วันอังคารที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2554

รูปแบบการจัดวงโยธวาทิต

บทที่ 2

รูปแบบการจัดวงโยธวาทิต

รูปแบบการจัดวงโยธวาทิต
การบรรเลงวงโยธวาทิตถือเป็นการแสดงดนตรีประเภทหนึ่ง ถ้าคำนึงถึงด้านประโยชน์การใช้งานแล้ว วงโยธวาทิตถือว่าเป็นวงดนตรีที่ใช้ประโยชน์ได้มากวงหนึ่ง และสามารถจัดรูปวงได้ทั้งการนั่งบรรเลงและการเดินบรรเลง สำหรับรูปแบบการเดินบรรเลงได้กล่าวไว้ใน การบริหารจัดการ เล่มที่ 2 ส่วนการนั่งบรรเลงนั้นมีจุดประสงค์เพื่อมุ่งการฟังที่ได้อรรถรสอย่างสมบูรณ์ และได้อารมณ์ความรู้สึกคล้อยตามบทเพลงที่บรรเลงอย่างชัดเจน จึงต้องมีการจัดที่นั่งสำหรับผู้บรรเลงให้ถูกต้องตามความสมดุลของเสียง ส่วนอีกรูปแบบหนึ่งคือ วงโยธวาทิตเป็นวงที่เน้นการบรรเลงเพื่อการนำแถวหรือนำขบวน จึงต้องเน้นในการจัดรูปขบวน เพื่อให้ได้เสียงที่ออกมาฟังชัดเจน และต้องเน้นให้เห็นถึงความสง่างามเป็นหลัก
ในเรื่องการจัดที่นั่งสำหรับผู้บรรเลง บางคนอาจคิดว่าข้อนี้ดูไม่มีความสำคัญมากนัก แต่ความจริงนั้นมีผลต่อการบรรเลงมาก แม้ว่าไม่มีกฎเกณฑ์ที่แน่นอนกำหนดไว้ก็ตาม หากใช้ความพินิจพิเคราะห์ด้วยเหตุผลจะพบว่า การจัดวงที่ดีนั้นส่งผลดีแก่การบรรเลงของวงดนตรี และความสัมพันธ์กับผู้อำนวยเพลง โดยที่ดนตรีตะวันตกถือว่า ความกลมกลืนและความสมดุลของเสียงเป็นหลักสำคัญ ฉะนั้นจึงพิถีพิถันในด้านการจัดวง และการเทียบเสียงก่อนอื่นใดทั้งสิ้น
ผู้อำนวยเพลงแต่ละท่านจะกำหนดที่นั่งตามเหตุผลและความเหมาะสมของตน เพื่อเรียกหรือชี้ให้ผู้ปฏิบัติได้ถูกต้องแน่นอน ประกอบด้วยความสัมพันธ์เป็นปึกแผ่นของระดับเสียงต่างๆส่วนมากจะมีการจัดที่ใกล้เคียงกัน เว้นแต่ผู้ประพันธ์เพลงจัดให้ระดับเสียงต่างๆพิสดารออกไป ข้อนี้อาจทำให้ต้องโยกย้ายที่นั่งของนักดนตรีไปตามความเหมาะสมเป็นกรณีพิเศษ โดยปกติการจัดที่นั่งของนักดนตรีพิจารณาจากระดับเสียงของเครื่องดนตรีเป็นหลักในการจัด หรืออาจจัดโดยยึดกลุ่มเครื่องดนตรีเป็นสำคัญ เช่น เครื่องดนตรีชนิดเดียวกันหรือทางในการบรรเลงเหมือนกันให้จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกัน เพื่อผลในการบรรเลงจะได้มีความกลมกลืนของเสียง และเกิดความไพเราะในการฟัง ถ้าจัดแยกกันโดยไม่จัดให้เป็นหมวดหมู่จะทำให้การบรรเลงขาดประสิทธิภาพ และคุณภาพในการบรรเลงก็จะด้อยลงไป (อารีย์ ศุขเกศ, 2530: ไม่ปรากฏเลขหน้า)



การจัดที่นั่งตามระดับเสียงของเครื่องดนตรี

กลุ่มเสียง เครื่องดนตรี

1. เครื่องลมเสียงสูง - Flute, Piccolo, Eb Clarinet, Oboe
2. เครื่องลมทำนอง - Bb ทั้งหมด
3. เครื่องทองเหลืองทำนอง - Cornet, Trumpet (อาจรวม Trombone)
4. กลุ่มระดับเสียงเทเนอร์ - Eb Alto Saxophone, BbTenor Saxophone
- Bassoon, Euphonium
5. กลุ่มระดับเสียงต่ำ - Eb Baritone Saxophone, Bass Trombone
- Eb & BBb Basses
6. กลุ่มเครื่องกระทบ - กลองต่างๆ และเครื่องประกอบจังหวะ
(อาจรวม Horn เข้าอยู่ในกลุ่มนี้ด้วยก็ได้)

บทเพลงธรรมดาที่บรรเลงกันส่วนมากนั้นขอเสนอว่า ควรจัดตามลำดับของระดับเสียงแต่ละกลุ่ม ให้เครื่องลมระดับเสียงสูงอยู่ตรงกลาง ตรงหน้าผู้อำนวยเพลง เครื่องลมทำนอง 1st, 2d, 3rd Clarinet เริ่มจากด้านซ้ายมือของผู้อำนวยเพลงโค้งไปตามลำดับ ต่อด้วย Eb Alto Saxophone, Bb Tenor Saxophone, Eb Baritone Saxophone อยู่สุดด้านขวามือของผู้อำนวยเพลง ถัดจากแถวเครื่องลมก็จะเป็นเครื่องทองเหลือง โดยเริ่มด้วย Cornet, Trumpet จากด้านซ้ายมือ ต่อด้วย Horn และ Bass แถวหลังสุดให้ กลองใหญ่อยู่กลางตรงหน้าผู้อำนวยเพลง ขนาบด้วยกลองเล็ก ฉาบ และเครื่องกระทบอื่นๆ
การจัดในลักษณะนี้เป็นการจัดตามระดับเสียง โดยทำนองเครื่องลมอยู่ด้านซ้าย เสียงต่ำลดหลั่นตามลำดับไปทางด้านขวาจะเป็นเสียงต่ำสุด เครื่องทองเหลืองก็เช่นเดียวกัน Horn และกลองเป็นส่วนที่เชื่อมด้านซ้ายขวาเข้าไว้ด้วยกัน ฉะนั้นจึงจัดไว้ให้อยู่ตรงหน้าผู้อำนวยเพลงเพื่อตรึงจังหวะที่แน่นอน ในกรณีที่วงดนตรีมีขนาดใหญ่ เช่น ปริมาณเครื่องลมมีมาก และมีความกว้างมากเกินไปก็อาจจัดเป็นแถวสองชั้นก็ได้ แต่ต้องระวังมิให้มีความลึกมากเกินไป (อารีย์ ศุขเกศ, 2530: ไม่ปรากฏเลขหน้า)



จากลักษณะการจัดรูปวงดังกล่าว ไม่ได้เป็นกฎเกณฑ์ที่เคร่งครัดนักแต่เป็นแนวทางในการจัดที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้บ้างตามความเหมาะสมตามลักษณะของเสียงประสานตามประเภทเครื่องดนตรี แต่ถ้าผู้ควบคุมวงมีเหตุผลอื่นก็สามารถดัดแปลงรูปแบบการจัดได้ แต่ขอให้ข้อสังเกตว่าควรต้องคำนึงถึงรูปแบบที่เป็นหลักสากลให้มากที่สุดแล้วผสมรูปแบบที่ผู้ควบคุมวงต้องการให้เป็นไปมิใช่จัดตามอำเภอใจโดยไม่คำนึงถึงรูปแบบเสียเลย

ตัวอย่างผังแสดงการจัดวงนั่งบรรเลง (Concert Band)














คำอธิบายกลุ่มเครื่องประกอบผังการนั่งบรรเลง
1. กลุ่มเครื่องลมทองเหลือง 1 ทรัมเป็ต หรือ คอร์เน็ต 6. กลุ่มเครื่องลมไม้ 1 คลาริเน็ต
2. กลุ่มเครื่องลมทองเหลือง 2 ทรอมโบน 7. กลุ่มเครื่องลมไม้ 2 ฟลู้ต พิคโคโล
3. กลุ่มเครื่องลมทองเหลือง 3 ฮอร์น 8. กลุ่มเครื่องลมไม้ 3 แซกโซโฟน
4. กลุ่มเครื่องลมทองเหลือง 4 ยูโฟเนียม
5. กลุ่มเครื่องลมทองเหลือง 5 เบส

สิ่งที่ควรคำนึงถึงในการนั่งบรรเลง
อารีย์ ศุขเกศ (2530: ไม่ปรากฏเลขหน้า) กล่าวในการอบรมสัมมนา “เทคนิคการควบคุมวงดนตรี” ณ สถาบันราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา) พอสรุปได้ว่า
1. วาทยากรต้องอยู่ศูนย์กลางของผู้บรรเลง เพื่อให้คิวกับผู้บรรเลงในขณะบรรเลงในแต่ละเครื่องมือ และให้ผู้บรรเลงได้เห็นสัญญาณต่างๆอย่างชัดเจนในขณะที่วาทยากรปฏิบัติขณะบรรเลง
2. ควรให้ลำโพงของเครื่องดนตรีหันเข้าหาผู้ฟังเสมอเพื่อความชัดเจนในการฟัง ความกลมกลืนของเสียง และได้อรรถรสในการฟังยิ่งขึ้น
3. ระดับเสียง ควรอยู่ในขีดความสามารถของผู้บรรเลงแต่ละระดับ ควรลดหรือเพิ่มระดับเสียงตามความสามารถของผู้บรรเลงที่มีอยู่ ไม่ควรให้ผู้บรรเลงๆตามความพึงพอใจของตนเองอย่างเด็ดขาด เพราะบางครั้งผู้บรรเลงไม่สามารถที่ปฏิบัติได้ เช่น เสียงสูงหรือต่ำเกินไป จึงจำเป็นต้องปรับปรุงในด้านระดับเสียง เพื่อความพอเหมาะในความสามารถของผู้บรรเลง
4. ความสมดุลของเสียง เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะบทเพลงจะมีความไพเราะเพียงใดหรือไม่ขึ้นอยู่กับความสมดุลของเสียง ซึ่งกำหนดโดยความพอเหมาะของเครื่องดนตรีเป็นหลักสำคัญ เครื่องดนตรีแต่ละชนิดแต่ละตระกูลต้องมีความสมดุลกันในด้านจำนวน และเครื่องดนตรีแต่ละประเภทต้องไม่มากไม่น้อยกว่ากัน คือ ต้องมีจำนวนเท่าๆกันหรือมีปริมาณใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะเครื่องลมไม้ และเครื่องทองเหลือง ต้องมีสัดส่วนที่เท่ากัน เช่น ในวงขนาด 45 คน ก็ควรมีเครื่องลมไม้ประมาณ 20 ชิ้น เครื่องทองเหลืองประมาณ 20 ชิ้น นอกนั้นเป็นเครื่องกระทบ แต่ก็ไม่ควรมีจำนวนมากเกินไปเพราะในบางครั้งทำให้เพลงขาดความไพเราะเช่นเดียวกัน (แต่ในปัจจุบันมักนิยมใช้กลองใหญ่ 4 -5 ใบ เพื่อความครึกครื้นในบทบรรเลง) ความไม่สมดุลของเสียงจะเกิดขึ้นในเมื่อผู้จัดรูปวงไม่คำนึงถึงสิ่งที่กล่าวมาแล้วข้างต้น นอกจากนั้นการบรรเลงแต่ละแนวก็ควรคำนึงถึงอย่างมาก เพราะจะทำให้การบรรเลงขาดความไพเราะได้เช่นเดียวกัน เช่น ทำนองแนวที่ 1 ต้องดังกว่าแนวทำนองที่ 2 หรือแนวทำนองที่ 2 ต้องดังกว่าแนวทำนองที่ 3 ตามลำดับ ไม่ใช่ให้แนวทำนองที่ 2, 3 ดังกลบเสียงแนวทำนองที่ 1 ซึ่งถือว่าเป็นแนวทำนองหลัก สิ่งนี้ก็จะทำให้ขาดความสมดุลของเสียงเช่นเดียวกัน
5. เทคนิค ลีลา จังหวะลิ้นลม เป็นสิ่งที่นักดนตรีทุกคนต้องยึดถือตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด โดยไม่ละเลยที่จะปฏิบัติให้ถูกต้อง ซึ่งเป็นผลทำให้อรรถรสในการฟังผิดไป เช่น บางประโยคผู้ประพันธ์ต้องการให้บรรเลงอย่างอ่อนหวาน โดยกำกับตัวโน้ตด้วยเครื่องหมาย
Slur แต่ถ้าผู้บรรเลงมองข้ามและไม่ปฏิบัติตาม โดยบรรเลงแบบตัวโน้ตธรรมดา ก็จะมีผลทำให้เสียงที่ออกมาไม่ได้ตามที่ผู้ประพันธ์ต้องการ และจะทำให้ความหมายของเพลงผิดเพี้ยนไปได้ หรือในบางครั้งต้องการให้ เสียงตัดสั้นด้วยการประจุดกำกับตัวโน้ต แต่ผู้บรรเลงไม่ปฏิบัติตามก็จะทำให้ความหมายของเพลงเปลี่ยนไปเช่นเดียวกัน ดังนั้นผู้บรรเลงต้องมีความละเอียดอ่อน และรอบคอบในการปฏิบัติไม่ละเลยในสิ่ง ที่กำหนดมาให้ในบทเพลง และต้องถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดมิใช่เพียงอ่านตัวโน้ตออกก็บรรเลงเพลงได้ จึงต้องคำนึงถึงเครื่องหมายต่างๆที่กำหนดมาในบทเพลงด้วย เพื่อความสมบูรณ์ของเพลงที่บรรเลง และการได้อรรถรสของผู้ฟังที่ผู้บรรเลงได้บรรเลงออกมาอย่างถูกต้องตามความต้องการของผู้ประพันธ์เพลง ที่ได้สร้างจินตนาการในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้รสทางดนตรีที่แตกต่างกันออกไป ถ้าปฏิบัติโดยไม้คำนึงถึงสิ่งดังกล่าว และปฏิบัติเทคนิควิธีลีลาไม่ถูกต้อง เพลงที่บรรเลงก็จะไม่สมบูรณ์ในรายละเอียดต่างๆที่กำหนดให้มา
6. ความพร้อมเพรียงของเสียง นอกจากเทคนิคต่างๆแล้ว ความสมดุลของเสียง หรือระดับเสียงที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ยังไม่เป็นการเพียงพอที่จะทำให้บทเพลงมีความไพเราะได้ ถึงแม้ว่าจะปฏิบัติได้ถูกต้องตามเครื่องหมายต่างๆ มีความสมดุลของเครื่องดนตรีตามที่กำหนด และระดับเสียงพอเหมาะกับวุฒิภาวะของผู้บรรเลงแล้ว สิ่งที่ขาดมิได้อย่างยิ่งในการบรรเลงก็คือความพร้อมเพรียงของเสียง ในวงดนตรีวงหนึ่งๆ มิได้มีผู้บรรเลงเพียงคนเดียวเท่านั้นแต่จะมีสมาชิกในวงหลายคน การจะบรรเลงไปในทำนองเดียวกันนั้นต้องอาศัยความพร้อมเพรียงโดยมีวาทยากรเป็นผู้กำหนดและให้คิวกับผู้บรรเลง ดังนั้นผู้บรรเลงต้องปฏิบัติตามที่วาทยากรสั่ง การบรรเลงจะดำเนินไปตามความถูกต้องอย่างพร้อมเพรียงกันตามจังหวะและทำนองที่ถูกต้อง เสียงที่ออกมาจะไม่เหลื่อมหรือลักลั่นกัน โดยเฉพาะการบรรเลงรูปคอร์ด ซึ่งต้องบรรเลงเสียงต่างๆพร้อมกันในเวลาเดียวกัน ถ้าเกิดความเหลื่อมกันในเสียงใดเสียงหนึ่งจะทำให้ฟังแล้วเกิดขัดความรู้สึกในการฟังขึ้นมาทันที การบรรเลงในแบบนี้ต้องปฏิบัติให้พร้อมเพรียงกันเหมือนกับใช้ผู้บรรเลงเพียงคนเดียว แม้เป็นส่วนที่ไม่เท่ากันเพียงเล็กน้อยแต่ก็ทำให้เกิดผลเสียอย่างมากมายในการฟัง ฉะนั้นผู้บรรเลงต้องตระหนักในข้อนี้อย่างยิ่ง จึงอาจกล่าวได้ว่า ผู้ควบคุมการบรรเลงหรือวาทยากรเป็นผู้ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะคอยควบคุมผู้บรรเลงให้ปฏิบัติตามเครื่องหมายและสิ่งที่กำหนดมาให้ในบทเพลง พร้อมกันนั้นผู้บรรเลงต้องยึดวาทยากรเป็นหลัก ความพร้อมเพรียงของเสียงที่ออกมาจึงเท่ากัน ไม่เกิดการสะดุดหรือความไม่พร้อมเกิดขึ้นในขณะที่กำลังบรรเลง
7. การเข้าถึงความหมายของบทเพลง อารมณ์ และประโยคเพลง เพลงแต่ละเพลงให้ความหมายให้อารมณ์ที่แตกต่างกัน ฉะนั้นผู้ปฏิบัติจึงต้องตระหนักในเรื่องนี้อย่างยิ่ง ก่อนลงมือปฏิบัติต้องศึกษาเสียก่อนว่าเพลงที่บรรเลงมีแนวทำนองเพลงที่ให้อารมณ์เพลงและมีความหมายอย่างไร เป็นเพลงแนวหวาน เศร้าโศก หรือสนุกสนาน ผู้บรรเลงควรใส่อารมณ์สอดแทรกลงไปในบทเพลงหรือที่เรียกว่า “เข้าถึงอารมณ์เพลง” นั่นเอง การคล้อยตามความรู้สึกของผู้ประพันธ์เพลง จะทำให้บทเพลงนั้นมีผลต่อผู้ฟัง ทำให้ผู้ฟังเกิดอารมณ์คล้อยตามตามบทเพลงที่นักดนตรีปฏิบัติ ถ้านักดนตรีปฏิบัติไม่ตรงตามเจตนารมย์ของผู้แต่งผู้ฟังก็ไม่ได้รสการฟังที่สมบูรณ์ ฉะนั้นผู้บรรเลงจึงถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่เป็นสื่อกลางให้เพลงนั้นๆมีความรู้สึกต่อผู้ฟังอย่างไรจะทำอย่างไรให้ผู้ฟังได้คล้อยตามจินตนาการของบทเพลงตามที่ผู้ประพันธ์กำหนดหรือต้องการ
กล่าวโดยสรุป เพลงต่างๆที่นักดนตรีถ่ายทอดผลงานของผู้ประพันธ์เป็นองค์ประกอบที่สำคัญอันหนึ่ง ถ้าไม่มีนักดนตรีแล้วผลงานของผู้ประพันธ์ก็ไม่มีความหมาย ดังนั้นนักดนตรีที่ดีควรมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
1. รู้จักเลือกเพลงที่มีคุณค่าในการฟัง
2. ต้องศึกษาเกี่ยวกับความมุ่งหมายของผู้ประพันธ์ในแต่ละเพลงที่นำมาบรรเลง อย่างละเอียด เพื่อการสอดใส่อารมณ์ทำได้อย่างถูกต้อง
3. หมั่นฝึกซ้อมเพลงให้คล่องแคล่วเพราะดนตรีเป็นวิชาทักษะที่ต้องฝึกอย่าง สม่ำเสมอ
4. ปฏิบัติตามเครื่องหมายต่างๆอย่างเคร่งครัด และเชื่อฟังสัญญาณคำสั่งของวาทยากร
5. รู้จักใช้และเก็บรักษาเครื่องมือของตนให้มีสภาพสมบูรณ์พร้อมที่จะใช้งานได้
การจัดวงเดินบรรเลง (Marching Band)
การจัดวงเพื่อเดินบรรเลงนี้ มีข้อแตกต่างไปจากการจัดวงนั่งบรรเลงอยู่บ้าง เช่น
1. ในการเดินบรรเลงวงดนตรีอยู่ภายใต้การควบคุมของ “คทากร” (Drum Major) และถ้ามีการยืนบรรเลงเพลงเคารพวาทยากรต้องเดินติดตามวงดนตรีไปด้วย
2. ต้องเพิ่มปริมาณกลองเล็ก (Side Drum) และกลองเทเนอร์ (Tenor Drum) อีกตามความเหมาะสม แต่ระวังอย่าให้มีมากจนกลบเสียงเพลง ชุดกลองนี้จะเพิ่มความหนักแน่นด้านจังหวะ เกิดความคึกคักกระฉับกระเฉงเร่งเร้าอารมณ์ของผู้ดูผู้ฟังได้เป็นอย่างดี ส่วนกลองใหญ่ (Bass Drum) และฉาบ (Cymbal) ถ้าไม่จำเป็นไม่ควรเพิ่ม (แต่ส่วนใหญ่ในปัจจุบันมักนิยมใช้กลองใหญ่ 4 - 5 ใบ เพื่อความครึกครื้นในการบรรเลง)
3. ในการจัดวางตำแหน่งเครื่องดนตรีต่างๆ ก็ยังคงแบ่งออกเป็น 3 ส่วนอย่างเดิม คือ เครื่องลมไม้ เครื่องลมทองเหลือง และเครื่องกระทบ จัดให้อยู่เป็นกลุ่มเครื่องรวมกันอย่าได้แยกกลุ่มโดนเด็ดขาด เพราะทำให้แนวเพลงที่บรรเลงฟังแล้วเสียงกระจัดกระจาย
4. ลักษณะแถวควรจัดให้มีความสัมพันธ์ทั้งด้านกว้างและด้านลึก ทั้งนี้เพื่อผลการบรรเลงที่เป็นปึกแผ่น เช่น ผู้บรรเลง 40 คน (เว้นคทากร) ก็ควรจัดเป็นแถว 5 x 8 คือ 8 แถว เรียง 5 หรือ 6 x 7 คือ 7 แถว เรียง 6 (แถวกลองใหญ่ว่าง 2 ที่) แต่การจัด 4 x 10 แถวจะยาวมากจนน่าเกลียด และผลการบรรเลงจะขาดความพร้อมเพรียง โอกาสพลาดมีมาก การจัดแถวนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณสัดส่วนของเครื่องดนตรีเป็นหลักประกอบกับไหวพริบชั้นเชิงของผู้บริหารวงดนตรี ตามปกติแถวหน้าจัดไว้สำหรับกลองเล็ก หรือ ทรอมโบน หากมีปริมาณไม่พอก็ให้จัดปนกัน โดยทรอมโบนอยู่กลางขนาบด้วยกลองเล็ก แถวถัดมาจะเป็นเครื่องลมไม้ โดยเครื่องกระทบมีกลองใหญ่ ฉาบ และกลองเทเนอร์อยู่ส่วนกลาง ส่วนสุดท้ายเป็นเครื่องทองเหลือง ปิดท้ายด้วยเบส หรือซูซาโฟน (Sousaphone) แทรกด้วยยูโฟเนียม เหตุผลในการจัดรูปวงดังนี้ เครื่องลมเสียงเบาอยู่หน้าจะถูกเร่งเร้าด้วยเครื่องทองเหลืองที่เสียงดังกว่าอยู่ข้างหลัง ตามจังหวะกลองใหญ่ซึ่งอยู่ตอนกลาง ทำให้เสียงที่บรรเลงฟังได้อย่างชัดเจน ถ้าให้เครื่องทองเหลืองอยู่หน้าเสียงของเครื่องทองเหลืองซึ่งดังกว่าเครื่องลมไม้จะกลบเสียงของเครื่องลมไม้ทำให้ไม่ได้ยินเสียงของเครื่องลมไม้ที่ชัดเจน
การจัดรูปขบวนเดินบรรเลง
การรูปขบวนในการเดินบรรเลงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึง การไม่จัดวางประเภทของเครื่องดนตรีที่เหมาะสมอาจทำให้การบรรเลงขาดประสิทธิภาพและขาดความไพเราะ การจัดวางตำแหน่งมิใช่ว่าจัดวางอย่างไรก็ได้ที่ผู้จัดต้องการ ควรยึดหลักปฏิบัติให้มากที่สุด และคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยเพราะส่วนใหญ่เป็นการบรรเลงในภาคสนาม เช่น การนำแถวนักกีฬา นำแถวลูกเสือ หรือร่วมทำพิธีต่างๆที่ต้องใช้วงโยธวาทิตในการบรรเลง เป็นต้น การจัดหมวดหมู่เครื่องดนตรีไม่ถูกต้องจะเป็นผลให้ประสิทธิภาพการบรรเลงด้อยลงไป ขาดความไพเราะ ขาดความสมดุล และที่สำคัญคือขาดความสง่างามซึ่งเป็นเอกลักษณ์ ของวงโยธวาทิต ดังนั้นการจัดควรยึดหลักความเหมาะสมรวมกับความนิยมในปัจจุบันเข้าด้วยกัน โดยยึดจำนวนผู้บรรเลงเป็นเกณฑ์ ตัวอย่างการจัดสามารถปฏิบัติได้ตามความพร้อมของโรงเรียน เครื่องดนตรีต่างๆที่กำหนดมาให้เป็นเพียงแนวทางเท่านั้น ส่วนการจัดจริงต้องดูความพร้อมของแต่ละโรงเรียนเป็นหลัก ในที่นี้จึงไม่สามารถยืนยันได้ว่าตัวอย่างที่ยกมาเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุด แต่ที่สำคัญการจัดจะต้องคำนึงถึงความสมดุลของเสียงเครื่องดนตรีแต่ละชนิดเป็นเกณฑ์ โดยเฉพาะเครื่องลมไม้และเครื่องทองเหลืองอย่าให้มีเครื่องประเภทหนึ่งประเภทใดมากกว่ากันนักควรให้มีจำนวนที่เท่ากันหรือใกล้เคียงกันมากที่สุด อีกประการหนึ่งคือเครื่องประกอบจังหวะต้องมีไม่มากนักเพราะจะทำให้กลบเสียงดนตรี แต่ทั้งนี้อยู่ที่ดุลยพินิจและลักษณะของเพลงที่บรรเลงด้วย

วงโยธวาทิตขนาด 16 ผู้บรรเลง

คทากร




ฉาบ ฟลู้ต กลองใหญ่ กลองเล็ก



คลาริเน็ต อัลโตแซก ฟลู้ต คลาริเน็ต



ทรัมเป็ต ฮอร์น เทเนอร์แซก ทรัมเป็ต



ทูบา ทรอมโบน ยูโฟเนียม ทูบา





วงโยธวาทิตขนาด 20 ผู้บรรเลง

คทากร




ฉาบ กลองใหญ่ กลองใหญ่ กลองเล็ก



ฟลู้ต คลาริเน็ต พิคโคโล ฟลู้ต



เทเนอร์แซก คลาริเน็ต อัลโตแซก อัลโตแซก



ทรัมเป็ต ฮอร์น ฮอร์น ทรัมเป็ต



ทูบา ทรอมโบน ยูโฟเนียม ทูบา






วงโยธวาทิตขนาด 24 ผู้บรรเลง

คทากร



ฉาบ กลองใหญ่ กลองใหญ่ กลองเล็ก


ฟลู้ต คลาริเน็ต พิคโคโล ฟลู้ต


อัลโตแซก คลาริเน็ต คลาริเน็ต อัลโตแซก


ทรัมเป็ต เทเนอร์แซก ทรัมเป็ต ทรัมเป็ต


ทรอมโบน ฮอร์น ฮอร์น ทรอมโบน


ทูบา ยูโฟเนียม ยูโฟเนียม ทูบา






วงโยธวาทิตขนาด 28 ผู้บรรเลง

คทากร


กลองใหญ่ กลองใหญ่ กลองใหญ่ กลองเล็ก


มาร์ชชิงทอม ฟลู้ต พิคโคโล ฉาบ


คลาริเน็ต ฟลู้ต คลาริเน็ต คลาริเน็ต


อัลโตแซก อัลโตแซก เทเนอร์แซก เทเนอร์แซก


ทรัมเป็ต ทรัมเป็ต ทรัมเป็ต ทรัมเป็ต


ทรอมโบน ฮอร์น ฮอร์น ทรอมโบน


ทูบา ยูโฟเนียม ยูโฟเนียม ทูบา




วงโยธวาทิตขนาด 32 ผู้บรรเลง

คทากร

กลองใหญ่ กลองใหญ่ กลองใหญ่ กลองเล็ก


มาร์ชชิงเบล ฉาบ พิคโคโล มาร์ชชิงทอม


ฟลู้ต ฟลู้ต คลาริเน็ต ฟลู้ต


คลาริเน็ต คลาริเน็ต เทเนอร์แซก คลาริเน็ต


อัลโตแซก อัลโตแซก ทรัมเป็ต เทเนอร์แซก


ทรัมเป็ต ทรัมเป็ต ฮอร์น ทรัมเป็ต


ทรอมโบน ฮอร์น ฮอร์น ทรอมโบน


ทูบา ยูโฟเนียม ยูโฟเนียม ทูบา


วงโยธวาทิตขนาด 35 ผู้บรรเลง

คทากร


กลองใหญ่ กลองใหญ่ กลองใหญ่ กลองใหญ่ ฉาบ


มาร์ชชิงเบล ฟลู้ต กลองเล็ก พิคโคโล มาร์ชชิงทอม


ฟลู้ต คลาริเน็ต คลาริเน็ต คลาริเน็ต ฟลู้ต


อัลโตแซก อัลโตแซก อัลโตแซก เทเนอร์แซก เทเนอร์แซก


ทรัมเป็ต ทรัมเป็ต ทรัมเป็ต ทรัมเป็ต ทรัมเป็ต


ทรอมโบน ฮอร์น ทรอมโบน ฮอร์น ทรอมโบน


ทูบา ยูโฟเนียม ฮอร์น ยูโฟเนียม ทูบา





วงโยธวาทิตขนาด 40 ผู้บรรเลง

คทากร


กลองใหญ่ กลองใหญ่ กลองใหญ่ กลองใหญ่ ฉาบ


มาร์ชชิงเบล กลองเล็ก พิคโคโล กลองเล็ก มาร์ชชิงทอม


ฟลู้ต ฟลู้ต คลาริเน็ต ฟลู้ต ฟลู้ต


คลาริเน็ต คลาริเน็ต คลาริเน็ต คลาริเน็ต คลาริเน็ต


อัลโตแซก อัลโตแซก ทรัมเป็ต เทเนอร์แซก เทเนอร์แซก


ทรัมเป็ต ทรัมเป็ต ทรอมโบน ทรัมเป็ต ทรัมเป็ต


ทรอมโบน ฮอร์น ฮอร์น ฮอร์น ทรอมโบน


ทูบา ยูโฟเนียม ฮอร์น ยูโฟเนียม ทูบา

วงโยธวาทิตขนาด 45 ผู้บรรเลง

คทากร


กลองใหญ่ กลองใหญ่ กลองใหญ่ กลองใหญ่ ฉาบ


มาร์ชชิงเบล กลองเล็ก พิคโคโล กลองเล็ก มาร์ชชิงทอม


ฟลู้ต ฟลู้ต คลาริเน็ต ฟลู้ต ฟลู้ต


คลาริเน็ต คลาริเน็ต คลาริเน็ต คลาริเน็ต คลาริเน็ต


อัลโตแซก อัลโตแซก เทเนอร์แซก เทเนอร์แซก บาริโทนแซก


ทรัมเป็ต ทรัมเป็ต ทรัมเป็ต ทรัมเป็ต ทรัมเป็ต


ฮอร์น ฮอร์น ฮอร์น ฮอร์น ฮอร์น


ทรอมโบน ทรอมโบน เบสทรอมโบน ทรอมโบน ทรอมโบน


ทูบา ยูโฟเนียม ทูบา ยูโฟเนียม ทูบา


วงโยธวาทิตขนาด 50 ผู้บรรเลง
คทากร

กลองใหญ่ กลองใหญ่ กลองใหญ่ กลองใหญ่ ฉาบ


มาร์ชชิงเบล กลองเล็ก กลองเล็ก กลองเล็ก มาร์ชชิงทอม


ฟลู้ต ฟลู้ต พิคโคโล ฟลู้ต ฟลู้ต


คลาริเน็ต คลาริเน็ต คลาริเน็ต คลาริเน็ต คลาริเน็ต


อัลโตแซก คลาริเน็ต คลาริเน็ต คลาริเน็ต อัลโตแซก


เทเนอร์แซก ทรัมเป็ต บาริโทนแซก ทรัมเป็ต เทเนอร์แซก


ทรัมเป็ต ทรัมเป็ต ฮอร์น ทรัมเป็ต ทรัมเป็ต


ฮอร์น ฮอร์น ฮอร์น ฮอร์น ฮอร์น


ทรอมโบน ทรอมโบน เบสทรอมโบน ทรอมโบน ทรอมโบน


ทูบา ยูโฟเนียม ทูบา ยูโฟเนียม ทูบา

บทเพลงของวงโยธวาทิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพลงมาร์ชนั้นแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ สโลว์มาร์ช (Slow March) และควิกมาร์ช (Quick March) แบบหลังนี้มีความเร็วจังหวะตั้งแต่ 104 ขึ้นไปถึง 200 ก้าวต่อนาที จังหวะของการก้าวเดินแถวธรรมดากำหนดไว้ 116 และเดินสวนสนามจะอยู่ระหว่าง 104 - 108 ก้าวต่อนาที
นอกจากจะแบ่งออกเป็น 2 แบบดังกล่าวมาแล้ว อเมริกันยังแยกออกเป็นเพลงมาร์ชสำหรับเดิน และนั่งบรรเลง บทเพลงมาร์ชสำหรับเดินบรรเลงมีอัตราโน้ตทั้งเพลงไม่เกิน จังหวะละ 2 ตัว และอาจจะมีมากกว่า 2 ตัว ได้เพียงบางห้อง หรือบางชนิดเครื่องดนตรี เช่น Piccolo, Flute หรือ Eb Clarinet ซึ่งเครื่องดนตรีที่กล่าวมานี้มีความคล่องตัวสูงแต่นำมาใช้บรรเลงในเพลงแนวอเมริกันจึงทำให้ง่ายต่อการบรรเลงอย่างยิ่ง (สยามกลการ, 2535: ไม่ปรากฏเลขหน้า)
กล่าวได้ว่า บทเพลงมาร์ชสำหรับเดินบรรเลงนั้นจะต้องง่ายและเพียงพอต่อความสามารถของผู้บรรเลงเป็นประการสำคัญ ดังนั้นการคัดเลือกบทเพลงจึงต้องคำนึงถึงเรื่องดังกล่าวโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแปรขบวนที่ผู้บรรเลงต้องใช้ทักษะหลายๆอย่างในการปฏิบัติพร้อมๆกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น