วันอังคารที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2554

สัญญาณคทากร

บทที่ 3

สัญญาณ คทากร (Drum Major)

คทากร เป็นผู้มีบทบาทและมีความสำคัญในวงโยธวาทิตรองลงมาจากผู้อำนวยเพลงซึ่งบทบาทของคทากรจะเป็นผู้นำในการควบคุมแถวในการเดินบรรเลง มีหน้าที่ในการให้สัญญาณต่างๆให้แก่สมาชิกภายในวงได้รับรู้และปฏิบัติ โดยการใช้มือและไม้ถือ (คทา) สั่งการให้ปฏิบัติได้ถูกต้องและพร้อมเพรียง เพื่อนำขบวนไปสู่จุดหมายปลายทาง และเป็นผู้นำในการแสดงกิจกรรมต่างๆ โดยผู้บรรเลงต้องปฏิบัติตามสิ่งที่คทากรสั่งอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการบรรเลง
คทากรต้องทราบหน้าที่ของตนเองที่ต้องปฏิบัติ และควบคุมการปฏิบัติของสมาชิกในวงให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยยึดหลักความถูกต้องและเรียบร้อยเป็นประการสำคัญ คทากรต้องมีลักษณะการเป็นผู้นำที่ดี เป็นที่เชื่อถือของสมาชิกในวง ฉะนั้นคทากรควรเป็นผู้ที่มีบุคลิกลักษณะดี มีความรู้ความสามารถในวิชาการดนตรี และสามารถนำวงให้เคลื่อนที่ไปตามทิศทางต่างๆ ได้ด้วยดี นอกจากนั้นคทากรต้องเป็นผู้ที่มีปฏิภาณไหวพริบและการตัดสินใจต่อเหตุการณ์เฉพาะหน้าได้ดี เพราะในบางครั้งการเดินไปข้างหน้าอาจจะพบกับอุปสรรคต่างๆ เพราะฉะนั้นคทากรจะต้องเป็นผู้แก้ปัญหาเป็น และแก้ปัญหาให้ลุล่วงให้ได้เมื่อพบอุปสรรคต่างๆ (ธนาคาร แพทย์วงษ์, 2533: 346)
บทบาทของคทากร
ณรงค์ กังสดาร (2522: ไม่ปรากฏเลขหน้า) ได้อธิบายประกอบการสาธิตไว้ในเอกสารประกอบการอบรมครูผู้สอนดนตรีทั่วประเทศ รุ่นที่ 2 ณ จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวโดยสรุป คือ
บทบาทของคทากรที่เกี่ยวข้องกับวงโยธวาทิต ประกอบด้วย
1. การตรวจสอบความพร้อม
2. การให้สัญญาณเริ่มปฏิบัติ
3. การเปลี่ยนเพลง
4. การเลี้ยว การหัน และการแสดงกิจกรรมต่างๆ
5. การหยุดขบวน


สัญญาณไม้คทา (Drum Major)
หน้าที่ของคทากร
ธนาคาร แพทย์วงษ์ (2333: 347-380) ได้กล่าวในคู่มือครู “การจัดกิจกรรมโยธวาทิตในสถานศึกษา” เรื่องสัญญาณไม้คทา พอสรุปได้ ดังนี้ คทากร คือ ผู้ให้อาณัติสัญญาณกับผู้ปฏิบัติการบรรเลงในวงโยธวาทิต ให้ได้ทราบการปฏิบัติและขั้นตอนการปฏิบัติของแถววงโยธวาทิตที่ถูกต้องในการบรรเลงภาคสนาม และปฏิบัติหน้าที่แทนผู้อำนวยเพลงในการให้สัญญาณขณะบรรเลงอยู่กับที่ หรือทำหน้าที่อื่นๆแทนวาทยากรในขณะที่วาทยากรไม่อยู่ หรือสั่งการใดๆแทนวาทยากร
ความสำคัญของไม้คทา
อาณัติสัญญาณจากไม้คทา เป็นคำสั่งให้แถววงโยธวาทิตปฏิบัติได้โดยถูกต้องพร้อมเพรียงกันเช่นเดียวกับคำสั่งของผู้ควบคุมแถว ผู้มีหน้าที่ให้อาณัติสัญญาณต้องทราบหน้าที่และขั้นตอนการปฏิบัติ อย่างดี เพื่อควบคุมการปฏิบัติของวงโยธวาทิตนั้นๆให้เป็นไปโดยถูกต้องเรียบร้อย
คุณสมบัติของคทากร
ผู้ถือไม้คทาต้องเป็นผู้มีบุคลิกลักษณะและเป็นผู้นำที่ดี มีความรู้ความสามารถในวิชาการดนตรีอย่างดี คทากรจะเป็นผู้นำวงโยธวาทิตให้เคลื่อนที่ไปตามทิศทางต่างๆตามความต้องการ ไม้คทาเป็นสื่อที่ใช้สำหรับการสั่งการโดยตลอด ผู้ถือไม้คทาจึงต้องเป็นผู้มีปฏิภาณ ไหวพริบ เชาวน์ปัญญาที่ดี ในการตัดสินใจเมื่อพบปัญหาต่างๆในขณะนำแถว สามารถนำแถวไปตามทิศทางที่กำหนดได้ทันเวลาและเหตุการณ์
สัญญาณและการใช้สัญญาณ
สัญญาณที่ใช้มี 2 อย่าง คือ
1. สัญญาณมีเสียง ได้แก่ นกหวีด จังหวะกลอง
2. สัญญาณไม่มีเสียง ได้แก่ สัญญาณจากไม้คทา
นกหวีด ใช้เพื่อเรียกแถว เตรียมตัว หรือเรียกรวมวงนั่งบรรเลง และบางโอกาสสามารถใช้ประกอบบทเพลงในการบรรเลงได้อีกด้วย
จังหวะกลอง เป็นจังหวะในวงโยธวาทิตของทหาร และเป็นจังหวะปฏิบัติของไม้คทาให้เป็นไป ตามจังหวะและขั้นตอนที่กำหนด
ไม้คทา เป็นสื่อแสดงสัญญาณให้สมาชิกในวงโยธวาทิตปฏิบัติ โดยปกติคำสั่งที่ใช้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
1. คำสั่งให้ “เตรียมตัว”
2. คำสั่งให้ “ปฏิบัติ”
คำสั่งเตรียมตัว ก่อนสั่งให้ปฏิบัติต้องสั่งให้เตรียมตัวก่อนทุกครั้ง คำสั่งเตรียมตัวต้องมีความยาวของสัญญาณพอประมาณ มีความดังของเสียง “คำสั่ง” ที่ถูกต้องชัดเจน ถ้าใช้ท่าสัญญาณที่ยืดยาวและคำสั่งที่ไม่ชัดเจนอาจทำให้สมาชิกในวงเกิดความลังเลใจได้
คำสั่งปฏิบัติ สั่งให้ปฏิบัติโดยชัดเจนแน่นอน เป็นจังหวะตามลำดับขั้นตอน ผู้รับปฏิบัติได้ปฏิบัติอย่างถูกต้องโดยไม่เกิดความลังเลใจในการปฏิบัติ
ความสัมพันธ์กับผู้เกี่ยวข้อง
ผู้ปฏิบัติหน้าที่คทากรต้องมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด และรับทราบนโยบายของผู้ควบคุมวงในทุกครั้งที่ปฏิบัติหน้าที่นำแถว เพื่อนำไปสั่งการหรือชี้แจงแก่สมาชิกในวงให้ปฏิบัติอย่างถูกต้องไม่ผิดพลาด ในขณะที่ผู้ควบคุมวงไม่อยู่คทากรต้องควบคุมวงไปได้โดยทันทีด้วยความมั่นใจ
ความสัมพันธ์กับวงโยธวาทิตหรือผู้รับปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติต้องทราบท่วงทีและท่าทางลักษณะการปฏิบัติท่าสัญญาณต่างๆที่สั่งด้วยไม้คทาโดยทั่วกันทุกคน
ลักษณะการถือไม้คทา
จับไม้คทาด้วยมือขวาหรือมือซ้ายที่ถนัด การกำมือจับคทาอย่าให้แน่นหรือหลวมจนเกินไป นิ้วมือเรียงชิดติดกันอยู่ด้านนอก 4 นิ้ว ด้านใน 1 นิ้ว ห่างจากหัวไม้คทาประมาณ 1 ฟุต (พองามตามลักษณะของไม้คทา)
ขณะเคลื่อนที่ มือถือไม้คทาเคลื่อนไหวอยู่ระหว่างอก (ขณะบรรเลงเดินทางตรง) แขนอีกข้างหนึ่งแกว่งขึ้นลงตามจังหวะ แขนที่แกว่งเหยียดตรงมือกำหลวมสูงข้างหน้าเสมอไหล่ แกว่งลงข้างล่างไปทางหลังพองามตามธรรมชาติ หรือวิธีการใดวิธีการหนึ่งที่มีลักษณะท่าทางเหมือนกันตลอดในขณะปฏิบัติหน้าที่นำแถว
การหมุนไม้คทาท่าเตรียมตัวทำกิจกรรมต่างๆ ควรใช้มือถือคทาที่คอไม้คทาประมาณช่องว่างจากหัวไม้คทากับโซ่ หรือเชือกที่พันไม้คทา แขนอีกข้างหนึ่งท้าวสะเอว หรือกำมือแน่นบริเวณเอวเพื่อสร้างความสมดุลและความกระชับของร่างกายในขณะหมุนไม้คทา และมือที่หมุนหรือควงไม้ต้องเหยียดตรงบริเวณเหนือศีรษะ อย่าให้มือโค้งงอเด็ดขาดเพราะจำทำให้คทาไม่ได้ศูนย์อาจทำให้เกิดอันตรายได้
การออกคำสั่ง
การออกคำสั่ง โดยทั่วไปควรปฏิบัติ ดังนี้
1. ออกคำสั่งแต่ละครั้งให้ชัดเจนและเข้าใจง่าย
2. คำสั่งที่แสดงด้วยไม้คทาต้องให้สูงเท่าที่จะทำได้ เพื่อภายในแถวจะได้เห็นทั่วกัน
3. คำสั่งต้องอยู่ในหน้าที่และระเบียบแบบแผน
4. ให้สัญญาณการปฏิบัติก่อนหลังไม่ข้ามขั้น
5. คำสั่งที่เป็นเสียง เช่น เสียงนกหวีด กลอง คำสั่ง สั่งให้ชัดเจน
6. ออกคำสั่งโดยใช้สัญญาณจากไม้คทาแทนคำสั่งอื่นๆ
การเรียกแถว
ผู้ถือไม้คทา ต้องสังเกตและเลือกลักษณะของพื้นที่ในการเรียกแถวมาให้เหมาะสมกับรูปขบวนที่เรียก ผู้ถือไม้คทาอยู่หัวแถวในตำแหน่งแถวตอนที่ 1 หันหน้าเข้าหารูปขบวนห่างจากแถวตับที่ 1 ประมาณ 6 ก้าวเดินปกติ เมื่อสมาชิกภายในวงเข้าแถวเป็นที่เรียบร้อยแล้วคทากรจะเดินไปอยู่ในตำแหน่งหน้าแถวตอนที่ 3 ตับที่ 1 (กรณีปฏิบัติแถวตอน 5 แถว) ถ้าจัดแถวตอน 4 แถวจะยืนอยู่ระหว่างแถวตอนที่ 2 และแถวตอนที่ 3 หันหน้าในทิศทางเดียวกับรูปขบวนเพื่อรอให้สัญญาณการปฏิบัติกับสมาชิกภายในวงให้ทราบต่อไป
การปฏิบัติขณะมีผู้อำนวยเพลง
เมื่อคทากรนำแถวถึงจุดกำหนดหรือถึงที่หมายแล้ว เมื่อผู้อำนวยเพลงออกมาอำนวยเพลง ให้คทากรแสดงความเคารพผู้อำนวยเพลง 1 ครั้ง แล้วเดินเข้าไปประจำที่ยังปีกขวาของรูปขบวนในตำแหน่งข้างผู้บรรเลงคนที่ 1 แถวตับที่ 1 ตอนที่ 1 ทั้งนี้เพื่อเปลี่ยนบทบาทชั่วคราวของผู้ทำหน้าที่คทากร และป้องกันไม่ให้ผู้ปฏิบัติเกิดความสับสนในการบรรเลงเพลง บางครั้งคทากรจะรับคำสั่งเปลี่ยนแปลงบางประการไปบอกให้สมาชิกภายในวงทราบ
การใช้ท่าสัญญาณต่างๆ
ท่าตรง
ยืนท่าตรง ปลายไม้คทาวาง (ปัก) บนพื้นห่างจากนิ้วก้อยเท้าขวาประมาณ 1 ฝ่ามือ มือขวากำคอไม้คทา หลังมืออยู่ด้านหลัง นิ้วมือเรียงชิดติดกันกำไม้คทาให้นิ้วมือไปอยู่ด้านหน้า หัวแม่มือโอบมากำคอไม้ ไม้คทาแนบลำตัวแขนตึง แขนซ้ายแนบลำตัวให้ปลายนิ้วกลางอยู่แนวตะเข็บ
ท่าพักปกติ
ยืนอยู่ในแถวเช่นเดียวกับท่าตรง แต่ให้งอเข่าข้างใดข้างหนึ่งได้ ดึงแขนขวาเข้ามาโดยให้
ไม้คทาอยู่แนบลำตัว
ท่าพักตามระเบียบ
ลักษณะการปฏิบัติเช่นเดียวกับท่าพัก ต่างกันที่ต้องก้าวเท้าแยกออกไปทางด้านซ้ายครึ่งก้าว (ประมาณ 1 ฟุต) ทิ้งลำตัวให้อยู่กึ่งกลาง มือขวาดึงคทาเหยียดแขนออกไปทางด้านขวาเฉียงไปข้างหน้าเล็กน้อยพองามแขนเหยียดตรง แขนซ้ายไขว้ไปข้างหลังลำตัวหงายมือให้หลังมือแนบแนวเข็มขัดตรงกึ่งกลางหลัง กำมืออยู่ในท่าสงบนิ่ง
ท่าพักตามสบาย
เปลี่ยนไม้คทาจากมือขวามาถือที่มือซ้าย ให้ส่วนหัวไม้คทาพาดลำตัวบริเวณซอกไหล่ซ้าย มือซ้ายจับไม้คทาบริเวณระหว่างกลางไม้คทา แขนขวาปล่อยลงตามสบาย (ใช้เป็นท่าถือไม้คทาเพื่อเดินเข้าไปชี้แจงรายละเอียดในแถวได้)
ท่าเตรียมตัวออกเดิน
ท่าเตรียมตัวออกเดินแบ่งได้เป็น 2 แบบ โดย เริ่มจากท่าตรง ดังนี้
แบบ 1 มีคำสั่งประกอบ คำสั่ง “ระวัง” กระตุกไม้คทาด้วยมือขวาโยนคทาให้หัวคทาทแยงทางซ้าย รับคทาด้วยมือซ้ายระดับหน้าอกให้ปลายคทาชี้ทแยงไปทางขวาได้ยินคำสั่งว่า “หน้าเดิน” โยนคทาจากมือซ้ายระดับหน้าอกรับด้วยมือขวาให้ปลายคทาเปลี่ยนทิศทางชี้ทแยงไปทางซ้าย ตบเท้าขวาแล้วเตะเท้าซ้ายออกเดินตามจังหวะหมู่กลอง (ในกรณีที่มีผู้ควบคุมเป็นผู้สั่งการ)
แบบ 2 ไม่มีคำสั่งประกอบ
1. ดึงไม้คทามาอยู่ข้างหน้ากลางลำตัวมือขวากำคทาเหนือมือซ้ายให้หัวคทาเสมอระดับคาง (กำคทาโดยให้หลังมืออยู่ด้านนอกลำตัว) ยกศอกทั้งสองข้างเสมอไหล่ ทิ้งมือลงไปท้าวเอว
2. เหยียดมือขวาให้แขนตึงระดับศีรษะ บิดปลายไม้คทาที่มือขวาไปทางซ้ายให้ไม้คทาขนานพื้น หมุนไม้คทากลับไปทางขวาควงรอบข้อมือ 3 รอบ (โดยให้ปลายคทาวาดเป็นวงกลม)
3. ยื่นมือซ้ายออกไปข้างหน้าเฉียงไปทางขวากลางลำตัวแขนเหยียดตรงบิดฝ่ามือซ้ายให้หน้ามือรับคทาให้หยุดหมุน ไม้คทาอยู่ตรงกลางลำตัวด้านหน้า มือขวาถือคอไม้คทาแขนตึง มือซ้ายจับไม้คทาเหนือระดับมือขวา หงายฝ่ามือทั้งสองข้างออกนอกลำตัว
4. ลดคทาลงมาระดับเอวด้วยการใช้มือซ้ายดึงคทา ปล่อยมือขวาพร้อมให้มือขวาลงมารับคทาระดับเอว (มือซ้ายกำคทาให้หลังมือไปด้านหลัง มือขวากำคทาให้หลังมือไปข้างหน้า) เลื่อนมือขวาให้ไปจับปลายคทามากที่สุด
5. ดีดทคาขึ้นทางขวามือโดยส่งแรงคทาด้วยมือซ้าย ชูแขนขวาตึงเอียง 45 องศาเฉียงไปทางขวา มือซ้ายท้าวเอว (พร้อมกันนี้เครื่องดนตรีเตรียมพร้อมอยู่ในท่าเตรียมบรรเลง)
6. ใช้คำสั่ง “หน้า” ลดระดับมือขวาลงมาบริเวณใบหน้า ลำตัวคทาเอียงซ้ายพอประมาณ (มือขวาเกร็งให้คทาอยู่นิ่งมากที่สุด)
7. ใช้คำสั่ง “เดิน” ดีดมือขวาที่จับปลายคทาไปข้างหน้าปล่อยปลายคทาให้ดีดออกจากลำตัว ใช้มือขวารับไม้คทาบริเวณระหว่างหัวคทาและห่วงโซ่วงที่ 1 ย่ำเท้าขวาพร้อมดีดเท้าซ้ายออกเดินในจังหวะที่ 1 ของหมู่กลอง
ท่าเดินขณะบรรเลง
ถือไม้คทาด้วยมือขวา หรือ ซ้าย ตามความถนัด ตรงประมาณห่วงแรกของโซ่หรือเชือกที่พันไม้คทา มือถือไม้คทาอยู่ระหว่างหน้าอก ประมาณกระดุมเม็ดที่ 2 ยกศอกให้เสมอไหล่ ไม้คทาพาดเฉียงลำตัว หรือถือระดับไหล่ใหปลายคทาไปข้างหน้าแล้วแต่ความถนัดหรือเห็นว่าเหมาะสม มือที่ไม่ได้ถือไม้คทาให้แกว่งตามจังหวะโดยแขนเหยียดตรงแกว่งไปข้างหน้าสูงเสมอไหล่หรือต่ำกว่านั้น แกว่งลงทางด้านหลังลำตัวพองาม
การเคลื่อนไหวไม้คทาตามจังหวะ ทิ้งไม้คทาลงไปข้างหน้าโดยดึงโน้มลงไปข้างล่าง แล้วดึงโน้มกลับมาอยู่ในท่าเดิมสูงประมาณกระดุมเม็ดที่ 2 มือที่ไม่ได้ถือไม้คทาให้ขึ้นลงสลับกันตามจังหวะ การทิ้งไม้ ขึ้น ลง (มือที่เคลื่อนไหวอยู่ระหว่างหน้าอกตามจังหวะนั้น ต้องระวังถือไม้คทาให้เคลื่อนไหวทั้งลำ มิใช่เคลื่อนไหวเฉพาะหัวไม้) กรณีที่ยกไม้คทาสูงระดับไหล่ปลายชี้ไปข้างหน้าให้โยกมือขวาเข้าหาบริเวณแก้มแล้วดีดออกไปประมาณ 1 ฟุตสลับไปมา ส่วนมือซ้ายยังคงปฏิบัติเช่นเดียวกันกับที่กล่าวมาแล้ว
ท่าเดินไม่บรรเลง
1. ถือไม้คทาด้วยมือซ้ายตามแบบท่าพักตามสบาย เดินตามจังหวะ
2. หนีบไม้คทาด้วยแขนซ้ายกับลำตัว มือซ้ายหงายขึ้นกำคอไม้คทา ไม้คทานอนขนานกับพื้น หัวคทาอยู่ด้านหน้า ปลายคทาอยู่ด้านหลัง แขนขวาแกว่งตามจังหวะ
ท่าเลี้ยว ซ้าย ขวา
1. หมุนไม้คทาเตรียมตัวด้วยมือขวา หรือมือซ้าย (เลี้ยวซ้ายหมุนมือขวา เลี้ยวขวาหมุนมือซ้าย)
2. หยุดไม้คทาตรงศีรษะแขนเหยียดชี้เอนไปข้างหน้าเล็กน้อย ปลายคทาชี้ขึ้น
3. หักปลายไม้คทาลงให้ไม้คทานอนขนานกับพื้นอยู่เหนือศีรษะให้ปลายไม้คทาอยู่นอกลำตัว หัวไม้คทาชี้ไปในทิศทางที่จะเลี้ยว
4. กระตุกหัวไม้คทาลงมาเสมอแนวไหล่ ยกมือซ้าย หรือมือขวา ขึ้นมาจับไม้คทาทางด้านหน้า ให้ศอกทั้ง 2 ข้างเสมอไหล่ แล้วเหยียดแขนขวาหรือแขนซ้ายตรงออกไปทางปลายไม้คทา คว่ำมือปลายไม้คทาอยู่ในระหว่างนิ้วชี้กับนิ้วหัวแม่มือที่เหยียดตรง


5. ถึงจุดหรือจังหวะเลี้ยว ทำซ้ายหรือขวาหันเป็นมุม 90 องศา ไปตามทิศที่ทางการเลี้ยวที่ต้องการ และเดินต่อไปในทิศทางใหม่
6. มือขวาหรือมือซ้ายที่เหยียดออกไปแตะปลายไม้คทา ผลักปลายไม้คทาเฉี่ยวลงไปด้านล่าง ในขณะเดียวกันให้ดีดมือที่อยู่ด้านหัวคทาให้ลอยตัวแล้วจับด้วยมืออีกข้างหนึ่ง ไม้คทาจะกลับสู่ท่าปกติให้ก้าวเดินต่อไป
ท่าเลี้ยวกลับหลัง
1. หมุนไม้คทาด้วยมือขวา มือซ้ายท้าวเอว
2. หยุดไม้คทาเหนือศีรษะปลายไม้คทาชี้ขึ้น เอนไปข้างหน้า 45 องศา
3. พาดไม้คทาลงไปข้างหน้า ปลายไม้คทาสูงจากพื้นประมาณ 1 คืบ งอศอกขวาดึงไม้คทาเข้ามาหาลำตัวเล็กน้อย พร้อมกับเหยียดแขนซ้ายตรงออกไปข้างหน้า คว่ำมือลงพื้นตามแนวไม้คทา ให้นิ้วมือทั้ง 4 นิ้ววางอยู่บนไม้คทา นิ้วหัวแม่มือบีบไม้คทาขึ้นมาหานิ้วมือบนทั้ง 4 นิ้ว มือซ้ายอยู่ด้านล่าง มือขวาอยู่ด้านบน อกแอ่น ไหล่ผึ่ง ตัวตั้ง เอนไปข้างหลังเล็กน้อยพองาม
4. ถึงจุดเลี้ยวกลับหลัง กระตุกไม้คทาเข้ามาหาลำตัว พร้อมกับกลับหลังหันเดินกลับมาทางเก่า
ท่าเปิดระยะ ปิดระยะ
1. หมุนไม้คทาเตรียมตัวด้วยมือขวา มือซ้ายท้าวเอว
2. หยุดไม้คทาด้วยมือซ้าย ปลายไม้คทาชี้ลงพื้น หัวไม้คทาอยู่ข้างบน
3. ทิ้งไม้คทาลงไปที่หน้าขาข้างหน้า จับไม้คทาด้วยมือทั้ง 2 ข้าง หลังมืออยู่ด้านหน้า (ในขณะที่ทิ้งไม้คทาลงไปนั้น ต้องการเปิดระยะ เพื่อขยายแถวให้กว้างออกไปรูดมือทั้ง 2 ข้าง เข้ามาให้ชิดกันตรงกลางไม้คทา ถึงจุดหรือจังหวะต้องการเปิดระยะ ชูไม้คทาขึ้นเหนือศีรษะด้วยมือทั้ง 2 ข้าง และรูดมือให้ห่างออกไปทางหัวและปลายไม้คทา
4. ต้องการปิดระยะเพื่อชิดแถว ในขณะที่ทิ้งไม้คทาลงไปที่หน้าขาข้างหน้า มือที่ถือไม้คทาจับห่างจากกันประมาณ 2 ฟุต ถึงจุดหรือจังหวะปิดระยะเพื่อชิดแถว ชูไม้คทาขึ้นเหนือศีรษะ แล้วรูดมือทั้ง 2 ข้างเข้ามาให้ชิดกัน
ท่าซอยเท้า
1. หมุนไม้คทาด้วยมือขวา มือซ้ายท้าวเอว
2. หยุดไม้คทาด้วยมือซ้าย ทิ้งไม้คทาลงไปที่หน้าขาข้างหน้า
3. เหยียดแขนชูไม้คทาเหนือศีรษะ เคลื่อนไหวไม้คทาขึ้นลงเล็กน้อยตามจังหวะเดิน
จังหวะปฏิบัติ
จังหวะที่ 1 เท้าซ้าย กระตุกไม้คทาลงมาเสมอคาง
จังหวะที่ 2 เท้าขวา ชูไม้คทาขึ้นเหนือศีรษะ แขนเหยียดตรง
จังหวะที่ 3 เท้าซ้าย กระตุกไม้คทาลงมาเสมอไหล่ เท้าซ้ายหยุดอยู่กับที่
จังหวะที่ 4 เท้าขวา ชักเท้าขวามาซอยเท้าอยู่กับเท้าซ้ายตามจังหวะ พร้อมกับลดมือที่ถือไม้
คทาลงไปอยู่ที่หน้าขาข้างหน้า
ท่าหยุดซอยเท้า
ขณะซอยเท้าไม้คทาถือด้วยมือทั้ง 2 ข้าง อยู่ที่หน้าขาข้างหน้า แล้วชูไม้คทาด้วยมือทั้ง 2 ข้างแขนเหยียดตรงเหนือศีรษะ เคลื่อนไหวขึ้นลงตามจังหวะ ดังนี้
จังหวะที่ 1 เท้าซ้าย กระตุกไม้คทาลงมาเสมอไหล่
จังหวะที่ 2 เท้าขวา ชูไม้คทาขึ้นไปเหนือศีรษะแขนเหยียดตรง
จังหวะที่ 3 เท้าซ้าย หยุดกับที่คู่กับเท้าขวาพร้อมกับกระตุกไม้คทาลงมาอยู่ที่หน้าขา
และอยู่ในท่าตรง
ท่าออกเดินขณะซอยเท้า
จังหวะที่ 1 เท้าซ้าย ยกไม้คทาขึ้นเสมอไหล่
จังหวะที่ 2 เท้าขวา ยกไม้คทาชูขึ้นเหนือศีรษะ แขนเหยียดตรง
จังหวะที่ 3 เท้าซ้าย กระตุกไม้คทาลงมาเสมอไหล่
จังหวะที่ 4 เท้าขวา เปลี่ยนไม้คทาส่งให้มือซ้าย ไม้คทาพาดลำตัว
จังหวะที่ 1 เท้าซ้าย ออกเดินไปตามจังหวะ
ท่าออกเดินขณะบรรเลงไม่ซอยเท้า
หมุนไม้คทาด้วยมือขวา มือซ้ายท้าวเอว หยุดหมุนไม้คทาด้วยมือซ้าย หมุนไม้คทาอยู่ร่องไหล่ขวา ชูไม้คทาด้วยมือขวาแขนเหยียดตรงศีรษะ สลัดแขนขวาออกไปทางข้างขวาสุดแขน เฉียงไปข้างหน้าเล็กน้อย มือเสมอแนวศีรษะ หัวไม้คทาตรงศีรษะ โดยให้ปฏิบัติ ดังนี้
จังหวะที่ 1 สั่นไม้คทาเล็กน้อย ถึงจังหวะที่ 2 และจังหวะที่ 3
จังหวะที่ 4 (เสียงกลองเว้นว่าง) กระตุกไม้คทามาทางไหล่ซ้าย ไม้คทาอยู่ตรงศีรษะ พร้อม
กับปล่อยไม้คทาลงมารับด้วยมือขวา
จังหวะที่ 1 ก้าวเท้าซ้ายออกเดิน

ท่าเปลี่ยนเพลง
หมุนไม้คทาเตรียมตัวเช่นเดียวกับท่าออกเดิน สลัดแขนขวาที่มือถือไม้คทาออกไปกางทางขวาแล้ว
จังหวะที่ 4 (เท้าขวาเว้นว่างเสียงกลอง) กระตุกมือขวาที่จับปลายไม้คทาเข้ามาทางลำตัวถึงไหล่ขวา (งอเฉพาะแขนท่อนปลาย ศอกตั้ง)
จังหวะที่ 1 (เท้าซ้าย) สลัดมือขวาออกไปทางขวาสุดแขน
จังหวะที่ 2 (เท้าขวาเว้นเสียงกลอง) กระตุกมือขวาเข้ามาเสมอไหล่ เช่น จังหวะที่ 1
จังหวะที่ 3 (เท้าซ้าย) สลัดมือขวาออกไปทางขวาสุดแขนขวา รอจังหวะต่อไป จังหวะที่ 1 จังหวะที่ 2 กระตุกปลายไม้คทามากลางไหล่ซ้ายพร้อมกับจังหวะที่ 3 พร้อมกับสิ้นเสียง
เพลง
จังหวะที่ 1 ปล่อยไม้คทาลงมารับด้วยมือขวา พร้อมกับขึ้นเพลงใหม่
ท่าแสดงการเคารพ
ถือไม้คทาด้วยมือซ้าย หลังมืออยู่ด้านนอก นิ้วมือเรียงชิดติดกัน 4 นิ้ว กำที่คอไม้คทาประมาณต้นของโซ่หรือเชือก หัวแม่มือกำโอบกางด้านใน ยกมือประมาณหน้าอกกระดุมเม็ดที่ 2 จากคอเสื้อ ไม้คทาพาดเฉียงลำตัว
คำสั่ง “ระวัง” แขนและมือขวาอยู่ในท่าตรง
ทำความเคารพ ยกมือขวาทำความเคารพด้วยท่าวันทยหัตถ์ ตามระเบียบทำความเคารพ
ท่าจบเพลง
ยืนบรรเลงอยู่กับที่
หมุนไม้คทาเตรียมตัวเช่นเดียวกับท่าออกเดิน สลัดแขนขวาที่มือขวาถือปลายไม้คทาออกไปสุดแขนทางขวาและหัวไม้คทาอยู่ตรงศีรษะแล้ว
จังหวะที่ 4 (เสียงกลองเว้นว่าง) กระตุกมือขวาที่จับปลายไม้คทาเข้ามาทางลำตัวถึงไหล่ขวา (งอเฉพาะแขนท่อนบน ข้อศอกตั้ง)
จังหวะที่ 1 สลัดมือที่ถือปลายไม้คทาออกไปทางขวาโดยเร็วสุดแขน พร้อมกับเสียงกลองจังหวะที่ 1 ใน 2 เสียง
จังหวะที่ 2 (เว้นเสียงกลอง) กระตุกมือขวาที่จับปลายไม้คทาเข้ามาทางลำตัวถึงไหล่ขวา (งอเฉพาะแขนท่อนบน ข้อศอกตั้ง)
จังหวะที่ 3 สลัดมือที่ถือปลายไม้คทาออกไปทางขวาโดยเร็วสุดแขนพร้อมกับเสียงกลองจังหวะที่ 1 ใน 2 เสียง (เช่นเดียวกับจังหวะที่ 1) แล้วคอยจังหวะต่อไป เสียงกลองจังหวะที่ 1 จังหวะที่ 2 กระตุกมือที่ถือปลายไม้คทามาทางไหล่ขวาในจังหวะที่ 3 เพื่อตัดเสียงเพลงหยุดทันที แล้วปล่อยไม้คทาลงมา (พร้อมกับเอาเครื่องมือลง) อยู่ในท่าตรง
กำลังเคลื่อนที่จบเพลงพร้อมเท้าหยุด
ปฏิบัติเช่นเดียวกับยืนบรรเลงอยู่กับที่ ต่างกันที่กำลังก้าวเท้าเดินเคลื่อนที่ และเสียงกลอง จังหวะที่ 3 กระตุกมือขวาที่ถือไม้คทามาทางไหล่ซ้ายนั้น ให้ชักเท้าซ้ายมาหยุดคู่กับเท้าขวา และสิ้นเสียงเพลงพอดี
การจบเพลงพร้อมกับหยุดซอยเท้า ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับกำลังเคลื่อนที่ทุกประการ ต่างกันที่ซอยเท้าอยู่กับที่ไม่เคลื่อนที่เท่านั้น
การหยุดขบวน
การหยุดขบวน เป็นขั้นตอนสุดท้ายหรือบางครั้งอาจมีกรณีพิเศษที่จำเป็นต้องมีการหยุดขบวนจะด้วยสาเหตุใดก็แล้วแต่ การหยุดขบวนนั้นทำได้ 2 วิธี คือ
1. การหยุดขบวนที่ยังต้องบรรเลงเพลงต่อไป คทากรจะชูคทาขึ้นเหนือศีรษะก็เป็นที่รู้กันว่าจะมีการสั่งการ ผู้บรรเลงต้องสังเกตโดยเฉพาะแถวที่อยู่ตอนหน้าสุดต้องคอยสังเกตว่าคทากรเริ่มย่ำเท้าอยู่กับที่เมื่อใด สิ่งนี้เป็นไหวพริบที่ผู้อยู่ในขบวนต้องสังเกตดู เมื่อหน้าขบวนหยุดทุกคนในขบวนก็ต้องหยุดทันที ทั้งนี้ทุกคนต้องสังเกตและระวังตัวอยู่เสมอมิเช่นนั้นแล้วถ้าแถวหน้าหยุด แต่แถวอื่นยังก้าวเดินก็จะทำให้ระยะต่อของแถวผิดไป จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้ไหวพริบในการปฏิบัติ ส่วนใหญ่เมื่อคทากรเริ่มให้สัญญาณจะเดินไปข้างหน้าอีกไม่เกิน 6 ก้าว แล้วจึงหยุด
2. การหยุดขบวนเพื่อจบการบรรเลงจะใช้วิธีเดียวกัน คือ การชูคทาขึ้นเหนือศีรษะแล้วก้าวเดินไปข้างหน้า 6 ก้าว หยุดขบวนโดยซอยเท้าอีกไม่เกิน 2 หมู่กลอง คทากรจะให้สัญญาณจบเพลงด้วยการกระตุกคทา ผู้ปฏิบัติกลองใหญ่ต้องคอยสังเกตให้ดี การกระตุกคทาครั้งแรกคือการตีจังหวะกลองเพื่อจบกลุ่มที่ 1 การกระตุกคทาครั้งที่ 2 คือการตีจังหวะกลองเพื่อจบกลุ่มที่ 2 จะตีกลุ่มละ 2 ครั้ง คือ ดัง เบา ดัง เบา สลับกัน โดยตีครั้งแรกเมื่อเท้าซ้ายตกพื้น ตีครั้งที่ 2 เมื่อเท้าขวายกขึ้น ดังนี้ คือ
จังหวะกลอง ตึง ตึง ตึง ตึง ตึง ตึง ตึง ชิดเท้า
ซ้าย ขวา ซ้าย ขวา ซ้าย ขวา ซ้าย ขวา
สรุป
การปฏิบัติหน้าที่ของคทากร ต้องปฏิบัติด้วยความเชื่อมั่นด้วยตนเองทั้งจังหวะและท่าทาง ให้เป็นไปตามจังหวะและขั้นตอน มีท่วงทีท่าทางแข็งแรงเข้มแข็ง สง่างามและผึ่งผายให้สมกับการเป็นผู้นำที่ดี ผู้รับปฏิบัติจึงจะเกิดศรัทธา มีความเชื่อมั่นต่อตัวคทากรที่จะนำแถวไปข้างหน้า ย่อมทำให้เกิดกำลังใจที่จะปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นอย่างดี และในเวลาเดียวกันย่อมจะได้รับการเคารพนับถือจากผู้รับปฏิบัติ ตลอดถึงผู้ชมหรือผู้พบเห็นก็จะนิยมชมชอบวงโยธวาทิตนั้นๆ เกียรติยศและชื่อเสียงก็ย่อมตามมาอย่างแน่นอน
การเดินนำแถวในระยะไกลๆ การถือไม้คทาข้างเดียวอาจเมื่อยล้า ถึงเวลาเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติเป็นอย่างอื่น อาจให้สัญญาณไม่ดีเท่าที่ควร เพราะความล้าของกล้ามเนื้อจึงสามารถเปลี่ยนมือได้ และเป็นการดีที่สามารถปฏิบัติได้ทั้งสองมือ เมื่อจะเปลี่ยนมือถือไม้คทาควรหมุนไม้คทาด้วยมือที่ถือไม้คทานั้นทางข้างลำตัวเสียก่อน ถ้าไม่หมุนก็ไม่เป็นไร การส่งเปลี่ยนมือให้ส่งไม้คทาด้วยการโยนไม้คทาจากมือหนึ่งไปอีกมือหนึ่ง ไม่สมควรที่จะส่งให้มือต่อมือโดยวิธีส่งเฉยๆ ควรหมุนไม้คทาทางขวาบ้าง ทางซ้ายบ้างสลับกันไปในระยะทางพอสมควรดีกว่าที่จะถือเดินไปเฉๆด้วยมือหนึ่งมือใดจนถึงที่หมายในระยะทางไกลๆ แต่ต้องระวังการหมุนไม้คทาให้ดี ด้วยการหมุนไม้คทาทางด้านข้างลำตัวให้ชัดเจน ถ้าหมุนไม้คทาทางด้านหน้าผู้รับปฏิบัติในวงอาจเข้าใจผิด คิดว่าหมุนไม้คทาเพื่อเป็นการเตรียมตัวก็ได้
การปฏิบัติท่าไม้คทาต่างๆ ตามที่กล่าวมาแล้วนั้น เป็นขั้นพื้นฐานเพื่อนำไปปฏิบัติ ส่วนชั้นเชิง ลวดลาย หรือมีลูกเล่นพลิกแพลงที่พิสดาร หรือให้เกิดความสวยงามมีให้ปฏิบัติอีกมากมาย ผู้ทำหน้าที่ถือไม้คทาที่มีความสามารถหรือมีความชำนาญในการใช้และการให้สัญญาณแล้ว ย่อมจะทำได้โดยไม่นอกเหนือจากหลักการดังกล่าวมากนัก ทั้งต้องคำนึงถึงผู้รับปฏิบัติจากท่าไม้คทาเป็นคำสั่งแทนวาจา ปฏิบัติด้วยความพร้อมเพรียงเรียบร้อยเป็นสำคัญ ถ้านอกเกณฑ์มากจะทำให้ผู้รับการปฏิบัติเกิดความสับสน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นงานพิธีการของทางราชการแล้วไม่ควรออกนอกแบบระเบียบดังกล่าว นอกจากจะเป็นการแสดง หรือการนำแถวนักกีฬาหรือการแสดงเพื่อโชว์ความสามารถเพื่อความสนุกสนานของงานเท่านั้น

1 ความคิดเห็น:

  1. สวัสดีครับอาจารย์ผมเป็นครูสังคมศึกษาแต่ก็มีความรู้เรื่องดนตรีบ้างเล็กน้อย ผู้บริหารก็ให้ดูแลเรื่องวงดนตรี วงโยทวาฑิต ก็ขออาศัยความจากท่านหรือถ้ามีปัญหาอะไรก็จะขอความอนุเคราะห์จากท่าน ขอขอบพระคุณมากครับ

    ตอบลบ