วันอังคารที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2554

การคัดเลือกนักดนตรี

บทที่ 4

การคัดเลือกนักดนตรี

4.1 การเตรียมการ
4.1.1 เกณฑ์การคัดเลือกนักดนตรี
นักดนตรีถือเป็นบุคคลสำคัญที่สุดในวงโยธวาทิต ดังนั้นการคัดเลือกนักดนตรีควรมีการศึกษาประวัติของนักดนตรีแต่ละคนอย่างละเอียด ทั้งการตรวจสอบคุณสมบัติ และเรื่องอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับความเหมาะสมในการที่จะเป็นนักดนตรีที่ดี ครูผู้สอนจำเป็นต้องทราบข้อมูลต่างๆของนักเรียนเป็นอย่างดี ทั้งนี้เพื่อหาทางสนับสนุนให้นักเรียนได้รับความรู้อย่างถูกต้องตามความเหมาะสมของสภาพร่างกายและจิตใจ ดังนั้นการคัดเลือกนักดนตรี และทำทะเบียนประวัติควรศึกษาเรื่องต่อไปนี้ คือ
1) บุคลิกลักษณะ และความสมบูรณ์ทางร่างกาย
2) ความรู้พื้นฐานทางดนตรี
3) ความรักในดนตรี
4) ความตั้งใจในการฝึกซ้อม
5) การสนับสนุนจาก ครู อาจารย์ บิดา มารดา และญาติพี่น้อง
6) การอุทิศเวลาในการฝึกซ้อม และการอุทิศเวลาให้กับงานส่วนรวม
7) ผลการเรียน
8) ความสนใจ และประสบการณ์ทางดนตรี
9) ระดับชั้นที่ศึกษา
10) ความสามารถพิเศษ
11) ครูประจำชั้น วิชาที่เรียน ตลอดจนแผนการเรียน
12) อาชีพของบิดา มารดา และผู้ปกครอง
13) บริเวณที่อยู่ และที่พักอาศัย
14) โรคประจำตัว
15) การคบหาสมาคมกับเพื่อน
16) ข้อมูลอื่นๆ
ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ควรศึกษา เพราะเป็นสิ่งที่เสริมทำให้การฝึกซ้อมดนตรีเกิดผลดี แต่ปัจจุบันสิ่งต่างๆดังกล่าว ว งโยธวาทิตหลายวงยังไม่มีเกณฑ์ในการปฏิบัติ ดังนั้นจึงทำให้การฝึกซ้อมยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร จากการที่ได้ทำวิจัยและได้ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลของโรงเรียนต่างๆทั้ง 11 แห่ง ทำให้ได้ทราบปัญหาและวิธีการแก้ไขอันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ต้องการศึกษา จึงได้นำเสนอข้อมูลเพื่อเป็นทางเลือกในการปฏิบัติต่อไป ดังนี้
4.1.2 การวางแผนการรับสมัคร จากข้อมูลโดยทั่วไปที่มักพบปัญหาและหรือการละเว้นการปฏิบัติแบ่งได้เป็น 3 ประการ คือ
1) ขาดการเตรียมการในการคัดเลือกนักดนตรี
2) ขาดการวางแผนในการกำหนดหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้สมัคร
3) ขาดการประชาสัมพันธ์ในเรื่องต่างๆ เช่น การกำหนดระยะเวลาการรับแบบฟอร์มการสมัคร การประกาศและกำหนดระยะเวลาในการสมัคร ขอบเขตของระยะเวลาในการสมัคร และขาดข้อมูลเอกสาร เป็นต้น
จากจำนวนโรงเรียนทั้งสิ้น 11 โรงเรียนที่ได้ทำการค้นคว้าวิจัย พบว่า การเตรียมการในการคัดเลือกนักดนตรีมีแนวดำเนินงานในการวางแผนการรับสมัครนักดนตรี สรุปเพื่อเป็นแนวทางในการเลือกปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนการรับสมัครได้ ดังนี้
โรงเรียนที่ 1 แบ่งการรับสมัครนักเรียนเป็นนักดนตรีวงโยธวาทิตเป็น 2 ประเภท คือ
1. นักเรียนระบบโควตาพิเศษ ได้ยึดหลักนโยบายของผู้บริหารโรงเรียนในการที่พัฒนานักดนตรีที่มีอยู่ให้มีคุณภาพและสืบเนื่องต่อไป มีความคิดในการรับช้างเผือกโดยทำเป็นโครงการที่ผ่านขั้นตอนพิเศษในการรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 หรือ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่มีความสามารถทางด้านดนตรีให้มาติดต่อกับโรงเรียน โดยโรงเรียนได้ส่งหนังสือแจ้งไปยังโรงเรียนต่างๆ ในการรับสมัครนักเรียนโควตาความถนัดทางด้านดนตรี ตามนโยบายของกรมสามัญศึกษา ในการรับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษทางด้านดนตรี
2. นักเรียนนอกระบบโควตา คือ การรับสมัครนักเรียนทั่วไปเพื่อเป็นนักดนตรี สำหรับนักเรียนที่ไม่ได้เข้ามาในโควตาของดนตรี โดยเฉพาะนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ซึ่งเป็นนักเรียนใหม่ของโรงเรียนที่ต้องการหาที่พึ่งให้ตนเอง ในบางครั้งนักเรียนเหล่านี้ไม่ทราบว่าเขาเองควรอยู่ ณ จุดไหน เมื่อมีการซ้อมดนตรีก็จะมาดู มาฟัง และติดต่อขอเล่นดนตรี ซึ่งมีจำนวนมากในแต่ละปี แต่เมื่อมาเจอกระบวนการฝึกซ้อมที่ต้องใช้ความอุตสาหะ ความอดทนในการฝึกซ้อมแล้วส่วนใหญ่จะรับไม่ได้และลาออกไปในที่สุด แต่ละปีจึงเหลือเฉพาะผู้ที่มีความตั้งใจจริงเท่านั้น กิจกรรมวงโยธวาทิตของโรงเรียนนั้น นักเรียนทุกคนสามารถเข้าร่วมในกิจกรรมวงโยธวาทิตได้ แต่จะทำหน้าที่อื่นๆที่ไม่เกี่ยวกับการฝึกซ้อมดนตรี นักเรียนกลุ่มนี้จะเป็นฝ่ายสนับสนุนในด้านต่างๆ ส่วนนักเรียนที่สอบเข้ามาตามระบบโควตา ทุกคนต้องอยู่ในกิจกรรมวงโยธวาทิต และต้องฝึกซ้อมดนตรี

การดำเนินการรับสมัคร เริ่มสัปดาห์ที่ 2 หลังจากเปิดภาคเรียนที่ 1 โดยการประกาศให้นักเรียนทราบบริเวณหน้าเสาธง ประมาณ 2 - 3 ครั้ง
การกำหนดคุณสมบัติ ทางโรงเรียนไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์มากนักในการรับสมัคร เพราะถือเป็นหน้าที่ของครูผู้สอนที่จะต้องสอนนักเรียนเหล่านั้นให้ได้รับความรู้ แต่ให้ความสำคัญทางด้านสรีระของร่างกายว่าไม่ควรเตี้ยจนเกินไป น้ำหนักไม่ควรน้อยหรือมากจนเกินไป และไม่มีโรคประจำตัว เมื่อนักเรียนมาสมัครจะมีแบบฟอร์มให้กรอกประวัติต่างๆตามที่ต้องการทราบ หลังจากนักเรียนได้เข้ามาอยู่ในวงโยธวาทิตแล้ว
การกำหนดระยะเวลาการรับสมัครจะไม่ระบุวันและเวลา นักเรียนมาสมัครเวลาใดก็ได้ทางโรงเรียนเปิดรับตลอดเวลา นักเรียนเหล่านี้สมัครเข้ามาเพื่อเป็นนักดนตรีของวงโยธวาทิต ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการเข้าร่วมกิจกรรมของโรงเรียน เพราะกิจกรรมนั้นมีระเบียบว่าด้วยเรื่องของการเข้าร่วมกิจกรรมอยู่แล้ว
นักเรียนที่มาสมัครภายหลังจะไม่เป็นปัญหาในการฝึกซ้อมแต่อย่างใด ทั้งนี้เพราะทุกปีมีนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่ต้องฝึกซ้อม นักเรียนที่เข้ามาทีหลังจะเรียนได้ทันเพื่อน เพราะว่ามีใจรักทางดนตรีอยู่แล้ว จึงเป็นเหตุผลของการเปิดรับนักเรียนทุกคนและทุกระดับชั้นตลอดปี โดยไม่มีขอบเขตจำกัด
แนวคิดในการรับนักเรียนเข้ามาเป็นนักดนตรีวงโยธวาทิต เนื่องจากภายในจังหวัดมีโรงเรียนประถมศึกษาที่มีวงประเภทเมโลเดียนอยู่จำนวนมาก และทางโรงเรียนมีนโยบายที่จะสนับสนุนและส่งเสริมในเรื่องการพัฒนาทางดนตรี ดังนั้นศิษย์เก่าของโรงเรียนจำนวนหนึ่งจึงได้ไปฝึกซ้อมให้กับโรงเรียนประถมศึกษาแทบทุกโรงเรียน แนวการฝึกซ้อมจึงเป็นรูปแบบเดียวกัน เวลาเข้ามาสอบนักเรียนจะได้เปรียบมากกว่า เพราะได้รับการเรียนรู้มาบ้างแล้วจากศิษย์เก่าของโรงเรียน
โรงเรียนที่ 2 ประกาศรับสมัครนักเรียนที่มีความสนใจในการฝึกวงโยธวาทิต หลังจากเปิดเรียนแล้ว 2 สัปดาห์ นักเรียนที่มาสมัครจะรับไว้ทั้งหมด บางปีมีจำนวนถึง 80 คน หรือ 100 คน และให้นักเรียนได้ฝึกซ้อมดนตรีทุกคนที่สมัครเข้ามา จนในที่สุดจะมีนักเรียนที่เหลือจริงๆในแต่ละปีประมาณ 20 ถึง 30 คน ลักษณะวิธีการทางโรงเรียนไม่มีข้อบังคับใดๆ นักเรียนที่มาสมัครจะมาด้วยความชอบและมีใจรักที่จะเรียนดนตรี จึงไม่ตั้งกฎเกณฑ์ว่าต้องอ่านโน้ตเป็น หรือเล่นเครื่องดนตรีเป็นมาแล้ว เรื่องแผนการรับนักเรียนที่ใช้ระบบโควตา นักเรียนต้องผ่านกระบวนการคัดเลือก ตามข้อตกลงของคณะกรรมการคัดเลือก คือ ต้องอ่านโน้ตเป็นหรือเล่นเครื่องดนตรีได้ ซึ่งนักเรียนส่วนใหญ่จะฝึกมาทางด้านเครื่องดนตรีประเภทที่มีลิ่มนิ้ว (Keyboard) แต่นักเรียนมักไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ทั้งนี้เพราะนักเรียนไม่มีความอดทน เมื่อเข้ามาสู่ระบบกระบวนการฝึกวงโยธวาทิตที่ต้องใช้ทักษะในหลายๆด้าน

อีกประการหนึ่งนักเรียนมีความรู้เพียงเพื่อเตรียมเข้าสอบคัดเลือกเท่านั้น นักเรียนจะไปเรียนรู้เกี่ยวกับดนตรีตามสถานศึกษาของเอกชนเพียงระยะเวลาสั้น การกระทำเช่นนี้เพื่อให้ได้สิทธิในการสมัครระบบโควตาของโรงเรียน ผลที่ตามมาคือนักเรียนจะไม่มีใจรักดนตรีอย่างแท้จริง การเรียนดนตรีเป็นการเรียนเพียงระยะสั้น ดังนั้นจึงไม่เข้าใจและซาบซึ้งในดนตรีเท่าที่ควร บางครั้งเกิดปัญหาตามมา คือ นักเรียนไม่ยอมรับในเรื่องของการฝึกซ้อม ขาดความอดทน เพราะการฝึกซ้อมวงโยธวาทิตนั้นไม่เหมือนกับการฝึกซ้อมวงดนตรีประเภทอื่นๆ นักเรียนส่วนมากที่ประสบความสำเร็จ คือ นักเรียนที่สอบเข้าเรียนโดยไม่ผ่านระบบโควตาพิเศษ ซึ่งเป็นนักเรียนที่มาสมัครเรียนดนตรีภายหลัง คือ เข้ามาอยู่ในกิจกรรมวงโยธวาทิต
ขั้นตอนการรับสมัครไม่มีกฎเกณฑ์ใดๆ เพียงให้นักเรียนลงชื่อในใบสมัคร แล้วทางโรงเรียนดำเนินการแจ้งให้ผู้ปกครองทราบว่าบุตรหลานของท่านได้สมัครเป็นนักเรียนวงโยธวาทิตของโรงเรียนแล้ว และแจ้งเวลาการฝึกซ้อมหลังโรงเรียนเลิกถึงเวลา 17.00 น. โดยประมาณ ส่วนใหญ่แล้วผู้ปกครองไม่ขัดข้อง เพราะนักเรียนสมัครใจที่จะเรียนด้านนี้ มีบางคนที่ลงชื่อสมัครไว้แต่ภายหลังถอนชื่อออก เนื่องจากกลับบ้านค่ำและกลัวว่าจะเสียการเรียน การแจ้งให้ผู้ปกครองทราบนั้นจะอยู่ในช่วง สัปดาห์ที่ 3 - 4 ที่นักเรียนได้ลงชื่อสมัครแล้ว
ระยะเวลาในการรับสมัคร เริ่มต้นสัปดาห์ที่ 2 หลังจากเปิดภาคเรียนที่ 1 ประกาศรับสมัครเหมือนชุมนุมหรือกิจกรรมทั่วไป นักดนตรีส่วนใหญ่เป็นนักเรียนกิจกรรมและอีกส่วนหนึ่ง คือ นักเรียนกิจกรรมวงโยธวาทิตไปชวนเพื่อนที่อยู่กิจกรรมอื่นมาเล่นดนตรี นักเรียนดังกล่าวจะฝึกซ้อมนอกเวลาเรียนเท่านั้นโดยไม่ได้เรียนในชั่วโมงกิจกรรม
ระยะเวลาการรับสมัคร นักเรียนในกิจกรรมอื่นๆที่ไม่ได้อยู่กิจกรรมวงโยธวาทิต แต่ต้องการจะเป็นนักดนตรี นักเรียนสามารถสมัครเมื่อใดก็ได้ทางโรงเรียนรับไว้ทั้งหมดและรับตลอดทั้งปี
นักเรียนที่มาสมัครส่วนใหญ่จะแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกที่มาสมัครเป็นนักเรียนที่เล่นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องดนตรีที่มีลิ่มนิ้ว (Keyboard) และอ่านโน้ตได้บ้าง นักเรียนกลุ่มที่สองจะไม่มีประสบการณ์ เล่นเครื่องดนตรีไม่ได้ และอ่านโน้ตไม่เป็น นักเรียนกลุ่มนี้จะมาสมัครทีหลัง ส่วนการเปิดรับสมัครจะแจ้งให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ทราบทั้งหมด บางครั้งมีนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 มาสมัครจะรับไว้ เพราะส่วนใหญ่นักเรียนกลุ่มนี้มีเพื่อนที่อยู่ในวงและชวนกันมาสมัคร ส่วนนักเรียนชั้นอื่นๆจะไม่รับเพราะระยะเวลาในการฝึกซ้อมมีน้อย การรับสมัครไม่ระบุว่าต้องมีความรู้ทางดนตรีหรือไม่มีความรู้ทางดนตรีมาก่อน การฝึกจะเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด
โรงเรียนที่ 3 การรับสมัครได้มีการประชาสัมพันธ์ให้นักเรียนที่มีความสนใจได้ทราบโดยทั่วถึงกัน ในการเข้าแถวตอนเช้าและประชาสัมพันธ์ตอนพักกลางวัน
จุดประสงค์ของวงโยธวาทิต คือ ให้นักเรียนได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ทางวงจะไม่พิจารณาในเรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการรับสมัคร ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันเข้ามาอยู่ในวงโดยมีทุกสิ่งทุกอย่างที่เหมือนกันเปรียบเสมือนทุกคนมามือเปล่า คือ ไม่รู้ดนตรีมาเลยทางโรงเรียนก็รับเพราะนักเรียนจะได้รับการศึกษาดนตรีจากที่โรงเรียน ครูผู้สอนจึงต้องสอนให้นักเรียนได้รู้ในสิ่งที่นักเรียนอยากรู้
กำหนดการในการรับสมัคร เริ่มรับใบสมัครสัปดาห์ที่ 2 ถึงสัปดาห์ที่ 4 โดยการเขียนชื่อในใบสมัคร กรอกรายละเอียดประวัติส่วนตัว และตอนท้ายมีคำยินยอมของผู้ปกครอง
โรงเรียนที่ 4 ทางโรงเรียนได้ปฏิบัติกันอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด คือ การรับนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ซึ่งจะใช้ช่วงที่นักเรียนเข้ามาใหม่ประมาณ 2-3 สัปดาห์แรกที่เปิดภาคเรียน มีการประชาสัมพันธ์โดยการบรรเลงวงโยธวาทิตเพื่อชักชวนให้นักเรียนเกิดความสนใจและเป็นการกระตุ้นให้นักเรียนสมัครเข้ามาเป็นนักเรียนวงโยธวาทิต สัปดาห์ที่ 4 หรือสัปดาห์ที่ 5 นักเรียนที่สมัครใหม่จะเริ่มฝึกซ้อม การรับสมัครเปิดสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เท่านั้น ส่วนนักเรียนที่อยู่ชั้นอื่นๆจะไม่รับพิจารณา การเรียนการสอนช่วงสัปดาห์แรกเน้นในเรื่องทฤษฎีดนตรีและการฝึกระเบียบแถว นักเรียนยังไม่มีสิทธิในการเล่นเครื่องดนตรีในระยะแรก ถือเป็นการคัดเลือกครั้งที่ 1 ดูว่านักเรียนมีความพร้อมหรือไม่ที่จะมาอยู่ร่วมปฏิบัติกิจกรรมกับวงโยธวาทิต ในภาคเรียนแรกจึงเน้นการฝึกระเบียบแถว และเป็นการทดสอบด้านจิตใจว่ามีความอดทนเพียงใด จำนวนนักเรียนที่มาสมัครต่อปีประมาณ 60-80 คน บางปีมีจำนวนถึง 100 คน เมื่อฝึกซ้อมไปแล้วจะเหลือประมาณ 30 คน และอย่างน้อยที่สุดประมาณ 10-15 คนต่อปี นักเรียนเหล่านี้มีใจรัก มีความต้องการอยากเรียนและมีความทุ่มเทกับการฝึกซ้อมอย่างจริงจัง
เกณฑ์การคัดเลือกไม่ได้กำหนดคุณสมบัติของนักเรียน เพราะทั้งหมดที่รับเข้ามาจะได้รับการปลูกฝังทางดนตรีอย่างจริงจังจากครูผู้สอน ฉะนั้นในทุกๆเรื่องที่นักเรียนยังไม่มีความรู้จะได้รับการปลูกฝังเมื่อเข้ามาอยู่ในวงโยธวาทิตของโรงเรียนแล้ว
นักเรียนที่มาสมัครต้องกรอกใบสมัครและความเห็นชอบจากผู้ปกครอง โดยไม่เลือกว่านักเรียนมีความรู้ทางด้านดนตรีมาแล้วหรือยังเพราะทุกคนต้องฝึกใหม่ทั้งหมด ถ้ามีใจรักและผู้ปกครองยินยอมก็สมัครได้ บางปีมีนักเรียนโควตาบ้างแต่ก็ไม่ตรงตามความต้องการ เช่น นักเรียนบางคนมีความสามารถทางด้านเปียโน บางคนเล่นเมโลเดียน เมื่อเข้ามาในวงโยธวาทิตจึงต้องเริ่มฝึกใหม่ทั้งหมด
การกำหนดระยะเวลาในการรับสมัครใช้ระยะเวลา 3 สัปดาห์แรกของภาคเรียนที่ 1 และเริ่มเรียนรู้ในสัปดาห์ที่ 4 นักเรียนต้องกรอกใบสมัครพร้อมรับรู้ระเบียบวินัยของวง และที่สำคัญต้องมีคำยินยอมของผู้ปกครองในส่วนท้ายของใบสมัคร
โรงเรียนที่ 5 นักเรียนที่รับเข้ามาส่วนใหญ่เป็นนักดนตรีของโรงเรียน เพราะมีระดับประถมศึกษารวมอยู่ด้วย ส่วนใหญ่มักเล่นเครื่องดนตรีประเภทเมโลเดียน เบลล์ไลรา และกลอง ทั้งนี้การรับสมัครนักเรียนที่เล่นดนตรีไม่เป็นจะไม่มาสมัคร ความรู้เดิมของนักเรียนส่วนใหญ่จะเหมือนๆกัน ทางโรงเรียนจึงเน้นที่การทดสอบภาคทฤษฎี คือ กำหนดไว้ 50 คะแนน ถ้านักเรียนคนใดสอบได้คะแนนมากก็จะได้รับการพิจารณาคัดเลือก
ระยะเวลาในการรับสมัคร เปิดรับสมัครสัปดาห์ที่ 2 โดยมีการประชาสัมพันธ์ให้ทราบ และจะปิดรับสมัครในสัปดาห์ที่ 4 ของภาคเรียนแรก
การกรอกใบสมัคร นักเรียนที่สมัครต้องกรอกไว้เป็นหลักฐาน เพื่อเก็บไว้ศึกษาประวัติของแต่ละคน พร้อมด้วยความยินยอมของผู้ปกครอง
โรงเรียนที่ 6 การรับสมัครมีแบบฟอร์มให้นักเรียนกรอกรายละเอียด โดยมีความเห็นชอบของผู้ปกครองแนบในท้ายใบสมัคร แจ้งกำหนดการรับสมัคร 2 สัปดาห์แรกของภาคเรียนที่ 1 มีการประชาสัมพันธ์ให้นักเรียนทราบทั่วถึงกันด้วยวิธีเน้นให้นักเรียนใหม่ตื่นตัว มีทั้งการประชาสัมพันธ์ทางเสียงตามสายของโรงเรียน และสร้างความเร้าใจด้วยการบรรเลงของวงโยธวาทิต ซึ่งโดยปกติแล้วเป็นหน้าที่ของนักเรียนที่ต้องปฏิบัติ คือ การบรรเลงเพลงชาติหน้าเมาธงในวันจันทร์ วันพุธ และวันศุกร์
ระยะเวลาในการรับสมัคร 1 สัปดาห์หรือมากกว่านั้น แต่ทั้งนี้สัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายนทุกสิ่งทุกอย่างต้องแล้วเสร็จ การรับสมัครเริ่มตั้งแต่การประชาสัมพันธ์ให้ทราบและดำเนินการไปพร้อมกับการรับสมัคร
นักเรียนที่รับเข้ามาในภาคเรียนที่ 1 ยังไม่ให้เลือกเครื่องดนตรี นักเรียนต้องซ้อมเดินแถวและเรียนทฤษฎีดนตรี และดูการปฏิบัติหน้าที่ของรุ่นพี่ 1 ภาคเรียน เป้าหมายคือต้องการดูความอดทน ดูความพร้อม ดูการปรับตัวให้เข้ากับรุ่นพี่ ดูบุคลิกลักษณะ ดูสรีระทางร่างกาย และมุมมองของครูผู้สอนว่านักเรียนควรฝึกเครื่องดนตรีประเภทหรือชนิดใด พิจารณษว่าควรตอบสนองความต้องการเลือกเครื่องดนตรีของนักเรียนได้มากน้อยเพียงใด
โรงเรียนที่ 7 เกณฑ์การคัดเลือกนักเรียนใช้วิธีการคัดเลือก 3 เกณฑ์ คือ
1. นักเรียนที่ไม่เคยรู้ดนตรีมาก่อน
2. นักเรียนที่มีความรู้มาบ้างแล้ว
3. นักเรียนที่เป็นนักเรียนวงโยธวาทิตจากโรงเรียนอื่นๆ โดยการทดสอบความสามารถ(Ordition) เข้ามา
นักเรียนที่สมัครจะต้องเรียนรู้เรื่องของขนบธรรมเนียมประเพณีของวงรวมทั้งการเรียนรู้เรื่องการรักษาเครื่องดนตรี การฝึกระเบียบแถว วิธีการเรียนรู้มีทั้งการเข้าร่วมในกิจกรรม และการลงทะเบียนเรียนวิชาเลือกเสรี
สิ่งที่สำคัญในการรับสมาชิกใหม่
1. นักเรียนต้องมีใจรักดนตรี
2. ต้องได้รับอนุญาตจากผู้ปกครอง เพราะบางครั้งนักเรียนมีใจรักและต้องการที่จะเรียนรู้ทางดนตรี แต่ผู้ปกครองไม่สนับสนุน
3. นักเรียนบ้านไกล เป็นสาเหตุสำคัญมากเพราะจะต้องซ้อมจนถึงตอนเย็น ถ้าบ้านไกล
จะมีปัญหาในการเดินทาง
เกณฑ์การรับสมัครให้สมัครอย่างเสรีไม่จำกัดจำนวนว่าเป็นเท่าใดในแต่ละปี บางครั้งมาสมัครประมาณ 100 คน แต่ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจำนวนจะคงที่ คือ ประมาณ 30 - 50 คน
การสมัคร นักเรียนสมัครผ่านกระบวนการของการสมัครเข้าร่วมกิจกรรม แล้วส่งผ่านมาให้ครูผู้สอน
การรับสมัครทำปีเว้นปีโดยทำเป็นรุ่น คือ รับทั้งชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ส่วนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจะทดสอบความสามารถเข้ามา โดยเปิดหลักสูตรรับโดยตรงคือ สายวิทยาศาสตร์ พื้นฐานวิชาดนตรี การเรียนเหมือนสายวิทยาศาสตร์ทั่วๆไป การรับนักเรียนต้องได้รับการกลั่นกรองเป็นอย่างดี ถ้าไม่มีความสามารถจริงจะไม่รับโดยเด็ดขาด การเรียนวิชาดนตรีจะเรียน 2 หน่วยกิต 4 คาบ/สัปดาห์ ซึ่งเป็นวิชาเลือกเสรี เช่น เรียนสายวิทยาศาสตร์ พื้นฐานคอมพิวเตอร์ หรือสายวิทยาศาสตร์ พื้นฐานคณิตศาสตร์ และนับว่าเป็นแห่งแรกในประเทศไทยที่จัดหลักสูตรดนตรีให้นักเรียนได้เรียน เพราะทางโรงเรียนคิดว่านักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นมีพัฒนาทางการเรียนรู้อยู่ในระดับหนึ่ง ส่วนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจะมีพัฒนาการเรียนรู้ที่ดีกว่า เพราะได้รับการฝึกฝนมาก่อนและมีประสบการณ์มากกว่า อีกประการหนึ่งเมื่อนักเรียนเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 แล้ว มักไปเรียนต่อสายอาชีพ จึงเป็นปัญหาตามมาที่จะต้องหาสมาชิกใหม่เข้ามาเพิ่มทุกปี
การจัดแผนการเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เปิดเป็นวิชาพื้นฐานอาชีพ เรียน 4 คาบต่อสัปดาห์ คือวิชา ช 02132 และ ช 02135 ซึ่งเรียนในคาบที่ 8 นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ภาคเรียนแรกไม่จัดให้มีการเรียนการสอนในวิชา จะเรียนเฉพาะชั่วโมงกิจกรรมและวิชาศิลปะกับชีวิตเท่านั้น ในภาคเรียนที่ 2 จึงให้เรียนวิชา ช 02132 แต่ยังไม่แยกรหัส ก. และ ข. มาแยกตอนที่นักเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ภาคเรียนที่ 1 จะเป็น ก. ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ภาคเรียนที่ 2 จะเป็น ข. ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 1 จะเป็น ค. และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 2 จะเป็น ง. คือหลักสูตรของชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น
ในวันพฤหัสบดีมีกิจกรรมชุมนุมนักเรียนต้องลงปฏิบัติภาคสนาม ในการเรียนวิชาพื้นฐานอาชีพในคาบเรียนที่ 8 นั้นให้เรียนทฤษฎีเบื้องต้น การจับเครื่องดนตรี การบำรุงรักษา และเรื่องอื่นๆ
โรงเรียนที่ 8 นักเรียนที่เป็นนักดนตรีมีตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 การรับสมัครรับตอนเปิดภาคเรียนไม่เกิน 1 เดือน ประกาศรับสมัครโดยการประชาสัมพันธ์เสียงตามสาย บริเวณหน้าเสาธง และบอกตามห้องเรียน นักเรียนต้องกรอกใบสมัครและต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองจึงสมัครได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วผู้ปกครองไม่ขัดข้อง เกณฑ์ในการรับสมัครนักเรียนเข้ามาฝึกซ้อมวงโยธวาทิตรับเฉพาะนักเรียนที่มีความสนใจเท่านั้น เพราะดีกว่าการบังคับให้นักเรียนมาเรียน การรับสมัครรับเพียงปีละ 1 รุ่น รับเฉพาะนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เท่านั้น แต่ละปีมีนักเรียนมาสมัครประมาณ 40 คน และไม่น้อยกว่า 30 คน เมื่อได้นักเรียนมาแล้วได้มีการทดสอบด้านจิตใจว่าพร้อมที่จะเผชิญกับงานหนักได้หรือไม่ หรือการเข้าร่วมการทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่ระเบียบแถวจึงฝึกระเบียบแถวเป็นหลัก และดูว่านักเรียนทำตามรุ่นพี่ได้หรือไม่ หลังจากนั้นจึงเริ่มเรียนทฤษฎีดนตรี การควบคุมระบบการหายใจ จนถึงปลายภาคเรียนที่ 1 จึงให้นักเรียนประจำเครื่องดนตรี ระยะเวลาในการใช้งานขั้นต้นประมาณ 3 ปี ถ้ารับนักเรียนระดับอื่นจะมีปัญหา คือ อายุการใช้งานน้อย และเสียการปกครองในระบบพี่ระบบน้อง ถ้ามีนักเรียนมาสมัครหลังจากช่วงเดือนกรกฎาคมจะไม่รับเพราะจะเกิดการลักลั่นกัน และถือว่าวันที่สิ้นสุดการรับสมัครแล้ว นักเรียนจะมาสมัครทีหลังไม่ได้
โรงเรียนที่ 9 การดำเนินการตามขั้นตอน คือ เขียนโครงการการรับนักเรียนเพื่อฝึกวงโยธวาทิตเสนอผู้บริหารเพื่อพิจารณา เกณฑ์การรับสมัครจะประกาศรับสมัครนักเรียนที่มีความสนใจ ใช้ระยะเวลา 2 สัปดาห์ หลังเปิดภาคเรียนที่ 1 สัปดาห์ที่ 3 ถึง สัปดาห์ที่ 4 เปิดรับสมัคร เมื่อนักเรียนมาสมัครต้องกรอกใบสมัครพร้อมความยินยอมของผู้ปกครอง
โรงเรียนที่ 10 แนวทางในการปฏิบัติจะคัดเลือกจากนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ก่อนสิ้นปีการศึกษา (ซึ่งเป็นโรงเรียนมีนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษา) ทั้งนี้ได้ประสานงานกับครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในการประชาสัมพันธ์ให้นักเรียนทราบซึ่งมีเกณฑ์ในการคัดเลือก คือ
1. ใช้เกณฑ์การเรียนเป็นสำคัญ นักเรียนไม่จำเป็นต้องเก่งที่สุดแต่การเรียนต้องอยู่ระดับปานกลาง จึงตั้งเกณฑ์ไว้ว่าต้องได้ระดับคะแนน 2.5 เวลาครูผู้สอนสอนอะไรแล้วนักเรียนจะรับได้ นักเรียนที่เรียนดีการรับรู้ทางดนตรีจะดีตาม
2. ต้องมีผู้ปกครองยินยอมในการเข้าร่วมในกิจกรรม เพราะเมื่อผู้ปกครองอนุญาตแล้วหากเกิดปัญหาอะไรต้องรับผิดชอบร่วมกัน เช่น เมื่อฝึกซ้อมไปได้ระยะเวลาหนึ่งผู้ปกครองให้นักเรียนลาออกทั้งนี้มีเหตุผลว่าต้องการให้นักเรียนได้เรียนอย่างเต็มที่ เพราะคิดว่าการทำกิจกรรมนั้นเสียเวลาเรียน แต่การเรียนที่ดียิ่งมีกิจกรรมให้ทำยิ่งเรียนได้ดีกว่า คือ เป็นสิ่งผ่อนคลายจากการเรียนหนักมาตลอดทั้งวัน ใช้ดนตรีเป็นเครื่องผ่อนคลาย การเรียนดนตรีไม่ใช่ว่าต้องยึดเป็นอาชีพเสมอไป แต่การเรียนดนตรีเพื่อแสดงความสามารถของนักเรียนเอง ทางโรงเรียนไม่ได้ทำสัญญาใดๆ แต่ทำหนังสือเพื่อการยินยอมโดยการทำครั้งเดียวที่เริ่มเข้ามาอยู่ในโรงเรียน เมื่อนักเรียนเข้ามาร่วมอยู่ในวงโยธวาทิตแล้วส่วนมากการเรียนของนักเรียนจะไม่เสีย ซึ่งทางโรงเรียนเน้นในเรื่องของการเรียนเป็นสำคัญ
3. ความพร้อมทางด้านสรีระต้องดูลักษณะหลายๆอย่าง ในการให้นักเรียนเล่นเครื่องดนตรี ได้ให้ข้อเสนอแนะเรื่องความเหมาะสมด้านร่างกายกับเครื่องดนตรีที่เล่น บางครั้งนักเรียนชอบทรัมเป็ต แต่ที่จริงแล้วนักเรียนมีความเหมาะสมกับเครื่องดนตรีประเภทเครื่องลมไม้มากกว่า ครูผู้สอนต้องให้การชี้แนะในสิ่งที่เหมาะสมกับนักเรียนมากที่สุด
4. ด้านเจตคติ มีความรัก มีใจชอบ อยากที่จะเรียน อยากที่จะฝึกซ้อม อยากที่จะทำ มีความต้องการมาแต่เดิมว่าเมื่อมีโอกาสแล้วจะต้องเข้ามาสู่ ณ จุดนี้ เคยให้คำถามกับนักเรียนว่าทำไมเข้ามาเรียนวงโยธวาทิต นักเรียนมักตอบว่าเพื่อความโก้เก๋ของตนเอง อยากเล่นเพื่อที่จะได้ไปเล่นในสถานที่ต่างๆ และนักเรียนบางคนเล่นด้วยใจรัก ดังนั้นทางวงจึงมีคำขวัญว่า “เราไม่ได้รักดนตรีเท่าชีวิตแต่ดนตรีคือชีวิตของเรา” จากคำขวัญนี้ทำให้นักเรียนได้คิด ว่าเมื่อมีดนตรีอยู่ในชีวิตแล้วทุกอย่างจะผ่อนคลายได้
5. การทดสอบด้านทฤษฎี คือ ทฤษฎีที่นักเรียนเรียนมาตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา เป็นการทดสอบนักเรียนว่ามีความรู้ทางด้านทฤษฎีเบื้องต้นมากน้อยระดับใด ทางวงเน้นเรื่องโน้ตสากลมากกว่าการจำแบบ โด เร มี การทดสอบเป็นการทำจังหวะ ปรบมือตามจังหวะ กดคีย์เปียโนให้ฮัมตามเสียงที่ได้ยิน เป็นต้น
6. การคัดเลือกตามความต้องการของครูผู้สอน เช่น ถ้าต้องการนักดนตรี 20 คน จะทำการคัดไว้ 25 คน เพราะทั้ง 25 คน เวลาฝึกซ้อมไปแล้วจะเหลือประมาณ 20 คน แนวทางการปฏิบัติ คือ จำนวนที่รับเท่าใดก็แล้วแต่ต้องบวกเข้าไปอีก 5 คน เสมอ
7. การเตรียมการวางแผน เป็นหน้าที่ของครูดนตรีโดยตรง และมีนักเรียนรุ่นพี่เป็นคณะทำงานในการวางแผนงาน
8. การแจ้งกำหนดการฝึกซ้อมให้ผู้ปกครองทราบ และตารางแจ้งให้ครูประจำชั้นทราบเมื่อนักเรียนต้องใช้เวลาเรียนออกไปทำกิจกรรมภายนอกโรงเรียน
9. การดำเนินการวางแผนการรับสมัคร
1) แจกใบสมัครให้กับนักเรียน
2) สอบถามประวัติส่วนตัว
3) หนังสือคำยินยอมจากผู้ปกครอง
4) ระยะเวลาในการรับสมัครประมาณ 2 สัปดาห์ มีการประชาสัมพันธ์ให้นักเรียนได้ทราบบริเวณหน้าเสาธง ปิดประกาศ และใช้เสียงตามสาย แจ้งกำหนดการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการรับสมัคร
โรงเรียนที่ 11 โครงร่างหลักสูตรดนตรีศึกษาของโรงเรียนได้ถูกปรับเปลี่ยนจากหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ คือ นักเรียนเริ่มเรียนดนตรีตั้งแต่ชั้นประถมปีที่ 1 โดยแบ่งการเรียนออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มขับร้องประสานเสียง กลุ่มไวโอลิน กลุ่มเครื่องเป่ารีคอร์เดอร์ และกลุ่มเปียโน โดยครูผู้สอนแต่ละเครื่องมือมีกลุ่มละ 3 ท่าน การรับนักเรียนเข้าประจำกลุ่มใช้วิธีการประกาศว่านักเรียนจะเลือกเรียนกลุ่มใดใน 4 กลุ่มที่กำหนด นักเรียนต้องเรียนตามกลุ่มต่างๆที่เลือก พื้นฐานความรู้ที่ให้เป็นดนตรีขั้นพื้นฐาน เมื่อนักเรียนอยู่ในระดับชั้นประถมที่ 3 จะเริ่มให้เข้ามาเรียนวงโยธวาทิต โดยการเปิดรับสมัครเข้าชุมนุมวงโยธวาทิต พื้นฐานของนักเรียน คือ พื้นฐานที่เรียนรีคอร์เดอร์มาจากชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 การที่โรงเรียนปูพื้นฐานตั้งแต่ชั้นประถมปีที่ 1 นักเรียนจะรู้สึกรักดนตรีอยากจะทำอยากจะแสดงออกทางดนตรี เหตุผลในการคัดเลือกนักเรียนที่เรียนรีคอร์เดอร์ เพราะนักเรียนมีความเข้าใจในเรื่องการใช้ลมและสามารถอ่านโน้ตได้แล้วขณะที่เรียนอยู่ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 เมื่อนักเรียนอยู่ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จะเรียนรู้ทางทฤษฎี และเริ่มจับเครื่องมือเมื่ออยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 การกำหนดให้นักเรียนเลือกเครื่องดนตรีจะดูที่สรีระทางร่างกายเป็นสำคัญ ในเบื้องต้นได้ให้โอกาสกับนักเรียนได้เลือกเครื่องดนตรีตามความชอบของแต่ละคน หลังจากนั้นครูผู้สอนจะดูความเหมาะสมในเรื่องสรีระว่าเหมาะสมกับเครื่องดนตรีที่เลือกไว้หรือไม่ เช่น ถ้าเล่นเครื่องลมอย่างน้อยก็ดูว่าฟันเกหรือริมฝีปากหนาหรือไม่ ถ้าไม่ตรงตามลักษณะต้องคัดออกไปทำหน้าที่อื่นก่อน แต่อันดับแรกในการพิจารณา คือ นักเรียนต้องมีใจรักเมื่ออยากเล่นเครื่องดนตรีชนิดใดก็ให้เล่นไปก่อน เพราะยึดหลักว่านักเรียนจะทำได้ดีที่สุดในสิ่งที่ชื่นชอบ
นักเรียนที่เข้ามาเรียนในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ใช้วิธีการให้เรียนดนตรีตามแผนการเรียนที่โรงเรียนเปิดสอน โดยหลักสูตรในระดับชั้นมัธยมศึกษามีการปรับเปลี่ยนหลักสูตรใหม่ให้เหมาะสมกับการจัดการเรียนการสอนที่ต่อเนื่องกับระดับชั้นประถมศึกษา การแบ่งเป็นกลุ่มเหมือนกับการเรียนในระดับชั้นประถมศึกษา นักเรียนคนใดสนใจที่จะเรียนกลุ่มใดก็ให้ไปอยู่ในกลุ่มนั้นๆ การรับจะรับสมัครทั้ง 2 ภาคเรียน แต่ละภาคเรียนจะมีนักเรียนเข้ามาเพิ่ม เพราะการสมัครปีต่อปีนักเรียนจะมีจำนวนน้อยมาก ถ้าเกิดปัญหานักเรียนออกก่อนกำหนดจะสามารถหานักเรียนมาทดแทนได้ในตำแหน่งเครื่องดนตรีที่ขาดหายไป
การดำเนินการประชุมผู้เกี่ยวข้องในการกำหนดหลักเกณฑ์ และคุณสมบัติของผู้สมัครจะมีการประชุมปรึกษาหารือในรูปคณะกรรมการว่ามีเครื่องดนตรีอะไรบ้างที่ต้องเสริมให้ครบตามจำนวนที่ต้องการ จากนั้นจึงประชาสัมพันธ์ให้นักเรียนทราบทางเสียงตามสายของโรงเรียน
กำหนดการรับสมัครกระทำหลังจากเปิดภาคเรียน 2 สัปดาห์ ทั้ง 2 ภาคเรียน และให้เสร็จสิ้นภายในสัปดาห์ที่ 4 เท่านั้น
แนวทางการปฏิบัติ นักเรียนต้องกรอกใบสมัครให้ละเอียดเพื่อใช้เป็นหลักฐาน และเพื่อศึกษานักเรียนแต่ละคน
การให้ความยินยอมของผู้ปกครอง ต้องมีหนังสือการให้ความยินยอมจากผู้ปกครองแนบกับใบสมัครของนักเรียนด้วย

จากกรณีตัวอย่างที่ยกมาประกอบการพิจารณา เพื่อให้โรงเรียนได้มีวิธีการที่หลากหลายในด้านการเตรียมการรับสมัคร แต่ถ้าให้สรุปว่าปฏิบัติอย่างไรไรถึงจะดีที่สุดคงไม่มีคำตอบทั้งนี้ให้ถือเป็นทางเลือก ผลสำเร็จจะเกิดประโยชน์สูงสุดเมื่อได้ปฏิบัติตามความพร้อมที่โรงเรียนของท่านมีอยู่เท่านั้น
4.2 กระบวนการคัดเลือก
กระบวนการคัดเลือกนักดนตรี มีขั้นตอนการดำเนินงานซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญในการศึกษานักเรียนที่จะเข้ามาสู่ระบบการเรียนรู้ในเรื่องของวงโยธวาทิต ปัจจุบันโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนวงโยธวาทิตหลายวงไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว มักมองข้ามในจุดนี้ไป บางครั้งทำให้การทำงานขาดประสิทธิภาพและสิ่งที่ตามมา คือ งานที่ปฏิบัติไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
จากการศึกษากระบวนการต่างๆในการฝึกวงโยธวาทิต พบว่ามีสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาอย่างมาก สิ่งสำคัญเบื้องต้นที่จะทำให้วงโยธวาทิตประสบความสำเร็จได้ ประกอบด้วยบุคคล คือ นักดนตรี ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการสื่อความหมายของนักประพันธ์ออกมาสู่ผู้ฟัง จึงจำเป็นที่ต้องสั่งสมประสบการณ์ (Sense Experience) เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ได้มากที่สุด ดังนั้นผู้ที่จะเป็นนักดนตรีต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์เป็นองค์ประกอบ เพื่อให้สร้างผลงานทางดนตรีให้เป็นผลอันน่าพึงพอใจ กระบวนการคัดเลือกนักดนตรีจึงเป็นส่วนสำคัญที่สนองตอบเหตุผลในเบื้องต้น ดังนั้นจึงต้องคำนึงถึงองค์ประกอบต่างๆ ที่มีผลต่อการเรียนดนตรี คือ
1. องค์ประกอบและความสมบูรณ์ทางด้านร่างกาย
2. ประสาทสัมผัส
3. ทักษะพื้นฐานทางดนตรี
4. พื้นฐานความรู้และเชาวน์ปัญญา
5. เจตคติที่มีต่อการเรียนดนตรี และการเสียสละเพื่อส่วนรวม
6. พื้นฐานทางครอบครัว และการสนับสนุนส่งเสริม
นักการศึกษาหลายท่านได้ให้ความสำคัญกับกระบวนการคัดเลือกนักดนตรี ซึ่งมีผลที่ตามมาอย่างมาก วงโยธวาทิตจะประสบความสำเร็จได้นั้นกระบวนการคัดเลือกนักดนตรีมีส่วนอย่างมาก ผู้รับผิดชอบในเรื่องดังกล่าวจึงควรนำมาพิจารณาและหาทางแก้ไข เพราะที่ผ่านมาวงโยธวาทิตหลายวงมักไม่ประสบความสำเร็จทั้งนี้เนื่องจากสาเหตุสำคัญ คือ ขาดการทดสอบในด้านต่างๆที่ควรปฏิบัติในการคัดเลือกไม่ว่าจะเป็นความถนัดความสามารถทางดนตรี โสตประสาท หรือแม้กระทั่งบุคลิกลักษณะที่เป็นคุณสมบัติที่ต้องได้รับการตรวจสอบก่อนที่จะเข้ามาเป็นนักดนตรี
ศักดิ์ชัย หิรัญรักษ์ (2539: ไม่ปรากฏเลขหน้า) ได้กล่าวไว้ในเอกสารการสอนวิชาทฤษฎีและกระบวนการเรียนวิชาดนตรี โดยสรุป คือ ความสำคัญและเหตุผลของการบรรจุวิชาดนตรีศึกษาไว้ในโรงเรียน
1) ดนตรีนั้นเป็นศาสตร์เฉพาะที่มีระบบ ดนตรีเป็นศาสตร์ที่ต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งประกอบด้วย ศาสตร์ที่เป็นองค์ความรู้ (Knowledge) เป็นศาสตร์ในเรื่องทักษะ (Skill) และเป็นศาสตร์ที่มีรูปแบบของกระบวนความคิดที่เป็นเรื่องเฉพาะ ในการพัฒนาในเรื่องการสร้างความคิด (Ways of Thinking) ความสามารถ (Ability) เป็นเรื่องที่มีความสำคัญเรื่องหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติเครื่องดนตรี (Perform) การสร้างสรรใหม่ทางดนตรี (Create) และการฟังดนตรีอย่างเข้าใจแท้จริง (Listening) และความสามารถทั้ง 3 นี้ ต้องเป็นความสามารถที่เป็นองค์ประกอบที่ประจักษ์แจ้งอยู่ในเยาวชนซึ่งจะเติบโตเป็นพลเมืองของในแต่ละสังคม
2) เป็นภารกิจของโรงเรียนที่จะต้องมีการสอนสั่ง การถ่ายทอดรากฐานทางวัฒนธรรมอันดีงามให้กับเยาวชน ซึ่งจะเป็นผู้สืบทอดวัฒนธรรมต่อไปในอนาคต ดนตรีเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่ง การสอนสั่ง หรือ การถ่ายทอดวัฒนธรรมทางดนตรี ยังเป็นที่ต้องการและความคาดหวังของผู้ปกครอง ที่จะเห็นบุตรหลานของตนเองนั้นมีความคุ้นเคย รู้จักงานทางดนตรีที่ดีพอกับที่เข้าใจ และรับรู้เทคโนโลยี หรือความเจริญทางด้านวิทยาศาสตร์
3) โรงเรียนต้องทำหน้าที่ในการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้ และแสวงหาเพื่อค้นพบศักยภาพทางด้านดนตรีที่มีอยู่ในตัวเขาเอง ในอดีตโรงเรียนไม่ได้ทำหน้าที่นี้ ทำให้ตลอดชีวิตของเยาวชนที่ถูกปิดโอกาส ไม่สามารถนำเอาศักยภาพนั้นมาใช้เพื่อเป็นประโยชน์แก่ตนเอง และสังคม
จากการจัดการเรียนการสอนวงโยธวาทิตในสถานศึกษา ได้เกิดประโยชน์หลายอย่างที่สำคัญที่สุดในการสอนวงโยธวาทิตให้ประสบความสำเร็จนั้นอยู่ที่องค์ประกอบหลายๆอย่าง เช่น ความสามารถของทั้งครูผู้สอนและนักเรียน และการสร้างจิตสำนึกในตัวนักเรียนเป็นสำคัญ ต้องสามารถทำให้นักเรียนเกิดความรักดนตรีเข้าใจดนตรี รู้ถึงคุณค่าของดนตรีด้วยตัวเอง บางครั้งครูผู้สอนไม่สามารถที่จะใช้กฎเกณฑ์ใดๆไปบังคับได้ เพราะดนตรีนั้นมีที่มาจากธรรมชาติ การที่ผู้เรียนจะสร้างเสียงดนตรีก็ต้องเป็นไปตามธรรมชาติเช่นกัน เมื่อนักเรียนมีจิตสำนึกที่รักดนตรีด้วยตัวเอง ความอยากเล่นดนตรีให้ไพเราะด้วยความขยันหมั่นเพียร ความอดทนในการฝึกซ้อมอย่างจริงจังจะตามมา จนสามารถสร้างระบบเพื่อดำเนินกิจกรรมร่วมกันให้ประสบความสำเร็จได้
การเริ่มต้นที่ดีจะนำไปสู่จุดหมายแห่งความสำเร็จด้วยดี ซึ่งประกอบด้วยองค์ประกอบ ที่สำคัญ คือ
1. นักเรียนดี
2. ครูผู้สอนดี
3. ผู้ปกครองดี
4. ผู้สนับสนุนดี
จากองค์ประกอบทั้ง 4 ประการ มีความสำคัญต่อการเรียนดนตรีโดยกล่าวได้ว่าเมื่อขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้ว ผลงานที่ปรากฏออกมาจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะทั้งหมดจะเป็นตัวเสริมให้เกิดองค์ความรู้ในทางศาสตร์ และเป็นผลให้ปรากฏออกมาในทางศิลป์ คือความงามและความมีสุนทรีย์ สิ่งต่างๆจะเกิดขึ้นได้และมีผลผลสรุปในการเรียนรู้ คือ การปฏิบัติที่ครบกระบวนการ ตามความถูกต้องแห่งกฎเกณฑ์อันแท้จริง จุดเริ่มต้นในการศึกษามองดูแล้วเป็นเรื่องง่าย แต่ในทางปฏิบัติแล้วเป็นเรื่องที่ยากยิ่ง ไม่เคยมีใครที่ทำงานหนึ่งงานใดได้สำเร็จบนความล้มเหลวหรือความผิดพลาดมาตั้งแต่เริ่มต้น ดังนั้นจึงเป็นเรื่องของกระบวนการที่จะเป็นตัวกำหนดวิถีทางในการปฏิบัติให้งานบรรลุจุดมุ่งหมายอย่างแท้จริง
ผลของความล้มเหลวเกิดจากการทำงานที่ขาดแผนการดำเนินงานที่ดี ด้วยองค์ประกอบที่สำคัญ คือ
1. การบริหารบุคคล
2. การบริหารเวลา
3. การบริหารงานวิชาการ
4. การบริหารงบประมาณ
ภาสกร สุวรรณพันธ์ (สัมภาษณ์) กล่าวพอสรุปได้ว่า ดนตรีจะดีได้อยู่ที่ระบบ ถ้าดนตรีขาดระบบสิ่งที่ตามมาคือความล้มเหลว การให้เวลาในการฝึกซ้อมถือเป็นหัวใจสำคัญจึงต้องแบ่งเวลาให้พอเหมาะกับความสามารถในการรับรู้ของบุคคล และองค์ประกอบที่สำคัญต่อการเรียนดนตรี คือ เครื่องดนตรีต้องมีคุณภาพ ประกอบกับมีนักดนตรี (นักเรียน) ที่ดี คือต้องมีใจรัก มีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง และหมั่นในการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
อมรพงศ์ อุมาลี (สัมภาษณ์) “เด็กจะดีได้อยู่ที่ครูผู้ให้ความรู้ และที่ตามมาคือเด็กจะรักในดนตรี เป็นดนตรี และพัฒนาทักษะของตัวเองให้เก่งในทางดนตรี ครูต้องมีความอดทน ใฝ่หาความรู้ตามโลกของดนตรีให้ทัน เสียสละเวลาให้กับงาน เข้าใจในความต้องการของเด็ก และพัฒนาความก้าวหน้าอยู่เสมอ”
สำเภา สนธิปัญญา (สัมภาษณ์) กล่าวพอสรุปได้ว่า “นักเรียนเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้การบรรเลงมีคุณภาพ ประการสำคัญ คือ นักเรียนต้องมีใจรักและมีผู้ให้การสนับสนุน และสิ่งที่จะสนองตอบความต้องการของนักเรียนได้ดี คือ ครูผู้สอนซึ่งจะเป็นผู้นำทางไปสู่ความสำเร็จ”
เบนท์เล เชลลาฮาเมอร์ (Shellahamer, et al. 1986: 45) กล่าวพอสรุปได้ว่า “แนวทางในการคัดเลือกสมาชิกเข้าร่วมในวงดนตรี ซึ่งเด็กจะได้รับการคาดหวังในการฝึกซ้อม การเริ่มให้การสนับสนุนในเบื้องต้นของการคัดเลือกที่ดี จะสามารถสนับสนุนการเล่นดนตรีเพื่อหวังผลในความสำเร็จที่ตามมา”
ชาร์ล อาร์ ฮอฟเฟอร์ (Hoffer, 1989: 269) กล่าวพอสรุปได้ว่า “ครูต้องชี้แจงและเตรียมการให้นักเรียนได้รู้ถึงจุดมุ่งหมายของความสำเร็จในการฝึกซ้อม ซึ่งต้องปฏิบัติให้เป็นที่พึงพอใจด้วยความมานะอดทน ซึ่งส่วนมากจะคิดว่าเป็นการยากลำบากเมื่อทุกคนมีสิ่งที่จะต้องทำออกมาให้เห็น”
อทารัช เบน โทวิม และ ดักลาส บอยด์ (Ben Tovim & Douglas Boyd, 1985: 26) กล่าวพอสรุปได้ว่า การทดสอบนักเรียนทางด้านร่างกายที่เป็นผลต่อการเรียนดนตรีของนักเรียนในโรงเรียนที่ควรศึกษา คือ
1. สายตากับการมองเห็น
2. การได้ยิน
3. ลักษณะของริมฝีปาก
4. การควบคุมปาก
5. ฟันหน้า
6. การเจริญเติบโตของฟัน
7. ระบบการหายใจ
8. ช่วงแขน
9. ช่วงกว้างของมือ
10. นิ้วมือ
11. ช่วงกว้างระหว่างนิ้วมือ
12. ความคล่องแคล่วของร่างกาย
13. ความพร้อมของร่างกาย
14. ความสมบูรณ์ทางร่างกาย
15. สุขภาพทั่วไป
16. สภาพร่างกายทั่วไป
17. ความรู้สึกทางด้านร่างกาย
กองดุริยางค์ทหารเรือ (2540: 5 - 6) ได้กำหนดเกณฑ์การคัดเลือกนักดนตรี โดยการตรวจรูปร่างและลักษณะท่าทางที่เป็นประโยชน์ต่อการเป็นนักดนตรี คือ
1. ฟัน
2. ริมฝีปาก
3. นิ้วมือและ
4. ตา
5. จมูก
6. กำลังปอด
7. ขา
8. ผิวหนัง

จากการศึกษากระบวนการและแนวคิดในเรื่องการคัดเลือกนักดนตรีที่กล่าวข้างต้น จึงนำแนวคิดมาเป็นเกณฑ์การปฏิบัติในการคัดเลือกนักดนตรี คือ
1. ด้านบุคลิกลักษณะ และความสมบูรณ์ทางร่างกาย
2. พื้นฐานความรู้ทางดนตรี
3. ความรักในเรื่องดนตรี
4. ความตั้งใจในการฝึกซ้อม
5. การให้การสนับสนุนของ ครู อาจารย์ บิดา มารดา และญาติพี่น้อง
6. การอุทิศเวลาให้กับส่วนรวม
7. ผลการเรียน
8. ความสนใจ และประสบการณ์ด้านดนตรี
9. ระดับชั้นที่ศึกษา และระยะเวลาในการศึกษาดนตรี
10. ความถนัดพิเศษด้านอื่นๆ
11. อาชีพของบิดา มารดา และผู้ปกครอง
12. สถานที่พักอาศัย
13. โรคประจำตัว
14. การคบหาสมาคมกับเพื่อน
15. ข้อมูลอื่นๆ
จากการศึกษาโรงเรียนทั้ง 11 โรงเรียน เกี่ยวกับกระบวนการคัดเลือกนักดนตรี มีแนวการดำเนินที่สามารถนำไปเป็นแบบเลือกปฏิบัติตามความพร้อมของแต่ละโรงเรียน ดังนี้
โรงเรียนที่ 1 ในการคัดเลือกนักดนตรี ได้ตั้งคณะกรรมการของโรงเรียนเป็นกรรมการในการสอบและคัดเลือก ซึ่งการสอบมี 2 อย่าง คือ สอบทฤษฎีและสอบปฏิบัติ ทฤษฎีใช้ข้อสอบ 10 ข้อ การสอบปฏิบัติจะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ เครื่องประกอบจังหวะ และเครื่องเป่า ทั้งนี้เพราะนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาจะมีเครื่องดนตรีที่เล่น 2 ประเภท คือ เครื่องประกอบจังหวะ และเครื่องเป่าเมโลเดียน ใช้แบบฟอร์มการให้คะแนนการสอบทั้ง 2 อย่าง เพลงที่บังคับสอบคือเพลงชาติไทย และเพลงสรรเสริญพระบารมี โดยมีคณะกรรมการ 3 ท่านเป็นคณะกรรมการ โรงเรียนประถมศึกษาส่วนใหญ่ ให้ความสนใจในด้านดนตรี มีการส่งประกวดวงเมโลเดียนแข่งขันระดับจังหวัดทุกปี จึงทำให้นักเรียนเกิดความรักความสนใจดนตรีมาตั้งแต่เรียนอยู่ในระดับประถมศึกษา การสอบจะสอบเทคนิคก่อนการปฏิบัติเครื่อง เช่น การเตรียมความพร้อม การบริหารมือ การบริหารข้อมือ การจับไม้ การปฏิบัติเครื่องดนตรีตามความถนัด การทดสอบโสตประสาทโดยการฟังเสียงเครื่องดนตรีแล้วร้องตาม การเคาะตามส่วนโน้ตแล้วให้เคาะตาม สัดส่วนของโควตาจะได้นักดนตรีประมาณ 20 คน จากผู้เข้าสอบประมาณ 50 คน ซึ่งปัญหาที่พบ คือ นักเรียนเข้าใจว่าการปฏิบัติเพลง 2 เพลงไม่น่ามีปัญหา แต่เมื่อมาสอบจริงนักเรียนต้องอ่านโน้ตได้ ทำให้หลายคนไม่สามารถทำได้ และเมื่อสอบคัดเลือกได้แล้วต้องทำสัญญากับทางโรงเรียนว่าต้องเล่นดนตรีในวงโยธวาทิตจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
กระบวนการทดสอบนักเรียนตามโควตาวงโยธวาทิต
1. ตรวจสอบหลักฐานคุณสมบัติ
2. ประชุมชี้แจง
3. แบ่งกลุ่มคัดเลือกตามความถนัด แยกเป็น
1) เครื่องเป่า
2) เครื่องประกอบจังหวะ
การสอบหรือการคัดเลือก แบ่งประเภทเป็น 3 กลุ่ม คือ
1. ภาคทฤษฎี (แยกกลุ่ม) 10 คะแนน
คำถามจำนวน 10 ข้อ แบ่งเป็นคำถามทฤษฎี จำนวน 5 ข้อ และเรื่องอื่นๆอีก 5 ข้อ ตามกลุ่มเครื่องมือ
2. ปฏิบัติเครื่องดนตรี (แยกเป็น)
2.1 เมโลเดียน ทดสอบดังนี้
2.1.1 เพลงบังคับ จำนวน 2 เพลง
(1) เพลงชาติไทย คะแนน 5 คะแนน
(2) เพลงสรรเสริญพระบารมี คะแนน 5 คะแนน
2.1.2 เพลงเลือกตามความถนัด จำนวน 1 เพลง คะแนน 10 คะแนน
2.1.3 ความสามารถเล่นเครื่องดนตรีอื่นๆ คะแนน 5 คะแนน
2.1.4 ทดสอบโสตประสาท คะแนน 5 คะแนน
รวมคะแนนปฏิบัติ คะแนน 30 คะแนน

2.2 เครื่องประกอบจังหวะ ทดสอบดังนี้
2.2.1 เทคนิคก่อนปฏิบัติเครื่องมือ คะแนน 10 คะแนน
2.2.2 ปฏิบัติเครื่องตามความถนัด 1 เครื่อง คะแนน 10 คะแนน
เพลงบังคับบรรเลงตามโน้ตที่กำหนดให้
2.2.3 ความสามารถเล่นเครื่องดนตรีอื่นๆ คะแนน 5 คะแนน
2.2.4 ทดสอบโสตประสาท คะแนน 5 คะแนน
รวมคะแนนปฏิบัติ คะแนน 30 คะแนน
3. สัมภาษณ์
3.1 ดูบุคลิกลักษณะท่วงทีวาจา
3.2 ความเหมาะสมกับการเป็นนักเรียนวงโยธวาทิต
เกณฑ์การให้คะแนน
ดีมาก ช่วงคะแนน 9 - 10 คะแนน
ดี ช่วงคะแนน 7 - 8 คะแนน
ปานกลาง ช่วงคะแนน 5 - 6 คะแนน
พอใช้ ช่วงคะแนน 3 - 4 คะแนน
ตัวอย่าง แบบให้คะแนนการสอบเครื่องเป่าเมโลเดียน
1. เพลงบังคับ จำนวน 2 เพลง คะแนน 10 คะแนน
1.1 เพลงชาติไทย
1.2 เพลงสรรเสริญพระบารมี
หัวข้อในการให้คะแนน
(1) ความถูกต้องของจังหวะ ตัวหยุด เครื่องหมายกำกับต่างๆ
(2) การปฏิบัติสัญลักษณ์ที่มีในโน้ต ความ หนัก เบา สั้น ยาว เป็นต้น
(3) เทคนิคการเป่าเมโลเดียน เทคนิคพิเศษต่างๆ
2. เพลงเลือกตามถนัด จำนวน 1 เพลง คะแนน 10 คะแนน
หัวข้อในการให้คะแนน
(1) ความยากง่ายของบทเพลง
(2) เทคนิคการเป่า
(3) ท่าทาง ลักษณะการเป่า การใช้ลม
3. การทดสอบโสตประสาท
หัวข้อในการให้คะแนน
(1) การตอบสนองของจังหวะที่ถูกต้อง
(2) ไหวพริบ ปฏิภาณ
(3) การแสดงออก ความมั่นใจ
กระบวนการคัดเลือก ใช้แนวการคัดเลือกนักเรียนโควตา โดยสอบข้อเขียน 10 นาที และสอบปฏิบัติตามเวลาที่เหมาะสม เสนอทางโรงเรียนให้ผู้อำนวยการอนุมัติ ประชุมเพื่อแจ้งผลการคัดเลือก
แนวการพิจารณาการทดสอบความถนัด ทดสอบโสตประสาท การสัมภาษณ์ท่วงทีวาจา การปฏิบัติเครื่องดนตรีเบื้องต้นด้วยเพลงบังคับ รูปร่างลักษณะ ประสาทสัมผัสทางเสียง โดยการเคาะจังหวะกลองแล้วให้เคาะตาม

การทดสอบด้านจิตใจ นักเรียนทุกคนมีความอยากเล่นดนตรีตั้งแต่เรียนอยู่ในระดับชั้นประถมศึกษาแล้ว นักเรียนจะให้ผู้ปกครองซื้อเครื่องดนตรี เช่น นักเรียนที่เล่นเมโลเดียนได้ก็จะให้ผู้ปกครองซื้อเมโลเดียนให้ ส่วนนักเรียนที่ตีกลองได้ก็จะให้ซื้อไม้กลองให้ ผู้ปกครองให้การสนับสนุนอย่างดี นักเรียนจึงมีความกระตือรือร้นในการที่จะฝึกซ้อมอย่างมาก
การให้การสนับสนุนจากผู้ปกครอง ก่อนจะมีการรับสมัครได้ส่งหนังสือไปยังโรงเรียนประถมศึกษาทุกโรงเรียนเพื่อแจ้งให้นักเรียนทราบ แต่ในระบบโควตาผู้ปกครองจะต้องทำสัญญากับทางโรงเรียนซึ่งผู้ปกครองต้องรับรู้ในเรื่องดังกล่าว
นอกเหนือจากนักเรียนโควตาแล้วทางโรงเรียนจะรับเพิ่มเติมอีกเพื่อเปิดโอกาสให้กับนักเรียนทุกคน ทางโรงเรียนมีกิจกรรมให้ปฏิบัติโดยเฉพาะการฝึกซ้อมดนตรี การเข้ามาอยู่รวมกันทุกคนได้เพื่อน ดังนั้นจึงต้องอุทิศเวลาและมีความเสียสละเพื่อส่วนรวม นักเรียนที่สมัครใจฝึกซ้อมดนตรีไม่ต้องกรอกหลักฐานต่างๆเหมือนกับนักเรียนที่สอบเข้ามา นักเรียนจะได้รับประโยชน์หลายอย่างจากการเป็นนักเรียนวงโยธวาทิต เช่น มีทุนการศึกษาให้ทุกปี การได้รับสิทธิในการคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนต่อตามโควตานักเรียนที่ทำกิจกรรมให้กับทางโรงเรียน เป็นต้น
โรงเรียนจะไม่พิจารณาเรื่องผลการเรียนของนักเรียนแต่บางครั้งพบปัญหาตามมา คือ แบ่งนักเรียนได้เป็นสองกลุ่ม คือ นักเรียนที่เรียนอ่อน นักเรียนเหล่านี้จะเล่นอย่างเดียวไม่ค่อยสนใจการเรียน และนักเรียนที่มีผลการเรียนปานกลางถึงดี จะสนใจทั้งการเรียนและการเล่นดนตรี
ระยะเวลาในการเข้ามาเป็นสมาชิกของวงทางโรงเรียนจะไม่คำนึงถึงในส่วนนี้ โรงเรียนเปิดโอกาสให้ตลอด สมัครเข้ามาเป็นสมาชิกเมื่อใดก็ได้แต่ต้องเรียนรู้ให้ทัน ครูผู้สอนจะไม่ลงไปข้องเกี่ยวมากนัก นักเรียนต้องพัฒนาตนเองให้ทันเพื่อน ส่วนใหญ่แล้วนักเรียนเหล่านี้จะไม่พัฒนาตนเองและลาออกไปในที่สุด
ความสามารถพิเศษ ศึกษาว่านักเรียนมีความสามารถในการเล่นเครื่องดนตรีชิ้นอื่นๆได้หรือไม่ ถ้าพบว่ามีนักเรียนเหล่านี้จะได้เปรียบมากกว่า คือ ได้คะแนนเพิ่มด้านความสามารถในการเล่นเครื่องดนตรีชิ้นอื่นๆ นอกจากนี้นักเรียนที่มีใบรับรองความสามารถจากสถาบันทางดนตรีก็จะได้รับการพิจารณาในเรื่องดังกล่าว
พื้นฐานทางครอบครัวของนักเรียน ไม่เป็นอุปสรรคในการเรียนดนตรี แต่บางครั้งสอบถามถึงปัญหาของนักเรียนแบบสุ่มตัวอย่าง ผลสรุปทำให้ทราบว่าทุกคนมีปัญหาเพียงแต่จะมากหรือน้อยเท่านั้น มีกรณีเคยพบครอบครัวหย่าร้าง นักเรียนเหล่านี้เมื่อเข้ามาอยู่ในวงจะมีที่ระบายจนคิดว่าปัญหานั้นหมดไป เพราะมีที่พึ่งทางใจที่ได้รับคือการเล่นดนตรี บางกรณีพบว่านักเรียนที่มีปัญหาเหมือนกันแต่ไม่ได้มาอยู่ ณ จุดนี้ จะหาทางออกอย่างอื่นๆที่ชอบ ถ้าพบทางที่ไม่ดีนักเรียนก็เสียอนาคต


สถานที่พักเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณา ถ้าบ้านไกลปัญหาจะตามมา คือ นักเรียนให้เวลากับการฝึกซ้อมได้ไม่มากนัก แต่นักเรียนได้หาวิธีการแก้ปัญหาดังกล่าว โดยการเช่าหอพักอยู่รวมกัน อาจกล่าวได้ว่านักเรียนหลายคนที่มาฝึกซ้อมดนตรีจะให้เวลากับการฝึกซ้อมเพราะมีใจรัก มีความชอบ ทุกสิ่งทุกอย่างจึงได้รับการแก้ไขทำให้ปัญหาต่างๆหมดไป
ด้านโรคประจำตัวไม่มีข้อจำกัด เพราะไม่สามารถทราบได้ในครั้งแรกว่า นักเรียนเป็นโรคอะไรบ้าง ถ้ากรณีนักเรียนเป็นโรคหืด หอบ ผู้ปกครองจะมาลาออกทางวงก็อนุญาต การพิจารณาเรื่องโรคประจำตัวถ้าทำได้ตอนคัดเลือกนักเรียนจะเกิดผลดีอย่างมาก เพราะอย่างน้อยนักเรียนที่มีปัญหาทางด้านสุขภาพจะได้ไม่ต้องเสียเวลา ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียดายบางคนเล่นดนตรีได้อย่างดีแต่มีเหตุให้ต้องเลิกเล่นกลางคันเพราะมีโรคที่แพทย์สั่งห้าม หรือละเว้นในการกระทำที่เป็นผลต่อสุขภาพร่างกายของนักเรียน
โรงเรียนที่ 2 กระบวนการคัดเลือกนักเรียนที่ไม่ได้สอบด้วยระบบโควตาจะไม่มีการสอบคัดเลือก แต่ถ้าเป็นนักเรียนในระบบโควตาจะต้องสอบปฏิบัติ สอบความรู้ทางทฤษฎี โดยให้เล่นเครื่องดนตรีและอ่านโน้ต นักเรียนที่เข้ามาเล่นดนตรีทุกคนจะเริ่มต้นที่การฝึกตีกลอง เรียนรู้ทางทฤษฎีโน้ต การฝึกปรบมือ การเดินตามจังหวะกลอง โดยเดินไปด้วยตีกลองไปด้วย นักเรียนจะใช้เวลาในการฝึกซ้อมช่วงแรกนี้ 1 ภาคเรียน ถือว่าช่วงนี้เป็นการทดสอบกำลังใจ และดูในหลายๆด้านที่เป็นกระบวนการในการคัดเลือกนักเรียนสำหรับวงโยธวาทิตของโรงเรียน
โรงเรียนที่ 3 กระบวนการนั้นสำคัญอยู่ที่การเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียน จากที่นักเรียนไม่เป็นอะไรเลย การเตรียมทั้งร่างกายและจิตใจ ร่าง กายเหมาะสมหรือไม่อย่างไรในการเล่นเครื่องดนตรี จิตใจมีความรักดนตรีหรือไม่ ครูผู้สอนต้องเตรียมความพร้อมในส่วนนี้ เพื่อให้รู้ว่าต่อไปภายหน้านักเรียนเลือกเครื่องดนตรีอะไรดีที่สุด การเตรียมความพร้อมถือเป็นการทดสอบไปในตัว ครูผู้สอนต้องคอยสังเกตว่านักเรียนควรฝึกเครื่องดนตรีอะไร ถ้าให้เล่นเครื่องเป่าก็ต้องดูริมฝีปาก ดูฟัน ว่าใครมีปัญหาบ้าง ดูสรีระทุกส่วนเพื่อเป็นข้อมูลในการพิจารณาว่าจะเล่นเครื่องประเภทใดจึงเหมาะสม ส่วนสายตานั้นเหมือนกันหมด แต่ถ้าดูในเรื่องแขน ขา ก็สามารถระบุได้เลยว่าเหมาะสมกับเครื่องดนตรีชนิดใด เช่น ถ้าแขนยาวควรฝึกทรอมโบน หรือถ้ามีรูปร่างใหญ่โตและแข็งแรงก็ฝึกทูบา เป็นต้น
เรื่องของความแข็งแรงนั้นนักเรียนต้องมีทุกคน ครูผู้สอนต้องดูว่ารูปร่างแข็งแรงแต่โครงสร้างเล็กก็ให้ฝึกเครื่องดนตรีประเภทเครื่องลมไม้ และประการสำคัญครูผู้สอนต้องพิจารณาที่ความสมัครใจของนักเรียนด้วย แต่ต้องพิจารณาว่าเครื่องดนตรีที่นักเรียนเลือกฝึกนั้นมีความเพียงพอต่อจำนวนนักเรียนหรือไม่ ถ้านักเรียนเลือกเครื่องชิ้นใดชิ้นหนึ่งมาก ครูผู้สอนต้องชี้แนะในการเปลี่ยนเครื่องใหม่ด้วยเหตุผลด้านความสำคัญของเครื่องดนตรีแต่ละชนิด บางครั้งใช้วิธีให้ฝึกเครื่องดนตรีพร้อมกัน 2 ชนิดที่ต่างเวลากัน เมื่อปฏิบัติเช่นนี้นักเรียนจะพบกับข้อแตกต่างด้วยตนเอง การเลือกเครื่องดนตรีครูผู้สอนจะตามใจนักเรียนมากไม่ได้ เพราะนักเรียนมักเลือกตามเพื่อน หรือ ความสวยงามของตัวเครื่องเป็นเกณฑ์ เมื่อครูผู้สอนให้นักเรียนเปลี่ยนเครื่องควรชี้แจงให้นักเรียนได้ทราบเหตุผลอย่างเด่นชัดที่สุด ทั้งนี้เพื่อความไม่เสียกำลังใจของนักเรียนเอง
การทดสอบประสาทสัมผัสโดยการฝึกให้ฟังเสียง ฝึกหัดการตั้งเสียงโดยใช้เครื่องดนตรีที่สามารถเพิ่มหรือลดความถี่ของเสียงได้ โดยพยายามหมุนให้นักเรียนฟังจนกระทั่งได้เสียงที่เท่ากัน นักเรียนต้องฝึกฟังเสียงช้าป เสียงแฟล็ตและหาความแตกต่างของเสียง ทั้งนี้ในขณะฟังเสียงต้องฝึกการฟังควบคู่ไปด้วย
เกณฑ์การรับนักเรียนจะรับทุกคนที่มาสมัคร แต่จะเน้นที่กระบวนการฝึกซ้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือเรื่องของเวลา
โรงเรียนที่ 4 การคัดเลือกนักดนตรีไม่มีการทดสอบในทุกๆด้าน แต่ใช้วิธีเรียกนักเรียนที่สมัครทุกคนทำการฝึกซ้อม ถ้ามีนักเรียนที่มีความรู้ทางดนตรีมาแล้วถือว่าเป็นข้อได้เปรียบของนักเรียนเอง แต่ทุกคนต้องเริ่มต้นใหม่พร้อมกันโดยการปูพื้นฐานที่ถูกต้อง รูปร่างลักษณะของนักเรียนจะกำหนดตอนที่นักเรียนเลือกเครื่องดนตรี โดยครูผู้สอนเป็นผู้แนะนำให้ได้รู้จักเครื่องดนตรีชนิดต่างๆ รู้จักเสียงและเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดนตรีชิ้นนั้นๆ การเลือกเครื่องให้เป็นความต้องการของนักเรียน จากนั้นครูผู้สอนจึงพิจารณาความเหมาะสม
การคัดเลือกนักเรียนระบบโควตาดูจากพื้นฐานความรู้ทางดนตรีเดิมของนักเรียนเป็นสำคัญ เมื่อเข้ามาอยู่ในวงจะได้รับการปลูกฝังในเรื่องความรับผิดชอบในหน้าที่ ความไม่เหลวไหลในการทำงาน และการปฏิบัติหน้าที่ให้สำเร็จลุล่วง
การสนับสนุนของผู้ปกครองไม่เป็นปัญหา เนื่องจากได้แจ้งกำหนดเวลาการฝึกซ้อมไว้อย่างชัดเจน ถ้านักเรียนคนใดไม่สามารถปฏิบัติตามเวลาที่กำหนดได้ก็จะไม่ได้สิทธิในการคัดเลือกให้เป็นนักดนตรีของโรงเรียน
โรงเรียนที่ 5 ใช้การทดสอบโดยการสัมภาษณ์ท่วงทีวาจา โดยให้นักเรียนเคาะจังหวะ การฟังเสียง สอบถามเกี่ยวกับที่พักอาศัยและเรื่องที่ต้องการทราบเพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดตามมาในภายหลัง ถ้านักเรียนไม่สามารถอยู่ฝึกซ้อมและพยายามหาเหตุผลมาอ้างแสดงว่านักเรียนคนนั้นไม่ชอบการฝึกดนตรีจริง บุคลิกด้านร่างกายเป็นเพียงส่วนประกอบ เริ่มแรกพิจารณาความตั้งใจเป็นหลัก ส่วนด้านอื่นๆจะพิจารณาตอนที่เลือกเครื่องดนตรี เพราะระยะเวลา 3 ปีที่นักเรียนศึกษาอยู่ในโรงเรียนสามารถพัฒนาในส่วนต่างๆได้ การไม่พิจารณาด้านบุคลิกลักษณะของนักเรียนนั้นเป็นการแก้ปัญหาการขาดแคนนักดนตรีตามสภาพสังคมดนตรีของเมืองไทยในปัจจุบัน ไม่เหมือนต่างประเทศที่เน้นมากในเรื่องบุคลิกทางด้านร่างกาย ทั้งนี้เป็นเพราะมีนักเรียนจำนวนมากจึงมีตัวเลือกได้มากนั่นเอง
เกณฑ์การพิจารณาผลการเรียนจะไม่คำนึงถึง เพราะนักเรียนทุกคนต้องผ่านกระบวนการคัดเลือกมาแล้ว ปีใดที่โรงเรียนต้องการนักดนตรี 25 คน ต้องดูว่านักเรียนสอบผ่านเกณฑ์ของทางโรงเรียนหรือไม่ ทางฝ่ายดนตรีจะเสนอรายชื่อไปจำนวนประมาณ 35 คน ถ้านักเรียนคนใดมีใจรักและมีความสามารถทางดนตรีมากแต่สอบไม่ผ่านเกณฑ์การสอบของทางโรงเรียนก็จะรับไว้เป็นกรณีพิเศษ ทั้งนี้ครูผู้สอนต้องทำความตกลงกับผู้เกี่ยวข้อง แต่ถ้าคะแนนการพิจารณาทางดนตรีเท่ากันจะดูคะแนนสอบคัดเลือกเป็นเกณฑ์ว่าใครได้คะแนนมากกว่ากัน โดยทางโรงเรียนให้สิทธิกับครูผู้สอนดนตรีในการกำหนดกฎเกณฑ์ก่อน ถ้าได้นักเรียนครบตามจำนวน คือ 25 คนแล้ว ที่เหลือทางโรงเรียนจะพิจารณาจากคะแนนที่สอบเรียงตามลำดับ นักเรียนที่สมัครสอบเป็นนักดนตรีของโรงเรียนภายหลังจะปฏิเสธการเป็นนักดนตรีไม่ได้ เพราะเป็นการกำหนดในเบื้องต้นแล้วว่าเป็นการสมัครสอบเพื่อเป็นนักดนตรีของโรงเรียน ทุกคนต้องเขียนระบุในใบสมัครของทางโรงเรียน แจ้งความประสงค์ว่าสอบในโควตานักดนตรีก่อนการสอบคัดเลือก ซึ่งเป็นการบังคับนักเรียนไม่ให้บิดพลิ้วในภายหลัง ส่วนนักเรียนที่ไม่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกทางดนตรี แต่ผ่านเกณฑ์ของทางโรงเรียนก็ไปเลือกเรียนวิชาอื่นๆ
ดังนั้นเรื่องคะแนนหรือเรื่องการเรียนจึงไม่เป็นปัญหาใดๆ แต่ปัญหาเกิดที่หลายโรงเรียนไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว การเป็นนักดนตรีจะได้มาโดยการรับสมัครซึ่งไม่ผ่านการคัดเลือกตามกระบวนการต่างๆที่ควรปฏิบัติ จึงเกิดปัญหาที่จำนวนนักดนตรีไม่เพียงพอกับความต้องการในการใช้งาน ทางแก้ไขคือการวางนโยบายให้เกิดเป็นรูปธรรม การจัดแผนการเรียนรองรับ ซึ่งจะสามารถทำให้มีนักดนตรีที่ต่อเนื่องชัดเจน อย่างน้อยระดับชั้นละ 25 คน
ระบบการเรียนในชั่วโมงเรียนปกติที่เป็นวิชาดนตรี เนื้อหาจะเป็นพื้นฐานอย่างดีที่นำไปใช้ในการฝึกซ้อมนอกเวลาเรียนปกติ ส่วนนักเรียนที่บ้านไกลไม่พบปัญหาเพราะได้ทำความเข้าใจในเบื้องต้นแล้ว
ปัญหาด้านสุขภาพที่ทำได้ดีที่สุดคือ นักเรียนต้องมีใบรับรองแพทย์เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นในภายหลัง ถ้านักเรียนมีปัญหาด้านสุขภาพแต่มีความประสงค์จะเรียนดนตรีจริงๆก็สามารถทำได้ แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้ปกครอง
ความสมบูรณ์ทางด้านร่างกายไม่สามารถทำได้เพราะเวลามีจำกัด แต่สามารถทำได้ตอนสัมภาษณ์ เช่น ทดสอบสมรรถภาพทางร่างกายโดยการให้วิดพื้น 20 ครั้ง เป็นต้น
โรงเรียนที่ 6 ไม่มีการทดสอบความสามารถด้านต่างๆ เพราะว่ายิ่งมีนักเรียนสมัครมากจะทำให้กิจกรรมมีความคึกคักและบ่งบอกถึงความสนใจของนักเรียน ส่วนการแก้ปัญหาเรื่องเครื่องดนตรีไม่เพียงพอกับจำนวนความต้องการฝึกของนักเรียนนั้น ใช้วิธีให้นักเรียนค่อยๆศึกษาและดูวิธีการจากรุ่นพี่ไปก่อน และนำมาพิจารณาในภาคเรียนที่ 2 โดยดูจากบุคลิกทางด้านร่างกาย เช่น ริมฝีปาก นิ้วมือ และช่วงแขน เป็นต้น วิธีการเบื้องต้นให้นักเรียนได้เลือกเครื่องดนตรีตามความพอใจ ระยะต่อมาครูผู้สอนจะสังเกตพฤติกรรมและความเหมาะสมกับเครื่องดนตรีชนิดใด การสังเกตในระยะนี้นักเรียนจะไม่รู้ ครูผู้สอนจะเลือกนักเรียนที่มีความรู้ความสามารถและการเพิ่มพูนพัฒนาการของตนเองมากกว่าคนอื่นให้เข้าร่วมในกิจกรรมทางดนตรี วิธีการนี้เป็นการกระตุ้นให้นักเรียนมีความพยายามมากขึ้น เพราะธรรมชาติของนักเรียนย่อมอยากแสดงออกเป็นธรรมดา
ครูผู้สอนต้องคอยสังเกตพฤติกรรมแฝงซึ่งเป็นผลให้นักเรียนเล่นเครื่องดนตรีนั้นได้เร็วที่สุด และเป็นการฝึกซ้อมดนตรีในระยะสั้นๆเท่าที่นักเรียนจะสามารถทำได้ สิ่งต่างๆสังเกตได้ในระยะเวลาของภาคเรียนแรก คือ มีความสนใจดูรุ่นพี่ฝึกซ้อมอยู่ตลอด ช่วยรุ่นพี่ทำความสะอาดเครื่อง ช่วยเก็บเครื่องเก็บโน้ต ช่วยดูแลห้องซ้อม สิ่งต่างๆเหล่านี้เกิดเป็นภาพรวม ดังนั้นความตั้งใจส่วนหนึ่งที่นำมาพิจารณาคือการมองภาพรวมที่นักเรียนแสดงออกมาให้เห็น
การให้การสนับสนุนของผู้ปกครอง การจัดกิจกรรมที่เน้นการให้สิทธิกับผู้เรียนเพราะถือว่านักเรียนสามารถหาความรู้ที่อยู่ในโรงเรียนได้อย่างอิสระ ถ้าผู้ปกครองไม่สนับสนุนโรงเรียนให้สิทธิในการลาออกได้โดยไม่มีข้อบังคับอะไรถึงแม้ว่านักเรียนคนนั้นจะฝึกดนตรีจนเป็นแล้ว ทางโรงเรียนถือว่ามีผู้ให้ความสนใจมากกว่าที่ลาออกไป จึงไม่เป็นปัญหาใดๆ
ด้านผลการเรียนไม่มีการวางกฎเกณฑ์ใดๆทั้งสิ้น ความสนใจและการหาประสบการณ์ทางดนตรีเท่านั้นที่เป็นตัววัด โดยผลการเรียนไม่เป็นผลต่อการเรียนดนตรีของนักเรียนแต่อย่างใด
การรับสมัครรับเฉพาะนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เท่านั้น แต่ถ้ามีนักเรียนชั้นอื่นมาสมัครต้องพิจารณาว่าเป็นดนตรีมาแล้วหรือยัง ถ้าไม่เป็นก็ไม่รับ
พื้นฐานทางครอบครัวไม่เป็นอุปสรรคในการเรียนดนตรีของนักเรียน แต่ผู้ปกครองต้องรับรู้ในการที่นักเรียนมีกิจกรรมที่ต้องทำ ทางโรงเรียนจะขออนุญาตผู้ปกครองทุกครั้งที่นักเรียนไปทำกิจกรรม
ด้านความรับผิดชอบในการซ้อมทางโรงเรียนไม่ได้ให้ความสนใจในเรื่องนี้ แต่เวลาซ้อมก็คือเวลาซ้อม เวลาอื่นที่นอกเหนือจากการซ้อมดนตรีนักเรียนสามารถทำกิจกรรมอื่นได้ตามความพอใจ เช่น การเรียนพิเศษ หรือการเล่นกีฬา เป็นต้น
โรงเรียนที่ 7 การคัดเลือกนักเรียนให้เล่นเครื่องดนตรีต้องพิจารณาที่รูปปากเป็นสำคัญทั้งนี้เพราะมีความเหมาะสมในหลายๆประการ ก่อนที่นักเรียนจะเข้าประจำเครื่องดนตรีต้องฝึกการใช้ลมให้ถูกหลักวิธี ซึ่งใช้เวลาอย่างน้อย 3 เดือน เพื่อให้ใช้ลมได้อย่างถูกต้องโดยไม่ใช้ปากเป่า เน้นความแข็งแรงไปในตัว หลังจากนั้นจึงใช้ปากเป่า การใช้ปากเป่ากับเครื่องดนตรีจะให้นักเรียนได้ทดลองตั้งแต่ปากเป่าทรัมเป็ต ฮอร์น จนกระทั่งเครื่องลมไม้ ถ้ามีปัญหาในจุดใดก็สามารถที่จะเปลี่ยนได้ เพื่อให้ตรงกับความต้องการและความเหมาะสมในด้านสรีระกับเครื่องดนตรีที่จะใช้ฝึกซ้อม
กระบวนการคัดเลือก
1. ระยะเวลาการรับสมัคร คือภายใน 1 เดือนแรกที่เปิดภาคเรียน โดยใช้เกณฑ์การสมัครเข้าร่วมกิจกรรมเป็นตัวกำหนด และส่วนใหญ่จะเสร็จสิ้นภายใน 2 สัปดาห์แรก
2. การทดสอบทักษะ จะทดสอบในขณะที่นักเรียนฝึกเรื่องระเบียบวินัย จะฝึกการฟังจังหวะไปพร้อมๆกัน เช่นการปรบมือ ความเร็ว ช้า ความเข้าใจในเสียงสูง ต่ำ ความเข้าใจในบันไดเสียงเบื้องต้น จะสังเกตดูว่านักเรียนทำได้หรือไม่
3. เกณฑ์ทุกอย่างจะใช้เกณฑ์ทั่วๆไปที่นิยมกันในการคัดเลือก และที่เน้นมากคือเรื่องของเจตคติที่มีต่อดนตรี
4. เกณฑ์การเรียนต้องไม่ต่ำกว่า 2.5 แต่ถ้ามีนักเรียนที่อยากอยู่จริงๆต้องทำเกณฑ์ให้ได้โดยพิจารณาในการสอบปลายภาคของภาคเรียนที่ 1 ถ้าต่ำกว่า 2.5 ถึงแม้จะเล่นดนตรีได้อย่างดีแล้วก็ต้องออกจากวง โดยคิดจากคะแนนเฉลี่ยในภาคเรียนถัดไป เพราะปัญหาที่จะตามมาคือ ความไม่เข้าใจของผู้ปกครอง และครูที่ปรึกษาที่มักจะกล่าวโทษว่าเรียนดนตรีแล้วทำให้การเรียนตกต่ำ
5. ระยะเวลาที่ศึกษาในโรงเรียนมีผลต่อวงโยธวาทิตอย่างมาก ส่วนใหญ่นักเรียนที่รับสมัครเป็นนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 บางครั้งมีนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 มาสมัครจะรับไว้ แต่ต้องมีการทดสอบฝีมือในการคัดเลือก เท่าที่พบมีนักเรียน 2 กลุ่ม คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ซึ่งเป็นนักเรียนที่มาจากโรงเรียนอื่นกับนักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 แล้วเรียนต่อโรงเรียนเดิม นักเรียนเก่าจะได้เปรียบมากกว่า สามารถผ่านเกณฑ์การคัดเลือกด้วยดี นอกจากนั้นยังเข้ากับชุดเก่าได้และรู้ถึงขนบธรรมเนียมประเพณีของโรงเรียนเป็นอย่างดี ดังนั้นถ้าไม่จำเป็นจะไม่รับนักเรียนที่มาจากโรงเรียนอื่น
6. พื้นฐานทางครอบครัวถือเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการพิจารณา ถ้านักเรียนขาดแคลนด้านทุนทรัพย์โรงเรียนก็จะหาทางแก้ไขให้ ถ้าทางบ้านมีพอที่โรงเรียนจะพึ่งได้ในบางโอกาสก็เป็นการดีที่จะช่วยสนับสนุนวงโยธวาทิตของโรงเรียน ทัศนคติของผู้ปกครองเป็นเรื่องสำคัญ ถ้ามองเรื่องดนตรีเป็นที่ไม่ถูกต้อง ถึงจะรวยหรือจนขนาดไหนทางโรงเรียนคงจะรับไม่ได้ แต่ถ้ามองดนตรีเป็นการสร้างสรรค์ ดนตรีเป็นส่วนเสริมไม่ให้นักเรียนไปมั่วสุมทางอื่น ถ้าผู้ปกครองเข้าใจในส่วนนี้ การให้การสนับสนุนจากผู้ปกครองจะเป็นไปได้ด้วยดี

โรงเรียนที่ 8 กระบวนการคัดเลือกดูที่บุคลิกลักษณะของนักเรียน หลังจากให้นักเรียนเลือกเครื่องดนตรีที่ชอบ 3 ชิ้น โดยให้เลือกก่อนว่าอยากเล่นเครื่องดนตรีอะไร ครูผู้สอนจะเก็บสิ่งที่นักเรียนเลือกเอาไว้ จากนั้นครูผู้สอนต้องคอยสังเกตบุคลิกลักษณะว่าเหมาะกับเครื่องดนตรีชิ้นนั้นหรือไม่ โดยวิธีการเรียกมาซักถามบ้าง หรือใช้การสังเกตไม่ว่าจะเป็นรูปปาก ฟัน ถ้าไม่ผ่านการพิจารณาเครื่องดนตรีในอันดับที่ 1 ก็จะดูในอันดับที่ 2 หรือ 3 ถ้าไม่ผ่านทั้ง 3 ชิ้นที่เลือกไว้ ก็ให้ไปฝึกเครื่องประกอบจังหวะแทน นอกจากนั้นจะมีนักเรียนที่ต้องออกเพราะไม่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกที่สำคัญ คือ ตัวเล็กมากเกินไป
การทดสอบโสตประสาทไม่มีการทดสอบ เพราะสิ่งต่างๆนักเรียนจะสามารถเรียนรู้ได้เมื่อเข้ามาอยู่ในกระบวนการฝึกซ้อมวงโยธวาทิตแล้ว
การสัมภาษณ์ท่วงทีวาจา พิจารณาที่ สายตา บุคลิกภาพ การอยู่ร่วมกัน ความกระตือรือร้นมากน้อยเพียงใด ส่อแววขนาดไหน ความรักในการฝึกซ้อม และการมาซ้อมอย่างสม่ำเสมอหรือไม่
สุขภาพอนามัยต้องมีการตรวจสอบ เพราะนักเรียนมักมีปัญหาเรื่อง โรคหืด หอบ แต่ถ้ามีปัญหานักเรียนเหล่านี้จะไม่ให้ฝึกเครื่องเป่าโดยให้ฝึกเครื่องประกอบจังหวะแทน เพราะต้องป้องกันไว้แต่แรกเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมา การพิจารณาไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวมากนักจะพิจารณาเฉพาะบุคคลที่เกิดปัญหาเท่านั้น
พื้นฐานความรู้ทางดนตรีจะไม่พิจารณา นักเรียนทุกคนต้องเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด แต่ถ้าใครมีพื้นความรู้มาก่อนก็เป็นประโยชน์ต่อนักเรียนเอง
การรับสมัครรับเฉพาะนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ระดับเดียวเท่านั้น เพราะมีช่วงที่จะอยู่ในโรงเรียนอย่างน้อย 3 ปี เป็นอย่างต่ำ แต่ถ้ารับนักเรียนระดับอื่นเข้ามาจะเกิดปัญหาคือระบบการปกครอง
ผลการเรียนโดยทั่วไปต้องไม่ต่ำกว่า 1.5 เมื่อเข้ามาเรียนดนตรีแล้วนำระดับผลการเรียน 2 ภาคเรียนมาเปรียบเทียบกัน ถ้าลดลงจะต้องหาวิธีต่างๆที่จะทำให้นักเรียนมีผลการเรียนดีขึ้น โดยให้เรียนพิเศษเพิ่มเติม หรือเร่งให้ทำงานให้มากขึ้น การตั้งเกณฑ์เพื่อทราบความเปลี่ยนแปลงทางการเรียนของนักเรียน และในด้านสติปัญญาแล้วนักเรียนที่เรียนดีจะมีพื้นฐานความรับผิดชอบสูง ส่วนนักเรียนที่เรียนไม่ดีไม่ใช่ว่าจะเล่นดนตรีไม่ดี แต่ความรับผิดชอบยังน้อยอยู่ในบางเรื่อง จึงต้องตั้งเป็นเงื่อนไขไว้ ถ้าไม่มีการพัฒนาตนเองก็เข้ามาอยู่จุดนี้ไม่ได้ จึงต้องมีเงื่อนไขเรื่องผลการเรียนเข้ามามีส่วนในการคัดเลือก การเข้ามาเรียนโดยวิธีง่ายๆ นักเรียนมักไม่เห็นคุณค่า
ผู้ปกครองจะเข้าใจในเรื่องของวงโยธวาทิตได้ดี เมื่อครูผู้สอนให้ข้อมูลของบุตรหลานเพื่อทราบในเรื่องต่างๆ และหาทางสนับสนุนส่งเสริม
การสอนเสริมจะจัดให้นักเรียนได้เรียน ในจุดนี้ทางฝ่ายดนตรีเป็นผู้จัด และบุคลากรในโรงเรียนให้การสนับสนุนในเรื่องนี้ด้วยดี นอกจากนั้นการที่นักเรียนทำกิจกรรมให้กับโรงเรียน โรงเรียนก็มีสิ่งตอบแทนให้นักเรียน เช่น ให้ทุนการศึกษา หรือสิ่งอื่นๆที่ทางโรงเรียนสามารถจะให้ได้ เพื่อตอบแทนในความเสียสละของนักเรียน
เกี่ยวกับพื้นฐานทางครอบครัวไม่มีปัญหาเพราะนักเรียนกับผู้ปกครอง ได้ทำความเข้าใจกันก่อนที่จะเข้ามาอยู่ในวงโยธวาทิต นอกจากบางรายตอนเข้ามาใหม่ๆไม่มีปัญหา แต่พอฝึกไปได้สักระยะหนึ่งซึ่งมีพัฒนาการฝึกที่ดีขึ้นเรื่อยๆ คือ ส่อแววในความสามารถ แต่เกิดปัญหาทางด้านครอบครัวบางครั้งก็ต้องให้พักการฝึกซ้อม พื้นฐานทางครอบครัวมีส่วนสนับสนุนให้วงโยธวาทิตของโรงเรียนประสบความสำเร็จด้วยทางหนึ่ง
ปัญหาที่พักอาศัยไกลจากโรงเรียนเป็นอุปสรรคต่อการเดินทางของนักเรียน ในบางครั้งต้องการฝึกซ้อมเพื่อเก็บรายละเอียดในวันหยุดแต่ทำไม่ได้ เพราะนักเรียนต้องกลับบ้านซึ่งกระจายอยู่ในหลายจังหวัด แต่ถ้ามีการฝึกซ้อมในระหว่างปิดภาคเรียนจะต้องมีหนังสือขอความร่วมมือกับผู้ปกครอง ซึ่งแต่ละครั้งได้รับความร่วมมือด้วยดี
เรื่องสุขภาพอนามัยของนักเรียน จะดูโรคประจำตัวของนักเรียนเท่านั้น ส่วนเรื่องความแข็งแรงของร่างกาย สามารถพัฒนาได้ในขณะฝึกซ้อมโดยจะพัฒนาตนเองไปพร้อมๆกัน
การเตรียมความพร้อมเรื่องนักดนตรี ต้องเตรียมว่าในปีต่อไปเครื่องดนตรีชิ้นใดที่ขาดผู้ฝึกมาก เพื่อเตรียมความพร้อมไม่ให้เกิดผลกระทบกระเทือน และเป็นการเตรียมการรับนักเรียนใหม่ให้ตรงกับเครื่องดนตรีที่ขาดคนฝึกซ้อม
โรงเรียนที่ 9 เริ่มด้วยการสอบสัมภาษณ์ โดยการสอบถามเกี่ยวกับประวัติส่วนตัวของนักเรียน เช่น สถานที่พักอาศัย อาชีพของผู้ปกครอง และเรื่องอื่นๆที่เป็นข้อมูลเบื้องต้น ด้านสรีระจะดูรูปร่างลักษณะที่เหมาะสมกับเครื่องดนตรีแต่ละชนิด แล้วแจ้งให้นักเรียนทราบว่าเหมาะกับเครื่องดนตรีชนิดใด ทั้งนี้ครูผู้สอนต้องให้ข้อมูลและซักถามความสนใจในเครื่องดนตรีที่นักเรียนจะฝึกด้วย โดยให้โอกาสนักเรียนได้เลือกเอง ถ้าตรงกับบุคลิกลักษณะก็ให้เล่นเครื่องดนตรีชิ้นนั้นได้แต่ถ้านักเรียนเลือกไม่ตรงกับบุคลิกลักษณะของตนเอง ครูผู้สอนควรให้เหตุผลเพื่อให้นักเรียนได้เปลี่ยนเครื่องดนตรีตามที่ครูผู้สอนเสนอแนะ การดูลักษณะทางด้านร่างกายของนักเรียนต้องดูในหลายๆด้านประกอบกัน เช่น ช่วงแขน ความสั้นยาวของนิ้ว ฟัน ริมฝีปาก คาง และส่วนอื่นๆที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาให้ประจำเครื่องดนตรี ลักษณะทางสรีระเป็นส่วนช่วยให้นักเรียนเหล่านั้นประสบความสำเร็จในการเล่นดนตรีได้
กระบวนการคัดเลือก ในเบื้องต้นจะไม่ทดสอบความสามารถทางดนตรีและไม่จำกัดจำนวน แต่ให้นักเรียนทุกคนที่สมัครได้เรียนรู้ในทฤษฎีดนตรีสากลก่อน ใช้ระยะเวลา 2 - 3 เดือน เพื่อศึกษานักเรียนในช่วงนี้ ช่วงการเรียนทฤษฎีจะมีนักเรียนประมาณ 80 คน แต่มีเครื่องดนตรีเพียง 40 ชิ้น ซึ่งไม่เพียงพอกับความต้องการของนักเรียน ครูผู้สอนจะดูความอดทนของนักเรียน ขั้นตอนนี้จะมีนักเรียนจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีความอดทนและลาออกไป นักเรียนที่เหลือจะทดสอบจนกระทั่งผ่านเกณฑ์มาตรฐาน จึงเริ่มให้จับเครื่องดนตรี ปีหนึ่งๆนักเรียนที่ลาออกหลังจากสมัครมีจำนวนไม่แน่นอนบางปีลาออกมากบางปีลาออกน้อยทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสนใจของนักเรียน
เจตคติที่มีต่อการเล่นดนตรี วิธีการทดสอบคือ การกำหนดตารางฝึกซ้อมให้นักเรียนได้ปฏิบัติโดยระบุวันเวลาสถานที่ นักเรียนที่มีความสนใจและมีความรักทางด้านดนตรีบางครั้งจะมาก่อนเวลานัดและมีความรับผิดชอบสูง ความรักดนตรีจะทำให้เกิดความขยันที่จะฝึกซ้อม เรื่องของความรักทางดนตรีจะมีหรือหรือไม่ สังเกตได้จากการที่สัมภาษณ์เบื้องต้น
ความร่วมมือของผู้ปกครอง ได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ส่วนใหญ่ผู้ปกครองจะมารับนักเรียนหลังเลิกการฝึกซ้อมทุกวัน มีการพูดคุยปรึกษาหารืออยู่เป็นประจำ สำหรับเวลาในการฝึก ผู้ปกครองจะรับทราบในเบื้องต้นที่โรงเรียนมีหนังสือแจ้งให้ทราบ ว่านักเรียนต้องฝึกซ้อมเวลาใด
ภูมิลำเนาของนักเรียนอยู่ที่ข้อตกลง ต้องสอบถามความสะดวกเรื่องการกลับบ้านของนักเรียน หรือความสามารถที่ผู้ปกครองจะมารับได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ก็ไม่รับซึ่งเป็นข้อตกลง แต่ถ้าอุทิศเวลาในการฝึกซ้อมได้ก็จะรับไว้ ทั้งนี้เพราะนักเรียนวงโยธวาทิตนั้นจะต้องมีใจรักและเสียสละเวลาอย่างมากให้กับการฝึกซ้อม
การแก้ปัญหาเมื่อมีนักเรียนมาขออนุญาตไปเรียนพิเศษจะต้องตกลงก่อนว่าเวลาที่จะฝึกซ้อมดนตรี ซึ่งใช้เวลาวันละ 1 ชั่วโมง คือเวลา 17.00 - 18.00 น. นักเรียนจะต้องเลี่ยงเวลาไม่ให้ตรงกับเวลาที่ฝึกซ้อมดนตรี จะทำให้ไม่เกิดปัญหาตามมา
ด้านผลการเรียน นักเรียนที่ฝึกวงโยธวาทิตต้องได้ระดับคะแนนไม่ต่ำกว่า 1.7 - 1.8 ในเรื่องของผลการเรียนบางครั้งมีส่วนในการเล่นดนตรี แต่ก็ไม่เสมอไป บางคนเรียนในห้องเรียนไม่ดีแต่เล่นดนตรีดี แต่บางคนเรียนดีกลับเล่นดนตรีไม่ดี ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นเรื่องแน่นอนตายตัวไม่ได้ และไม่มีข้อสรุปว่าสิ่งใดคือความถูกต้อง สำหรับเกณฑ์มาตรฐานที่ตั้งไว้มีส่วนช่วยได้มาก เพราะถ้าเกิดเรียนไม่ดีแล้วมาเล่นดนตรี นักเรียนจะต้องรับผิดชอบในเรื่องการเรียนไม่ให้มีระดับผลการเรียนลดลงอย่างเด็ดขาด
นักเรียนที่มาสมัครทีหลังซึ่งเป็นนักเรียนในระดับชั้นอื่นๆทางวงจะรับเข้าฝึกซ้อมแต่ต้องทำความเข้าใจกับนักเรียนว่า ประสบการณ์ในการอยู่ร่วมกันจะมีน้อย เพราะมาอยู่ไม่กี่ปีก็จบการศึกษา ความรู้ที่ได้รับจะได้ไม่มาก ถ้าเริ่มต้นตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 นักเรียนจะได้ฝึกฝนทางดนตรีถึง 6 ปี ถ้ามาอยู่ทีหลังความรู้ที่ได้รับก็ลดน้อยลง ส่วนนักเรียนเก่าของโรงเรียนเมื่อเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จะได้รับสิทธิพิเศษในการเข้าเรียนต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ได้ทันที และทุกคน
โรคประจำตัวมีส่วนสำคัญในการพิจารณา โดยเฉพาะโรคหืด หอบ นักเรียนกลุ่มนี้จะสร้างปัญหาให้กับตนเองและหมู่คณะ บางทีถ้ามีใจรักจริงก็จะไม่ตัดสิทธิ แต่จะติดตามสอบถามอยู่เสมอว่าถ้าฝึกซ้อมมาถึงในจุดหนึ่ง ถ้ามีอาการก็ให้บอกเพื่อจะได้หยุดการฝึกซ้อม เพราะเกรงว่าอาการจะกำเริบยิ่งขึ้น การให้พักเพื่อไม่ให้โหมฝึกซ้อมมากจนเกินไป ครูผู้สอนบางครั้งต้องตั้งเกณฑ์ให้ฝึกซ้อมระยะเวลาอันสั้น เพื่อความปลอดภัยของนักเรียน โดยให้ฝึกซ้อมประมาณวันละไม่เกิน 15 นาที สำหรับนักเรียนที่มีปัญหาด้านสุขภาพ
ความรู้พื้นฐานทางดนตรีจะไม่ทดสอบทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ เพราะส่วนใหญ่มีพื้นความรู้มาเท่าๆกันจากชั้นประถมศึกษา คือ เล่นเมโลเดียน หรือไม่ก็ตีกลองได้เท่านั้น นักเรียนต้องเริ่มต้นใหม่ทั้งหมดทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ
การได้เล่นเครื่องดนตรีที่นักเรียนมีความสนใจมักประสบความสำเร็จได้ด้วยดี เพราะว่านักเรียนมีความต้องการอยู่แล้ว ถ้าเข้ามาแล้วไม่สนใจอะไรอยู่ไม่นานก็ลาออกไป
การทดสอบความสมบูรณ์ของร่างกาย ให้นักเรียนปฏิบัติในเรื่องของการใช้ลมหายใจ และวิ่งรอบสนาม 1 รอบ เพื่อทดสอบความอดทน การเรียนดนตรีต้องใช้วิธีการทางพลศึกษาเข้ามาช่วย เพราะการบรรเลงต้องมีพละกำลัง ถ้านักเรียนเป็นคนที่มีร่างกายอ่อนแอขี้โรค มักจะมาอยู่ในส่วนนี้ไม่ได้ ถ้าเข้ามาได้ก็จะไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร การฝึกวงโยธวาทิตต้องใช้หลายๆสิ่งหลายๆอย่างประกอบกัน ความสำเร็จของวงโยธวาทิตไม่ใช่อยู่ที่การบรรเลงเพลงได้อย่างเดียว ต้องมีส่วนอื่นๆมาประกอบความสมบูรณ์จึงจะเกิดขึ้นได้
โรงเรียนที่ 10 นักเรียนที่ไม่เป็นดนตรีมาก่อนจะรับไว้ แม้กระทั่งนักเรียนที่ไม่เคยรู้มาก่อนเลยในเรื่องเครื่องดนตรีและตัวโน้ต การคัดเลือกจะดูลักษณะโครงร่างของร่างกาย ดูช่วงแขน ริมฝีปาก โรคประจำตัว (ถ้ามี) ส่วนใหญ่จะแนะนำให้ไปรักษา ถ้าครูผู้สอนไม่ได้ถามในเรื่องโรคประจำตัวแล้ว บางครั้งถ้ามาเล่นดนตรีและสามารถเล่นได้ดีมากๆ ภายหลังจึงมาบอกว่าหมอให้หยุดเล่น ครูผู้สอนจะมีความเสียดายเป็นเรื่องธรรมดา และที่สำคัญคือความสูญเปล่าทางการศึกษา และเสียเวลาโดยใช่เหตุ แต่บางคนอยากเล่นแต่มีโรคประจำตัว คือโรคลมชัก ซึ่งหมอลงความเห็นแล้วว่าไม่สมควร เพราะแม้กระทั่งลงสระว่ายน้ำยังลงไม่ได้ ถ้าลงสระว่ายน้ำไม่ได้แล้วมาเล่นดนตรี ซึ่งต้องใช้ทั้งลมต้องใช้ทั้งพละกำลัง และเวลาฝึกซ้อมต้องฝึกอย่างหนัก หากขณะกำลังฝึกเกิดชักขึ้นมาจะเกิดอันตรายต่อตัวนักเรียนเอง ทั้งนี้นักเรียนต้องการเล่นดนตรีมากและได้รับการรับรองจากแพทย์แล้ว จึงต้องให้ผู้ปกครองให้คำยินยอมอีกครั้งหนึ่งซึ่งผู้ปกครองตกลงยินยอม ทางวงได้ให้ทดลองฝึกซ้อม 1 เดือน ภายใน 1 เดือนนักเรียนจะฝึกซ้อมอย่างบุคคลปกติทั่วไป แต่ก็ไม่เป็นอะไร ในระยะเวลาครึ่งปีนักเรียนได้กลับไปหาแพทย์อีกครั้ง สรุป คือ อาการหายเป็นปกติ จึงได้แง่คิดที่ว่าถ้าไม่เปิดโอกาสให้นักเรียนมีปัญหาด้านสุขภาพร่างกายที่กล่าวแล้วคงเป็นการทำลายอะไรหลายๆอย่าง โดยเฉพาะการทำลายด้านจิตใจเป็นอย่างยิ่ง การรักษาทางกายย่อมมีการรักษาได้ แต่ทางใจแล้วไม่มีทางรักษาให้หายได้
บางครั้งมีนักเรียนในระดับชั้นอื่นมาสมัครที่จะเรียนโดยอ้างสาเหตุต่างๆที่ไม่สามารถสมัครได้ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 แต่ไม่รับเพราะเหลือเวลาในการที่จะอยู่ร่วมวงได้ไม่นานก็จบการศึกษาออกไป เพราะการอยู่ร่วมวงเต็มที่คือชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เท่านั้น ส่วนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายต้องเตรียมอนาคตในการศึกษาต่อ ดังนั้นการให้เวลาในการฝึกซ้อมดนตรีจึงมีไม่มากนัก
การรับสมัครรับเฉพาะนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และรับจำนวนจำกัด ส่วนใหญ่เพียงเพื่อเสริมในกรณีที่จำนวนนักดนตรีไม่ครบเท่านั้น
การเดินทางหรือที่พักอาศัยต้องทำการตกลงก่อนว่ามีปัญหาหรืออุปสรรคหรือไม่ โดยหลังจากผ่านขั้นตอนการคัดเลือกแล้ว ต้องสัมภาษณ์พูดคุยถึงปัญหาการเดินทาง เพราะในใบสมัครได้ให้นักเรียนกรอกข้อมูลอย่างชัดเจนในเบื้องต้นแล้ว เพราะฉะนั้นการเดินทางจึงไม่เป็นปัญหา แม้กระทั่งนักเรียนที่มารถประจำ ต้องแก้ปัญหากันเองระหว่างนักเรียนกับคนขับรถ วิธีการแก้ปัญหาดังกล่าวเพื่อไม่ให้เกิดผลเสียหายต่อการฝึกซ้อมที่ตามมา
การฝึกโยธวาทิตต้องใช้กำลังโดยเฉพาะการฝึกภาคสนาม ต้องทดสอบกำลัง การที่จะให้เล่นไปด้วยและเดินไปด้วยจะสามารถทำได้หรือไม่ โดยจะใช้วิธีให้เดินรอบสนาม 2 รอบ หรือประมาณ 800 เมตร ต้องสังเกตว่ากำลังตกและเหนื่อยไวหรือไม่ ก็จะสามารถทราบถึงความอดทนในตัวนักเรียน ถ้าทำไม่ได้ต้องใช้วิธีการออกกำลัง และที่ดีที่สุดก็คือการให้ว่ายน้ำ และวิ่งเพื่อให้กำลังอยู่ตัว บางครั้งทดสอบด้วยการให้วิดพื้น เป็นต้น
โรงเรียนที่ 11 การพิจารณารับนักเรียนประการแรกจะดูว่าความเป็นอยู่ร่วมกันทำได้หรือไม่ ถ้าอยู่ได้ก็สามารถจะทำกิจกรรมต่อไปได้ เพราะว่านักเรียนบางคนไม่เคยพักค้างที่โรงเรียน การพักค้างเป็นเดือนถ้าไม่สามารถปรับสภาพได้ก็จะลาออกไปซึ่งเป็นส่วนน้อย
การพิจารณาคัดเลือกนักเรียนจะดูในทุกๆส่วนที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับการคัดเลือกนักดนตรี การพิจารณาสรีระทางร่างกาย ประกอบกับความรักในเครื่องดนตรีชิ้นหนึ่งชิ้นใด ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องเปลี่ยนให้ใหม่ เช่น ถ้าเป่าทรัมเป็ตแต่ลักษณะของปากไม่ได้ตามเกณฑ์ก็ต้องให้ไปเล่นเครื่องดนตรีชนิดอื่น หรือไปเล่นเครื่องประกอบจังหวะ ดังนั้นการคัดเลือกจะต้องดูในเรื่องปาก ฟัน ประสาทสัมผัส ซึ่งจุดนี้ในขณะที่นักเรียนเรียนในชั่วโมงไม่สามารถที่จะพิจารณาในสิ่งเหล่านี้ได้ จะกระทำได้ก็ตอนที่นักเรียนมารวมกันจึงสามารถที่จะแยกแยะได้
การทำความเข้าใจในดนตรี ความรักในดนตรี แรกๆนักเรียนจะมีความคิดว่า ทำไมต้องทำอย่างนี้ ทำไมต้องฝึกอย่างนี้ ไม่มีเวลาที่จะเล่นสนุกสนานเลย แต่เมื่อได้เข้ามาร่วมกิจกรรมนี้แล้วนานเข้าจะเกิดความรักและเกิดความเคยชินกับกระบวนการของวงโยธวาทิต ถ้าวันไหนไม่ได้ฝึกซ้อมดนตรีแล้วจะมีความรู้สึกว่าขาดอะไรไปบางอย่าง ทุกคนมีความสุขมากที่ได้ซ้อมดนตรี
การทำความเข้าใจกับผู้ปกครองเกี่ยวกับการฝึกซ้อม ทางโรงเรียนจะมีหนังสือชี้แจงให้ผู้ปกครองได้ทราบโดยตลอด ผู้ปกครองเข้าใจและให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี
คุณสมบัติที่นักเรียนจะมาสมัครวงโยธวาทิต
1. ใบสมัครที่ผู้ปกครองให้ความยินยอม
2. ใบแสดงระดับผลการเรียนของภาคเรียนที่สมัคร เมื่อเข้ามาอยู่ในวงโยธวาทิตแล้วถ้าระดับผลการเรียนลดลงจะให้โอกาสอีก 1 ภาคเรียน ถ้าลดลงอีกแสดงว่านักเรียนคนนั้นไม่สามารถแยกแยะกิจกรรม และการเรียนได้จะต้องออกจากวง นักเรียนที่อยากเล่นดนตรีต้องทำระดับผลการเรียนให้ดีด้วย ให้การเรียนบังคับเพื่อให้รู้จักแบ่งเวลาให้ถูก
นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายให้ดูแลน้องในบางโอกาส หรือในเวลาเร่งด่วน ส่วนใหญ่แล้วจะมอบหมายให้ดูการฝึกซ้อมแยกประเภทเครื่องดนตรี หรือฝึกซ้อมรวมกลุ่มเครื่องดนตรีนักเรียนที่เข้ามาเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เมื่อต้องการสมัครเข้าร่วมกิจกรรมจะต้องเล่นดนตรีเป็นมาก่อน ถ้าไม่เป็นจะไม่รับจะรับเฉพาะรักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เท่านั้น เพราะสามารถใช้งานได้นานกว่า
นักเรียนที่มีโรคประจำตัวไม่ได้จำกัดสิทธิจะให้นักเรียนเหล่านี้ซ้อมตามปกติ แต่ไม่ต้องเข้าค่ายฝึกซ้อม คือ ฝึกซ้อมในเวลาเรียนปกติเท่านั้น
การทดสอบสมรรถภาพทางร่างกาย ไม่มีทดสอบ เพราะสามารถสร้างได้ในขณะที่มาฝึกซ้อมดนตรีแล้ว
4.3 ปัญหาอุปสรรคในการคัดเลือกนักดนตรี
4.3.1 ปัญหาในการรับสมัคร บางโรงเรียนมีนักเรียนหญิงในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย
ดังนั้นนักดนตรีส่วนหนึ่งจึงเป็นนักเรียนหญิงที่เป็นนักดนตรีมาจากโรงเรียนอื่น นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่รับเข้ามาซึ่งกำลังเข้าสู่วัยรุ่น ดังนั้นการปกครองจะยาก มีความอ่อนไหวแต่ใจสู้ ขาดแต่ความอดทน ถ้าได้นักเรียนหญิงตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จะดีมากเพราะได้ฝึกตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งจะได้รับการฝึกในหลายๆด้าน คือฝึกทั้งดนตรี ความเป็นอยู่ นิสัยใจคอ และอื่นๆ
4.3.2 พื้นฐานทางครอบครัวของนักเรียน ไม่เป็นอุปสรรคในการเรียนดนตรี แต่ในบางครั้งสอบถามถึงปัญหาของนักเรียนแบบสุ่มตัวอย่าง ผลสรุปทำให้ทราบว่าทุกคนมีปัญหาเพียงแต่จะมากหรือน้อยเท่านั้น มีกรณีเคยพบครอบครัวหย่าร้างนักเรียนเหล่านี้เมื่อเข้ามาอยู่ในวงจะมีที่ระบายจนคิดว่าปัญหานั้นหมดไป เพราะมีที่พึ่งทางใจที่ได้รับคือการเล่นดนตรี บางกรณีพบว่านักเรียนที่มีปัญหาเหมือนกันแต่ไม่ได้มาอยู่ ณ จุดนี้จะหาทางออกอย่างอื่นที่ชอบ แต่ถ้าไม่พบทางที่ดีก็จะเสียอนาคต
4.3.3 สถานที่พักอาศัย สถานที่พักอาศัยเป็นส่วนสำคัญในการพิจารณา ถ้าเป็นนักเรียนบ้านไกลจะมีปัญหาตามมา คือ ให้เวลากับการฝึกซ้อมได้ไม่มากนัก แต่นักเรียนก็หาวิธีการแก้ไขในจุดนี้คือการเช่าหอพักอยู่รวมกัน นักเรียนหลายคนที่มาฝึกดนตรีจะให้เวลาในการฝึกซ้อม เพราะมีใจรัก มีความชอบ ทุกสิ่งทุกอย่างจะได้รับการแก้ไขทำให้ปัญหาต่างๆหมดไป
4.3.4 การสนับสนุนของผู้ปกครอง แต่เดิมผู้ปกครองมีความเข้าใจดีในการเป็นนักดนตรี ได้ให้การส่งเสริมและสนับสนุนมาตลอด แต่ช่วงหลังกระทบกระเทือนบ้างเกี่ยวกับการเรียน และระบบการสอบคัดเลือกเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย เพราะผู้ปกครองส่วนใหญ่มีความกังวลกลัวว่าบุตรหลานของตนจะสอบไม่ได้ มักให้นักเรียนลาออกจากวงโยธวาทิต
4.3.5 นักเรียนที่เล่นดนตรีเป็นมาจากที่อื่น เมื่อเข้ามาอยู่ในวงโยธวาทิตจะเริ่มต้นใหม่หมดทุกคน ทำให้บางคนที่เป็นมาบ้างแล้วจะไม่สนใจในจุดนี้ และมักจะกล่าวอ้างว่าอ่านโน้ตออกแล้ว ไม่อยากตีกลอง ไม่อยากเคาะจังหวะ ดังนั้นครูผู้สอนต้องทำความเข้าใจให้นักเรียนได้ทราบถึงกระบวนการฝึกซ้อม ที่ต้องฝึกในเรื่องความอดทน และฝึกในหลายๆด้าน
4.3.6 ปัญหาเรื่องโรคประจำตัว โรงเรียนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญและเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณา ได้แจ้งให้ทราบเกี่ยวกับเรื่องของโรคประจำตัวที่มีผลต่อการเล่นดนตรี แต่มีบ้างที่บางคนปกปิด และเข้ามาสมัครภายหลังถึงได้ทราบแต่ก็หายแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพวกโรคหอบ หืด แต่มีไม่มากนักที่พบ สรุป คือ นักเรียนดังกล่าวจะไม่ค่อยพบปัญหาที่ตามมา
4.3.7 ปัญหากับครูประจำวิชา โรงเรียนส่วนใหญ่นักเรียนที่เป็นนักดนตรีมักมีปัญหากับครูผู้สอนในวิชาอื่นๆ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่มีอยู่เกือบทุกโรงเรียน ปัญหาเกิดขึ้น คือ ครูผู้สอนคิดว่านักเรียนวงโยธวาทิตเป็นนักเรียนที่มีอภิสิทธิชน ถ้าแก้ปัญหาตรงจุดนี้ได้ก็จบ วิธีแก้ปัญหาคือใครขอการสนับสนุนวงโยธวาทิตมาต้องให้บริการทั้งหมด ทำกิจกรรมที่มีในโรงเรียนให้ดีเสียก่อนแล้วจึงไปทำกิจกรรมภายนอก ครูผู้สอนดนตรีจะต้องเข้าไปคุยกับครูผู้สอนเหล่านั้นเสมอๆ แล้วปัญหาต่างๆก็จะได้รับฟังในที่สุด แล้วกลับมาเตือนนักเรียนในความปกครองเสียงครหาก็จะหมดไปเอง แต่ต้องคิดอยู่เสมอว่าต้องทำให้นักเรียนมีระเบียบวินัยมากที่สุด เป็นสิ่งที่แก้ปัญหาได้มาก
4.3.8 ปัญหานักเรียนบางคนเป็นแล้วมักอวดเก่ง จะมีอยู่ทุกโรงเรียนเพียงแต่ว่าครูผู้สอนต้องปรามไว้บ้าง ส่วนใหญ่จะให้สิทธิรุ่นพี่ได้สอนน้อง อธิบายให้เห็นว่าน้องยังมีโอกาสที่จะเรียนรู้และแสดงออกอีกหลายปี
4.3.9 ปัญหานักเรียนสมัครจำนวนมาก บางปีมีนักเรียนสมัครจำนวนมาก ในโรงเรียนที่มีครูผู้สอนหลายท่านจะไม่มีปัญหา เพราะสามารถแบ่งหน้าที่กันได้ แต่ถ้ามีครูผู้สอนท่านเดียวจะเกิดปัญหามาก คือ ดูแลนักเรียนไม่ทั่วถึง ทำให้นักเรียนขาดความสนใจ ขาดความอดทน การแก้ปัญหา คือ ให้นักเรียนรุ่นพี่ช่วยในระบบฝึกซ้อมแยกประเภทเครื่องดนตรี และระบบฝึกซ้อมรวมกลุ่มเครื่องดนตรี
4.3.10 ปัญหาการรับนักเรียนไม่ได้ตามครูผู้สอนต้องการ แต่ละปีจะมีเครื่องมือที่ขาดผู้ฝึกเพราะนักเรียนจบการศึกษา เมื่อรับนักเรียนเข้ามาใหม่มักมีลักษณะที่ไม่ตรงกับความต้องการในแต่ละเครื่องดนตรี แต่ก็มีเป็นส่วนน้อยถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ก็ประมาณ 20 % ลักษณะเช่นนี้จะได้รับการแก้ไขทุกปี จนกระทั่งเกือบไม่มีปัญหา โดยการแก้ปัญหาจากข้อมูลเดิม ถ้ามีปัญหาที่ใดจะแก้ตรงจุดนั้นๆให้ลุล่วงเพื่อนำไปใช้ในปีต่อไป
4.3.11 นักเรียนมีความสามารถหลายด้าน นักเรียนบางส่วนที่มีความสามารถหลายด้าน ครูผู้สอนต้องทำความเข้าใจกับนักเรียนว่าควรทำในสิ่งใดสิ่งหนึ่งในระยะเวลาหนึ่ง อย่าทำงานซ้อนงานต้องแบ่งเวลาให้ถูกและการเรียนอย่าให้เสีย นักเรียนต้องเป็นผู้ตัดสินใจในการเลือกที่จะทำกิจกรรม เพราะได้บอกนักเรียนเสมอว่าจะทำอะไรก็ได้ที่ตนเองพอใจ และเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับสถาบัน บางครั้งนักเรียนจะมีเพื่อนคู่คิดในการที่จะปรึกษาหารือกัน และการที่นักเรียนพูดกันจะรู้เรื่องดีกว่าการที่จะพูดกับผู้ใหญ่โดยเฉพาะครูผู้สอน

2 ความคิดเห็น:

  1. ขออนุญาตินะคะ งั้นถ้าเราเป็นเด็กที่ทางโรงเรียนออกโควต้าให้เราไปสมัครเเล้วต้องเอาไปยื่นให้กับเขาใช่ไหมคะ อันนี้ระดับ ม.1 ค่ะ เพราะพอดีสนใจด้านความสามราถพิเศษโยธวาธิตค่ะ เเล้วถ้าเราไปสอบเนี่ยใช้เครื่องดนตรีเมโลเดียนได้ทุก ร.ร.รึเปล่าคะ? พอดีว่าจะลองไปหนองเเขมกับสตรีวิท3ค่ะ เพราะถนัดเเต่เมโลเดียนเลยเล่นได้เพียงเเค่ชนิดเดียวค่ะจะมีผลหรือเป็นไรไหมคะ? ถ้าเพลงที่เล่นเสริมๆได้ก็จะมี ไฟนอลเค้าท์ดาวน์ค่ะ เเล้วก็เพลงพื้นฐานทั่วไปเลยค่ะ

    ตอบลบ
  2. ขออนุญาตตอบแทนครับ
    1.โดยส่วนใหญ่แล้ว คำว่าโควต้าที่ให้กับนักเรียนนั้นมักจะเป็นลักษณะของ การให้ต่อที่โรงเรียนเดิมครับ ไม่ทราบแน่ชัดว่า คุณ จขกท. หมายถึงสิ่งนี้หรือไม่ครับ เพราะโดยทั่วไปแล้ว ถ้าไม่มีการ ทำ MOU กันนั้น จะไม่มีการออกโควต้าให้นักเรียนข้ามโรงเรียนกันนะครับ
    2. เครื่องดนตรี Melodian สามารถใช้สมัครสอบได้ทุกที่ครับ แต่โดยทั่วไปแล้วจะไม่ได้ ทดสอบความสามารถกันเพียงแค่ เครื่องดนตรีที่นักเรียนปฏิบัติเพียงอย่างเดียวครับ อาจจะมีการให้ร้องเพลงเพื่อทดสอบ การฟังเสียง หรืออาจจะมีการสัมภาษณ์อื่นๆ เช่น ถ้านักเรียนเข้ามา แต่วงไม่มีเครื่อง เมโลเดียน จะยังเล่นอยุู่หรือไม่ เป็นต้นครับ
    3. แต่ละโรงเรียนจะมีระบบการรับสมัครนักเรียนที่เป็นโควต้า ต่างกันออกไปครับ ผู้ปกครองต้องศึกษาให้ดีว่าโรงเรียนที่จะนำบุตรหลานไปสมัครเข้านั้น มีโควต้า ให้กับนักเรียนที่เป็นวงดุริยางค์หรือไม่ครับ

    ตอบลบ