจัดการวงโยธวาทิต

บทที่ 6

ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการจัดการวงโยธวาทิต

6.1 ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการจัดการวงโยธวาทิต
การสอนวงโยธวาทิตให้ประสบความสำเร็จนั้นอยู่ที่องค์ประกอบหลายๆอย่าง ทั้งความสามารถของครูผู้สอน ผู้เรียน ผู้สนับสนุน แนวทางการดำเนินการและวิธีการสอน ตลอดจนการสร้างจิตสำนึกในตัวนักเรียนเป็นสำคัญ ต้องสามารถทำให้นักเรียนเกิดความรักดนตรี เข้าใจและรู้คุณค่าของดนตรีด้วยตัวเอง เมื่อนักเรียนมีจิตสำนึกรักดนตรีด้วยตัวเขาเอง ความอยากเล่นดนตรีให้ไพเราะ ความขยันหมั่นเพียร และมีความอดทนในการฝึกซ้อมอย่างจริงจังก็จะตามมา จนสามารถสร้างระบบเพื่อดำเนินกิจกรรมร่วมกันให้ประสบความสำเร็จได้ การเริ่มต้นที่ดีจะนำไปสู่จุดหมายแห่งความสำเร็จด้วยดี ซึ่งประกอบด้วยองค์ประกอบ 4 ประการ คือ
1. นักเรียนดี
2. ครูผู้สอนดี
3. ผู้ปกครองดี
4. ผู้สนับสนุนดี
จากองค์ประกอบทั้ง 4 ประการ มีความสำคัญต่อการเรียนดนตรีโดยกล่าวได้ว่าเมื่อขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้ว ผลงานที่ปรากฏออกมาจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะทั้งหมดจะเป็นตัวเสริมให้เกิดองค์ความรู้ในทางศาสตร์ และเป็นผลให้ปรากฏออกมาในทางศิลป์ คือความงามและความมีสุนทรีย์ สิ่งต่างๆจะเกิดขึ้นได้และให้เกิดผลสรุปในการเรียนรู้ คือการปฏิบัติที่ครบกระบวนการตามความถูกต้องแห่งกฎเกณฑ์อันแท้จริง จุดเริ่มต้นในการศึกษามองดูแล้วเป็นเรื่องง่าย แต่ในทางปฏิบัติแล้วเป็นเรื่องที่ยากยิ่ง ไม่เคยมีใครที่ทำงานหนึ่งงานใดได้สำเร็จบนความล้มเหลว หรือความผิดพลาดมาตั้งแต่เริ่มต้น ดังนั้นจึงเป็นเรื่องของกระบวนการที่เป็นตัวกำหนดวิถีทางในการปฏิบัติให้งานบรรลุจุดมุ่งหมายอย่างแท้จริง
ผลของความล้มเหลวเกิดจากการทำงานที่ขาดแผนการดำเนินการที่ดี ผู้วิจัยมุ่งศึกษาใน 4 ประการ คือ
1. การบริหารบุคคล
2. การบริหารเวลา
3. การบริหารงานวิชาการ
4. การบริหารงบประมาณ
จากการศึกษากระบวนการต่างๆในการฝึกวงโยธวาทิต พบว่ามีสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาอย่างมาก สิ่งสำคัญเบื้องต้นที่ทำให้วงโยธวาทิตประสบความสำเร็จได้ประกอบด้วยการบริหารจัดการ 3 ประการ คือ
1. บุคลากรที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย
2. การจัดแผนการฝึก
3. งบประมาณ
การจัดการวงโยธวาทิตในสถานศึกษานั้น สถานศึกษาหรือผู้เกี่ยวข้องในสถานศึกษา ควรมีการวางแผนการดำเนินงาน ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้
จากการศึกษาเรื่องปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการจัดการวงโยธวาทิต จากโรงเรียนที่ศึกษา จำนวน 11 โรงเรียน มีปัจจัยส่งผลต่อความสำเร็จในการจัดการวงโยธวาทิตที่จะใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนาวงโยธวาทิตจากกรณีตัวอย่าง คือ
โรงเรียนที่ 1 ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการจัดการวงโยธวาทิต คือ
1. การสนับสนุนส่งเสริม ครูแนะแนวมีบทบาทมากในการเสนอข้อมูลการศึกษาต่อให้นักเรียนได้ทราบ เกี่ยวกับโควตาการศึกษาต่อทางด้านดนตรี โดยเฉพาะด้านการข่าวจากรุ่นพี่ที่ศึกษาอยู่ตามสถาบันต่างๆ ได้ให้แนวการสอบอันเป็นประโยชน์ต่อนักเรียนรุ่นน้องที่เจริญรอยตามรุ่นพี่ เพื่อสืบทอดเจตนารมย์ทางดนตรีให้รุ่งเรืองสืบไป
2. ฝ่ายวิชาการของโรงเรียน ได้ให้ความร่วมมือในเรื่องเวลาเรียนของนักเรียน ในการ
ออกไปบริการชุมชน และมีกิจกรรมที่ต้องทำให้ลุล่วง ฝ่ายวิชาการได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
3. การขออนุญาตครูประจำวิชาในการออกงานจะบันทึกไว้ในคอมพิวเตอร์ทุกครั้ง
4. ด้านงบประมาณที่ได้รับ ส่วนใหญ่เป็นงบบำรุงรักษาประจำปีเท่านั้น
5. ศิษย์เก่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้วงประสบความสำเร็จ คือ จะให้ความช่วยเหลือในด้าน
ต่างๆที่โรงเรียนร้องขอ
6. ผู้บริหารโรงเรียน มีส่วนสำคัญในการพัฒนาวงโยธวาทิต ในระบบการบริหารงาน
ผู้บริหารจะต้องพิจารณาในการทำงานทุกอย่างที่ผู้ใต้บังคับบัญชาเสนอ วงโยธวาทิตจะไปได้ดีมากแค่ไหนผู้บริหารเป็นบุคคลสำคัญหรือเป็นตัวชี้บ่งบอกถึงทิศทางให้เห็นว่าวงโยธวาทิตจะไปรอดหรือไม่รอด ตัวบ่งชี้ที่สำคัญและเห็นได้ชัดคือการสนับสนุนในด้านงบประมาณ ผู้ที่มีใจรักดนตรีและสนับสนุน
ดนตรีอย่างแท้จริงแล้วดูที่งบประมาณเป็นสำคัญ ถึงแม้เงินบำรุงการศึกษาจะใช้ไม่ได้ในการนี้ แต่ถ้ามุ่งหวังจริงๆแล้วองค์กรต่างๆมีมากมายที่จะขอรับการสนับสนุนได้
7. ผู้ปกครอง ได้รับการสนับสนุนจากผู้ปกครองอย่างดี ผู้ปกครองต้องเข้าใจในสิ่งที่
นักเรียนได้ทำลงไป ในบางครั้งผู้ปกครองจะไม่เข้าใจว่าทำไมต้องทำ ถ้าผู้ปกครองเข้าใจแล้วว่าที่นักเรียนทำลงไปนั้นเป็นผลสืบไปในภายหน้าของตัวนักเรียนเอง เช่น สามารถออกไปประกอบอาชีพของตนเองได้ หรือการได้เข้าศึกษาต่อโดยที่ไม่ต้องสอบแข่งขันกับนักเรียนจำนวนมาก คือ จะแข่งขันกับโควตาซึ่งมีนักเรียนเป็นจำนวนน้อย หรือว่าตลาดแรงงานซึ่งยังคงมีความต้องการในสิ่งเหล่านี้อยู่ นักเรียนต้องชี้แจงให้ผู้ปกครองได้รับทราบ และควรวางอนาคตว่าจะอยู่ ณ จุดไหน ถ้าคิดว่าตนเองในอนาคตจะต้องเป็นครูสอนดนตรี ต้องวางแผนในชีวิตว่าทำอย่างไรให้ผู้ปกครองเข้าใจ ต้องทำให้ผู้ปกครองเห็น ผู้ปกครองมีส่วนในการให้กำลังใจนักเรียนเป็นอย่างมาก เพราะเป็นผู้ใกล้ชิด เป็นผู้ที่ให้คุณกับนักเรียน การให้กำลังใจในขณะที่อยู่ที่บ้านรวมทั้งการสอดส่องดูแลการศึกษาเล่าเรียนในโรงเรียน
8. บุคลากรในโรงเรียน ตั้งแต่ผู้บริหารโรงเรียนจนถึงอาจารย์ประจำชั้นของนักเรียนเองซึ่งเป็นผู้คอยดูแลอย่างใกล้ชิด ครู อาจารย์ ที่อยู่ในโรงเรียนมีความเข้าใจนักเรียนหรือไม่ โดยเฉพาะ ครู อาจารย์ ที่สอนในวิชาอื่นๆที่ไม่ใช่วิชาดนตรี ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้วงดนตรีประสบความสำเร็จหรือไม่ เช่น การออกไปบริการชุมชน ครู อาจารย์ จะให้เวลาเรียนกับนักเรียนหรือไม่ ถ้าให้ก็เป็นผลดีกับนักเรียนเอง ซึ่งถ้าเกิด ครู อาจารย์ ไม่เข้าใจในตัวนักเรียนที่ว่าทำเพื่ออะไรไม่เห็นจะมีประโยชน์ต่อตัวเอง ทั้งยังไม่ให้เวลาเรียน ตัดคะแนนความประพฤติ สิ่งเหล่านี้จะเป็นผลเสียกับตัวนักเรียนอย่างมาก ทำให้เกิดสิ่งต่างๆที่เป็นผลตามมา คือ นักเรียนไม่อยากฝึกซ้อมเพราะทำไปไม่เห็นมีประโยชน์ ครู อาจารย์ ในโรงเรียนไม่เห็นคุณค่าความสำคัญที่นักเรียนได้ทำกิจกรรมนี้ สำหรับผู้บริหารโรงเรียนเป็นส่วนสำคัญที่เมื่อนักเรียนไปทำกิจกรรมแล้ว จะทำอย่างไรให้นักเรียนเรียนทันเพื่อน เพื่อเป็นการเสริมสร้างขวัญและกำลังใจให้นักเรียน หรือตอบสนองโดยการให้ทุนบ้าง ให้คะแนนพิเศษบ้างในส่วนของจิตพิสัย เพราะนักเรียนทำงานเพื่อชุมชน และงานชุมชนสัมพันธ์เป็นงานนโยบายการบริหารของโรงเรียน นักเรียนได้ทำหน้าที่เหมือนกับบุคลากรกลุ่มหนึ่งซึ่งอยู่ในโรงเรียน ที่ออกไปปฏิบัติหน้าที่อันเป็นหน้าเป็นตาของโรงเรียน จะเป็นงานอะไรนักเรียนกลุ่มนี้จะไปตลอดจึงสมควรในการให้ความสำคัญบ้าง
9. ด้านงบประมาณ เป็นส่วนสำคัญอย่างมาก เพราะเนื่องจากว่าการฝึกซ้อม การวางแผนการฝึกซ้อมนั้นนักเรียนมีความพร้อมแล้ว แต่ขาดเครื่องมือที่ทันสมัย และงบประมาณที่ไม่เพียงพอ การออกไปบริการชุมชนหรือการประกวดก็ตาม ถ้าใช้เครื่องดนตรีที่ไม่ทันสมัย มีคุณภาพต่ำ จะไม่เกิดประโยชน์อะไรเลยถึงแม้จะมีฝีมือก็ตาม ดังนั้นจึงต้องมีงบประมาณที่เพียงพอกับความต้องการ เงินงบประมาณของวงโยธวาทิตควรจัดไว้เป็นส่วนหนึ่งเป็นเอกเทศไม่ขึ้นกับงานใดหมวดใด แต่แบ่งสายงานเป็นงานวงโยธวาทิต มีงบประมาณรองรับ จึงจะทำให้มีงบประมาณที่เพียงพอการพัฒนาในด้านเครื่องดนตรีที่ต้องพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้เพราะเครื่องดนตรีที่มีอายุการใช้งานมากก็เสื่อมมาก แต่ปัจจุบันการจัดซื้อเครื่องดนตรีมีผลกระทบมากเพราะเครื่องดนตรีมีราคาแพง จึงต้องรองบประมาณหรืองบบริจาคเท่านั้น
10. สมาคมของโรงเรียน เป็นองค์กรหนึ่งที่มีส่วนสนับสนุนวงโยธวาทิต ในเรื่องงบ
ประมาณ ที่ไม่สามารถเบิกเงินในส่วนของเงินบำรุงการศึกษาได้ เช่น ค่าตัดชุดเครื่องแบบ เป็นต้นแต่การสนับสนุนก็เป็นเพียงบางโอกาส เพราะสมาคมต้องช่วยเหลือโรงเรียนในหลายๆด้าน
11. ธุรกิจเอกชนพยายามที่จะเข้ามามีส่วนในการฝึกซ้อม แต่จะเข้ามาในลักษณะของ
ผลประโยชน์ทางการค้ามากกว่า ซึ่งทางโรงเรียนไม่เห็นด้วยในเรื่องดังกล่าว
12. นักเรียนเป็นปัจจัยสำคัญ ถ้านักเรียนมีความตั้งใจงานทุกอย่างจะดำเนินไปได้อย่าง
มีประสิทธิภาพ และผู้ปกครองต้องให้การสนับสนุนด้วย
13. การสนับสนุนการเรียนพิเศษ ทางโรงเรียนไม่ได้จัดให้ นักเรียนที่เป็นนักดนตรีจะ
ต้องหาที่เรียนพิเศษเองจากโรงเรียนสอนพิเศษ ซึ่งถ้าทางโรงเรียนเห็นความสำคัญ จะทำให้ส่งผลถึงตัวนักเรียน และสิ่งที่สะท้อนกลับ คือ นักเรียนจะทำหน้าที่ของตนอย่างดีที่สุด เพื่อความสำเร็จของส่วนรวม
โรงเรียนที่ 2 ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการจัดการวงโยธวาทิต คือ
1. เริ่มจากครูผู้สอนเองที่มีความตั้งใจที่จะทำให้วงโยธวาทิตได้มีการพัฒนาไปสู่จุดหนึ่ง ถ้าได้ทำอย่างจริงจังแล้วผู้ที่อยู่รอบข้างไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร หรือผู้ให้การสนับสนุนท่านอื่นๆจะให้ความสนใจ ถ้าครูผู้สอนยังไม่ได้ให้ความสนใจในการทำงานแล้ว บุคคลอื่นก็จะไม่สนใจอะไรในงานที่ทำ แต่ถ้าครูผู้สอนตั้งใจทำอย่างดีแล้วและผลงานเป็นที่ปรากฏให้บุคคลอื่นได้มองเห็น บุคคลนั้นๆย่อมยอมรับและบางครั้งจะมีข้อเสนอให้โดยที่ครูผู้สอนไม่ต้องเสนอโครงการ เช่น การส่งวงโยธวาทิตเข้าร่วมประกวดไม่ได้เป็นความตั้งใจของครูดนตรี แต่เมื่อผู้เกี่ยวข้องในส่วนอื่นๆได้มาฟังได้มาได้ยินถ้าเป็นเพลงที่ฟังแล้วไพเราะ บางครั้งจะยื่นข้อเสนอมาที่ครูดนตรีว่า “เมื่อเด็กเล่นได้ไพเราะอย่างนี้แล้วก็น่าจะส่งประกวด” จุดนี้เองการสนับสนุนก็จะมีเข้ามาไม่ว่าจะเป็นสมาคมของโรงเรียนหรือพ่อแม่ผู้ปกครอง แม้กระทั่งห้างร้านเอกชนต่างๆก็ให้การสนับสนุน ดังสุภาษิตที่ว่า “เราต้องช่วยตัวเราเอง ก่อนที่คนอื่นเขาจะมาช่วยเรา” การทำงานอะไรที่เห็นผล ทุกสิ่งทุกอย่างจะตามมา การทำงานที่ดีต้องไม่ขัดกับบุคคลอื่น เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วสิ่งที่มีความต้องจะตามมา การรอคอยถือเป็นสิ่งที่ครูผู้สอนจะต้องอดทนและตระหนักในเรื่องนี้ วงโยธวาทิตจะมีการพัฒนาได้ต้องใช้ระยะเวลามากพอสมควร
2. ด้านงบประมาณ ส่วนใหญ่เงินบำรุงการศึกษาจัดซื้อเครื่องดนตรีไม่ได้ ที่ได้มาคืองบจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นส่วนใหญ่ และเงินบางส่วนจะเป็นของสมาคมของโรงเรียนทั้ง 2 สมาคม เงินบำรุงการศึกษานั้นใช้ได้กับการจัดซื้อวัสดุฝึก เช่น ลิ้น น้ำมัน เป็นต้น
3. ห้องซ้อมมีผลมากต่อการฝึกซ้อมดนตรี เพราะการฝึกซ้อมดนตรีต้องมีสมาธิ สภาพแวดล้อมจะทำให้สมาธิหายไป เช่น ถ้านักเรียนต้องฝึกซ้อมตามใต้ต้นไม้ เวลามีคนผ่านไปผ่านมานักเรียนจะขาดสมาธิและจะมองด้วยความสนใจโดยเฉพาะคนแปลกหน้า หรือในบางครั้งเวลาเห็นเพื่อนเล่นฟุตบอลนักเรียนก็อยากเล่นบ้าง สมาธิจึงขาดหายไป ถ้าซ้อมในห้องฝึกซ้อมนักเรียนจะมุ่งแต่การอ่านโน้ตอย่างเดียวเพราะไม่มีจุดสนใจอย่างอื่น การเล่นดนตรีจึงเล่นได้ดี นอกจากนั้นการควบคุมน้ำหนักเสียงของเครื่องมือแต่ละเครื่องจะทำได้ง่ายกว่าการฝึกซ้อมในที่โล่งแจ้ง
4. นักเรียนเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้วงประสบความสำเร็จ ครูผู้สอนคนเดียวไม่
สามารถทำในจุดนี้ได้ จากที่ได้มีความร่วมมือกันจากภายในโรงเรียน สิ่งที่ตามมาคือโรงเรียนจะได้อะไรมากมายจากบุคคลภายนอก เมื่อทำงานใดๆแล้วบุคคลอื่นย่อมมองเห็นผลของการกระทำนั้นๆ
5. ผู้ปกครองมีส่วนสนับสนุน ถ้าทำให้ผู้ปกครองเห็นว่าการฝึกซ้อมดนตรีเป็นสิ่งดี บุตรหลานไม่ไปเดินเล่นตามศูนย์การค้า ไม่ไปติดยาเสพติดต่างๆ เมื่อผู้ปกครองเห็นว่าบุตรหลานมาฝึกซ้อมดนตรี การเรียนไม่เสียดนตรีก็เล่นได้ถึงจะเล่นไม่เก่ง แต่ก็ได้ในเรื่องของระเบียบวินัยความรับผิดชอบ สิ่งใดที่ไม่เคยทำก็ได้ทำให้ผู้ปกครองแปลกใจ อยู่บ้านไม่เคยล้างจานแต่มาอยู่ในวงโยธวาทิตแล้วต้องทำเองและก็ทำได้ สิ่งต่างๆเหล่านี้ผู้ปกครองมีความภูมิใจในตัวบุตรหลานและให้การสนับสนุนวงโยธวาทิตมาโดยตลอด
6. บุคลากรภายในโรงเรียน มีส่วนช่วยเหลือในเรื่องการเรียนพิเศษให้กับนักเรียน โดย
ทำโครงการเสนอผู้บังคับบัญชา ทางโรงเรียนก็จะสนองตอบในความต้องการ และส่วนหนึ่งได้จากรุ่นพี่ที่จบไปแล้วและเรียนสำเร็จในสาขาวิชาต่างๆ กลับมาช่วยสอนน้องซึ่งรุ่นพี่มีความเต็มใจที่จะมาช่วยโดยไม่คิดค่าตอบแทน
7. ในการไปปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างที่มีการเรียนการสอน ครูผู้สอนได้ทำเรื่องเสนอให้
ฝ่ายวิชาการเพื่อขอเวลาให้กับนักเรียน ซึ่งทุกฝ่ายก็สนับสนุนเป็นอย่างดี แต่ก็มีบ้างที่ไม่ให้การสนับสนุนกับนักเรียนในเรื่องดังกล่าว
8. ในบางครั้งการให้นักเรียนได้เรียนพิเศษจะกระทำก่อนเข้าค่ายประมาณ 10 วัน ให้นักเรียนได้เรียนล่วงหน้า เช่น นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่จะขึ้นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จะสอนวิชาในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ให้ โดยสอนวิชาหลักๆ คือ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และจะมีการติวให้นักเรียนก่อนสอบ 2 สัปดาห์ คือ ประมาณสัปดาห์ที่ 17 - 18 โดยใช้ศิษย์เก่าและครู อาจารย์ ในโรงเรียนเป็นผู้สอน สมาคมของโรงเรียนทั้ง 2 สมาคม ตอบแทนค่าสอนให้ และบางครั้งใช้วิธีเพื่อนช่วยเพื่อน โดยนักเรียนที่เรียนดีจะช่วยสอนนักเรียนที่เรียนอ่อนกว่า
โรงเรียนที่ 3 ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการจัดการวงโยธวาทิต คือ
1. โรงเรียนให้สิทธิกับครูผู้สอนซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในทุกๆส่วนอย่างเต็มที่ แต่ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำนั้นต้องมีเป้าหมายของความสำเร็จ ใช้วิธีการอย่างไรที่ทำให้การเรียนการสอนบรรลุวัตถุประสงค์ ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้มีส่วนรับผิดชอบต้องวางแผนดำเนินงานในทุกๆด้าน ดังนั้นปัจจัยที่ส่งผลจะมีอิทธิพลหรือไม่ต่อความสำเร็จนั้นเป็นสิ่งที่กล่าวได้ยาก ถ้าจะกล่าวว่าไม่มีอิทธิพลก็ไม่เป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของการบริหารงานภายในโรงเรียนเกี่ยวกับการบริหารงานในส่วนต่างๆ โดยเฉพาะการบริหารด้านงบประมาณ ในส่วนของวงโยธวาทิตปัจจัยด้านงบประมาณทางโรงเรียนให้การสนับสนุนอย่างดี จึงมีความสมบูรณ์ในเรื่องของเครื่องดนตรี แต่ส่วนที่ตามมาคือเรื่องกำลังใจ ซึ่งเป็นหน้าที่ของครูผู้สอนที่จะทำได้ในส่วนนี้ นักเรียนจะประสบความสำเร็จได้ครูผู้สอนมีส่วนอย่างมาก คือ ต้องมีเป้าหมายในการทำงานหรือมีแนวดำเนินงานที่ดี สิ่งสำคัญอยู่ที่ทำอย่างไรจะให้งานที่ทำประสบความสำเร็จ เกณฑ์ที่โรงเรียนวางไว้ คือ ให้นักเรียนเล่นดนตรีได้ดี ให้นักเรียนปฏิบัติเครื่องได้ดีเท่านั้นที่เป็นความมุ่งหวังของโรงเรียน ซึ่งเป็นเพียงพื้นฐานไม่ได่มุ่งหวังว่าต้องเล่นจนมีความสามารถยอดเยี่ยมเพื่อการประกอบอาชีพ แต่เป็นขั้นต้นของการเรียนรู้ที่อาจจะไปถึงจุดนั้นได้ เพราะการที่จะเน้นเพื่อการประกอบอาชีพนั้นต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี ขึ้นไป แต่คำนึงว่า ณ จุดๆนี้นักเรียนจะต้องทำให้ดีที่สุด ครูผู้สอนจึงต้องหาสิ่งที่ดีๆให้กับนักเรียน สร้างประสบการณ์ให้นักเรียนมีเพิ่มขึ้น แต่ปัจจุบันวงโยธวาทิตในเมืองไทยยังมีเป้าหมายหรือจุดยืนที่ยังไม่เด่นชัด ครูผู้สอนต้องคำนึงถึงเสมอว่าจะทำอย่างไรให้ดีที่สุด สอนอย่างไรให้ดีที่สุด เป้าหมายเมื่อมาเรียนดนตรีแล้วนักเรียนได้อะไรกลับไป สิ่งนี้คือความสำคัญครูผู้สอนต้องทำในจุดนี้ให้ได้
2. บทบาทของสมาคมศิษย์เก่า และสมาคมผู้ปกครองและครู มีส่วนช่วยเหลืออย่างมาก ครูผู้สอนต้องวางโครงการของงานที่จะทำและเสนอชื่อกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมาเป็นคณะทำงาน แจ้งประมาณการในการใช้งบประมาณต่อสมาคมทั้ง 2 สมาคม เพื่อขอความช่วยเหลือ ทางสมาคมก็จะดำเนินการให้ทุกครั้ง โดยการจัดหาทุนสนับสนุนวงโยธวาทิตด้วยวิธีการต่างๆ
3. งานวิชาการมีส่วนในการช่วยเหลือด้านการเรียนการสอน การเรียนเสริมความรู้เป็นหน้าที่ของโรงเรียน เป็นหน้าที่ของฝ่ายวิชาการที่จะต้องเข้ามาดำเนินการ โดยครูผู้สอนไม่ต้องร้องขอแต่อย่างใด
4. บุคลากรภายในโรงเรียนมีทั้งสนับสนุน ไม่สนับสนุน และวางเฉย เพราะทุกอย่างเป็นไปตามหน้าที่ ครูผู้สอนดนตรีก็ทำหน้าที่สอนดนตรีซึ่งเป็นหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติ ครูผู้สอนวิชาใดก็

ต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด เป็นตัวอย่างที่ดีต่อนักเรียน ไม่ขาดในการสอน หาเวลาสอนเพิ่มเติมถ้ามีภารกิจที่ต้องทำในระหว่างที่มีการเรียนการสอน
5. ผู้บริหารโรงเรียนมีส่วนบ้างที่มีแนวโน้มในการสั่งการให้เป็นไปตามนโยบายของแต่ละท่าน ท่านคาดหวังว่าครูผู้สอนต้องทำตามนโยบายของท่าน แต่เมื่อได้มาพบเห็นการทำงานตามเป้าหมายของครูผู้สอนแล้ว ในที่สุดก็เลิกล้มความต้องการไปในที่สุด เพราะการทำงานที่เป็นระบบตามกระบวนการของการฝึกซ้อมทางดนตรีที่มีการวางเป้าหมายในความสำเร็จอย่างชัดเจน
6. การสร้างระบบที่ดี และทำงานให้ได้ตามระบบที่วางไว้ ถ้าไม่มีใครมาเปลี่ยนแปลงหรือไม่สนับสนุนในการทำงานนั้นๆ งานที่ทำก็จะประสบความสำเร็จได้
7. การทำงานให้สำเร็จลุล่วง ต้องช่วยกันบริหารองค์กร ทุกคนมีบทบาทและหน้าที่ ใครมีหน้าที่อย่างไรก็ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ให้เกิดผลงานที่ตามมาเป็นความสำเร็จ ณ จุดๆหนึ่ง ตามความสามารถที่มีอยู่ ถ้าจะทำต่อไปต้องหาบุคลากรที่มีความสามารถจริงๆมาให้ความรู้กับนักเรียน และนำความรู้ที่ครูผู้สอนมีอยู่สนับสนุนส่งเสริมให้ดียิ่งขึ้นจนกว่าจะหมดวัตถุดิบที่จะป้อนความรู้ให้กับผู้เรียน หรือถ้าครูผู้สอนไม่สามารถแก้ไขและทำในจุดนั้นๆได้ก็ต้องไปหาแหล่งข้อมูลแม่แบบที่สูงขึ้นไปอีก คือ สิ่งใดที่ทำไม่ได้ก็ควรที่จะหาบุคลากรที่มาทำหน้าที่แทนเพื่อให้ความรู้กับนักเรียนซึ่งเป็นผลดีกว่า และต้องคำนึงเสมอว่าครูผู้สอนไม่ใช่ผู้วิเศษณ์ที่จะทำได้ดีในทุกๆเรื่อง ทั้งนี้ครูผู้สอนต้องยอมรับตนเองในขีดความรู้ความสามารถที่มีอยู่
8. การทำงานที่จะประสบความสำเร็จได้ ต้องมีแนวทางที่ไปด้วยกันได้ ถ้าความคิดไม่ตรงกันแล้วก็จะทำให้เกิดแต่ผลเสียตามมา
9. การทำงานที่มีผู้ร่วมงานมาก อาจเป็นผลเสียมากกว่าผลดี เพราะการทำงานหลายคนจะหลากหลายความคิด บางทีอยู่ในระบบพวกใครพวกมัน สิ่งนี้ทำให้เกิดความแตกแยกได้
10. ศิษย์เก่าที่จบไปแล้วมักกลับมาช่วยได้บ้างในบางเรื่อง เพื่อเสริมประสบการณ์ให้กับนักเรียนรุ่นน้อง แต่ต้องใช้วิธีการที่ผู้วางรากฐานเดิมเป็นเกณฑ์ ไม่อย่างนั้นแล้วนักเรียนจะเกิดความไขว้เขวในการรับรู้ซึ่งสิ่งนี้สำคัญมาก
11. ความเป็นไปได้ถ้ามีครูผู้สอนในแต่ละเครื่องมือ การฝึกซ้อมจะเกิดประสิทธิภาพมาก แต่ความเป็นไปได้มีน้อย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัย คือ งบประมาณ ตามสภาพปัจจุบันครูผู้สอนคนเดียวต้องสอนนักเรียนทุกเครื่องมือ ปัญหาที่ตามมาคือครูผู้สอนดูแลไม่ทั่วถึง นักเรียนขาดความเชื่อมั่นในฝีมือของครูผู้สอนเอง
โรงเรียนที่ 4 ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการจัดการวงโยธวาทิต คือ
1. บุคลากรมีส่วนในการเกื้อหนุน ต้องเข้าใจนักเรียนว่าเสียสละเวลาในการทำกิจกรรมให้กับโรงเรียน การให้การดูแลด้วยความสนใจจะทำให้นักเรียนตั้งใจในการฝึกซ้อมมากขึ้น
2. โรงเรียนให้การสนับสนุนให้นักเรียนได้เรียนต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 และดูแลในเรื่องระดับผลการเรียนของนักเรียน เพื่อให้เลือกแผนการเรียนที่พอกับความสามารถที่ตนเองมีอยู่ ทำให้นักเรียนมีขวัญและกำลังใจในการที่โรงเรียนได้เห็นความสำคัญ
3. ผู้บริหารโรงเรียน เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี ทั้งด้านการพิจารณาจัดสรรเงินงบประมาณของโรงเรียน เพื่อจัดซื้อวัสดุฝึกที่ไม่เกินอำนาจสั่งการ และเป็นสื่อกลางในการติดต่อกับองค์กรภายนอกโรงเรียนเพื่อขอการสนับสนุนเงินบริจาคในการจัดซื้อเครื่องดนตรีให้กับโรงเรียน นอกจากนั้นยังให้การสนับสนุนในทุกๆด้าน
4. สมาคมของโรงเรียนซึ่งมี 2 สมาคม คือสมาคมศิษย์เก่า และสมาคมผู้ปกครองและครู มีส่วนในการผลักดันให้วงโยธวาทิตประสบความสำเร็จ หลายๆอย่างที่ทางวงโยธวาทิตขอความร่วมมือ สมาคมทั้ง 2 สมาคม ได้ให้การสนับสนุนตลอดเวลา ทั้งด้านการเงินและการอำนวยความสะดวกต่างๆ
5. บุคลากรภายในโรงเรียน ได้ให้ความร่วมมืออย่างดีกับวงโยธวาทิต ได้เสียสละด้านกำลังทรัพย์ในการปรับปรุงเครื่องแต่งกาย อาหารเลี้ยงนักดนตรี ตลอดจนการให้ความร่วมมือในการเป็นคณะกรรมการร่วมในการฝึกซ้อมวงโยธวาทิต เมื่อได้รับการแต่งตั้งเป็นกรณีพิเศษ และได้ให้ความช่วยเหลือดูแลนักเรียนในทุกๆด้าน
6. นักเรียนได้รับการฝึกให้เกิดความรับผิดชอบ เมื่อมีความรับผิดชอบสูงความสำเร็จ
ต่างๆก็จะตามมา
7 ถ้านักเรียนเอาใจใส่ในการฝึกซ้อม และมีความขยันวงโยธวาทิตก็ประสบความสำเร็จด้วยดี นักเรียนได้รับการปูพื้นฐานตั้งแต่ต้น คือ ตั้งแต่เข้ามาเป็นสมาชิกในวง 1 ปีแรก จะได้รับการฝึกฝนในทุกๆด้าน เช่น นิสัยใจคอ ความอดทน ซึ่งก่อนเข้ามาจะไม่เกิดในจุดนี้มากนัก หลังจากนั้นจะเปลี่ยนแปลงทัศนคติ เจตคติ และมีความเข้าใจในดนตรีมากขึ้น
8. ตลอดระยะเวลาประมาณ 20 ปี ทางวงโยธวาทิตไม่เคยใช้เงินบำรุงการศึกษาของโรงเรียนในการจัดซื้อเครื่องดนตรี นอกจากเงินบำรุงการศึกษาที่ได้จัดสรรมาในการจัดซื้อวัสดุฝึกเท่านั้น การบริหารเงินของวงโยธวาทิตนั้นต้องหาเงินด้วยการจัดงานเพื่อซื้อเครื่องดนตรี หรือบางครั้งที่มีงานต้องออกไปแสดงภายนอก เมื่อได้เงินมาก็สะสมไว้เพื่อใช้จ่ายหลังจากหักเป็นค่ารถให้กับนักเรียนแล้ว ที่ไม่ให้นักเรียนมากก็เพื่อให้ได้ทราบว่านักเรียนไม่ได้ทำจุดนี้เพื่อหาเงิน โดยนักเรียนทุกคนเข้าใจมาโดยตลอด ค่าใช้จ่ายด้านค่าซักเสื้อผ้าส่วนใหญ่จะซักเอง ถ้าต้องจ้างซักก็จะใช้เงินของสมาคมทั้ง 2 สมาคม เป็นผู้ให้ความช่วยเหลือ
9. การสอนที่ถูกต้องด้วยการฝึกพื้นฐานที่ดี เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประสบความสำเร็จ
ในการบรรเลง คติที่เตือนใจนักเรียนทุกคน คือ “การแข่งขันกับตนเอง” การปลูกฝังให้นักเรียนได้ทำกิจกรรมและทำให้ดีที่สุด ไม่ใช่ทำเพื่อไปโชว์หรือไปแข่งกับคนอื่น การฝึกซ้อมไม่ได้เน้นในการมุ่งสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่จะเน้นการฝึกทักษะที่ถูกต้อง เพิ่มทักษะที่มีอยู่ให้มีมากขึ้น
โรงเรียนที่ 5 ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการจัดการวงโยธวาทิต คือ
1. การทำความเข้าใจกับผู้บริหารโรงเรียน ครูผู้สอนต้องตกลงกับผู้บริหารโรงเรียน ในเรื่องเกี่ยวกับการสนับสนุนวงโยธวาทิตตามแนวนโยบายของโรงเรียน ทั้งนี้เพราะวงโยธวาทิตที่ไม่ประสบความสำเร็จในบางโรงเรียนนั้น ผู้บริหารมีส่วนอย่างมากที่ส่งผลให้การฝึกวงโยธวาทิตไม่เป็นวงโยธวาทิต ทั้งนี้เพราะผู้บริหารไม่ให้การสนับสนุนเท่าที่ควร ดังนั้นก่อนที่จะตัดสินใจในการทำงานที่เกี่ยวกับวงโยธวาทิตต้องทำความตกลงกับผู้บริหารเสียก่อน
2. การทำโครงการเสนอในเรื่องต่างๆ ครูดนตรีต้องมีระบบในการทำงาน ในทุกๆเรื่องที่จะทำ ต้องวางแผนและทำโครงการส่งให้ผู้บริหารเพื่อพิจารณา
3. ครูผู้สอนต้องสามารถควบคุมนักเรียนได้ คือไม่ให้นักเรียนมีปัญหากับ ครู อาจารย์ ผู้สอนวิชาอื่นๆ ครูผู้สอนต้องชี้แจงทำความเข้าใจให้นักเรียนได้ทราบว่าการเรียนต้องมาก่อน เรื่องดนตรีตามมาทีหลัง จุดมุ่งหมาย คือ นักเรียนต้องสนใจการเรียนวิชาการให้มาก ส่วนเรื่องดนตรีให้เป็นเรื่องการผ่อนคลายความตึงเครียดจากการเรียน สิ่งดังกล่าวเมื่อนักเรียนทำได้แล้ว ครู อาจารย์ ส่วนมากจะให้การสนับสนุนเมื่อนักเรียนมาฝึกซ้อมดนตรี แต่ถ้านักเรียนไม่ได้ปฏิบัติตามข้อตกลงที่มีต่อกันแล้วจะมีผลสะท้อนอย่างมาก เป็นสิ่งที่ครูดนตรีต้องทำความเข้าใจกับนักเรียนว่าต้องเรียนก่อนแล้วดนตรีให้มาทีหลัง ดังนั้นเรื่องของการฝึกซ้อมดนตรีจึงจะไม่มีปัญหากับ ครู อาจารย์ที่สอนวิชาสามัญ ในบางครั้งถ้านักเรียนไปทำกิจกรรมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่มีการสอบของนักเรียน ทางโรงเรียนจะอนุโลมให้สอบในภายหลังได้ และฝ่ายวิชาการยังสนับสนุนในการส่ง ครู อาจารย์ สอนเสริมให้กับนักเรียนวงโยธวาทิต ซึ่งฝ่ายวิชาการเป็นผู้ทำโครงการในส่วนนี้
4. งบประมาณที่ได้ส่วนใหญ่เป็นเงินบำรุงการศึกษา กับเงินบริจาคจากบุคคลภายนอกถ้าใช้ในส่วนของเงินบำรุงการศึกษาแล้วต้องเขียนโครงการเพื่อขออนุมัติ ชี้แจงเหตุผลของการขาดอุปกรณ์ในการฝึกซ้อม เพราะนักเรียนต้องเรียนวิชาดนตรีที่โรงเรียนเปิดสอนให้กับนักเรียน แต่เครื่องดนตรีมีไม่เพียงพอกับจำนวนนักเรียน ซึ่งส่วนใหญ่เมื่อขอไปแล้วทางผู้บริหารจะอนุมัติทุกครั้ง บางครั้ง
ถ้าไม่ได้ทั้งหมดตามจำนวนที่ต้องการแต่ก็ทยอยจัดสรรให้ เพียงไม่กี่ปีก็มีเครื่องดนตรีครบตามจำนวนที่ต้องการ
5. ได้รับความร่วมมือจากผู้ปกครอง ตลอดจนสมาคมของโรงเรียนในเรื่องการจัดซื้อเครื่องดนตรี และอุปกรณ์ต่างๆมาโดยตลอด
6. ครูผู้สอนต้องทำความเข้าใจกับนักเรียนในการเสียสละเวลา เพื่อพัฒนาตนให้มีความเป็นเลิศในทางดนตรี นักเรียนส่วนใหญ่จะดูแลและควบคุมได้ง่าย เพราะเรียนอยู่ห้องเดียวกัน การให้คำปรึกษา การอบรมบ่มนิสัย เป็นส่วนหนึ่งที่นักเรียนมีความเข้าใจในการที่จะประพฤติตนไปในทางที่ถูกที่ควร นักเรียนแบ่งเวลาได้ระหว่างการเรียนและการเล่น ส่งผลให้นักเรียนประสบความสำเร็จทั้งการเรียนและการเล่นดนตรี
7. โครงการจัดคอนเสิร์ตภาคเรียนละครั้ง โดยเชิญ ครู อาจารย์ และนักเรียนให้ร่วมชมการแสดง ทุกคนเกิดความภูมิใจที่เห็นลูกศิษย์บ้าง หรือเพื่อนฝูงบ้างได้แสดงดนตรี การปฏิบัติเช่นนี้เพื่อยั่วยุให้นักเรียนรักที่จะฝึกซ้อมดนตรี และพร้อมที่จะแสดงให้เป็นผลงานแห่งความภาคภูมิใจ
โรงเรียนที่ 6 ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการจัดการวงโยธวาทิต คือ
1. ผู้บริหารโรงเรียนให้การสนับสนุน การฝึกวงโยธวาทิตจึงประสบความสำเร็จ งานทุกอย่างถ้าผู้บริหารเข้ามามีส่วนร่วม งานนั้นๆย่อมประสบความสำเร็จได้ ครูผู้สอนเป็นเพียงผู้ปฏิบัติ ดังนั้นจึงต้องได้รับความร่วมมือจากหลายๆฝ่าย เพราะว่าครูผู้สอนท่านเดียวไม่สามารถทำให้วงโยธวาทิตประสบความสำเร็จได้ ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากบุคคลอื่นๆ ทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน
2. ผู้ร่วมงานในโรงเรียน ได้ให้ความร่วมมือด้วยดีในการให้เวลาเรียนขณะนักเรียนไปปฏิบัติหน้าที่ และสนับสนุนช่วยเหลืองานในกิจกรรมวงโยธวาทิตเป็นอย่างดี
3. โรงเรียนคือส่วนหนึ่งของสังคม ทำอย่างไรที่จะให้สังคมเลื่อมใสศรัทธาในกิจกรรมวงโยธวาทิต บุคคลที่จะเป็นผู้ประสานงานได้ดีที่สุด คือ ผู้บริหารโรงเรียน
4. งบประมาณ ต้องอาศัยทางสังคมเป็นหลักโดยเฉพาะภาคเอกชน ส่วนภาครัฐจะเป็นส่วนน้อยที่ให้การช่วยเหลือ การช่วยเหลือนั้นไม่มากพอกับความต้องการ ดังนั้นจึงต้องอาศัยสังคมโดยไปขอความร่วมมือกับนักการเมือง ธุรกิจเอกชนต่างๆ หอการค้า เป็นต้น ก่อนที่จะไปขอบริจาคจากใครต้องสร้างสิ่งต่างๆให้ได้เห็นก่อน การสนับสนุนก็จะได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ส่วนทางด้านสมาคมของโรงเรียนทั้ง 2 สมาคม ได้ให้ความช่วยเหลือในกิจกรรมของทางโรงเรียนเท่าๆกันทุกกิจกรรม
สรุปได้ว่าความสำคัญของการทำงานอยู่ที่ผู้บริหารเป็นประการสำคัญ ถ้าผู้บริหารสนับสนุนวงโยธวาทิตเป็นอย่างดี แต่ว่างบประมาณที่จะซื้อเครื่องดนตรีนั้นต้องใช้เป็นจำนวนมาก ซึ่งงบประมาณของโรงเรียนมีจำกัดจึงต้องหันไปพึ่งสังคมภายนอก รวมทั้งธุรกิจเอกชนทั้งหลายที่ยินดีให้การสนับสนุนวงโยธวาทิตของโรงเรียน แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการประสานงานระหว่างโรงเรียนกับสังคมภายนอกนั้นมีมากน้อยเพียงใด
โรงเรียนที่ 7 ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการจัดการวงโยธวาทิต
1. ครูผู้สอน มีบทบาทสำคัญอย่างมาก ถ้าครูผู้สอนมั่นคงเด็ดเดี่ยว และการทำงานที่มีจุดหมายแล้ว งานนั้นๆก็จะประสบความสำเร็จได้
2. คณะทำงาน ต้องเข้าใจการทำงานและดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกัน มีความร่วมมือกันซึ่งกันและกัน
3. นักดนตรี มีความมุมานะ และอุตสาหะในการทำกิจกรรมในส่วนที่ตนเองรับผิดชอบ
4. ผู้ปกครองต้องให้การสนับสนุนงานนั้นจึงจะสำเร็จลงได้
5. สมาคมและโรงเรียนเป็นความสำคัญอันดับสุดท้าย บางครั้งไม่ได้ให้ความช่วยเหลือ
อะไรเลย เมื่อผลออกมาแล้วจึงเห็นคุณค่าด้วยผลการรายงานให้ได้ทราบ ซึ่งทางโรงเรียนทำงานนั้นๆสำเร็จลุล่วงแล้ว
6. งานทุกอย่างที่ทำเป็นโครงการต้องกำหนดแนวทางการดำเนินงาน และตั้งเป้าหมาย
ที่ชัดเจน
7. งบประมาณยังไม่เป็นปัจจัยสำคัญ ทั้งนี้เพราะไม่เคยที่จะพัฒนาในการนำเงินไปซื้อ
เครื่องดนตรีใหม่ การฝึกซ้อมจะฝึกเครื่องดนตรีที่มีอยู่ งบประมาณที่ขอไปส่วนใหญ่มักไม่ค่อยได้รับการตอบสนอง เรื่องของสมาคมก็ให้การสนับสนุนบ้างไม่มากนัก ส่วนมากจะจัดหาเอง บุคคลภายนอกไม่เคยให้การสนับสนุน จนกระทั่งเมื่อมีชื่อเสียงแล้วจึงหันมาให้ความสนใจ แม้แต่ผู้บริหารระดับจังหวัดที่เคยใช้งานอยู่เป็นประจำก็ไม่ให้ความร่วมมือต่อทางโรงเรียน ส่วนใหญ่ที่ได้มักมาในรูปของการแลกเปลี่ยนกับการโฆษณาสินค้า ตัวอย่าง คือ บริษัทห้างร้านต่างๆจะให้ค่าตอบแทนกับทางโรงเรียน แต่ทั้งนี้ก็ได้รับประโยชน์จากโรงเรียนมากมายมหาศาลในการโฆษณาสินค้าเป็นสิ่งแลกเปลี่ยน โดยที่ก่อนจะให้นั้นทางเจ้าของเงินได้สืบแล้วว่าโรงเรียนนี้มีศิษย์เก่าที่น่าเชื่อถือและหวังผลได้มาก
8. การร่วมแรงร่วมใจของนักดนตรี ที่เสียสละกำลังทรัพย์เพื่อพัฒนาดนตรีให้เจริญตามความต้องการ รุ่นพี่ที่จบการศึกษาไปแล้วกลับมาช่วยรุ่นน้องโดยที่ไม่ต้องการสิ่งตอบแทนใดๆจากทางโรงเรียน ส่วนนักเรียนภายในโรงเรียนไม่ได้มีส่วนในการช่วยเหลือต่างๆเลย ดังคำกล่าวที่ว่า “ภายนอกมองเห็นค่าแต่ภายมองในไม่เห็น”
9. การให้ความร่วมมือของคณะ ครู อาจารย์ ภายในโรงเรียน
9.1 ครู อาจารย์ บางท่านเข้าใจในความเป็นดนตรี และจะมีบางท่านที่ไม่เข้าใจ มักกล่าวว่า “จะเข้าไปอยู่ทำไมในวงโยธวาทิต เธอเสียการเรียนก็เสียเธอจะต้องมาเสียสละทำไมเพื่อตรงนี้ เธอไปเรียนพิเศษดีกว่าเธอจะได้อะไรมากกว่านี้” ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็น ครู อาจารย์ ในสายวิชาสามัญ แม้แต่บางทีมีการประชุมผู้ปกครองมักจะพูดให้ผู้ปกครองได้รับรู้ด้วย เสนอแนะให้เอาบุตร หลาน ออกจากวงโยธวาทิตเสีย ก่อนที่การเรียนจะตกยิ่งกว่านี้ ส่วนใหญ่มักมีปัญหาเกิดขึ้นในนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ส่วนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายนั้นมีจุดยืนที่ไม่มีใครสามารถยับยั้งได้ บางครั้งผู้ปกครองบังคับให้ออกจากวง แต่นักเรียนไม่รับในข้อเสนอที่ผู้ปกครองต้องการ และมักค้านว่าถ้าออกจากวงก็จะเกเรอย่างที่ทุกคนคิด โดยที่ครูผู้สอนไม่ต้องเข้าไปมีบทบาทในส่วนนี้เลย การต่อสู้ในเรื่องดังกล่าวได้ต่อสู้มาแล้วด้วยสงครามทางจิตวิทยาของนักเรียนเอง
9.2 ผู้ร่วมงานบางท่านไม่ให้การสนับสนุน แต่ก็ไม่คัดค้าน
10. การร่วมแรงร่วมใจของนักเรียนในด้านการซื้อโน้ตเพลง หรือเครื่องดนตรีบางชิ้นที่สามารถเสียสละได้
11. ทำทุกสิ่งทุกอย่างให้เกิดความประทับใจของคนทั่วไป วันหนึ่งบุคคลต่างๆเหล่านั้นก็จะเข้ามาให้ความช่วยเหลือ
12. ครูดนตรีมีความสำคัญ ครูดนตรีต้องมีความรู้ทางดนตรีจึงจะทำให้ดนตรีเป็นดนตรีได้ บางครั้งมีครูผู้สอนที่เรียกง่ายๆว่ามือปืนรับจ้างถ้าจะมองในแง่ของดนตรีแล้วพวกนี้มักจะฆ่าเด็กไม่ได้สร้างเด็กเลย
โรงเรียนที่ 8 ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการจัดการวงโยธวาทิต คือ
1. ผู้บริหารโรงเรียน มีบทบทมากที่สุดในการที่ทำห้วงโยธวาทิตไปในทิศทางใด ถ้าผู้บริหารโรงเรียนให้การสนับสนุนแล้วทุกสิ่งทุกอย่างจะดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย การประสานงานกับบุคคลภายในหรือภายนอกโรงเรียนในเรื่องต่างๆ ผู้บริหารโรงเรียนจะเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานทุกอย่าง การบริหารงานของโรงเรียนจะมีงบสำนักผู้อำนวยการ โรงเรียนมีงบซึ่งเป็นงบของวงโยธวาทิตส่วนหนึ่ง การเสนอโครงการเพื่ออนุมัตินั้นถ้าไม่สามารถจัดสรรงบในส่วนของงบวงโยธวาทิตได้ก็จะใช้งบสำนักผู้อำนวยการ งบนี้จะจัดสรรเท่าใดก็ได้ ถ้ามีมติเห็นชอบในข้อเสนอที่ทางวงโยธวาทิตเสนอขึ้นไป
2. บุคลากรภายในโรงเรียน มีส่วนช่วยให้งานสำเร็จลุล่วงได้มาก เพราะถ้าให้ความร่วม
มือในทุกเรื่องงานก็สำเร็จลุล่วงด้วยดี หรือไม่เกิดอคติต่อตัวนักเรียน ซึ่งสิ่งดังกล่าวต้องทำความเข้าใจกับทุกฝ่าย สิ่งที่นักเรียนอยากเข้ามาร่วมในกิจกรรมนี้ เพราะมีความคิดว่ากิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในโรงเรียน เป็นสิ่งที่จับต้องได้ก็เข้ามา ดังนั้นบุคลากรภายในโรงเรียนมีความสำคัญอย่างมาก ถ้าวงโยธวาทิตทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เกิดประสบความสำเร็จอย่างมาก แต่ทุกคนกลับไม่ภูมิใจกับผลงานที่ได้มา จึงต้องวางนโยบายให้สิ่งต่างๆที่บุคคลทั้งโรงเรียนสามารถที่จะจับต้องได้ และเป็นสมบัติของทุกคนแล้ว ทุกคนจะรักและร่วมมีส่วนในความภาคภูมิใจในผลงานที่ได้มา
3. องค์กรภายในโรงเรียน โดยเฉพาะสมาคมศิษย์เก่าและสมาคมผู้ปกครองและครู มีส่วนช่วยเหลือและผลักดันให้วงโยธวาทิตประสบความสำเร็จได้ กล่าวคือถ้าสมาคมที่มีความแข็งแกร่ง ให้การสนับสนุนในทุกสิ่งทุกอย่างก็จะประสบความสำเร็จด้วยดี แต่ทั้งนั้นทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับผู้บริหารโรงเรียนด้วยว่าได้ขอความช่วยเหลือไปยังสมาคมหรือองค์กรต่างๆหรือไม่ เพราะได้กล่าวแล้วว่างานใดจะสำเร็จลุล่วงได้นั้นอยู่ที่ผู้บริหารโรงเรียนเท่านั้นว่าสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนมากน้อยเพียงใด
4. นักเรียนที่เป็นนักดนตรีครูผู้สอนมีความคิดต่อนักเรียน 2 ประการ คือ
4.1 ให้ความสำคัญต่อนักเรียน นักเรียนเป็นผู้ปฏิบัติทุกสิ่งทุกอย่างจะสำเร็จหรือไม่
อยู่ที่ผู้ปฏิบัติ
4.2 ไม่ให้ความสำคัญ คืออยู่ที่ว่าครูผู้สอนจะฝึกนักเรียนอย่างไร วิธีไหนที่จะทำให้
ประสบสำเร็จตามจุดประสงค์ที่ครูผู้สอนวางเป้าหมายไว้
5. ครูผู้สอน เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้วงโยธวาทิตประสบความสำเร็จ เพราะครูผู้สอนต้องฝึกฝนนักเรียนให้ได้ความรู้ และต้องแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น ครูผู้สอนต้องมองถึงสภาพความเป็นจริงที่มีอยู่ในปัจจุบันว่าเป็นอย่างไร แล้วแก้ปัญหาจากสภาพที่เป็นอยู่ให้ดีขึ้น การทำงานบางครั้งต้องลิ่วตามลมบ้าง แต่ส่วนใหญ่แล้วครูผู้สอนดนตรีทุกคนไม่ค่อยยอมใคร ดื้อรั้น มีอะไรพิเศษมาก อยากทำอะไรต้องทำให้ได้ และต้องทำในทุกสิ่งทุกอย่างที่อยากจะทำ บุคคลต่างๆจึงมองไปว่าครูผู้สอนดนตรีเป็นสภาพนั้นทุกคน ส่วนใหญ่ที่ทำให้ดนตรีไม่พัฒนาเท่าที่ควรมี 2 ประการที่สำคัญ คือ ครูผู้สอนกับผู้บริหารโรงเรียน มีหลายโรงเรียนที่ครูผู้สอนและผู้บริหารมีความเข้าใจในเป้าหมายของความสำเร็จที่ต่างกัน บางครั้งครูผู้สอนต้องฝ่าฟันต่อสิ่งนั้น กว่าจะได้มาหรือกว่าจะประสบความสำเร็จ บางครั้งใช้เวลาอันยาวนาน แต่บางครั้งก็ไม่ประสบความสำเร็จจนกระทั่งมีหลายคนที่ตั้งใจทำงานในจุดนี้ต้องย้ายตัวเอง หรือรอว่าเมื่อไรจะเปลี่ยนผู้บริหารใหม่ จะได้มีอะไรที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ประการสำคัญอีกอย่าง คือ ผู้บริหารโรงเรียนมักไม่รู้ว่าดนตรีคืออะไร ไม่เข้าใจว่าทำกิจกรรมนี้แล้วเพื่ออะไร การลงทุนในการทำกิจกรรมนี้ผลที่ออกมาคุ้มค่าหรือไม่ ถ้าครูผู้สอนรับผิดชอบเต็มที่ กิจกรรมวงโยธวาทิตถือว่าเป็นหน้าต่างบานแรกของโรงเรียน ต้องรับใช้สังคม สังคมจะรู้ว่าโรงเรียนเป็นอย่างไร โรงเรียนบางโรงเรียนที่สังคมทั่วไปรู้จักได้ก็เพราะวงโยธวาทิต ระเบียบ วิธีการ ก็ได้มาจากโรงเรียนนั้นๆเป็นแม่แบบ แต่จะมีคำถามว่าเมื่อไรผู้บริหารโรงเรียนจะกลับลงมามองว่าอะไรที่เป็นหน้าตาของโรงเรียน แล้วพยายามที่จะให้การส่งเสริมอย่างจริงจังให้มีความพร้อมในทุกๆด้าน แล้วจึงไปมองหน้าตาในส่วนอื่นๆพร้อมทั้งพัฒนาในส่วนนั้นๆ ใช้ระยะเวลาไม่กี่ปีหน้าตาของโรงเรียนก็จะมีพร้อมในทุกๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเรียนหรือกิจกรรมต่างๆที่โรงเรียนให้การสนับสนุน สิ่งต่างๆจะเป็นตัวชี้ให้สังคมเข้ามามีส่วนรับรู้ และร่วมกันพัฒนาอันจะได้มาซึ่งชื่อเสียงของโรงเรียนในเวลาต่อมา
6. แนวทางที่จะได้มาซึ่งการพัฒนาวงโยธวาทิตเมื่อเรายังไม่พร้อมในส่วนต่างๆ วิธีการที่น่าจะทำได้คือขอความร่วมมือไปยังบริษัทห้างร้านต่างๆ ทำข้อตกลงที่ว่าของบสนับสนุนมาแล้วมีสิ่งตอบแทนโดยการออกแสดงผลงานให้ตามข้อตกลง มีการประชาสัมพันธ์โดยใช้เครื่องหมายการค้าเป็นสื่อโฆษณา เงินที่ได้มาก็เพื่อนำมาพัฒนาวงโยธวาทิตในส่วนต่างๆ หรือถ้าเจ้าของงบสนับสนุนมีงานที่จะต้องใช้วงโยธวาทิต ก็ให้บริการตามที่ร้องขอ โดยอาจเป็นข้อตกลงว่าปีละกี่ครั้ง
7. การพัฒนาวงโยธวาทิตให้ประสบความสำเร็จได้นั้น ปัจจัยที่มีบทบาทในการพัฒนาที่สำคัญ คือ ครูผู้สอน ความสามารถของครูผู้สอนมีมากมายหลายประเภท บางคนมีความถนัดในการควบคุมการฝึกซ้อมนั่งบรรเลง บางคนมีความถนัดในการแปรขบวน หรือบางคนก็มีความถนัดทั้งสองอย่าง แต่ความเหมาะสมในการทำงานให้ได้ผลดีนั้น การสอนทั้งสองอย่างน่าจะใช้ผู้ที่มีความถนัดในแต่ละเรื่อง สอนแบบแยกประเภท คือ สอนการนั่งบรรเลงเป็นหน้าที่ของครูผู้สอนท่านหนึ่ง การสอนแปรขบวนก็เป็นหน้าที่ของครูผู้สอนอีกท่านหนึ่ง วงโยธวาทิตของโรงเรียนก็จะมี 2 วง คือ วงนั่งบรรเลง และวงเดินบรรเลง วงนั่งบรรเลงจะใช้นักเรียนที่มีความรู้ทางดนตรีมากพอแล้ว คือ นักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งนักเรียนเหล่านี้มีเวลาน้อยในการฝึกซ้อมเพราะต้องเตรียมตัวในเรื่องการศึกษาต่อ นักเรียนจะได้นำทักษะที่เรียนรู้มาแล้วจากชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นมาซ้อมการนั่งบรรเลงซึ่งใช้เวลาน้อยกว่าการเดินบรรเลง การเดินบรรเลงต้องใช้เวลามากกว่าเพราะกระบวนการฝึกซ้อมมีมาก น่าจะเหมาะสมกับนักเรียนที่สามารถทุ่มเทเวลาให้กับการฝึกซ้อมในส่วนนี้ จึงควรเป็นนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ที่มีเวลาในการฝึกซ้อมมากกว่า และรูปแบบในการเดินบรรเลงน่าจะใช้เครื่องดนตรีประเภทเครื่องลมทองเหลืองกับเครื่องกระทบ ซึ่งเรียกว่าแตรวง (Brass Band) เพราะเครื่องดนตรีประเภทนี้การบำรุงรักษาง่ายกว่าเครื่องดนตรีประเภทเครื่องลมไม้ แต่เงื่อนไขในความเป็นไปได้ในการแยกประเภทการสอน คือ ต้องมีครูผู้สอนเพิ่ม โรงเรียนหนึ่งๆจะต้องมีครูผู้สอนที่มีความสามารถในแต่ละด้านอย่างน้อย 2 ท่าน
โรงเรียนที่ 9 ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการจัดการวงโยธวาทิต คือ
1. สมาคมศิษย์เก่า
2. สมาคมผู้ปกครองและครู
3. ผู้บริหารโรงเรียน
4. ผู้ปกครองนักเรียน
5. กลุ่มครูผู้สอนดีมีความเข้าใจตรงกัน แยกงานได้ตรงความสามารถ ช่วยเหลือซึ่งกันและกันในบางเรื่องที่รู้
6. การช่วยเหลือจากนักดนตรีรุ่นพี่ที่สำเร็จการศึกษาไปแล้ว
7. นักเรียนที่เป็นนักดนตรี การทำวงโยธวาทิตถ้าทุกส่วนดีหมดแต่ขาดนักดนตรี ก็ไม่สามารถประสบความสำเร็จได้
8. บุคลากรในโรงเรียนให้การสนับสนุน
9. งบประมาณได้มาจากเงินบริจาค และเงินบำรุงการศึกษาของโรงเรียน
10. ห้องฝึกซ้อมเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สภาพแวดล้อมดีขึ้น การที่ไม่มีห้องฝึกซ้อมที่ได้มาตรฐาน บางครั้งไปรบกวนความสุขของชาวบ้านข้างเคียงได้ เพราะการฝึกซ้อมดนตรีต้องมีเสียง ถ้าไม่เป็นห้องเก็บเสียงแล้วก็คงไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ การมีห้องฝึกซ้อมเป็นสัดส่วน จะเกิดความคล่องตัวหลายประการ การเตรียมการฝึกซ้อมในแต่ละครั้งไม่เสียเวลามาก บางครั้งเปิดห้องแล้วฝึกซ้อมได้เลย และมีความพร้อมในปัจจัยอีกหลายประการ
ถึงอย่างไรทุกสิ่งทุกอย่างไม่ได้เป็นเอกเทศต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ต้องสนับสนุนส่งเสริมวงโยธวาทิตจึงประสบความสำเร็จได้ ดังนั้นถ้าขาดส่วนใดส่วนหนึ่งอีกหลายๆส่วนก็ไม่สามารถทำให้บรรลุถึงเป้าหมายแห่งความสำเร็จได้เช่นกัน
โรงเรียนที่ 10 ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการจัดการวงโยธวาทิต คือ
1. นักเรียน
2. ผู้ปกครองนักเรียน
นักเรียนและผู้ปกครองนักเรียนเปรียบเสมือนวัตถุดิบ เมื่อมีวัตถุดิบแล้วองค์กรทั้ง 4 คือ โรงเรียน ผู้บริหารโรงเรียน สมาคมผู้ปกครองและครู และสมาคมศิษย์เก่า ก็จะเป็นฝ่ายดำเนินการส่งเสริมสนับสนุน โดยทั้ง 4 องค์กรต้องร่วมมือกัน ประสานงานร่วมกัน ในการพัฒนาหรือให้การสนับสนุนส่งเสริมด้านวัตถุดิบ คือ นักเรียนให้ได้รับการพัฒนา และมีความตั้งใจจริงในการปฏิบัติหน้าที่
จากกรณีตัวอย่าง มีผู้ปกครองส่วนหนึ่งไม่ให้การสนับสนุนการฝึกซ้อมดนตรีของนักเรียน เวลาว่างที่มีมักจะให้ความสำคัญกับการพักผ่อนมากกว่า ผู้ปกครองอีกส่วนหนึ่งให้การสนับสนุนทั้งเวลา และการเสียสละเพื่อส่วนรวม เช่น ผู้ปกครองต้องการที่จะนำนักเรียนไปเที่ยวในที่ต่างๆหลายๆวัน ถ้าผู้ปกครองเห็นความสำคัญของการฝึกซ้อมดนตรีแล้วจะให้นักเรียนได้ฝึกซ้อมดนตรีก่อน ส่วนการไปเที่ยวหรือพักผ่อนเป็นสิ่งที่ตามมาภายหลัง สิ่งนี้คือส่วนที่ผู้ปกครองให้ความสำคัญกับวงโยธวาทิต และครูผู้สอนต้องมีส่วนในการสร้างศรัทธาให้เกิดขึ้นในตัวผู้ปกครองด้วย
ด้านฝ่ายบริหารโดยเฉพาะสมาคมทั้ง 2 สมาคมของโรงเรียน เมื่อวงโยธวาทิตจะขอสนับสนุนไม่ว่าเป็นเรื่องใดๆที่เกี่ยวข้องแล้ว เมื่อทางสมาคมเห็นว่าครูผู้สอนสนใจและจริงจังกับงาน ความแน่นอนคือทางสมาคมจะให้การสนับสนุน แต่บางครั้งถ้ายังไม่มีงบมากพอยังได้ให้ความหวังในการสนับสนุนเพียงแต่ชลอโครงการไว้เพื่อรองบประมาณ ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้จะส่งผลในด้านกำลังใจต่อครูผู้สอนในการที่จะมุ่งมั่นการทำงานและทุ่มเทให้กับงาน ครูผู้สอนคนเดียวไม่สามารถทำอะไรได้ แต่ทั้งนี้ครูผู้สอนเป็นกำลังสำคัญที่จะทำให้ศรัทธาเกิดขึ้นในตัวนักเรียนและผู้ปกครอง ว่าจะสามารถสอนบุตรหลานให้เกิดความสามารถทางดนตรี ซึ่งจะเกิดผลในความรู้สึกของผู้ปกครองนักเรียน คือ
1. บุตรหลานมีวินัยที่ดีขึ้นมาก
2. มีความขยันขันแข็งในการช่วยเหลือการงานมากขึ้น
3. ช่วยเหลือตนเองได้
4. เข้ากับสังคมได้
5. ความไม่เห็นแก่ตัว มีความเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน
นักเรียนจะได้อะไรในหลายๆอย่าง ครูผู้สอนไม่ใช่ว่าจะสอนวิชาดนตรีอย่างเดียว แต่ต้องสอนในทุกๆด้านและอบรมในทุกๆเรื่องให้กับนักเรียน
ผู้บริหารโรงเรียน ถ้าไม่ให้การสนับสนุนก็จะส่งผลสะท้อน และผู้ที่มีบทบาทมากในโรงเรียน คือ นายกสมาคมทั้ง 2 สมาคม ผู้ที่จะพูดกับโรงเรียนได้ คือ นายกสมาคม และผู้ที่จะให้ข้อมูลกับนายกสมาคม คือ ครูผู้สอน ที่จะให้ข้อมูลต่อนายกสมาคมว่า “ตอนนี้เกิดปัญหาอย่างนั้นอย่างนี้เราพยายามที่สุดแล้ว แต่อยากขอความกรุณาจากท่านนายกฯช่วยพูดคุยกับผู้บริหารโรงเรียนในเรื่องที่วงโยธวาทิตต้องการ” เพราะบางเรื่องท่านอาจจะมองไม่เห็น แต่ในความเป็นไปได้ว่าถ้านายกสมาคมมาอยู่ด้วยตลอดเวลา ท่านนายกสมาคมก็จะเห็นว่าได้ทำอะไรบ้าง บางครั้งท่านนายกสมาคมมีความสนิทสนมกับผู้ปกครองนักเรียนคนใดคนหนึ่งที่มีฐานะทางการเงินดีก็ขอให้ผู้ปกครองได้ให้การสนับสนุนต่อวงโยธวาทิตของโรงเรียน เสียงของผู้ปกครองคือเสียงสะท้อนที่จะทำให้ผู้บริหารได้รับทราบความต้องการได้ เมื่อทางสมาคมได้ปรึกษากับทางโรงเรียนแล้วทุกอย่างจะเกิดผลดี และปัญหาต่างๆจะหมดไป
นอกจากนี้ก็ยังได้รับความร่วมมือจากองค์กรเอกชนต่างๆที่เข้ามาช่วยเหลือ แต่ตัวแปรที่สำคัญ 3 ประการ คือ กลุ่มผู้ปฏิบัติ กลุ่มผู้ประสานงานหรือกลุ่มบุคลากร และกลุ่มภายนอกโรงเรียน ต้องประสานกันอย่างดี ในการขอความร่วมมือเพื่อสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ต่อวงโยธวาทิต
การประสานความร่วมมือระหว่างโรงเรียนถ้าสามารถทำได้ ก็จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้กิจกรรมวงโยธวาทิตมีความเจริญก้าวหน้าเรียกว่าการรวมกลุ่มเพื่อการพัฒนา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่า “เราใจกว้างพอไหม เราเปิดกว้างพอไหม เรายอมรับคนอื่นเขาไหม” การรวมตัวอยู่ที่ความเข้าใจด้วยการพูดคุย การรวมตัวในการทำงานร่วมกันต้องยอมรับในความสามารถของแต่ละบุคคล อย่าอวดความเก่งซึ่งกัน

และกัน ต้องมีจุดมุ่งหมายร่วมกันในการรวมกลุ่มเพื่อการพัฒนาดนตรี ใครมีความสามารถด้านใดก็ให้รับผิดชอบในส่วนนั้นต่างคนต่างช่วยซึ่งกันและกัน ผลที่เกิดขึ้นนักเรียนจะได้รับไม่ใช่ผู้ทำหรือครูผู้สอนได้รับ เมื่อนักเรียนได้รับในสิ่งที่ทำให้มีความสามารถนั้นไม่มีในตำราเรียน แต่จะสามารถมองเห็นได้โดยอัตโนมัติ เป็นสิ่งที่จะติดตัวไปตลอด เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้วก็จะเจริญรอยตามเราต่อไป ความเอื้ออาทร การช่วยเหลือซึ่งกันและกันจะเกิดขึ้นโดยที่ไม่ต้องเรียนรู้ แต่จะเห็นจากการกระทำที่ได้รับ โดยการซึมซาบทีละเล็กทีละน้อย เมื่อเติบโตก็มุ่งมั่นในเจตนารมย์สืบต่อจากครูผู้สอนต่อไป
การสอนที่ดีต้องมีการวางแผน กลุ่มรุ่นพี่จะปฏิบัติตามแผนที่ครูผู้สอนวางไว้ และดูแลให้เกิดความเรียบร้อย
ความสำเร็จในการเรียนการสอนวงโยธวาทิตของต่างประเทศจะยึดตำราที่ไปใทิศทางเดียวกันทั้งหมด ส่วนเมืองไทยมีข้อเสีย คือ โรงเรียนหนึ่งก็เป็นตำราหนึ่งอีกโรงเรียนก็เป็นอีกตำราหนึ่ง แล้วแต่ตำราไหนจะนิยมมากที่สุด ดังนั้นการเรียนการสอนวงโยธวาทิตของเมืองไทยน่าจะใช้ระบบการต่างๆที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันไม่ใช่ต่างคนต่างทำอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
การซ้อมต้องมีจุดมุ่งหมายในการซ้อม นักเรียนก็จะมีทิศทางในการปฏิบัติ เมื่อนักเรียนไม่ทราบจุดมุ่งหมายก็จะไม่ทราบทิศทางในการปฏิบัติ ไม่รู้ว่าจะฝึกซ้อมไปทำไม และความเบื่อหน่ายก็จะตามมา
ปัจจัยแห่งความสำเร็จ ไม่ใช่อยู่ที่โรงเรียนใหญ่หรือโรงเรียนเล็ก ตามที่มีการกล่าวอ้างมาโดยตลอด คือ “โรงเรียนใหญ่มีความพร้อมในหลายด้าน เช่น เครื่องดนตรีดี มีนักเรียนมาก มีงบประมาณมาก ใครก็ทำได้” แต่สิ่งต่างๆเหล่านั้นครูดนตรีไม่ได้หวนกลับมามองตัวเองว่าคิดจะทำได้หรือยัง ลงมือทำแล้วหรือยัง อย่าเพียงแต่นั่งมองคนอื่นทำ แล้วกล่าวโทษสิ่งต่างๆมาเป็นข้อกล่าวอ้าง บุคคลอื่นเขาทำได้เราก็น่าจะทำได้ เพราะทุกคนมีความพร้อมอยู่ในตัวแล้ว แต่ได้นำสิ่งต่างๆนั้นทำออกมาแล้วหรือยัง ถ้าเรายังไม่ทำอะไรเลยให้คนอื่นเห็น การสนับสนุนก็ไม่น่าจะเกิดขึ้น แต่ถ้าคนเหล่านั้นทำและมีความพยายามที่จะทำอย่างที่สุด จนนักเรียนสามารถเล่นได้บ้างแล้วได้ยินจากผลงานของนักเรียนบ้างแล้ว เมื่อขออะไรก็มักจะได้ หรือบางทีมีงบประมาณน้อยก็อาจมีการต่อรองและให้ความหวัง ถ้าครูผู้สอนมีความตั้งใจที่จะทำงานแล้ว ก็ควรทำได้เลยอย่ามัวรอในสิ่งที่ไม่ควรรอ ทำไปจนกว่าจะให้ทุกคนเห็นความดี โดยเฉพาะผู้บริหารโรงเรียน ยิ่งไม่ให้ยิ่งทำเป็นทวีคูณด้วยสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบันแล้ว สักวันหนึ่งสิ่งที่ต้องการก็คงสมปรารถนา
การทำงานต้องมุ่งหน้าไปในทางที่ถูก เพื่อนักเรียนจะได้รับสิ่งที่ถูกต้อง นักเรียนคือผ้าขาว ถ้าให้อะไรในสิ่งที่ผิดก็จะได้รับสิ่งที่ผิดตั้งแต่บัดนั้นไปจนจบการศึกษา แต่ถ้าให้ในสิ่งที่ถูกก็จะได้รับสิ่งที่ถูกไปจนจบการศึกษาเช่นเดียวกัน

การทำงานต้องทำด้วยใจรัก รักที่อยากทำไม่ได้ฝืนใจทำ คนที่ไม่ทำก็คือคนที่ทรยศต่อวิชาชีพนั่นเอง การทำงานใดๆก็ตามผลสะท้อนไม่ได้กลับมาที่ตัวผู้ทำ ผลสะท้อนจะมาสู่โรงเรียนทั้งหมด ส่วนของความดีอยู่ในภาพรวม สิ่งต่างๆไม่ได้อยู่ที่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง เช่น ผู้บริหารดี ครูผู้สอนดี นักเรียนดี หรือผู้ปกครองดี แต่การทำงานเมื่อได้รับความสำเร็จแล้วครูผู้สอนจะมีความภูมิใจ มีความอิ่มใจ ที่ทำงานได้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ ถึงแม้จะไม่ได้รับคำชมเชยก็คาม นักเรียนเล่นดนตรีได้แล้วมีความสุข ครูผู้สอนอิ่ม นักเรียนมีวินัยและมีสิ่งต่างๆ ครูผู้สอนอิ่มและมีความสุข ถ้าครูดนตรีทุกคนเป็นอย่างนี้การดนตรีในเมืองไทยจะมีความเจริญขึ้นอย่างแน่นอน
การสอนที่ดีจะต้องมีการประเมินตนเองอยู่ตลอดเวลา เมื่อเกิดความผิดพลาดในส่วนหนึ่งส่วนใดแล้วต้องรีบแก้ไขให้ถูกต้องโดยทันที หรือให้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียหายที่ตามมา งานที่ทำจะประสบความสำเร็จได้
โรงเรียนที่ 11 ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการจัดการวงโยธวาทิต คือ
1. โรงเรียน เป็นอันดับแรกเพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษา
2. ผู้บริหารโรงเรียน เป็นตัวแปรที่สำคัญในการสนับสนุนเรื่องต่างๆ และการประสานความร่วมมือได้ดีทั้งบุคคลภายในและภายนอกโรงเรียน
3. สมาคมทั้ง 2 สมาคม คือสมาคมศิษย์เก่า และสมาคมผู้ปกครองและครู
4. ผู้ปกครองนักเรียน ส่วนใหญ่จะซื้อเครื่องดนตรีให้นักเรียน ประมาณ 40 % ของวง ผู้ปกครองมีความมั่นใจในตัวนักเรียน ว่าเมื่อเขามาเล่นดนตรีแล้วไม่เสียผลการเรียน ดังนั้นจึงสนับสนุนส่งเสริม ทั้งนี้เพราะการที่ครูผู้สอนตอบสนองให้นักเรียนได้รับความรู้ แทนที่บางครั้งนักเรียนควรจะได้ทบทวนการเรียน แต่ต้องมาสูญเสียไปกับการฝึกซ้อมดนตรี แต่ผู้ปกครองก็เข้าใจในจุดนี้
5. ครูผู้สอน ต้องเป็นผู้เสียสละ เพราะการสอนวงโยธวาทิตต้องใช้เวลาอย่างมากในการที่จะพัฒนาและปรับปรุงวงโยธวาทิต ครูผู้สอนต้องใฝ่หาความรู้และประสบการณ์ เพื่อนำมาให้กับนักเรียน การศึกษาค้นคว้าในวิธีการและกระบวนการจะทำให้การเรียนการสอนประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างดี
6. นักเรียน ต้องมานะอดทนในการฝึกซ้อม ต้องเสียสละเวลา รู้จักหน้าที่ และสามารถแบ่งเวลาได้ถูกต้อง
7. อุปกรณ์ มีผลต่อการพัฒนาวงโยธวาทิตอย่างมาก ถ้าเครื่องดนตรีดีการบรรเลงก็จะดีตาม โดยเฉพาะในปัจจุบันคอมพิวเตอร์ช่วยได้อย่างมากในการพัฒนาการเรียนการสอน การนำเทคโนโลยีมาพัฒนาดนตรีบางครั้งจะทำได้ดีกว่าที่ไม่ใช้
8. อารมณ์ที่มีต่อการบรรเลง อารมณ์ถือเป็นความสำเร็จส่วนหนึ่งที่เป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดความสำเร็จ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น