บทที่ 1
บทนำ
1.1 ความสำคัญและที่มาของการบริหารจัดการวงโยธวาทิต
ปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศคือการที่พลเมืองของชาติเป็นบุคคลที่มีประสิทธิภาพมีคุณภาพชีวิตที่ดี และสามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในทุกๆด้าน เช่น เศรษฐกิจ สังคม การเมือง และการปกครอง เป็นต้น “เด็กและเยาวชนจึงเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่ายิ่งของประเทศชาติ ที่ทุกฝ่ายต้องให้ความสนใจ ดูแลเอาใจใส่อย่างจริงจัง” (กว้าง รอบคอบ, 2539: ไม่ปรากฏเลขหน้า) ดนตรี เป็นกิจกรรมหนึ่งที่สามารถสร้างเยาวชนของชาติให้เป็นบุคคลที่มีประสิทธิภาพชีวิตที่ดี ดังจุดเน้นที่กรมสามัญศึกษากำหนดไว้ในนโยบายเรื่องทิศทางในการจัดการศึกษาข้อที่ 4 คือ “มุ่งส่งเสริมการดนตรี กีฬา ศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม ทั้งในด้านความเข้าใจในแนวความคิด กิจกรรม และการส่งเสริมบรรยากาศ สิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประสานกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต” (กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ, 2536: 12) ดนตรีถือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ และมักกล่าวว่าดนตรีคือปัจจัยที่ 5 ที่มนุษย์ทุกคนปฏิเสธไม่ได้ ดังนั้นการสอนดนตรีจึงเป็นหน้าที่ของครูที่จะต้องปลูกฝังให้ผู้เรียนได้เรียนรู้หลักการอย่างถูกต้อง เพื่อให้เกิดสุนทรีย์ในตัวผู้เรียน “จากจุดมุ่งหมายทางการศึกษามุ่งให้เด็กพัฒนาทั้ง 4 ด้าน คือ ร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม อันจะช่วยให้เด็กสามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีความสุข” (อรวรรณ บรรจงศิลป, 2538: 2)
ดนตรีเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ในตัวเอง ในฐานะความเป็นศาสตร์ ดนตรีเป็นเรื่องของความรู้ ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎี ประวัติการดนตรี การปฏิบัติเครื่องดนตรี ต่างก็เป็นเหตุเป็นผลและเป็นความเข้าใจ ส่วนความเป็นศิลป์ดนตรีเป็นเรื่องของความรู้สึกทางสุนทรีย์ หรือความงามย่อมอยู่เหนือความหมาย ความซาบซึ้งในความงามอะไรสักอย่างหนึ่ง รู้ว่าสวย รู้ว่างาม รู้ว่าไพเราะ ไม่สามารถบรรยายออกมาเป็นภาษาเขียนได้ ถึงบรรยายได้ก็ไม่ถึงซึ่งความสวยงาม ความไพเราะที่เราซาบซึ้ง และความซาบซึ้งในความสวยงาม หรือความไพเราะ ไม่สามารถวัดเป็นปริมาณในทางศาสตร์ได้ (ธนาคาร แพทย์วงษ์, 2534: 9)
ดนตรี มีรูปแบบที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการนำมารวมกันแล้วเรียกชื่อตามลักษณะรูปแบบที่จัดขึ้น เช่น วงออร์แกนสตรา (Orchestra) วงแจ๊ส (Jazz Band) วงคอมโบ (Combo Band) เป็นต้น สำหรับวงดนตรี (Band) ยังมีชื่อเรียกอีกหลายแบบไม่ว่าจะเป็นวงเครื่องลมทองเหลือง (Brass Band) วงเครื่องลม
ไม้ (Wind Band) หรือแม้แต่วงดนตรีที่ได้รับความนิยมอยู่ในยุคปัจจุบัน คือ วงโยธวาทิต (Marching Band)
วงโยธวาทิต (Marching Band) คือ วงดนตรีสำหรับทหาร ในยุคแรกเป็นดนตรีสำหรับกองทัพ (Military Band) เพื่อใช้ในการร้องเพลงซอยเท้าเข้าสู่สนามรบของทหาร และใช้ประกอบการสวนสนามเพื่อปลุกใจในยามศึกสงคราม หรือประกอบพิธีต่างๆของทหารโดยเฉพาะ เริ่มก่อตั้งขึ้นครั้งแรกในประเทศเยอรมัน ในปี ค.ศ. 1618 ต่อมาสหรัฐอเมริกาได้เริ่มก่อตั้งวงโยธวาทิต ในราวปี ค.ศ. 1775 ส่วนการพัฒนาวงโยธวาทิตเจริญสูงสุดอยู่ในสมัยของ Patrick Sarsfield - Gilmore ปี ค.ศ. 1829 - 1892 (สยามกลการ, 2535: ไม่ปรากฏเลขหน้า)
วงโยธวาทิต ได้แตกสาขาออกไปและได้ดัดแปลงรูปแบบการจัดรูปวง การบรรเลงของวงโยธวาทิตโดยการนั่งบรรเลง เน้นความงามและความไพเราะของเสียง เรียกชื่อใหม่ว่า วงคอนเสิร์ต แบนด์ หรือวงซิมโฟนิกแบนด์ (Concert Band, Symphonic Band) ในปี ค.ศ. 1917 ประเทศอเมริกาเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้วงดนตรีเน้นหนักไปทางบรรเลงเพลงมาร์ช ต่อมาภายหลังดนตรีเข้ามามีบทบาทในการแสดงมากขึ้น เนื่องจากประเทศสหรัฐอเมริกาได้เริ่มมีการแข่งขัน “อเมริกันฟุตบอล” วงโยธวาทิตจึงได้พัฒนารูปแบบเป็นการแสดงที่มุ่งเน้นความสนุกสนาน เพื่อฆ่าเวลาระหว่างพักครึ่งของการแข่งขันอเมริกันฟุตบอล (สยามกลการ, 2535: ไม่ปรากฏเลขหน้า)
สำหรับวงโยธวาทิตในประเทศไทยได้เริ่มมีวงดนตรีประเภทนี้ ในปี พ.ศ. 2444 ซึ่งก่อนนั้นได้มีวงดนตรีประเภทนี้อยู่แล้ว ส่วนมากจะเรียกว่า “แตรวง” หรือ “แกรวง” (Brass Band) ซึ่งเข้ามาในเมืองไทยในปีใดนั้นไม่ประจักษ์แน่ชัด เท่าที่ค้นพบ ราวปี พ.ศ. 2395 มีแตรของฝรั่งเข้ามาในเมืองไทย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกองทหารเกณฑ์หัดอย่างฝรั่งขึ้น ในสมัยรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2461 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นอดิศรอุดมเดช ก่อตั้งแตรวงทหารขึ้นเป็นครั้งแรก และพัฒนาการมาเป็นกองดุริยางค์ทหารบกในปัจจุบัน (กองดุริยางค์ทหารบก, 2529: ไม่ปรากฏเลขหน้า)
ในส่วนของวงโยธวาทิตที่เข้าไปมีบทบาทในโรงเรียนมัธยมศึกษานั้น วงดุริยางค์ลูกเสือของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ได้ก่อตั้งขึ้นเป็นวงแรก ระหว่างปี พ.ศ. 2460 - 2470 ภายหลังจากการตั้งกองเสือป่าใน
รัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ในปี พ.ศ. 2463 เป็นวงดนตรีที่ประกอบด้วยเครื่องทองเหลืองล้วนๆ ใช้ในการบรรเลงสำหรับประชาชนในการนำแถวเสือป่า (วัฒน์ เกิดสว่าง และคนอื่นๆ, 2536: 30) จนกระทั่งปี พ.ศ. 2500 ในยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เตรียมการการจัดงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ จึงได้จัดงบประมาณส่วนหนึ่งมอบให้กระทรวงศึกษาธิการจัดหาซื้อ
เครื่องดนตรี ทั้งนี้ได้มอบหมายให้พระเจนดุริยางค์ เป็นผู้กำหนดรูปแบบของวง และจัดซื้อเครื่องดนตรีมอบให้โรงเรียนของรัฐบาล จำนวน 10 แห่งทั่วประเทศ (สวัสดิ์ เงินแย้ม และสุกรี จรกรรณ, 2540: 12) ต่อมาวงโยธวาทิตได้เข้ามามีบทบาทในโรงเรียนมัธยมศึกษาเพิ่มมากขึ้น มีการพัฒนารูปแบบ พัฒนาความสามารถ จนกระทั่งเป็นที่ยอมรับของคนทั่วโลกในปัจจุบัน
จากอดีตถึงปัจจุบัน วงโยธวาทิตมีบทบาทสำคัญมากในโรงเรียนมัธยมศึกษาเกือบทุกแห่งในประเทศไทย มีการจัดการเรียนการสอนมานานทั้งๆที่ไม่ได้จัดอยู่ในแผนการศึกษาของชาติก็ตาม ซึ่งระยะเวลาโดยประมาณคือ 61 ปี การจัดตั้งนั้นมีเหตุผลหลายประการ กล่าวโดยสรุปคือ เพื่อสนองตอบทางด้านสังคม ศาสนา เศรษฐกิจ การเมือง และการปกครอง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละโรงเรียน โดยมีวัตถุประสงค์ที่คล้ายคลึงกัน คือ
1. เพื่อส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมอันดีงาม และทรงคุณค่า ให้แก่เยาวชนซึ่งเป็นกำลังของชาติในอนาคต
2. เพื่อส่งเสริมการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์
3. เพื่อเป็นกิจกรรมเสริมทางด้านนันทนาการ ในการพัฒนานักเรียนให้เกิดประโยชน์ทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา
4. เพื่อเสริมสร้างความมีระเบียบวินัย ความรักความสามัคคีต่อหมู่คณะ ความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม การฝึกความเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน และการอยู่ร่วมในสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ
5. เพื่อเป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้นักเรียนที่มีความสามารถด้านดนตรี ได้แสดงออกที่ตรงกับความสนใจ และพัฒนาความสามารถให้ดียิ่งขึ้น
6. เพื่อส่งเสริมให้ผู้มีความสามารถในทางดนตรีได้มีความสามารถมากขึ้น และเพื่อเป็นพื้นฐานของการประกอบอาชีพในอนาคต
7. เพื่อส่งเสริมและพัฒนาวงโยธวาทิตให้มีคุณภาพการบรรเลง เป็นการประชาสัมพันธ์โรงเรียนสู่ชุมชน ให้เป็นที่ภาคภูมิใจของผู้ปกครองนักเรียนและประชาชนส่วนรวม ตลอดจนการให้บริการสังคมโดยทั่วไป
8. เพื่อสร้างความรักและความสามัคคีของเยาวชนโดยใช้ดนตรีเป็นสื่อกลาง
9. เพื่อสนองนโยบายของชาติ ในด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีในทุกๆด้าน อันจะเป็นเยาวชนที่ดีของชาติ และเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพในอนาคต
การจัดการเรียนการสอนวงโยธวาทิตในสถานศึกษา ซึ่งเกิดผลดีต่อสถานศึกษานั้นๆ คือ
1. เป็นการประชาสัมพันธ์โรงเรียนสู่ชุมชน
2. นักเรียนปัจจุบัน นักเรียนเก่า ได้รับความชื่นชมในความสำเร็จ
3. เป็นการฝึกอาชีพเบื้องต้นที่จะนำไปเป็นพื้นฐานในการประกอบอาชีพในอนาคต
4. เป็นการฝึกความอดทน ความเสียสละ ความพร้อมเพรียง ในการอยู่รวมกันเป็นหมู่คณะ อันก่อให้เกิดความเข้าใจอันดีต่อกัน
5. สถาบันการศึกษา เกิดความภาคภูมิใจในผลงานที่ได้ฝึกฝน และพัฒนาความสามารถจนปรากฏผลต่อสายตาประชาชนทั่วไป
6. ทำให้ชุมชนรู้จักสถาบัน และได้รับการยอมรับด้านชื่อเสียงที่เกิดขึ้นแก่สถาบันนั้นๆ
7. ผู้ปกครองนักเรียน สมาคมศิษย์เก่า สมาคมผู้ปกครองและครู เกิดความชื่นชม ยินดี ในบุตรหลาน ที่ได้แสดงออกในทางที่ดี และมีระเบียบวินัย
8. เป็นการรักษามาตรฐานทางดนตรีให้ทัดเทียมนานาชาติ
9. เป็นการเผยแพร่ความรู้ความสามารถของนักเรียน
10. สร้างบรรยากาศอันดีงามในสถานศึกษา ให้เกิดความตื่นเต้น เร้าใจ สนุกสนาน ภายในขอบเขตระเบียบวินัยของโรงเรียน
11. เป็นการสนองตอบความต้องการ ตามความถนัดทางธรรมชาติของนักเรียน ที่มีความสนใจด้านวงโยธวาทิต เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคต
กิจกรรมวงโยธวาทิต จัดเป็นกิจกรรมของนักเรียนในระดับมัธยมศึกษา เช่นเดียวกับกิจกรรมอื่นๆที่โรงเรียนจัดขึ้น นักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมวงโยธวาทิตต้องมีความตั้งใจจริงและพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ โดยกิจกรรมมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียนมีความรู้และความสามารถทางดนตรีอย่างถูกต้องและมีมาตรฐานทางการบรรเลง ฝึกฝนให้เป็นผู้มีระเบียบวินัย มีความรับผิดชอบทั้งต่อตนเองและผู้อื่น เสริมสร้างความสามัคคี มีน้ำใจต่อเพื่อนร่วมงาน มีความขยัน อดทน และมีความเสียสละ (สยามกลการ, 2534: ไม่ปรากฏเลขหน้า)
จากการจัดการเรียนการสอนวงโยธวาทิตในสถานศึกษา ได้เกิดประโยชน์หลายอย่างที่ตามมา ดังนั้นการสอนวงโยธวาทิตให้ประสบความสำเร็จได้นั้นขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายๆอย่าง เช่น ความสามารถของทั้งครูผู้สอนและนักเรียน การสร้างจิตสำนึกให้กับนักเรียน ต้องสามารถทำให้นักเรียนเกิดความรักดนตรี เข้าใจดนตรี รู้คุณค่าของดนตรีด้วยตัวเอง ซึ่งบางครั้งครูผู้สอนไม่สามารถใช้กฎเกณฑ์ใดๆไปบังคับได้ เพราะดนตรีนั้นมีที่มาจากธรรมชาติ การที่นักเรียนจะสร้างเสียงดนตรีก็ต้องเป็นไปตามธรรมชาติเช่นกัน เมื่อนักเรียนมีจิตสำนึกรักดนตรีด้วยตัวเองแล้ว ความอยากเล่นดนตรีให้ไพเราะ ความขยันหมั่นเพียรและความอดทนในการฝึกซ้อมอย่างจริงจังจะตามมา จนสามารถสร้างระบบเพื่อดำเนินกิจกรรมร่วมกันให้ประสบความสำเร็จตามที่คาดหวัง
ปัจจุบัน วงโยธวาทิตจัดอยู่ในส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความพร้อมของโรงเรียนที่จะจัดขึ้นนอกเหนือจากกิจกรรมทั้ง 13 กิจกรรม ที่กระทรวงเสนอแนะ จึงเป็นปัญหาเบื้องต้นของการเรียนการสอนวงโยธวาทิต 3 ประการ คือ ประการแรกเรื่องการสนับสนุนให้เปิดกิจกรรมวงโยธวาทิตในโรงเรียน ประการที่สอง การที่วงโยธวาทิตไม่ได้อยู่ในรายวิชาที่หลักสูตรกำหนด ทำให้การสนับสนุนด้านต่างๆเกิดปัญหาอุปสรรคมากมาย ถ้าโรงเรียนใดไม่ให้ความสำคัญในเรื่องของวงโยธวาทิต ประการที่สาม
จากการศึกษาขั้นต้นพบว่ายังมีปัญหาที่ต้องศึกษาอีกมาก และปัญหาดังกล่าวนั้นได้รับการแก้ไขอย่างผิดๆถูกๆมาตลอด ทั้งนี้เพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด ไม่มีฐานข้อมูลในการพิจารณาเปรียบเทียบ ขาดงานวิจัยที่เป็นสาเหตุโดยตรง ปัจจุบันมาตรฐานการบรรเลงของวงโยธวาทิตมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้เกิดจากปัจจัยหลายประการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวงโยธวาทิต ปัญหาที่สำคัญคือระบบการบริหารจัดการซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ และมีผลต่อการพัฒนาของวงโยธวาทิต ทั้งนี้อาจกล่าวได้ว่าวงโยธวาทิตที่ไม่ประสบความสำเร็จนั้น เพราะขาดระบบการบริหารจัดการที่ดี เช่น การจัดแผนการฝึก การคัดเลือกนักดนตรี ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการจัดการวงโยธวาทิต และเรื่องอื่นๆ ดังนั้นจึงควรศึกษาถึงปัญหาต่างๆแล้วนำปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับความเป็นจริงที่มีอยู่ เพื่อให้การพัฒนาวงโยธวาทิตสำเร็จตามเป้าประสงค์ที่วางไว้ ในที่นี้ขอยกตัวอย่างให้เห็นถึงปัญหาต่างๆที่ต้องได้รับการแก้ไขด้วยวิธีการที่ถือว่าน่าจะดีที่สุด ดังนี้
1.2 ปัญหาความพร้อมด้านต่างๆ
1) การไม่กำหนดระยะเวลาและวางแผนการฝึกที่เด่นชัด เช่น การฝึกประจำวัน การฝึกประจำสัปดาห์ และการฝึกตลอดปี
2) ผู้สอนขาดประสบการณ์ ประสบการณ์ของครูผู้สอนมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้วงโยธวาทิตประสบความสำเร็จ เพราะครูผู้สอนวงโยธวาทิตได้จะต้องเป็นผู้ที่รอบรู้ ต้องมีเทคนิควิธี และในบางครั้งต้องเอาตัวรอดได้ในทางจิตวิทยา ไม่มีใครที่จะมีความสามารถในทุกเรื่อง แม้แต่ครูผู้สอนที่ไม่เป็นดนตรีเลยก็สามารถนำวงโยธวาทิตไปสู่ความสำเร็จได้ ถ้ามีประสบการณ์ที่มากพอ
3) ขาดข้อมูลในการปฏิบัติ ข้อมูลเป็นปัจจัยที่สำคัญซึ่งต้องสั่งสมมา เพื่อใช้ในการพัฒนาและปรับปรุงวงโยธวาทิต ครูผู้สอนจึงต้องเป็นผู้ใฝ่รู้ใฝ่ทำ จะทำให้งานสำเร็จลุล่วง
4) ไม่มีรูปแบบที่แน่นอน คือ ไม่สามารถวางแผนว่าสิ่งใดควรกระทำก่อน สิ่งใดควรกระทำหลัง ไม่มีขั้นตอนที่เด่นชัดในการทำงาน บางครั้งรีบเร่งในการฝึกทำให้ขาดขั้นตอนที่ถูกต้องในทางปฏิบัติ หลายโรงเรียนมีปัญหาเนื่องจากคนที่ไม่เข้าใจดนตรี มักจะมีอำนาจในการสั่งการ โดยไม่ทราบว่าการฝึกดนตรีต้องผ่านกระบวนการและขั้นตอนมากมาย สิ่งที่เขาเหล่านั้นต้องการ คือ เมื่อมีวงดนตรีแล้วจะต้องบรรเลงได้ ครูผู้สอนหลายท่านมีขั้นตอนการฝึกที่ดี แต่เมื่อมาพบปัญหาดังกล่าวจึงจำเป็นต้องสนองตอบความต้องการ เพื่อลบล้างคำปรามาสว่า “ไม่เห็นได้เรื่อง ไม่มีความสามารถ เปิดเทอมหลายอาทิตย์แล้วเพลงชาติยังบรรเลงไม่ได้ สู้ครูคนเก่าไม่ได้” เพราะเขาเหล่านั้นไม่ทราบว่าดนตรีย่อมเกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวบุคคลตลอดเวลา ทุกปีจะมีนักเรียนที่จบการศึกษาจำนวนมาก จึงต้องสร้างใหม่เพื่อทดแทนนักเรียนที่จบการศึกษาไป แต่ครูผู้สอนก็จำยอมที่จะต้องตอบสนอง ดังนั้นจึงทำให้เกิดผลเสียตามมา
5) ไม่มีแหล่งความรู้ให้ศึกษา ตั้งแต่เริ่มมีวงดนตรีขึ้นในประเทศไทย ยังไม่เคยมีใครเขียนตำราเป็นภาษาไทยที่ชี้ชัดในเรื่องการจัดแผนการฝึกเลยแม้แต่เล่มเดียว ส่วนที่ปฏิบัติกันมามักเป็นเรื่องของระบบครูพักลักจำ หรือการสืบสานกันต่อมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบพี่สอนน้อง พี่เคยฝึกอย่างไรน้องก็รับอย่างนั้นสืบต่อกันมา
6) การใช้แนวทางของต่างชาติบางครั้งไม่ได้ผล โดยเฉพาะสื่อสารทางภาษา มีตำราหลายเล่มที่เขียนไว้ของต่างชาติ โดยเฉพาะ อังกฤษ อเมริกา และญี่ปุ่น แต่แนวทางการเขียนมักเน้นไม่ตรงจุด ทำความเข้าใจยากสำหรับการเรียนรู้ เพราะตำราต่างๆเหล่านั้นมักเขียนในเชิงพรรณนา ไม่ชี้ชัดเป็นรูปแบบที่ชัดเจนจึงเกิดความล้มเหลวในการศึกษาเอกสารหรือหนังสือนั้นๆ
7) เวลาในการฝึกไม่เพียงพอ ปัจจุบันวงโยธวาทิตอยู่ในรูปของการจัดกิจกรรมซึ่งหลักสูตรไม่ได้กำหนดให้จัดการเรียนการสอน ครูผู้สอนมีหน้าที่เป็นเพียงที่ปรึกษา การจัดกิจกรรมเป็นเรื่องของนักเรียน ที่จะต้องเป็นผู้ดำเนินงานเองทั้งหมด โดยหลักการแล้วจะไม่มีการเรียนการสอน แต่เป็นการขาดหลักธรรมชาติของวิชาดนตรีอย่างเห็นได้ชัด ทำให้กิจกรรมไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ครูผู้สอนต้องเข้าไปมีบทบาทอย่างมาก จึงจะทำให้วงโยธวาทิตประสบความสำเร็จได้ การจัดกิจกรรมในชั้นเรียนกำหนดไว้เพียงสัปดาห์ละ 1 คาบ คือ 50 นาที ดังนั้นเป็นความจำเป็นที่ครูผู้สอนต้องบริหารเวลานอกเวลาที่หลักสูตรกำหนด คือ การกำหนดการฝึกซ้อมนอกเวลาเรียน เพราะวิชาดนตรีเป็นเรื่องของการฝึกทางทักษะ ความรู้ความสามารถจะเกิดขึ้นได้ต้องใช้ระยะเวลามาก แต่ที่เป็นปัญหาคือครูผู้สอนไม่เป็นผู้เสียสละ ไม่ให้เวลากับงานที่รับผิดชอบ และไม่มีการวางแผนที่จะให้เกิดการเรียนรู้หลังโรงเรียนเลิก วันหยุดเสาร์ อาทิตย์ และในระหว่างปิดภาคเรียน
1.3 ปัญหาในการคัดเลือกนักดนตรี
1) การเตรียมการ
(1) ขาดการเตรียมการในการคัดเลือกนักดนตรี คือ ไม่มีการประชุมปรึกษาผู้เกี่ยวข้องในการดำเนินงาน
(2) ขาดการวางแผนในการกำหนดหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้สมัคร
(3) ขาดการประชาสัมพันธ์ ในเรื่องต่างๆ คือ
(4) ขาดข้อมูลเอกสาร คือ
2) กระบวนการคัดเลือก
(1) ขาดการทดสอบความถนัด และความสามารถทางดนตรี
(2) ขาดการทดสอบโสตประสาท
(3) ขาดการสัมภาษณ์ท่วงทีวาจา เพื่อพิจารณาตรวจสอบขนาด รูปร่าง บุคลิก
(4) การทดสอบสมรรถภาพทางด้านร่างกาย
(5) ปัญหาด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการคัดเลือกนักดนตรี ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้ไม่สามารถดำเนินงานตามสิ่งที่กล่าวมาแล้วข้างต้นได้ ทั้งนี้เนื่องจากสาเหตุสำคัญ คือ
- ปัญหาเด็กฝาก
- ผู้สอนขาดประสบการณ์
- ขาดข้อมูลในการปฏิบัติ
- ไม่มีรูปแบบที่แน่นอน
- ไม่มีแหล่งความรู้ให้ศึกษา
- การใช้แนวทางของต่างชาติบางครั้งไม่ได้ผล โดยเฉพาะเรื่องการสื่อสารทางภาษา
- ไม่มีตำราเล่มใดยึดเป็นแม่แบบได้
- ขาดตำราวิชาการที่เป็นภาษาไทย
1.4 ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการจัดการวงโยธวาทิต
สิ่งที่ทำให้วงโยธวาทิตประสบความสำเร็จได้นั้น นอกจากเรื่องการจัดแผนการฝึกและการคัดเลือกนักดนตรีแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆอีกมากที่จะส่งผลต่อความสำเร็จ แต่โรงเรียนต่างๆยังไม่ได้รับการสนับสนุนส่งเสริมเท่าที่ควร
ที่กล่าวมาทั้งหมด คือ ปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้อง การศึกษาในเรื่องดังกล่าว ทำให้ได้ค้นพบแนวทางในการปฏิบัติที่มีอย่างหลากหลายที่จะนำมาใช้เป็นข้อมูลและเป็นแนวทางในการปฏิบัติ จึงโดยได้นำรูปแบบจากโรงเรียนจำนวน 11 โรงเรียน มาเป็นกรณีตัวอย่าง ทั้งนี้เพราะเป็นวงโยธวาทิตที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงสุดมาแล้วทั้งระดับภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อศึกษาถึงระบบการบริหารจัดการด้านต่างๆ คือ การจัดแผนการฝึก การคัดเลือกนักดนตรี และปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการจัดการวงโยธวาทิต ที่เป็นผลให้วงโยธวาทิตประสบความสำเร็จทั้งด้านการสร้างวง การพัฒนาการบรรเลง และการพัฒนาความสามารถตามเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งส่งผลให้วงโยธวาทิตประสบความสำเร็จได้ด้วยดี และทั้งนี้ต้องขอขอบคุณโรงเรียนที่ผู้เขียนได้รับความร่วมมือด้วยดีด้านข้อมูลนำเสนอ คือ
1) วงโยธวาทิตโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย จังหวัดนครราชสีมา
2) วงโยธวาทิตโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่
3) วงโยธวาทิตโรงเรียนวัดสุทธิวราราม กรุงเทพมหานคร
4) วงโยธวาทิตโรงเรียนราชวินิตบางแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ
5) วงโยธวาทิตโรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา จังหวัดชลบุรี
6) วงโยธวาทิตโรงเรียนเซ็นต์ดอมินิก กรุงเทพมหานคร
7) วงโยธวาทิตโรงเรียนสารสิทธิ์พิทยาลัย จังหวัดราชบุรี
8) วงโยธวาทิตโรงเรียนหอวัง กรุงเทพมหานคร
9) วงโยธวาทิตโรงเรียนดาราวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่
10) วงโยธวาทิตโรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดจันทบุรี
11) วงโยธวาทิตโรงเรียนสุรนารีวิทยา จังหวัดนครราชสีมา
อ่านแล้วรู้สึกดีมากๆๆที่ดนตรีมีความสำคัญมากๆครับ
ตอบลบ